พระธรรมมุนี (แพ เขมงฺกโร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระธรรมมุนี

(แพ เขมงฺกโร)
คำนำหน้าชื่อพระเดชพระคุณ
ชื่ออื่นหลวงพ่อแพ
ส่วนบุคคล
เกิด1 มกราคม พ.ศ. 2448 (94 ปี 40 วัน ปี)
มรณภาพ10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542
นิกายมหานิกาย
การศึกษาเปรียญธรรม 4 ประโยค
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดพิกุลทอง สิงห์บุรี
บรรพชา15 เมษายน พ.ศ. 2463
อุปสมบท21 เมษายน พ.ศ. 2469
พรรษา73
ตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี

พระธรรมมุนี นามเดิม แพ ใจมั่นคง ฉายา เขมงฺกโร เป็นเกจิอาจารย์และพระราชาคณะชั้นธรรมฝ่ายมหานิกาย อดีตเจ้าอาวาสวัดพิกุลทองและเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี

ประวัติ[แก้]

หลวงพ่อแพ เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2448 ณ บ้านสวนกล้วย ตำบลถอนสมอ อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี เป็นบุตรของนายเทียนและนางหน่าย ใจมั่นคง เมื่ออายุได้ 8 เดือน มารดาถึงแก่กรรม นายบุญและนางเพียร ขำวิบูลย์ จึงรับไปเป็นบุตรบุญธรรม เมื่ออายุได้ 11 ปี ท่านมาศึกษาอักษรขอมกับพระอาจารย์สมที่วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร จนอายุ 16 ปีจึงกลับสิงห์บุรีเพื่อบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดพิกุลทอง แล้วกลับมาศึกษาพระปริยัติธรรมต่อที่วัดชนะสงคราม จนสอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค แต่ตาอักเสบเนื่องจากหักโหมดูหนังสือ จึงหันไปศึกษากรรมฐานที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร แล้วอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2469 โดยมีพระมงคลทิพมุนี (มุ้ย ปณฑิโต) เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสิทธิเดช วัดชนะสงคราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และเจ้าอธิการอ่อน วัดจำปาทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "เขมงฺกโร" แล้วกลับไปจำพรรษาที่วัดชนะสงคราม[1]

พ.ศ. 2474 ท่านรับนิมนต์จากชาวบ้านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดพิกุลทองแทนเจ้าอาวาสรูปเดิมที่ลาสิกขา ระหว่างดำรงตำแหน่งท่านมีชื่อเสียงจากการสร้างพระเครื่องหลายรุ่น และได้พัฒนาวัดและบำเพ็ญสาธารณประโยชน์หลายประการ เช่น สร้างโรงพยาบาล สถานีตำรวจ สถานีอนามัย โรงเรียน สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น[2]

หลวงพ่อแพมรณภาพเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 สิริอายุได้ 94 ปี 40 วัน

สมณศักดิ์[แก้]

  • พ.ศ. 2484 เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูศรีพรหมโสภิต[3]
  • พ.ศ. 2515 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ
  • พ.ศ. 2521 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระสุนทรธรรมภาณี[4]
  • พ.ศ. 2530 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสิงหคณาจารย์ พิศาลมงคลกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[5]
  • 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โปรดตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพสิงหบุราจารย์ ไพศาลสิทธิมงคล วิมลศาสนกิจจาทร ธรรมิกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[6]
  • 10 มิถุนายน พ.ศ. 2539 ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539 โปรดตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมมุนี สุทธศีลาจาร ไพศาลประชานารถ โอภาสศาสนกิจจาทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[7]

อ้างอิง[แก้]

  1. ราม วัชรประดิษฐ์ (14 มกราคม 2562). "หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง : พันธ์ุแท้พระเครื่อง". ข่าวสด. สืบค้นเมื่อ 2020-11-13.
  2. ราม วัชรประดิษฐ์ (15 เมษายน 2563). "หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง เทพเจ้าแห่งลุ่มแม่น้ำน้อย อริยสงฆ์ผู้เปี่ยมเมตตาแห่งสิงห์บุรี". สยามรัฐ. สืบค้นเมื่อ 2020-11-13.
  3. "แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 58 (0 ง): 501. 11 มีนาคม 2484. สืบค้นเมื่อ 2021-01-18.
  4. "แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 97 (60 ง ฉบับพิเศษ): 11. 16 เมษายน 2523. สืบค้นเมื่อ 2020-11-13.
  5. "ประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 104 (253 ง ฉบับพิเศษ): 8. 5 ธันวาคม 2530. สืบค้นเมื่อ 2020-11-13.
  6. "ประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 109 (101 ง ฉบับพิเศษ): 4. 12 สิงหาคม 2535. สืบค้นเมื่อ 2020-11-13.
  7. "ประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 113 (10 ข): 6. 7 มิถุนายน 2539. สืบค้นเมื่อ 2020-11-13.


ก่อนหน้า พระธรรมมุนี (แพ เขมงฺกโร) ถัดไป
พระพรหมโมลี (ทองสุข สุนฺทราจาโร)
เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี
พระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม)