พรมผนังบาเยอ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พรมผนังบาเยอ *
  ความทรงจำแห่งโลกโดยยูเนสโก
ส่วนหนึ่งของพรมผนังบาเยอ
ที่เก็บรักษาพิพิธภัณฑ์พรมผนังบาเยอ
ประเทศ ฝรั่งเศส
ภูมิภาค **ยุโรปและอเมริกาเหนือ
อ้างอิง2006-44
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2007/2550
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีความทรงจำแห่งโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

พรมผนังบาเยอ (อังกฤษ: Bayeux Tapestry; ฝรั่งเศส: Tapisserie de Bayeux) เป็นผืนผ้ากว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 70 เมตรที่ปักเป็นภาพการนำไปสู่ชัยชนะของชาวนอร์มันต่ออังกฤษนำโดยดยุควิลเลียมแห่งนอร์ม็องดี ผู้ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1066 และเหตุการณ์ระหว่างสงครามเอง คำบรรยายในพรมผนังบาเยอเป็นภาษาละติน ปัจจุบันผ้าผืนนี้ตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ที่เมืองบาเยอในประเทศฝรั่งเศส

เอกสารฉบับแรกที่กล่าวถึงพรมผนังบาเยออยู่ในเอกสารการสำรวจสิ่งของของมหาวิหารบาเยอเมื่อปี ค.ศ. 1476 แต่หลักฐานนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่

ตามตำนานของฝรั่งเศสกล่าวกันว่าพระราชินีมาทิลดา (Matilda of Flanders) พระมเหสีของพระเจ้าวิลเลียมเป็นผู้ทรงสั่งทำและทรงออกแบบพรมผนังบาเยอร่วมกับข้าราชสำนัก ผ้าปักผืนนี้จึงเป็นที่รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่า "ผ้าปักพระราชินีมาทิลดา" (Tapestry of Queen Matilda) แต่เมื่อผู้เชี่ยวชาญศึกษาผ้าผืนนี้ในศตวรรษที่ 20 ก็สันนิษฐานว่าผู้ที่สั่งทำน่าจะเป็น บาทหลวงโอโดแห่งบาเยอ (Bishop Odo of Bayeux) ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องของพระเจ้าวิลเลียมมากกว่า เหตุผลที่สันนิษฐานกันว่าบาทหลวงโอโดเป็นผู้สั่งก็เพราะมีรูปของผู้ติดตามของโอโดสามคนที่กล่าวถึงใน บันทึกทะเบียนราษฎรดูมสเดย์ (Domesday Book) อยู่บนผืนผ้า; ผ้าผืนนี้พบที่มหาวิหารบาเยอซึ่งบาทหลวงโอโดเป็นผู้สร้าง; และผ้าปักนี้อาจจะสั่งให้ทำพร้อมกับการก่อสร้างมหาวิหารบาเยอเมื่อปีค.ศ. 1070 เพื่อให้เสร็จทันการฉลองการสถาปนาของมหาวิหาร

ถ้าสันนิษฐานว่าบาทหลวงโอโดเป็นผู้สั่งทำ ผ้าผืนนี้ก็คงออกแบบและทำในอังกฤษโดยศิลปินชาวแองโกล-แซกซันเพราะบาทหลวงโอโดมีอำนาจการปกครองในบริเวณเคนต์ คำบรรยายในผืนผ้าที่เป็นภาษาละตินมีเค้าว่าเป็นแองโกล-แซกซัน ลวดลายปักก็มาจากลักษณะการปักของอังกฤษในสมัยเดียวกัน และสีย้อมจากพืชก็พบในผ้าที่ทอที่นั่น [1] [2] [3] ถ้าเป็นข้อสันนิษฐานนี้ตัวงานปักก็คงทำโดยช่างปักผู้ชำนาญเพราะฝีมือการปักแบบแองโกล-แซกซัน หรือ "Opus Anglicanum" มีชื่อเสียงไปทั่วยุโรป

อีกทฤษฏีหนึ่งที่เพิ่งเสนอโดยนักประวัติศาสตร์ศิลปะคาโรลา ฮิกส์ (Carola Hicks) ก็ว่าทำโดยอีดิธแห่งเวสเซ็กซ์ พระชายาในสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพ[4]

