ผู้ใช้:Pachrapon Channit/ทดลองเขียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เวช กระตุฤกษ์
ไฟล์:เวช กระตุฤกษ์ เต็มตัว.jpg
เกิด1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448
จังหวัดกระบินทร์บุรี
เสียชีวิต9 เมษายน พ.ศ. 2526 (78 ปี)
จังหวัดนนทบุรี
สัญชาติไทย
อาชีพเจ้าของสำนักพิมพ์เพลินจิตต์
คู่สมรสนางอุบล
นางวิมล
นางราตรี
นางทองสร้อย
บุตร12 คน
บิดามารดานาย นิ่ม กระตุฤกษ์
นาง ถมยา

เวช กระตุฤกษ์ (1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 - 9 เมษายน พ.ศ. 2526) เป็นผู้ก่อตั้งและเจ้าของสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ที่มีชื่อเสียงในช่วงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ตีพิมพ์หนังสือนวนิยาย นิตยสารมากมาย เป็นที่รู้จักของนักอ่านรุ่นบุกเบิกในประเทศไทย งานเขียนที่โด่งดังที่ตีพิมพ์จากสำนักพิมพ์เพลินจิตน์เช่น พล นิกร กิมหงวน

ประวัติ[แก้]

เวช กระตุฤกษ์ เกิดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2448  บิดาชื่อ นายนิ่ม กระตุฤกษ์ มารดาชื่อ นางถมยา ครอบครัวค่อนข้างมีฐานะ บิดาเป็นปลัดอำเภอนครนายก มีพี่น้องร่วมกัน 5 คน นายเวช เป็นบุตรคนที่ 3 สำเร็จการศึกษาพื้นฐานจากโรงเรียนในจังหวัดกระบินทร์บุรี

เมื่ออายุ 16 ปี นายเวชได้ตัดสินใจเดินทางเข้าไปใช้ชีวิตและทำงานในพระนคร ที่โรงพิมพ์สารานุกูล ในปี พ.ศ. 2471 ทำหน้าที่ตั้งแต่เรียงตัวอักษรแม่พิมพ์จนไปถึงคนส่งหนังสือ เมื่อนายเวชทำงานรวบรวมเงินได้จำนวนหนึ่ง จึงได้นำเงินไปซื้อตัวพิมพ์มาแล้วจ้างผู้อื่นพิมพ์ เมื่อมีเงินมากขึ้นเรื่อยๆจนปี พ.ศ. 2475 นายเวชได้ตัดสินใจซื้อโรงพิมพ์แห่งหนึ่งบริเวณถนนหลานหลวงและตั้งชื่อว่า "ศิริอักษร"

ก่อตั้งสำนักพิมพ์เพลินจิตน์[แก้]

ในปี พ.ศ. 2475 นายเวชได้ไปรวมตัวปรึกษาหารือกับเพื่อนๆในวงการหนังสือโดยมี  เสาว์ บุญเสนอ (ส.บุญเสนอ) และ เหม เวชกร สำหรับตัวของ เสาว์ บุญเสนอ มีความสามารถทางด้านการเขียนนวนิยาย ส่วนตัวของ เหม เวชกร นั้นมีความสามารถทางด้านการวาดภาพประกอบ และนายเวชเองก็มีโรงพิมพ์เล็กๆที่ตนได้ซื้อมาไม่นานนัก สุดท้ายทั้ง 3 คนจึงได้ตกลงที่จะร่วมมือกันก่อตั้งสำนักพิมพ์ขึ้นมา สำนักพิมพ์เพลินจิตต์จึงได้ถือกำเนิดขึ้นในเดือนเมษายน โดยมีทั้ง 3 คนเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งได้แก่  เสาว์ บุญเสนอ (ส.บุญเสนอ) ทำหน้าที่ฝ่ายบรรณาธิการ จัดหานวนิยายมาตีพิมพ์, ส่วน เหม เวชกร ทำหน้าที่วาดภาพหน้าปกประกอบเรื่อง และ นายเวช กระตุฤกษ์ เป็นเจ้าของกิจการสำนักพิมพ์

จการโรงพิมพ์เพลินจิตน์ของนายเวช ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง มีนักเขียนชื่อดังมากมายที่เคยทำงานร่วมกับนายเวช เช่น เสาว์ บุญเสนอ, ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ, ไม้ เมืองเดิมป. อินทรปาลิต ทำให้นายเวชมีทรัพย์สินมากมายจากกิจการโรงพิมพ์และกลายเป็นนายห้างในสมัยนั้น

ชีวิตส่วนตัวและครอบครัว[แก้]

นิสัยส่วนตัวของนายเวช กระตุฤกษ์ ส่วนตัวนั้น ใจดี พูดจาสุภาพ ไม่สูบบุหรี่หรือกินเหล้า ชอบดมยานัตถุ์ มักจะมีไอเดียใหม่ๆตลอดเวลา ชื่นชอบสะสมรถหรูที่มีมากกว่า 7 คันจอดอยู่ในโรงพิมพ์ นายเวชและครอบครัวพักอาศัยอยู่ในโรงพิมพ์ มักจะชอบพาลูกๆและครอบครัวไปเที่ยวต่างจังหวัดอยู่บ่อยๆ โดยกิจการโรงพิมพ์เพลินจิตต์นั้นดูแลและบริหารโดย นายเวช กับ นางอุบล ภรรยาคนแรก โดยนางอุบลนั้นจะบริหารในเรื่องการเงิน ตัวนางอุบลนั้น เป็นคนเก่ง มีความสามารถ และเด็ดขาด ซึ่งตรงข้ามกับนิสัยของ นายเวช ทำให้ทุกคนยำเกรงและอยู่ในโอวาทของนางอุบลที่เป็นเสาหลักในการบริหารดูแลครอบครัวและกิจการโรงพิมพ์เรื่อยมา

นางอุบล เริ่มมีปัญหาสุขภาพล้มป่วย เข้าออกโรงพยาบาลเป็นประจำ จนเกิดภาวะติดยา Pethidine ทีใช้ระงับอาการเจ็บปวดจนไม่สามารถหยุดยาได้ อาการก็แย่ลงเรื่อยๆตามลำดับ จนเวลาต่อมานางอุบลภรรยาคนแรกของนายเวชก็ได้เสียชีวิตลงจากอาการป่วย นายเวชเพียงคนเดียวนั้นไม่สามารถดูแลกิจการโรงพิมพ์และครอบครัวเพียงคนเดียวได้ ภายหลังครอบครัวก็เริ่มแตกคอมีปัญหากันรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของทรัพย์สิน และนำปัญหามาสู่นายเวชเรื่อยๆไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยและติดการพนันจนเกิดหนี้สินมากมาย

บุตรและภรรยา[แก้]

เวช กระตุฤกษ์ มีภรรยาทั้งหมด 4 คน และมีบุตรรวมทั้งสิ้น 12 คน

  • ภรรยาคนที่หนึ่ง นาง อุบล เป็นภรรยาคนแรกของนายเวช มีบุตรทั้งหมด 4 คน ศิริ เบญจมาศ โพธิ์เงิน บวร
  • ภรรยาคนที่สอง วิมล เป็นน้องแท้ๆของนางอุบล มีบุตรทั้งหมด 4 คน วิวัฒน์ เฟื่องฟ้า วัลภา กิตติ
  • ภรรยาคนที่สาม นางราตรี เป็นพนักงานของโรงพิมพ์เพลินจิตต์ มีบุตรทั้งหมด 3 คน วิสิทธิ์ พีรพงษ์ วรินทร์พร
  • ภรรยาคนที่สี่ นางทองสร้อย เป็นพยาบาลที่มาดูแลนางอุบลภรรยาคนแรกของนายเวช ที่ล้มป่วยด้วยปัญหาสุขภาพ ต่อมาได้นางอุบลได้ชื่นชอบและถูกชะตาในตัวของนางทองสร้อยมาก จึงได้จัดการฝากฝังให้เป็นภรรยาคนที่สี่ของนายเวช โดยมีบุตรสาวเพียงคนเดียวคือ ภัทรียา

กิจการโรงพิมพ์ล้มละลาย[แก้]

ช่วงปี พ.ศ. 2506 - 2507 หลังจากที่นางอุบลภรรยาคนแรกเสียชีวิตลงสำนักพิมพ์เพลินจิตน์ประสบปัญหาด้านการบริหารภายในและหนี้สิน สุดท้ายนายเวชก็ไม่สามารถบริหารดูแลกิจการได้ต่อไป และได้ตัดสินใจขายโรงพิมพ์เพลินจิตต์ ถือเป็นการสิ้นสุดของสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ จากคำบอกเล่าของ นายประวิทย์ สัมมาวงศ์ เล่าว่า " ชีวิตของคุณเวชตกต่ำยากจนอย่างน่าใจหาย เคยเดินลากขาไปหาที่เวิ้งนาครเขษมเพราะมีความสัมพันธ์กันมาแต่ครั้งซื้อลิขสิทธิ์เรื่องของ "ไม้ เมืองเดิม" มาจัดพิมพ์ ก็ได้ช่วยเหลือไปตามควร สมองของคุณเวชคงเลื่อนลอย ขากลับจึงเดินเท้าเปล่ากลับ ต้องหิ้วรองเท้าแตะตามเอาไปให้ "

บั้นปลายชีวิต[แก้]

หลังจาก นายเวช กระตุฤกษ์ ล้มละลาย ได้ตัดสินใจจะเริ่มทำสำนักพิมพ์ใหม่อีกครั้ง โดยได้ไปเช่าตึกแถว ที่สุขุมวิท 64 บางจาก เป็นสำนักพิมพ์เล็กๆของตน แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน ไม่ประสบความสำเร็จจึงปิดตัวลงไป จึงได้ไปอาศัยอยู่กับภรรยาคนที่สี่ ชื่อ นางทองสร้อย แถวพระโขนง ภายหลัง นายเวช ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเนื่องจากปัญหาหนี้สินที่ตามมาสุดท้าย นายชิต กันภัย เจ้าของสำนักพิมพ์ดรุณี อดีตลูกน้องคนสนิทสมัยโรงพิมพ์เพลินจิตต์ ได้เข้ามาไกล่เกลี่ยกับทางตำรวจ

นายเวชได้มาพักอยู่ที่สำนักพิมพ์ดรุณี ของนายชิต กันภัย แถวประตูน้ำ มักกะสัน ระหว่างอาศัยกับนายชิต นายเวชได้ทำงานด้านหนังสืออยู่ที่ตนถนัดอยู่ เป็นหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊คนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ บทประพันธ์ของรองอำมาตย์โทชุ่ม ณ.บางช้าง และอื่นๆอีก 3-4 เรื่องที่ นายเวช ยังครอบครองลิขสิทธิ์อยู่ เช่น ขุนพลกาฬสิงห์ ถล่มขอมดำ ปัญหาสุขภาพก็เริ่มรุมเร้าตามมา อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิต ต่อมานายเวช กระตุฤกษ์ เกิดอาการทรุด ได้ถูกส่งมารักษาตัวที่โรงพยาบาลกลาง

ในบั้นปลายชีวิตขณะที่ นายเวช กระตุฤกษ์ รักษาตัวอยู่โรงบาลกลางด้วยอาการเส้นเลือดในสมองตีบ ด้วยสภาพนอนติดเตียง ต่อมาหนึ่งเดือนทางโรงพยาบาลให้นายเวชกลับบ้านได้ วิสิทธิ์บุตรชายของนางราตรี ภรรยาคนที่ 3 ได้พานายเวชกลับไปพักฟื้นที่บ้านของตน แถววัดปากน้ำ จังหวัดนนทบุรี นางราตรีและบุตรได้ช่วยดูแล นายเวช ตามกำลังที่พอมี เนื่องด้วยนางราตรีประกอบอาชีพแม่ค้ากับข้าว ช่วงที่พักรักษาตัวอยู่ที่บ้านของนางราตรี นางวิมล กับ นางทองสร้อย ก็มาเยี่ยมเยื่อน นายเวช เป็นช่วงๆ สุขภาพของนายเวช ได้ทรุดลงตามลำดับ

ถึงแก่กรรม[แก้]

ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2526 เวลา 21.30 นายเวช กระตุฤกษ์ ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบที่บ้านพักของนางราตรี จากอาการป่วยสะสมติดต่อกัน เช้าวันต่อมาทางครอบครัวได้นำศพไปประกอบพิธีฌาปนกิจและได้ตั้งอัฐิไว้ที่วัดปากน้ำ จังหวัดนนทบุรี

อ้างอิง[แก้]

  • หนังสือนักวาดในดวงใจ โดย อเนก นาวิกมูล
  • คอลัมน์หนังสือต่วยตูน เดือนกันยายน 2532 ปีที่ 19 เล่มที่ 1 โดย ส.บุญเสนอ
  • หนังสือป.อินทรปาลิต ชีวิตของคนขาฝัน หน้าที่ 73-80 โดย เริงไชย พุทธาโร