ผู้ใช้:พรนภัส นุชประยูร/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ฝ่ายปกครองและการกระทำทางปกครอง[แก้]

ฝ่ายปกครอง[แก้]

ฝ่ายปกครอง หมายถึง หน่วยงาน องค์กร เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งต้องมีอำนาจในการใช้กฎหมายปกครองจึงจะถือได้ว่าเป็นฝ่ายปกครอง[1] โดยมีวิธีพิจารณาฝ่ายปกครองดังต่อไปนี้

ฝ่ายปกครองในทางรูปแบบหรือในการจัดองค์กร คือ หน่วยงาน องค์กรและเจ้าหน้าที่ของรัฐอันได้แก่ข้าราชการบริหารส่วนกลาง ข้าราชการบริหารส่วนภูมิภาค ข้าราชการบริหารส่วนท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจรวมไปถึงองค์กรมหาชนซึ่งอยู่ภายใต้ความดูแลของรัฐมนตรี หน่วยงานที่ดำเนินกิจการทางปกครองที่ไม่อยู่ภายใต้ความดูแลของรัฐมนตรีแต่รัฐมนตรีสามารถใช้อำนาจในบางเรื่อง ได้แก่ องค์กรวิชาชีพและหน่วยงานที่เป็นอิสระจากรัฐมนตรี เช่น หน่วยธุรการศาล ซึ่งหน่วยงานต่างๆเหล่านี้บุคลากรในหน่วยงานล้วนเป็นฝ่ายปกครอง

ฝ่ายปกครองในเนื้อหา ได้แก่ องค์กรของรัฐฝ่ายบริหารและองค์กรของรัฐฝ่ายปกครองโดยองค์กรของรัฐฝ่ายบริหารซึ่งเป็นองค์กรที่กำหนดนโยบายต่างๆในการบริหารราชการและการปฏิบัติในทางรัฐธรรมนูญ ส่วนองค์กรฝ่ายปกครองอยู่ภายใต้ความดูแลของรัฐมนตรี องค์กรอิสระที่ไม่อยู่ภายใต้ความดูแลของรัฐแต่มีการกระทำดำเนินกิจกรรมต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทางปกครอง มีการใช้อำนาจในทางปกครอง องค์กรย่อยที่มีการดำเนินกิจการต่างๆของรัฐ เช่น องค์กรตุลาการ รวมไปถึงเอกชนที่ได้รับอำนาจให้สามารถใช้อำนาจทางปกครองในการดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง องค์กรที่กล่าวมาทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นการกระทำที่ใช้อำนาจทางปกครองจึงเป็นฝ่ายปกครองในเนื้อหาทั้งสิ้น[2]

ลักษณะของฝ่ายปกครองมีดังนี้[แก้]

ในการปฏิบัติงานมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องในสังคม แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในสังคมซึ่งเกิดจากการอยู่ร่วมกันของประชาชนในสังคม เช่น เรื่องการศึกษา การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้คนในสังคมไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนน การดูแลระบบประปา การดูแลระบบไฟฟ้า โดยในการทำงานนั้นจะมีการคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมอยู่เสมอ

หน่วยงานของรัฐ องค์กรหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้มีอำนาจในการนำกฎหมายหรือข้อปฏิบัติมาใช้ในการกระทำการต่างๆให้เป็นไปตามกฎหมายที่ได้กำหนดไว้

หน่วยงานของรัฐ องค์กรหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจทางกฎหมายบางประการที่พิเศษ เช่น การออกคำสั่งทางปกครองสามารถออกคำสั่งได้เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น[3]

ประเภทของฝ่ายปกครอง[แก้]

ฝ่ายปกครองที่ทำหน้าที่ในการรักษาความเป็นระเบียบภายในสังคม ฝ่ายปกครองในหน่วยงานปกครองนี้จะทำหน้าที่ในการดูแลและรักษาความปลอดภัยต่างๆต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันหรือปกป้องจากภัยอันตรายต่างๆ เช่น การป้องกันโรคระบาดต่างๆ รักษาความปลอดภัยและระเบียบกฎจราจรบนท้องถนนรวมไปถึงการดูแลกิจกรรมต่างๆทางธุรกิจ

ฝ่ายปกครองที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน ฝ่ายปกครองในหน่วยงานนี้จะทำหน้าที่ในการดูแลและให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่มีความเดือนร้อนในการดำรงชีวิตให้สามารถพึ่งพาตนเองได้และมีชีวิตที่ดีขึ้น สนับสนุนในกิจกรรมการดำเนินชีวิตต่างๆตั้งแต่การให้การให้การศึกษา การรักษาพยาบาล รวมไปถึงการสร้างสิ่งต่างๆเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เช่น การสร้างถนน โรงเรียน โรงพยาบาล อันเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิตของประชาชน

ฝ่ายปกครองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการกำกับกิจการของรัฐที่แปรเปลี่ยนเป็นเอกชน ฝ่ายปกครองในหน่วยงานนี้จะทำหน้าที่ในการควบคุมและดูแลการดำเนินการต่างๆของเอกชน ซึ่งธุรกิจของเอกชนดังกล่าวแต่เดิมรัฐเคยเป็นผู้ดำเนินการแต่ได้เปิดให้เอกชนเข้ามาดูแลจึงทำให้เกิดการแข่งขันขึ้นระหว่างเอกชนกับเอกชน ดังนั้นหน่วยงานฝ่ายปกครองนี้จึงทำหน้าที่ในการออกกฎหมายเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจนั้นมีการดำเนินกิจการเป็นไปอย่างเรียบร้อย

ฝ่ายปกครองที่ทำหน้าที่สนับสนุนและควบคุมกิจกรรมในทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ฝ่ายปกครองในหน่วยงานนี้จะทำหน้าที่ในการกำหนดมาตราการที่สำคัญในการดำเนินการเรื่องเศรษฐกิจ ควบคุมและดูแลทิศทางของเศรษฐกิจ รวมไปถึงการส่งเสริมและสนับสนุนการทำกิจกรรมต่างๆทางวัฒนธรรม

ฝ่ายปกครองที่ทำหน้าที่ในทางการคลังและภาษีอากร ฝ่ายปกครองในหน่วยงานนี้ทำหน้าที่ในส่วนของการคลังไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บรายได้และภาษีอากร

ฝ่ายปกครองที่ทำหน้าที่สนับสนุนฝ่ายปกครองด้วยกันเอง ฝ่ายปกครองในหน่วยงานนี้จะทำหน้าที่ในการจัดระบบในการบริหารและอำนวยความสะดวกให้แก่บุคลากรในฝ่ายปกครองในเรื่องของการหาวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการดำเนินงาน[4]

การกระทำทางปกครอง[แก้]

การกระทำทางปกครอง หมายถึง การใช้อำนาจตามกฎหมายโดยองค์กรหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ[5] ซึ่งการกระทำทางปกครองนั้นจะสามารถกระทำได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาว่าบุคคลเหล่านั้นได้เป็นองค์กรหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ ซึ่งมีการพิจารณาจากการใช้อำนาจและหน้าที่ต้องเป็นองค์กรหรือฝ่ายบริหารที่ใช้อำนาจในฐานะที่เป็นฝ่ายปกครองเท่านั้น[6]

การกระทำทางปกครองมีองค์ประกอบดังนี้[แก้]

1. เป็นการกระทำขององค์กรรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายปกครอง

2. เป็นการกระทำที่อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติหรืออำนาจกฎหมายอื่นที่มีค่าบังคับใช้[7]

ประเภทของการกระทำทางปกครอง[แก้]

นิติกรรมทางปกครอง[แก้]

นิติกรรมทางปกครองมีผู้ให้ความหมายไว้หลากหลายและแต่ละประเทศการให้คำนิยามของความหมายของนิติกรรมทางปกครองมีความแตกต่างกัน จากการให้ความหมายของนักวิชาการอาจสรุปความหมายของนิติกรรมทางปกครองได้ดังนี้

นิติกรรมทางปกครองความหมายโดยกว้าง หมายถึง การกระทำขององค์กรหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองมุ่งต่อผลของกฎหมายปกครองเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ภายนอกของฝ่ายปกครอง โดยนิติกรรมทางปกครองความหมายนี้หมายถึงนิติกรรมทางปกครองในทุกประเภทซึ่งได้แก่ กฎ คำสั่งทางปกครองและสัญญาทางปกครอง

นิติกรรมทางปกครองความหมายโดยกลาง หมายถึง การกระทำขององค์กรหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองมุ่งต่อผลของกฎหมายปกครองเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ภายนอกของฝ่ายปกครอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทั่วไปหรือในเฉพาะรายแต่การก่อนิติสัมพันธ์จะมีผลให้องค์กรหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถใช้อำนาจได้ฝ่ายเดียวซึ่งได้แก่ กฎและคำสั่งทางปกครอง

นิติกรรมทางปกครองความหมายโดยแคบ หมายถึง การกระทำขององค์กรหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองมุ่งต่อผลของกฎหมายปกครองเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ภายนอกของฝ่ายปกครองในเรื่องเฉพาะรายและการก่อนิติสัมพันธ์จะมีผลให้องค์กรหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถใช้อำนาจได้ฝ่ายเดียวได้แก่ คำสั่งทางปกครอง[8]

