ผู้ใช้:Nattakan kun/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นโยบายสาธารณะเรียนฟรี15ปี[แก้]

ความเป็นมา[แก้]

ในชีวิตของมนุษย์สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือ ความรู้ ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุน และเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนจะต้องมี แต่มนุษย์นั้นมีความสามารถที่จะลงทุนไม่เท่ากัน ดังนั้นรัฐจึงต้องจัดสรรปัจจัยพื้นฐานให้ประชาชนไทยทุกคนได้มีโอกาสทางทางการศึกษา เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับสิทธิเสมอภาคกันในการได้รับการศึกษาไม่น้อยกว่า15ปี[1] เริ่มแรกคณะรัฐมนตรีไทยได้กำหนดนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการตามเจตนารมณ์ และได้มีการแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎรไทยโดยมีการอ้างอิงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 49 ได้บัญญัติไว้ว่า “ บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปี รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย”[2] และมีการเร่งที่จะเดินหน้าตามนโยบายโดยทันที

ด้วยเจตนารมณ์ดังกล่าวข้างต้นกระทรวงศึกษาธิการจึงได้ดำเนินการตามนโยบายเรียนฟรี15ปีอย่างมีคุณภาพขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีศักยภาพ

วัตถุประสงค์[แก้]

เพื่อให้นักเรียนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีศักยภาพ โดยสำหรับค่าหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนจะไม่มีการเสียค่าใช้จ่ายทางรัฐบาลจะเป็นผู้ให้การสนับสนุน

แนวทางการดำเนินงานของนโยบาย[แก้]

หนังสือเรียน[แก้]

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะโอนเงินอุดหนุนทั่วไป ก็คืองบประมาณค่าหนังสือเรียน เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของสถานศึกษา จากนั้นให้สถานศึกษาจัดสรรการซื้อหนังสือเรียน โดยมีการดำเนินการคือจะมีการคัดเลือกหนังสือเรียน โดยครูผู้สอนจะเป็นผู้เลือกหนังสือเรียน และเสนอให้คณะกรรมการ วิชาการ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และภาคี 4 ฝ่าย (ภาคี4ฝ่าย ประกอบด้วยผู้แทนครู ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนชุมชน และผู้แทนกรรมการนักเรียน)[3] ร่วมกันคัดเลือกหนังสือเรียนในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ให้ครบ 8 กลุ่มสาระ โดยจะต้องคัดเลือกหนังสือเรียนตรงหลักสูตรตามกำหนดของกระทรวงศึกษาธิการ และต้องให้มีเนื้อหา ตามความต้องการของครูผู้สอนโดยสามารถที่จะเลือกได้จากทุกสำนักพิมพ์ ที่กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดในบัญชีหนังสือเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ

เครื่องแบบนักเรียน[แก้]

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะโอนเงินอุดหนุนทั่วไป ก็คืองบประมาณค่าเครื่องแบบนักเรียน เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของสถานศึกษา และให้สถานศึกษาจ่ายเงินให้กับ นักเรียนและผู้ปกครอง เพื่อให้นักเรียนและผู้ปกครองไปจัดซื้อเครื่องแบบนักเรียนคนละ 2 ชุด หากต้องใช้เครื่องแบบนักเรียนที่ราคาสูงกว่าเงินที่ได้รับ อาจซื้อได้เพียง 1 ชุด และถ้าหากมีเครื่องแบบนักเรียนเพียงพอแล้ว สามารถนำเงินไปจัดซื้ออุปกรณ์อย่างอื่นได้เช่น ถุงเท้า รองเท้า เข็มขัด ชุดลูกเสือ ชุดเนตรนารี ชุดยุวกาชาด ชุดกีฬาก็ได้

โดยมีขั้นตอนการดำเนินการดังนี้

1. โรงเรียนจะแต่งตั้งผู้จ่ายเงินไม่ต่ำกว่า 2 คน เพื่อจ่ายเงินให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง

2. เมื่อนักเรียนและผู้ปกครองได้รับเงินจากทางโรงเรียนแล้วให้ตรวจสอบจำนวนเงินที่ได้รับ ให้ถูกต้องตรงกันกับแนวทางการดำเนินงานนโยบายเรียนฟรี๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ

3. เมื่อโรงเรียนจ่ายเงินให้นักเรียน นักเรียนต้องลงลายมือชื่อรับเงิน หากนักเรียนไม่สามารถที่จะลงลายมือชื่อรับเงินได้ ให้ผู้ปกครองลงลายมือชื่อรับเงินแทน เพื่อเป็นหลักฐานการจ่ายเงินของทางโรงเรียน

