ญะราญ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ญะราญ ในคติไทยถือเป็นผีป่าประจำช้าง บ้างเรียก มะเรง[1] (มาจากคำเขมรว่า เมฺรญ [มฺริญ]) แปลว่าผีป่าจำพวกหนึ่ง รูปร่างเหมือนเด็กเล็ก เชื่อกันว่าเป็นผู้ดูแลสัตว์ป่า[1] ในคติชนกัมพูชาเชื่อว่าญะราญหรือมะเรงนี้เป็นเจ้าป่าและเจ้าแห่งสรรพสัตว์ทั้งปวง มีตัวตนจริงแต่ไม่เคยมีใครพบเห็น แต่ได้ยินเสียงญะราญตามป่า ชาวเขมรที่เป็นหมอช้างหรือทำอาชีพโพนช้างจะใช้ภาษาเมฺรญสำหรับสื่อสารระหว่างจับช้างป่าทำนองเดียวกับภาษาผีของไทย[2][3]

จิตร ภูมิศักดิ์สันนิษฐานว่าแต่เดิมเมฺรญนี้อาจเป็นชาติพันธุ์หนึ่งในตระกูลภาษามอญ-เขมร ซึ่งชำนาญป่าและมิใคร่คบค้ากับชนกลุ่มอื่นจึงถูกเรียกเป็นผี แต่เมฺรญได้ถ่ายทอดวิชาการจับช้างแก่ชาวเขมร ด้วยเหตุนี้ชาวเขมรจึงใช้ภาษาเมฺรญเป็นภาษาในวงการการจับช้าง[2]

ทั้งนี้ญะราญหรือมะเรงได้รับการบูชาในฐานะผีป่า ปรากฏในโคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์ฯ ความว่า

ทอดพรักสิทธิ์แล้วเลิก ดาลเถลิง
ชูชำโรมดาวเพลิง เถือกท่า
อวยบายบ่ำบวงเถกิง เทเวศร์
ฝูงญะราญถ้วนหน้า ปู่เจ้าจอมพนม

มีความหมายว่า เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงทอดเชือกปะกำ (บ่วงบาศคล้องคอช้าง) เสร็จแล้ว ก็ยกเอาดาลประตูขึ้น มีคนชูคบเพลิงสีแดงฉานคอยอยู่ แล้วถวายข้าวเพื่อบวงสรวงเทพยดาผู้ใหญ่ ฝูงผีป่า (คือญะราญ) และปู่เจ้าผู้เป็นใหญ่ในภูเขา[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 มรดกความทรงจำแห่งนพบุรีศรีลโวทัยปุระ : ว่าด้วยโคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์ฯ และจารึกโบราณแห่งเมืองละโว้. ดร. วินัย ศรีพงศ์เพียร และ ดร. ตรงใจ หุตางกูร (บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2558, หน้า 107. ISBN 9786167154312.
  2. 2.0 2.1 จิตร ภูมิศักดิ์. ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : ชนนิยม, 2556, หน้า 252. ISBN 9789749747216.
  3. อิทธิพันธ์ ขาวละมัย, บ.ก. (26 กันยายน 2012). "การแทรกโพนช้าง". วิชาการ.คอม. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2021.