วุล์ฟแกง เกรป ในหนังสือ "พรมผนังบาเยอ : อนุสรณ์แห่งชัยชนะของนอร์มัน" (The Bayeux Tapestry: Monument to a Norman Triumph) ที่พิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1994 ค้านความเห็นส่วนใหญ่ที่ว่าเป็นงานปักของแองโกล-แซกซัน โดยชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างงานปักของแองโกล-แซกซันและวิธีปักของบริเวณอื่นๆ ทางเหนือของยุโรป [5] แต่อลิสซาเบ็ธ โคทสเวิร์ธ ผู้เชี่ยวชาญทางผ้าไม่เห็นด้วยกับความเห็นนี้ [6]

เมื่อไม่นานมานี้ จอร์จ บีชให้ความเห็นว่าผ้าปักทำที่แอบบีแซ็ง-ฟลอร็องในบริเวณลุ่มแม่น้ำลัวร์ และกล่าวว่ารายละเอียดที่ปักเป็นเรื่องราวของการรณรงค์ในเบรอตาญในหนังสือ "พรมผนังบาเยอทำในฝรั่งเศสหรือไม่? : กรณีแซ็ง-ฟลอร็องแห่งโซมูร์" (Was the Bayeux Tapestry Made in France?: The Case for St. Florent of Saumur)[7]

โครงสร้างและวิธีทำ[แก้]

รายละเอียดแสดงให้เห็นการปักเป็นขอบรอบรายละเอียด
ผู้ถือสารกับกีย์ที่แสดงให้เห็นการเกษตรกรรมในยุคกลางตรงขอบล่าง
ปราสาทดินองในเบรอตาญ
ดาวหางแฮลลีย์ด้านบนขวา

พรมผนังบาเยอก็เช่นเดียวกับผ้าปักในสมัยต้นยุคกลางทึ่เรียกว่า "tapestry" (พรมผนัง) แม้ว่าจะไม่ใช่พรมผนังตามความหมายของคำที่เป็นการทอลวดลายเข้าไปในเนื้อผ้าแทนที่จะเป็นการปักอย่างพรมผนังบาเยอ

พรมผนังบาเยอใช้ด้ายขนแกะปักบนผ้าลินิน ใช้วิธีปักสองวิธี: ฝีเข็มแบบ backstitch สำหรับตัวอักษรและตัดขอบรอบสิ่งต่างในภาพที่ปัก ฝีเข็มแบบ couching สำหรับเติมในช่องที่ตัดขอบไว้[3][2] ผ้าลินินที่ใช้เป็นผืนเล็กๆ ที่นำมาต่อกัน

สีของด้ายที่ใช้เป็นสีดินเผา (terracotta) หรือ แดงเข้ม (russet), เขียวน้ำเงิน, ทองหม่น และน้ำเงิน กับสีน้ำเงินเข้มหรือดำ และเขียวหม่น (เขียวใบเสจ (sage green)) บ้างเล็กน้อย ด้ายที่ซ่อมต่อมาเป็นสีเหลืองอ่อน, ส้ม และเขียวอ่อน[2] ในช่องเติมบางครั้งก็จะใช้ด้ายสีเดียวกันหรือบางครั้งก็ใช้สีตัดกัน

ในสมัยการรุกรานของนอร์มันในอังกฤษ ตราประจำเหล่า (heraldry) ยังไม่เป็นที่ใช้กัน อัศวินในผ้าปักใช้โล่แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่มีระบบการใช้ตราประจำตัว (coats of arms) แต่อย่างใด การใช้ ตราประจำเหล่า มาเริ่มใช้กันเป็นมาตรฐานเอาเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 12

ประวัติ[แก้]

ผ้าปักค้นพบอึกครั้งเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่บาเยอซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งแสดงปีละครั้งระหว่างการฉลองเทศการวัตถุมงคล ลายสลักบนโลหะ (engraving) ของภาพพิมพ์โดยเบอร์นาร์ด เดอ มงโฟคอง (Bernard de Montfaucon) ในคริสต์ทศศตวรรษ 1730 ต่อมาชาวบาเยอผู้ต่อสู้เพื่อสาธารณรัฐต้องการจะใช้ผ้าคลุมรถขนอาวุธและทนายความที่รู้ถึงความสำคัญของผ้าปักห้ามไว้ทัน[ต้องการอ้างอิง] ในปี ค.ศ. 1803 จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ทรงยึดและนำไปปารีส จักรพรรดินโปเลียนทรงต้องการที่จะใช้ผ้าปักเป็นเครื่องปลุกใจในการวางแผนรุกรานอังกฤษ เมื่อแผนต้องล้มเลิกผ้าปักจึงถูกนำกลับไปบาเยอ เมื่อได้มาชาวเมืองก็เก็บม้วนไว้ ต่อมาผ้าปักก็ถูกยึดไปโดย "สถาบันการค้นคว้าและการสอนท้องถิ่นเกี่ยวกับที่มาของบรรพบุรุษ" (Ahnenerbe) ของพรรคนาซี ผ้าปักจึงถูกเก็บรักษาไว้ในห้องใต้ดินในพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ในปัจจุบันพรมผนังบาเยอตั้งแสดงอยู่ในห้องมืดที่ใช้ไฟที่ออกแบบพิเศษเพื่อไม่ให้เลียสีและป้องกันจากความชำรุดที่เกิดจากแสงและอากาศ ในเดือนมิถุนายนปี ค.ศ. 2007 พรมผนังบาเยอได้รับเลือกจากองค์การยูเนสโกให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก

เนื้อหา[แก้]

พรมผนังบาเยอเป็นเรื่องราวของชัยชนะของชาวนอร์มันที่มีต่ออังกฤษ ฝ่ายหนึ่งของสงครามคือชาวแองโกล-แซกซันอังกฤษนำโดยพระเจ้าฮาโรลด์ กอดวินสันผู้ที่เพิ่งขึ้นครองราชบัลลังก์อังกฤษ และอีกฝ่ายหนึ่งคือชาวนอร์มันนำโดยดยุควิลเลียมแห่งนอร์ม็องดี แยกจากกันโดยชาวนอร์มันจะโกนด้านหลังของศีรษะ และชาวแองโกล-แซกซันมีหนวด

บุคคลสำคัญๆ ที่ปรากฏก็ได้แก่ดยุควิลเลียมแห่งนอร์ม็องดี หรือวิลเลียมผู้พิชิต ดยุควิลเลียมเป็นบุตรนอกสมรสของโรเบิร์ตที่ 2 ดยุคแห่งนอร์ม็องดีและเฮอร์เลวา (Herleva) ผู้ที่ต่อมาไปมีสามีอึกคนหนึ่งและมีลูกด้วยกันสองคนจากคนหนึ่งคือโอโดแห่งบาเยอ เฮอร์เลวาอาจจะเป็นลูกสาวของช่างย้อมหนัง ดยุคโรเบิร์ตแห่งนอร์ม็องดีถูกสังหารระหว่างการเดินทางกลับจากการแสวงบุญที่เยรูซาเลม วิลเลียมทรงขึ้นเป็นดยุคแห่งนอร์ม็องดีต่อจากดยุคโรเบิร์ตตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์แต่ก็พิศูจน์พระองค์เองว่าทรงเป็นนักรบที่กล้าหาญเมื่อพระชนมายุได้ 19 พรรษา ดยุควิลเลียมแห่งนอร์ม็องดีเสกสมรสกับมาทิลดาแห่งฟลานเดอร์สผู้เป็นพระญาติห่างๆ