4. ทางโรงเรียนจะออกใบเสร็จรับเงินตามแบบของทางราชการในนามของโรงเรียน ตามจำนวนเงินที่ผู้ปกครองและนักเรียนได้รับ และทางโรงเรียนจะนำส่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อที่จะรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน

5. โรงเรียนจะแจ้งให้นักเรียนและผู้ปกครองสามารถเลือกซื้อเครื่องแบบนักเรียนได้ตามความต้องการ

6. โรงเรียนต้องติดตามใบเสร็จรับเงินจากนักเรียนและผู้ปกครอง

7.โรงเรียนและคุณครูต้องดูแลให้นักเรียนมีเครื่องแบบนักเรียนใช้จริง

8. หากทางโรงเรียนพบว่านักเรียนไม่มีเครื่องแบบนักเรียนใช้จริง โดยที่นักเรียนและผู้ปครองนำเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่น ผู้ปกครองต้องคืนเงินให้กับทางราชการ

อุปกรณ์การเรียน[แก้]

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะโอนเงินอุดหนุนทั่วไป ก็คืองบประมาณค่าเครื่องแบบนักเรียน เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของสถานศึกษา และให้โรงเรียนจ่ายเงินให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง เพื่อให้นักเรียนและผู้ปกครอง สามารถนำไปเลือกซื้ออุปกรณ์การเรียน ที่จำเป็นในการเรียนการสอนตามความต้องการโดยต้องให้เหมาะสมกับระดับชั้นของนักเรียน ส่วนวิธีการปฏิบัติในการจ่ายเงิน การติดตาม ควบคุม และตรวจสอบ ให้ปฏิบัติเหมือนกันกับการจ่ายเงินค่าเครื่องแบบนักเรียน

กิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน[แก้]

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะโอนเงินอุดหนุนทั่วไป ก็คืองบประมาณค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของโรงเรียน โดยให้โรงเรียนจัดกิจกรรมสำหรับนักเรียน ดังต่อไปนี้

1. จัดกิจกรรมวิชาการสำหรับนักเรียน ปีละ 1 ครั้ง

2. จัดกิจกรรมคุณธรรม ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด สำหรับนักเรียน ปีละ 1 ครั้ง

3. จัดกิจกรรมให้นักเรียนไปทัศนศึกษา ปีละ 1 ครั้ง

4. ให้บริการสารสนเทศ ICT สำหรับนักเรียน ปีละ 40 ชั่วโมงต่อนักเรียน1คน

มีขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้[แก้]

 1. เมื่อทางโรงเรียนได้รับเงินงบประมาณค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้ทางโรงเรียนตรวจสอบจำนวนเงินที่ได้รับ กับจำนวนที่แจ้งการโอนเงินให้ถูกต้องตรงกัน

 2.โรงเรียนต้องออกใบเสร็จรับเงินตามแบบของทางราชการในนามของทางโรงเรียน ตามจำนวนเงินที่โรงเรียนได้รับ ส่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อรวบรวมเป็นหลักฐาน 2

แนวทางการจัดซื้อให้นักเรียน[แก้]

 การจัดซื้อหนังสือ[แก้]

 1.ให้โรงเรียนดำเนินการจัดซื้อโดยต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี (ประเทศไทย)ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม  โดยทางโรงเรียนต้องคำนึงถึงคุณภาพที่เหมาะสมกับราคาด้วย และให้ทางโรงเรียนต่อรองราคาจากผู้ขาย เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของงบประมาณ

2.ให้ทางโรงเรียนเตรียมดำเนินการหาผู้ขายหนังสือไว้เพื่อให้พร้อมต่อการที่จะทำสัญญาได้โดยทันที เมื่อทางโรงเรียนได้รับแจ้งอนุมัติการโอนเงินของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่จะโอนเงินงบประมาณค่าหนังสือเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของโรงเรียน

3. . เมื่อทางโรงเรียนได้รับเงินงบประมาณ ให้ทางโรงเรียนตรวจสอบจำนวนเงินที่ได้รับ กับจำนวนที่แจ้งการโอนเงินให้ถูกต้องตรงกัน

4. โรงเรียนต้องออกใบเสร็จรับเงินตามแบบของทางราชการในนามของทางโรงเรียน ตามจำนวนเงินที่โรงเรียนได้รับ ส่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อรวบรวมเป็นหลักฐาน

5. เมื่อโรงเรียนจัดซื้อหนังสือเรียนเรียบร้อยแล้ว ให้โรงเรียนลงบัญชีวัสดุหนังสือเรียน เพื่อสะดวกต่อการตรวจสอบ

6. โรงเรียนต้องจัดระบบการยืมหนังสือเรียนให้นักเรียนทุกคน เพื่อส่งต่อไปยังนักเรียนรุ่นต่อไป

7. การจัดซื้อหนังสือเรียนต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้

 8. หากเงินเหลือจากการจัดซื้อ ทางโรงเรียนสามารถนำไปใช้จ่ายในโครงการเรียนฟรี15 ปีอย่างมีคุณภาพ ได้ตามความเหมาะสม โดยต้องผ่านความเห็นชอบของภาคี 4 ฝ่าย และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

การจัดซื้ออุปกรณ์การเรียน[แก้]

ให้เหมาะสมกับระดับชั้นของนักเรียน

1. ระดับก่อนประถมศึกษาควรนำไปซื้อ กระดาษ ดินสอ ยางลบ สีไม้ สีเทียน ดินน้ำมันไร้สารพิษ

2. ระดับประถมศึกษาควรนำไปซื้อแบบฝึกหัดในการเรียน หนังสือเสริมความรู้ สมุด ปากกา ไม้บรรทัด ไม้โปรแทรกเตอร์

3. ระดับมัธยมศึกษาควรนำไปซื้อ ปากกา ดินสอ ไม้บรรทัด ไม้โปรแทรกเตอร์ เครื่องมือเรขาคณิต[4]

แนวทางการบริจาคเงินของผู้ที่ได้รับสิทธิ์[แก้]

สำหรับผู้ปกครองและนักเรียนที่ได้รับสิทธิ์ตามนโยบายเรียนฟรี15ปี โดยจะได้รับค่าอุปกรณ์การเรียนและค่าเครื่องแบบนักเรียน มีความประสงค์ที่จะบริจาคเงินส่วนนี้ที่ได้รับสิทธิ์ดังกล่าวด้วยความเต็มใจ  เพื่อให้โรงเรียนได้นำไปพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพตามวัตถุประสงค์ หรือนำไปช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็ก ยากจน ให้ได้รับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น โดยแนวทางการสละสิทธิของผู้ปกครองและนักเรียนที่ได้รับเงินอุดหนุนมี 2 ลักษณะ คือ

1.ผู้ปกครองสละสิทธิ โดยการแจ้ง กรอกแบบฟอร์ม และแจ้งความประสงค์ที่โรงเรียน ซึ่งสามารถสละสิทธิที่จะได้รับค่าอุปกรณ์การเรียนหรือค่าเครื่องแบบนักเรียนเพียงรายการเดียว หรือ 2 รายการก็ได้ โดยทางโรงเรียนจะไม่จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้กับผู้ปกครอง

2.ผู้ปกครองไม่แจ้งสละสิทธิ แต่เมื่อผู้ปกครองได้รับค่าอุปกรณ์การเรียนหรือค่าเครื่องแบบนักเรียนแล้ว ผู้ปกครองสามารถบริจาคเงินให้โรงเรียนได้โดยตรง

ทั้งนี้ เงินสละสิทธิ์ของผู้ปกครองและนักเรียนที่ได้รับเงินอุดหนุนตามลักษณะที่ 1 จะถูกส่งกลับมายัง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อดำเนินการจัดสรรเงินให้โรงเรียนที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน และมีการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)ที่ไม่ผ่าน ส่วนเงินสละสิทธิ์ของผู้ปกครองและนักเรียนที่ได้รับเงินอุดหนุนตามลักษณะที่ 2 เงินที่โรงเรียนได้รับการบริจาคโดยตรง ทางโรงเรียนสามารถนำไปใช้พัฒนาคุณภาพโรงเรียนได้เลยโดยไม่ต้องส่งคืน สพฐ.[5]

การติดตามควบคุมนโยบาย[แก้]

1.มีการแต่งตั้งผู้แทนครู ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนชุมชน และผู้แทนกรรมการนักเรียนซึ่งเรียกว่าภาคี 4 ฝ่าย มีหน้าที่พัฒนาระบบการควบคุมภายในโรงเรียน จำนวนของภาคีนั้นจะขึ้นอยู่กับจำนวนนักเรียนในโรงเรียน หากมีนักเรียนในโรงเรียนน้อยกว่า 300 คน ให้มีผู้แทนไม่น้อยกว่าฝ่ายละ 1 คน สำหรับสถานศึกษาที่มีขนาดใหญ่ มีจำนวนนักเรียนในโรงเรียนมากกว่า 301 คนขึ้นไป ให้มีผู้แทนไม่น้อยกว่าฝ่ายละ 2 คน โดยจะมีการเสนอชื่อของกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และให้กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีบทบาทในการดูแล ช่วยเหลือ สนับสนุน และแก้ไขปัญหา

2. คณะกรรมการประสานงานจัดตั้งโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีหน้าที่ติดตามผล ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานภายในเขตพื้นที่การศึกษา

3. คณะกรรมการติดตามขั้นตอนการบริหารจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นโยบายเรียนฟรี ๑๕  ปีอย่างมีคุณภาพถูกจัดตั้งขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการติดตามขั้นตอนการบริหารจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่ติดตามผล ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา

ประโยชน์ที่คาดว่าประชาชนจะได้รับ[แก้]

1.นักเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกคนได้รับความเท่าเทียม จากการที่รัฐให้การสนับสนุนค่าหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

2.นักเรียนมีความพร้อมที่จะเรียนเนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากรัฐ

3.สถานศึกษามีการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

4.ผู้ปกครองของนักเรียนมีค่าครองชีพที่ลดลง เนื่องจากที่รัฐให้การสนับสนุนค่าหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน ซึ่งทำให้ผู้ปกครองสามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้กับเรื่องต่างๆในชีวิตประจำวันได้

5.เศรษฐกิจเกิดการกระตุ้นมากขึ้น เนื่องจากผู้ปกครองสามารถนำเงินส่วนที่จะต้องจ่ายเป็นค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน ไปใช้กับเรื่องต่างๆในชีวิตประจำวัน

อุปสรรคที่ต้องได้รับการแก้ไข[แก้]

1.ผู้ปกครองมีความเข้าใจผิด ซึ่งเกิดจากชื่อของนโยบายที่ไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ปกครองเข้าใจว่าทุกอย่างฟรีหมด ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย

2.รัฐบาลกำหนดนโยบายโดยไม่ได้คำนึงถึงความเป็นจริงด้านงบประมาณที่ในประเทศมีอยู่

3.อุปกรณ์การเรียนที่จัดสรรให้เป็นอุปกรณ์ด้อยคุณภาพ เนื่องจากมีราคาถูก ซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของนักเรียนทำให้นักเรียนไม่รักษาของ

4.หนังสือเรียนก็ด้อยคุณภาพในเรื่องของรูปเล่ม และเนื้อหา

5.งบปะมาณในการพัฒนาบุคลากรครูยังมีน้อย[6]

แนวทางการแก้ไขปัญหา[แก้]

1.ควรเปลี่ยนชื่อนโยบายให้เกิดความชัดเจน เพื่อให้ผู้ปกครองไม่เกิดการเข้าใจผิดว่านโยบายเรียนฟรี15ปีอย่างมีคุณภาพหมดไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย

2.รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายโดยคำนึงความเป็นจริงด้านงบประมาณที่ในประเทศมีอยู่

3.ควรให้โรงเรียนมีอิสระที่จะจัดซื้อหนังสือเรียนและอุปกรณ์การเรียนได้เองตามความเหมาะสมและความจำเป็น

4.ควรเพิ่มงบปะมาณในการพัฒนาบุคลากรครู รวมทั้งต้องมีการปฏิรูปการศึกษาโดยเน้นความคิดสร้างสรรค์ ความเข้าใจ การคิดวิเคราะห์และการปฏิบัติ

อ้างอิง[แก้]

  1. มนเทียร พานทอง. (2554). ชำแหละนโยบายเรียนฟรี15ปี. สืบค้นวันที่1เมษา,2560, จากhttps://soclaimon.wordpress.com/2011/07/17/ชำแหละนโยบายเรียนฟรี-15-ป/
  2. สมบัติ  ธำรงธัญวงศ์.  (2549).นโยบายสาธารณะแนวความคิด การวิเคราะห์. กรุงทพฯ:  สำนักพิมพฺ์เสมาธรรมการพิมพ์.
  3. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2555). คณะกรรมการภาคี4ฝ่าย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยจำกัด.
  4. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2554). แนวทางการดำเนินนโยบายเรียนฟรี15ปีอย่างมีคุณภาพ. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยจำกัด.
  5. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. (2553). เกณฑ์สละสิทธิเรียนฟรี . สืบค้นวันที่31มิถุนายน,2560, จากhttps://www.m-society.go.th/ewt_news.php?nid=1677
  6. มนเทียร พานทอง. (2554). ชำแหละนโยบายเรียนฟรี15ปี. สืบค้นวันที่1เมษา,2560, จากhttps://soclaimon.wordpress.com/2011/07/17/ชำแหละนโยบายเรียนฟรี-15-ป/