ปืนต่อสู้รถถัง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปืน OQF 17 pdr. ขนาด 76.2 มม. (3 นิ้ว) ของประเทศอังกฤษ
ทหารของกองพลส่งทางอากาศที่ 82 ประเทศสหรัฐอเมริกา กำลังทำการยิงปืน OQF 17 pdr. ณ เมืองไนจ์เมเจน (Nijmegen) ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อสกัดการรุกคืบของกองกำลังฝ่ายเยอรมัน ในปฏิบัติการมาร์เก็ตการ์เดน ค.ศ. 1944

ปืนต่อสู้รถถัง (อังกฤษ: anti-tank gun; AT-gun) จัดเป็นปืนใหญ่ มีวิถีราบ อำนาจการยิงไกล มีความเร็วต้นของกระสุนและอำนาจทะลุทะลวงสูง พัฒนามาจากปืนใหญ่วิถีราบ (อังกฤษ: cannon) หรือปืนใหญ่สนาม (อังกฤษ: field gun) ในสมัยแรก ปืนต่อสู้รถถังบางส่วนได้รับการพัฒนามาจากปืนต่อสู้อากาศยานที่มีขนาดลำกล้องใหญ่ โดยเปลี่ยนจากใช้กระสุนระเบิดแรงสูง (high-explosive ; HE) มาเป็นกระสุนเจาะเกราะ (armor-piercing ; AP) เช่น ปืน Flak 36 ขนาด 88 มม.ของนาซีเยอรมัน ปืน M1 gun ขนาด 90 มม.ของสหรัฐอเมริกา ฯลฯ เป็นต้น

ลักษณะทั่วไป[แก้]

ภารกิจของปืนต่อสู้รถถังนั้นใช้สำหรับยิงทำลายรถถังเป็นหลัก ส่วนภารกิจรองใช้ยิงสังหารบุคคลหรือทำลายสิ่งก่อสร้าง ปกติกระสุนพื้นฐานจะเป็นกระสุนระเบิดแรงสูง (High-explosive ; HE) และกระสุนระเบิดแรงสูงต่อสู้รถถัง (High-explosive, anti-tank ; HEAT) แต่ปืนต่อสู้รถถังบางรุ่น เช่น OQF 6 pdr. (M1 57 mm. Gun) และ OQF 17 pdr. ของอังกฤษจะมีกระสุนเจาะเกราะแบบสลัดเปลือกหุ้มทิ้งเอง (Armour-piercing discarding sabot ; APDS) เพิ่มขึ้นมา เพื่อเพิ่มอำนาจในการทะลุทะลวงเกราะของรถถังที่สูงขึ้นด้วย

ปืนต่อสู้รถถังนั้นมักจะมีแผ่นเกราะกำบังด้านหน้าเพื่อป้องกันอันตรายจากกระสุนปืนและสะเก็ดระเบิดจากฝ่ายตรงข้าม มีพลปืนจำนวน 3 คน โดย 2 คนจะเป็นพลบรรจุกระสุนและพลยิง ส่วนอีก 1 คนจะเป็นพลเล็งเป้า โดยปืนต่อสู้รถถังสามารถเคลื่อนย้ายได้ด้วยแรงคนในระยะใกล้หรือใช้รถหรือสัตว์ลากจูงในระยะไกล

จากคุณสมบัติดังกล่าวของปืนต่อสู้รถถัง จึงมีบางชาตินำรถถังรุ่นเดิมมาทำการปรับปรุงด้วยการติดตั้งปืนชนิดนี้เข้าไปแทน รวมทั้งมีการออกแบบรถถังรุ่นใหม่บางรุ่นให้ติดตั้งปืนชนิดนี้มาแต่แรก เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการยิงทำลายรถถังด้วยกันโดยเฉพาะรถถังของหน่วย Panzer ที่มีเกราะด้านหน้าและด้านข้างหนา เช่น รถถัง Tiger I รถถัง Panther ฯลฯ ของนาซีเยอรมันในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งรถถังที่มีการปรับปรุงหรือติดตั้งปืนชนิดนี้ ได้แก่ รถถัง Sherman Firefly ของกองทัพอังกฤษ ซึ่งทำการติดตั้งปืน OQF 17 pdr. ขนาด 76.2 มม.แทนปืนใหญ่รถถัง M3 L/40 gun ขนาด 75 มม.ของเดิม

