ผีปะกำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ผีปะกำอาจีง หรือ ผีปะกำ เป็นเทพเจ้าสูงสุด บ้างว่าเป็นผีดีในคติความเชื่อของชาวกูยหรือส่วย[1] กลุ่มชาติพันธุ์ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีอาชีพเลี้ยงช้างเท่านั้น[2] โดยชื่อเป็นภาษากูย ประกอบด้วยคำว่า "ปะกำ" แปลว่าบ่วงบาศ กับ "อาจีง" แปลว่าช้าง รวมกันจึงแปลว่า "บ่วงบาศคล้องช้าง"[3] ชาวกูยเชื่อว่าผีปะกำจะสิงสถิตอยู่ในหนังปะกำ ซึ่งทำจากหนังวัวหรือหนังควาย และเครือไม้ (ภาษากูยเรียกอะวาลแปรง) นำมาฟั่นเป็นเกลียวเชือกยาว 40 เมตรขึ้นไป ปลายเชือกข้างหนึ่งทำปลอกคู่เป็นบ่วงบาศ มีไว้สำหรับคล้องช้าง[4]

ชาวกูยเชื่อว่ามีวิญญาณสองประเภทสถิตอยู่ในปะกำ อย่างแรกคือ "พระครู" เป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์เทียบเท่าเทพยดา และอย่างหลังคือ "ผีบรรพชน" ในสายตระกูลที่เคยเป็นหมอช้าง พวกเขาเชื่อว่าผีปะกำให้คุณหรือโทษแก่มนุษย์ได้ จึงต้องทำการเซ่นสรวงบูชาอยู่เสมอ[3] ชาวกูยจะไหว้ผีปะกำก่อนออกไปคล้องช้าง และเมื่อคล้องช้างได้แล้วก็จะทำการเซ่นไหว้อีกครั้ง ในกรณีเมื่อจะนำช้างออกไปนอกหมู่บ้าน หรือมีลูกหลานเจ็บป่วย ก็จะมีการเซ่นหรือแก้บนกับผีปะกำกันอยู่บ่อยครั้ง[2][3] โดยชาวกูยจะทำการสร้างศาลผีปะกำให้ผีปะกำประทับอยู่ โดยมากสร้างอยู่ทางทิศตะวันออกของเรือน เป็นศาลมุงหลังคา มีสี่เสา สูงราวสองเมตร เพื่อกันไม่ให้เด็กและผู้หญิงเอื้อมมือถึง ภายในมีปะกำ หมอนใบเล็ก กรวยขันธ์ 5 แก้วบรรจุน้ำ และเครื่องเซ่นไหว้[4]

คติพราหมณ์ไทย[แก้]

จิตรกรรมฝาผนังรูปพราหมณ์พฤฒิบาศกับช้างเผือกปัจจัยนาเคนทร์จากเรื่อง มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์หิมพานต์

หลังรับอิทธิพลจากศาสนาฮินดูแล้ว จึงสร้างบุคลาธิษฐานแก่ผีปะกำด้วยการหยิบยืมรูปลักษณ์ของพระคเณศ ซึ่งเป็นเทพเจ้าของฮินดูมาใช้ กลายเป็นพระเทวกรรม เทพเจ้าแห่งช้าง และพระโกญจนาเนศวร์ เทพผู้ให้กำเนิดช้าง[5][6] โดยมีพราหมณ์พฤฒิบาศปฏิบัติบูชาผีปะกำควบคู่ไปกับพระนารายณ์ของศาสนาฮินดูไปด้วย[7]

แม้จะรับอิทธิพลจากศาสนาฮินดูเข้ามาแล้ว แต่คงพิธีกรรมเซ่นสรวงบูชาผีปะกำ ต่อมาได้ยกขึ้นเป็นเทวดาเรียกว่า พระเทวกรรม ไว้โดยแทรกความเป็นฮินดูไปด้วย พระครูประกรรมมีรูปลักษณ์เป็นบุรุษล่ำสัน นุ่งผ้าเกไล เปลือยอก สวมสายธุหร่ำเฉียงทางอังสะซ้าย โคนแขนสวมวลัย นับถือเป็นพระของหมอและควาญช้าง[8] หลังรับอิทธิพลจากศาสนาฮินดูแล้วจึงสร้างบุคลาธิษฐานด้วยการหยิบยืมรูปลักษณ์ของพระคเณศ ซึ่งเป็นเทพเจ้าของฮินดูมาใช้ กลายเป็นพระเทวกรรม เทพเจ้าแห่งช้าง และพระโกญจนาเนศวร์ เทพผู้ให้กำเนิดช้าง[5][9]

ในหนังสือ นารายณ์สิบปาง ฉบับโรงพิมพ์หลวง ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2417 มีเนื้อหาที่ไม่ปรากฏในคัมภีร์ใด ๆ ของอินเดีย กล่าวถึงเรื่อง "พระนารายณ์ปราบช้างเอกทันต์" เนื้อหาระบุว่า พระนารายณ์เสด็จลงมาบนโลกเพื่อปราบช้างเอกทันต์ ทรงพบกับชาวนาสี่คน ได้แก่ โภควันดี นางสิระวัง คชสาตร และสาตรกรรม ที่อาสาเป็นผู้นำทางแก่พระนารายณ์ปราบช้างเอกทันต์ และเมื่อพบช้างนั้น พระนารายณ์ทรงประกอบพิธี เชิญพระคเณศมาประทับข้างขวา เชิญพระเทวกรรมมาประทับข้างซ้าย และเชิญพระมหาเมศวคอยต้อนช้างเถื่อนบริวารของช้างเอกทันต์ ต่อมาพระนารายณ์บันดาลให้ช้างเอกทันต์ปวดศีรษะอย่างรุนแรง จากนั้นทรงใช้บาศอุรเคนทร์ซัดไปที่เท้าขวาของอสูรช้าง เอาตรีศูลปักพื้นดินกลายเป็นต้นมะตูม แล้วเอาหางบาศอุรเคนทร์กระหวัดไว้กับต้นมะตูม ใช้พระหัตถ์ขวาทิ้งมะลิวัลย์พับเป็นต้นไม้คล้องคอช้างเอกทันต์ไปกับไม้คูน จากนั้นทรงเรียกพี่น้องชาวนาทั้งสี่มาประสิทธิ์ประสาทวิชาเป็นประกรรม (คือครูปะกำ) เอาความรู้คชกรรมไปสอนลูกหลานต่อไป ส่วนช้างเอกทันต์ถูกนำไปถวายพระอินทร์[10]

อ้างอิง[แก้]

  1. ดวงกมล การไทย. "ไทย - ศาสนาและความเชื่อ". ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 ชาญชัย คงเพียรธรรม และคณะ (16 กุมภาพันธ์ 2560). "เรื่องผีในอีสาน: ความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผีของกลุ่มชาติพันธุ์ลาว เขมร ส่วย และเวียดนามที่อาศัยอยู่ในบริเวณอีสานใต้ของประเทศไทย". องค์ความรู้จากงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-09-28. สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 สมหมาย ชินนาค (2539). "ผีปะกำ : คติความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษของชาวไทย-กวย (ส่วย) เลี้ยงช้างจังหวัดสุรินทร์". สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 "พิธีกรรมเซนขะโหมดปะกำ". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. 25 มกราคม 2555. สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 พสิษฐ์ ไชยวัฒน์ (5 พฤศจิกายน 2561). "สัมภาษณ์ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง: ฮินดู...อีกมุมที่คนไทยไม่รู้จัก". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (พฤษภาคม–สิงหาคม 2561). "เทวนิยมอินเดีย : เส้นทางและปรากฏการณ์ในสังคมไทย". Veridian E-Journal (11:2), หน้า 1592
  7. ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ (12 ตุลาคม 2560). "ครูช้าง พราหมณ์สยาม : พระคเณศกับปกรณัมแบบไทย ๆ". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. อายัณโฆษณ์ (2558). "เรื่องพระคเณศที่เกี่ยวข้องกับช้าง". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (พฤษภาคม–สิงหาคม 2561). "เทวนิยมอินเดีย : เส้นทางและปรากฏการณ์ในสังคมไทย". Veridian E-Journal (11:2), หน้า 1592
  10. ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ (2 เมษายน 2563). "ศาสนาผีของพระเทพกรรม ที่ระเบียงคด วัดพระแก้วฯ". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

ดูเพิ่ม[แก้]