ลักษณะของนิติกรรมทางปกครอง

1. เป็นการกระทำขององค์กรรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายปกครอง ซึ่งเป็นการกระทำที่อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ

2. เจตนาของการกระทำมุ่งให้เกิดผลทางกฎหมาย

3. ผลทางกฎหมายที่เจตนาให้เกิดขึ้นก่อให้เกิดการสร้างนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งมีอำนาจในการใช้สิทธิเรียกร้องอีกฝ่ายหนึ่งให้กระทำหรืองดการกระทำ

4. นิติสัมพันธ์เกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาฝ่ายดียวขององค์กรรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายปกครองโดยอีกฝ่ายไม่จำเป็นต้องแสดงความยินยอม[9]

ประเภทของนิติกรรมทางปกครอง

1. กฎ เป็นบทบัญญัติที่บังคับใช้ทั่วไปโดยไม่มุ่งบังคับใช้ในกรณีใดกรณีหนึ่งหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ

2. คำสั่งทางปกครอง เป็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตามอำนาจกฎหมายมีผลให้เกิดการสร้างนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคล[10]

การปฏิบัติทางปกครอง[แก้]

การปฏิบัติทางปกครอง หมายถึง การกระทำขององค์กรหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นการปฏิบัติงานในขั้นตอนกระบวนการซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ได้มุ่งให้เกิดนิติสัมพันธ์กล่าวคือ ไม่มีกฎและกฎหมายใดมาบังคับแต่เป็นการปฏิบัติเพื่อให้ภารกิจในทางปกครองนั้นสำเร็จ เช่น การออกประกาศเตือนให้ประชาชนระวังเชื้อโรคจากพื้นที่ในบางส่วนของจังหวัด การขับไล่บุคคลให้ออกจากพื้นที่ในเขตหวงห้าม[11]

ลักษณะของปฏิบัติการทางปกครองมีดังนี้

1. ปฏิบัติการทางปกครองเป็นการใช้อำนาจฝ่ายเดียวโดยหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐ

2. การกระทำโดยใช้อำนาจฝ่ายเดียวของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐต้องเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายเจ้าหน้าที่ของรัฐ

3. เป็นการกระทำที่ไม่มีเจตนามุ่งให้เกิดนิติสัมพันธ์ทางปกครอง[12]

ประเภทของปฏิบัติการทางปกครองมีดังนี้

1. ปฏิบัติการในทางกายภาพ เช่น การจับผู้กระทำความผิด

2. ปฏิบัติการโดยใช้สติปัญญา เช่น การสอนหนังสือ[13]

อ้างอิง[แก้]

  1. ความหมายฝ่ายปกครอง
  2. วงเจตน์ ภาคีรัตน์, “ข้อความคิดเบื้องต้นว่าด้วยการปกครอง ฝ่ายปกครอง และกฎหมายปกครอง” เอกสารประกอบการบรรยาย วิชากฎหมายปกครองชั้นสูงบัณฑิตศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2553. น.5-7.
  3. ลักษณะของฝ่ายปกครอง
  4. วงเจตน์ ภาคีรัตน์, “ข้อความคิดเบื้องต้นว่าด้วยการปกครอง ฝ่ายปกครอง และกฎหมายปกครอง” เอกสารประกอบการบรรยาย วิชากฎหมายปกครองชั้นสูงบัณฑิตศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2553. น.8-9.
  5. นันทวัฒน์ บรมานันท์,กฎหมายปกครอง,(กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน,2552),น 316.
  6. สมยศ เชื้อไทย,การกระทำทางปกครอง,”วรสารนิติศาสตร์,เล่ม 3,ปีที่ 17,น. 60 (กันยายน 2530).
  7. องค์ประกอบของการกระทำทางปกครอง
  8. วงเจตน์ ภาคีรัตน์, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายปกครอง : หลักการพื้นฐานของกฏหมายปกครองและการกระทำทางปกครอง,พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เดือนตุลา,2546), น. 100-103.
  9. ลักษณะของนิติกรรมทางปกครอง
  10. ประเภทของนิติกรรมทางปกครอง
  11. วงเจตน์ ภาคีรัตน์, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายปกครอง : หลักการพื้นฐานของกฏหมายปกครองและการกระทำทางปกครอง,พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เดือนตุลา,2546), น. 72.
  12. ไพรัช โตสวัสดิ์,"การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของปฏิบัติการทางปกครอง,"(สารนิพนธ์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2547), น. 145.
  13. วรพจน์ วิศรุตพิชญ์,”การกระทำทางปกครอง,”เอกสารประกอบการฝึกอบรมหลักสูตรพนักงานคดีปกครองระดับต้น รุ่นที่ 3, น. 19-20.