ส่วนปืนต่อสู้รถถังบางส่วนได้รับการปรับปรุงเป็นปืนใหญ่รถถัง อาทิเช่น ปืน M3 L/53 gun ขนาด 90 มม.ติดตั้งบนรถถัง M26 Pershing ปืน KwK 36 L/56 ติดตั้งบนรถถัง Tiger I ปืน M6 Gun ขนาด 37 มม.ติดตั้งบนรถถัง M3 Stuart ฯลฯ เป็นต้น

ปืน PaK 38 ขนาด 50 มม. ของนาซีเยอรมัน
รถถัง Sherman Firefly
ปืนต่อสู้รถถัง PaK43 ขนาด 88 มม. ของนาซีเยอรมัน

รายชื่อปืนต่อสู้รถถังบางส่วน[แก้]

ปืนต่อสู้รถถัง ขนาดลำกล้อง ขนาดกระสุน ประเทศผู้ผลิต
Bofors 37 mm. (PaK 36 , PaK 157) 37 มม. (1.45 นิ้ว) 37 × 249 mm. R  สวีเดน
FlaK 18, 36, 37 ,41 88 มม. 88 × 571 mm. R  ไรช์เยอรมัน
M3 37 mm. Gun 37 มม. (1.45 นิ้ว) 37 × 223 mm. R  สหรัฐ
M1930 (1-K) 37 มม. (1.45 นิ้ว) 37 × 257 mm. R  สหภาพโซเวียต
M1937 (53-K) 45 มม. (1.77 นิ้ว) 45 × 310 mm. R  สหภาพโซเวียต
M1942 (M42) 45 มม. (1.77 นิ้ว) 45 × 386 mm. SR  สหภาพโซเวียต
M2 90 mm. Gun 90 มม. 90 × 600 mm. R  สหรัฐ
M5 3 inch Gun 76.2 มม. (3 นิ้ว) 76.2 × 585 mm. R  สหรัฐ
Ordnance QF 2 pdr. 40 มม. (1.57 นิ้ว) 40 × 304 mm. R  สหราชอาณาจักร
Ordnance QF 6 pdr. (M1 57 mm. Gun) 57 มม. (2.24 นิ้ว) 57 × 441 mm. R  สหราชอาณาจักร
Ordnance QF 17 pdr. 76.2 มม. (3 นิ้ว) 76.2 × 583 mm. R  สหราชอาณาจักร
PaK 38 50 มม. 50 × 419 mm. R  ไรช์เยอรมัน
PaK 97/38 75 มม. 75 × 338 mm. R  ไรช์เยอรมัน
PaK 40 75 มม. 75 × 714 mm. R  ไรช์เยอรมัน
PaK 43 88 มม. 88 × 822 mm. R  ไรช์เยอรมัน

บทบาทในปัจจุบัน[แก้]

ปัจจุบันปืนต่อสู้รถถังได้ลดบทบาทลงไปมากแล้ว เนื่องจากปืนใหญ่รถถัง (ปถ.) ในยุคนี้ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาจนมีขีดสมรรถนะเพิ่มมากขึ้น โดยมีความกว้างปากลำกล้องมากกว่า มีความเร็วต้นของกระสุนสูงกว่า ให้ระยะยิงหวังยิงที่ไกลกว่า และสามารถทะลุทะลวงเป้าหมายได้ลึกกว่า อันเนื่องมาจากพัฒนาปืนและกระสุนแบบต่างๆ เช่น ปืนใหญ่รถถัง Royal Ordnance L7 (M68) ขนาด 105 มม. ของอังกฤษและปืนใหญ่รถถัง Rheinmetall L44 gun (M256) ขนาด 120 มม. ของเยอรมัน ซึ่งติดตั้งบนรถถัง M1 Abrams ของกองทัพสหรัฐอเมริกา

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]