ข้ามไปเนื้อหา

พระยาเพชรบุรี (เรือง)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยาเพชรบุรี
(เรือง)
เจ้าเมืองเพชรบุรี
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2275 - ???
ข้อมูลส่วนบุคคล
เสียชีวิตพ.ศ. 2309
สัญชาติสยาม
ศาสนาพุทธ
บุตรเจ้าพระยาสุรบดินทร์สุรินทรฦาไชย (บุญมี)

พระยาสุรินทฦๅไชย อภัยพิริยบรากรมพาหะ (เรือง) เป็นเจ้าเมืองเพชรบุรีคนสุดท้ายในสมัยกรุงศรีอยุธยา

ประวัติ

[แก้]

พระยาเพชรบุรี มีนามเดิมว่า เรือง ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ตำบล บ้านสวนตาล หลังวัดพนัญเชิง เป็นพระญาติในสมเด็จกรมพระเทพามาตย์ราชชนนีในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี[1] และเป็นพระญาติกับเจ้าขรัวเงิน พระชนกในสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 2 โดยพระยาเพชรบุรี (เรือง) นั้นสืบเชื้อสายมาแต่ตระกูลขุนนางที่รับราชการต่อเนื่องกันมาในราชสำนักหลายชั่วอายุคนแล้ว ทั้งยังเป็นตระกูลขุนนางซึ่งรู้จักกันเป็นอย่างดีในหมู่ราษฎรกรุงศรีอยุธยาเวลานั้น

เริ่มเข้ารับราชการโดยถวายตัวเป็นมหาดเล็กในกรมขุนพรพินิต (สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร) ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเห็นฝีมือจึงขอตัวไปทำราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งให้เป็นขุนนางฝ่ายทหาร ว่าราชการเมืองเพชรบุรี เมื่อ พ.ศ. 2275 และเป็นขุนนางจากราชสำนักอยุธยาคนสุดท้ายที่ได้ออกไปครองเมืองเพชรบุรี

พระยาเพชรบุรี เป็นนักรบที่เก่งกล้าสามารถ เลื่องลือว่าอยู่ยงคงกระพัน ในสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ กรมหมื่นเทพพิพิธ ร่วมกับเจ้าพระยาอภัยราชา พระยายมราช พระยาเพชรบุรี และหมื่นทิพเสนา วางแผนถอดสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ออกจากราชสมบัติ แล้วถวายให้สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรซึ่งทรงผนวชอยู่ครองราชย์[2] ต่อมาความทราบถึงสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ จึงมีพระราชโองการให้กุมตัวเหล่ากบฏ พระยาเพชรบุรีรู้ข่าวจึงพาทหารไปเชิญเสด็จกรมหมื่นเทพพิพิธ หนีออกจากพระนคร แต่ก็มาถูกจับ พระยาเพชรบุรีจึงต้องพระราชอาญาเฆี่ยนแล้วจำไว้ ต่อมาเมื่อพม่ายกทัพเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ มีรับสั่งให้ไปเชิญสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรลาผนวช แล้วมอบราชสมบัติให้ เมื่อพระเจ้าอุทุมพรได้ราชสมบัติแล้ว จึงมีรับสั่งให้ปล่อยตัว เจ้าพระยาอภัยราชา พระยายมราช และ พระยาเพชรบุรี ออกมารับราชการดังเก่า ต่อมาเมืองเมาะตะมะเกิดกบฎ พระยายมราชและพระยาเพชรบุรีจึงได้ไปปราบจนพวกมอญราบคาบ

ต่อมาเมื่อพม่ายกทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยาครั้งหลัง พระยาเพชรบุรีได้มีหน้าที่รักษากรุง ได้รบกับทัพพม่าที่ริมวัดสังฆาวาศแล้วถูกพม่าจับกุมได้[3] และถูกพม่าประหารเมื่อ เดือน 12 ปีจอ พุทธศักราช 2309

พระยาเพชรบุรีมีบุตรคนหนึ่งนามว่า บุญมี ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีบรรดาศักดิ์ที่หลวงพิไชยราชา ต่อมาได้กลายเป็นแม่ทัพสำคัญของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และต่อมาได้รับการพระราชทานยศขึ้นเป็น เจ้าพระยาพิไชยราชา รามราชแสนญาธิบดีศรีสัชนาไลย อภัยพิริยบรากรมพาหุ เจ้าเมืองสวรรคโลก

พระยาเพชรบุรี เป็นต้นของสกุล บุญ-หลง พลางกูร[4][1]หมายมั่น[5]และกะรีวัตร (สืบลงมาทางหลวงพิไชยราชา (บุญมี))[6]: 196 

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพ : มติชน, พ.ศ. 2559. 623 หน้า. หน้า หน้าที่ 68. ISBN 9789743230561
  2. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 247
  3. ปรามินทร์ เครือทอง (8 มิถุนายน 2019). "เปิดตัวพระยาตาก แบบไม่สวย". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2021.
  4. พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร. กระเบื้องถ้วยกะลาแตก. กรุงเทพ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, พ.ศ. 2553. 240 หน้า. หน้า หน้าที่ 104. ISBN 9789749601372
  5. อาลักษณาโวหาร. (2022, 5 พฤษภาคม). พระยาเพชรบุรีวีรบุรุษที่ถูกลืม. สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2023.
  6. ตากสินมหาราช, สมเด็จพระเจ้า, ธนิต อยู่โพธิ์ (บก.), และปรีดา ศรีชลาลัย. (2484). บทละครรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี: เล่าเรื่องหนังสือรามเกียรติ์ และเรื่องงานสร้างชาติไทย. พิมพ์ในงานศพนายอาคม อินทรโยธิน เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๔ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส. พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์. 240 หน้า.