ผ้าปักเริ่มด้วยฉากสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพผู้ไม่มีพระราชโอรสเพื่อการสืบราชสมบัติ และดูเหมือนว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจะทรงส่งฮาโรลด์ กอดวินสันผู้เป็นขุนนางคนสำคัญของอังกฤษไปนอร์ม็องดีแต่ผ้าปักมิได้ระบุเหตุผลของการเดินทางของฮาโรลด์ เมื่อไปถึงนอร์ม็องดีฮาโรลด์ก็ถูกจับเป็นนักโทษโดยกีย์ เคานต์แห่งปองทู พอได้รับข่าวดยุควิลเลียมก็สั่งให้กีย์ส่งตัวฮาโรลด์มาให้พระองค์ ดยุควิลเลียมคงทรงมีความประทับใจในตัวฮาโรลด์ กอดวินสันอยู่บ้างเพราะทรงออกสงครามร่วมกับฮาโรลด์ในการต่อสู้กับโคนันที่ 2 ดยุคแห่งเบรอตาญผู้เป็นศัตรูของดยุควิลเลียม ขณะที่เดินผ่านมง-แซ็ง-มีแชลเพื่อไปยังเบรอตาญ ฮาโรลด์ก็ได้ช่วยนายทหารสองคนของดยุควิลเลียม บารอนเอียน เด ลา โกลด์ฟินช์ และหลวงพ่อพอล เลอ คีนให้รอดจากทรายดูด ฮาโรลด์และดยุควิลเลียมไล่ตามโคนันจากโดลเดอเบรอตาญไปจนถึงแรนส์และในที่สุดดินองเมื่อโคนันยอมแพ้ อาจจะเป็นได้ว่าดยุควิลเลียมอาจจะแต่งตั้งให้ฮาโรลด์เป็นอัศวินหลังจากที่ทรงชนะสงครามต่อโคนันแล้วฮาโรลด์ก็สาบานต่อวัตถุมงคลของนักบุญ สันนิษฐานเป็นรากฐานที่ทำให้พงศาวดารของนอร์มันตีความหมายว่าการสาบานของฮาโรลด์ว่าเป็นการประกาศสนับสนุนดยุควิลเลียมในการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์อังกฤษ แต่ตัวผ้าปักมิได้ระบุดังที่ว่า หลังจากนั้นฮาโรลด์ก็เสด็จกลับอังกฤษและเข้าเฝ้าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้กริ้วที่ฮาโรลด์ไปสาบานต่อดยุควิลเลียม เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จสวรรคตฮาโรลด์ก็ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าฮาโรลด์ กอดวินสัน ในพรมผนังบาเยอฮาโรลด์ กอดวินสันได้รับการสมมงกุฏโดยสไตกานด์ (Stigand) อัครบาทหลวงแห่งแคนเตอร์บรีผู้ที่ดำรงตำแหน่งอย่างเป็นที่น่าสงสัย หลักฐานอื่นๆ ของนอร์มันต่างก็กล่าวเช่นเดียวกันทำให้ดูราวกับว่าการสวมมงเกุฏเป็นไปโดยไม่ชอบธรรม แต่หลักฐานอังกฤษกล่าวว่าทรงได้รับการสมมงกุฏโดยเอเดรดอัครบาทหลวงแห่งยอร์กซึ่งทำให้รู้สึกว่าการเป็นพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษของฮาโรลด์เป็นไปอย่างถูกต้อง

ฉากต่อมาก็เป็นการปรากฏของดาวหางแฮลลีย์ การปรากฏของดาวหางเป็นครั้งแรกควรจะเป็นวันที่ 24 เมษายน ราวเกือบสี่เดือนหลังจากที่พระเจ้าฮาโรลด์ได้ทรงทำพิธีราชาภิเศก ตามความเชื่อของชนยุคกลางดาวหางแฮลลีย์เป็นดาวที่เป็นสัญญาณของความหายนะ ข่าวการราชาภิเศกของพระเจ้าฮาโรลด์ไปถึงนอร์ม็องดี เมื่อดยุควิลเลียมเตรียมสร้างกองทัพเรือเพื่อจจะรุกรานอังกฤษ ดยุควิลเลียมนำกองทัพนอร์มันขึ้นฝั่งอังกฤษโดยไม่มีผู้ต่อต้าน ขณะที่ประทับอยู่ในอังกฤษก็ทรงได้ข่าวว่าพระเจ้าฮาโรลด์ได้รับชัยชนะต่อผู้รุกรานทางด้านเหนือของอังกฤษที่ยุทธการแสตมฟอร์ดบริดจ์ (Battle of Stamford Bridge) แต่ผ้าปักละเว้นเหตุการณ์นี้ ดยุควิลเลียมก็เริ่มสร้างป้อมบนเนินเพื่อป้องกันตนเอง

ยุทธการเฮสติงส์ต่อสู้กันเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม, ค.ศ. 1066 โดยฝ่ายอังกฤษต่อสู้ในกำแพงเมืองและฝ่ายฝรั่งเศสบนหลังม้า ผู้ที่ถูกสังหารคนแรกคือเลิร์ฟไวน์ (Leofwine Godwinson) และ เกิร์ธ (Gyrth Godwinson) พระอนุชาของพระเจ้าฮาโรลด์ โอโดแห่งบาเยอก็ปรากฏในสนามรบด้วย ผู้เสียชีวิตต่อมาก็คือพระเจ้าฮาโรลด์ซึ่งอาจจะตึความหมายได้จากชื่อ "ฮาโรลด์" ที่ปรากฏอยู่เหนือฉากการตายที่ยืดยาว แต่ทำให้บ่งได้ยากว่าผู้ใดในฉากนั้นคือพระเจ้าฮาโรลด์ ตามความเชื่อที่มี่ต่อกันมาพระเจ้าฮาโรลด์คือผู้ที่มีศรเสียบตา แต่อาจจะเป็นอีกคนหนี่งที่มีหอกปักอก หรือคนที่ถูกตัดขาหรืออาจจะเป็นทั้งสามคนทึ่ถูกบาดเจ็บทั้งสามอย่าง หลังจากนั้นฝ่ายอังกฤษก็หนีจากสนามรบ

ส่วนที่หายไป[แก้]

แต่ผ้าปักไม่น่าที่จะจบลงตรงนี้ส่วนที่เหลืออาจจะหายสาบสูญไป หลังจากชัยชนะที่ยุทธการเฮสติงส์ ดยุควิลเลียมแห่งนอร์ม็องดี ก็เดินทัพผ่านเคนต์ไปยังลอนดอนทึ่ขุนนางถวายความสวามิภักดิ์ ดยุควิลเลียมได้สวมมงกุฎเป็นพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษในวันคริสต์มาสของปี ค.ศ. 1066 โดยอัครบาทหลวงอัลเดรดแห่งยอร์กและวอริก การต่อต้านของชาวแซกซันก็ยังดำเนินต่อไปจน พระเจ้าวิลเลียมเสด็จสวรรคต

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. UNESCO World Heritage nomination form, in English and French. Word document. Published 09-05-2006. Last accessed March 2007.
  2. 2.0 2.1 2.2 Wilson, David M.: The Bayeux Tapestry, Thames and Hudson, 1985, p.201-227
  3. 3.0 3.1 Coatsworth, Elizabeth: "Stitches in Time: Establishing a History of Anglo-Saxon Embroidery", in Robin Netherton and Gale R. Owen-Crocker, editors, Medieval Clothing and Textiles, Volume 1, Woodbridge, 2005, p. 1-27
  4. "New Contender for The Bayeux Tapestry?", from the BBC, May 22, 2006. The Bayeux Tapestry: The Life of a Masterpiece, by Carola Hicks (2006). ISBN 0-7011-7463-3
  5. See Grape, Wolfgang, The Bayeux Tapestry: Monument to a Norman Triumph, Prestel Publishing, 3791313657
  6. "The attempt to distinguish Anglo-Saxon from other Northern European embroideries before 1100 on the grounds of technique cannot be upheld on the basis of present knowledge", Coatsworth, "Stitches in Time: Establishing a History of Anglo-Saxon Embroidery", p.26
  7. Beech, George: Was the Bayeux Tapestry Made in France?: The Case for St. Florent of Saumur. (The New Middle Ages), New York, Palgrave Macmillan 1995; reviewed in Robin Netherton and Gale R. Owen-Crocker, editors, Medieval Clothing and Textiles, Volume 2, Woodbridge, Suffolk, UK, and Rochester, NY, the Boydell Press, 2006, ISBN 1843832038

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ พรมผนังบาเยอ

สมุดภาพ[แก้]