ปีนเทะคองติน
ปีนเทะคองติน | |
---|---|
เจ้าหญิงแห่งปีน | |
ดำรงพระยศ | ค.ศ. 1857–1882 |
เจ้าหญิงแห่งโมไลง์ | |
ดำรงพระยศ | จนถึง ค.ศ. 1857 |
ประสูติ | ไม่ทราบ อมรปุระ จักรวรรดิพม่าที่สาม |
สิ้นพระชนม์ | ค.ศ. 1882 มัณฑะเลย์ จักรวรรดิพม่าที่สาม |
พระภัสดา | แมะคะยามี่นต้า (หย่า) |
ราชวงศ์ | โก้นบอง |
พระบิดา | พระเจ้ามินดง |
พระมารดา | ซะบเวเดาง์มิบะยา |
สิริสุเกสาเทวี หรือเป็นที่รู้จักในพระราชทินนาม ปีนเทะคองติน (พม่า: ပင်းထိပ်ခေါင်တင်) เป็นพระราชธิดาชั้นพระเทวีของพระเจ้ามินดง ประสูติแต่ซะบเวเดาง์มิบะยา และเป็นหนึ่งในสามพระราชธิดาของพระเจ้ามินดงที่ยังทรงพรหมจรรย์[1][2]
พระประวัติ
[แก้]ปีนเทะคองติน เป็นพระราชบุตรพระองค์ที่สองจากทั้งหมดสี่พระองค์ของพระเจ้ามินดง ที่ประสูติแต่ซะบเวเดาง์มิบะยา ทั้งนี้พระเชษฐภคินี และพระอนุชาพระองค์น้อยดับสูญพระชนม์ไปตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เหลือเพียงเจ้าหญิงเมืองมีด พระขนิษฐาพระองค์เดียวที่ยังทรงพระชนม์จนกระทั่งเจริญพระชันษา[3]
ครั้นในพระราชพิธีเมื่อ ค.ศ. 1854 พระเจ้ามินดงได้พระราชทานพระนามว่า สิริสุเกสาวดี และต่อมาได้เฉลิมพระนามขึ้นใหม่ว่า สิริสุเกสาเทวี และโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้พระราชธิดาพระองค์นี้กินเมืองโมไลง์ หลังซะบเวเดาง์มิบะยาสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1857 พระเจ้ามินดงก็โปรดเกล้าฯ ให้กินเมืองปีน จนเป็นที่รู้จักในราชทินนามว่า ปีนเทะคองติน ซึ่งทั้งเจ้าหญิงเมืองปีนและเจ้าหญิงเมืองมีดทรงได้รับการอุปถัมภ์จากพระนางจักราเทวี พระอัครมเหสีในพระเจ้ามินดง ทรงชุบเลี้ยงเป็นพระราชธิดาบุญธรรม หลังการสิ้นพระชนม์ของซะบเวเดาง์มิบะยา[1]
ปีนเทะคองตินเสกสมรสกับมองมโย่ตู (မောင်မျိုးတူ) ซึ่งกินเมืองแมะคะยา มีราชทินนามว่า แมะคะยามี่นต้า (မက္ခရာမင်းသား) ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระชนนี พระราชพิธีถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1863 แต่การเสกสมรสนี้ยังไม่สมบูรณ์ เพราะทั้งสองพระองค์ยังไม่เสพสังวาสกันหลังสิ้นพระราชพิธี เจ้าหญิงมิทรงพอพระทัยนักที่พระภัสดามีบาทบริจาริกาอยู่แล้วถึงหกคน จึงนำไปสู่การหย่าร้างกันในที่สุด[1]
ปีนเทะคองตินสิ้นพระชนม์เมื่อ ค.ศ. 1882[1]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 (Dawei), Maung Than Swe (1999). Konbaung Shindan. Yar Pyae. pp. 149–151.
- ↑ Collection of Thet-Kayit: Money Lending Contracts of Myanmar Rural Area in Kon-baung Period (ภาษาอังกฤษ). Aichi University. 1999.
- ↑ ဗိုလ်.), ထိပ်တင်သွေး (နဂါး (1967). ရတနာသိင်္ဃ ကုန်းဘောင်မဟာရာဇဝင် အကျဉ်း (ภาษาพม่า). အေးစာအုပ်တိုက်.