ปิตราปัฟลัฟสค์-คัมชัตสกี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปิตราปัฟลัฟสค์-คัมชัตสกี

Петропавловск-Камчатский
เมือง
ธงของปิตราปัฟลัฟสค์-คัมชัตสกี
ธง
ตราราชการของปิตราปัฟลัฟสค์-คัมชัตสกี
ตราอาร์ม
ที่ตั้งของปิตราปัฟลัฟสค์-คัมชัตสกี
พิกัด: 53°01′N 158°39′E / 53.017°N 158.650°E / 53.017; 158.650พิกัดภูมิศาสตร์: 53°01′N 158°39′E / 53.017°N 158.650°E / 53.017; 158.650
ประเทศ รัสเซีย
ดินแดนคัมชัตคาไคร
ก่อตั้ง:ค.ศ. 1740
พื้นที่
 • ทั้งหมด362.14 ตร.กม. (139.82 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (การสำรวจประชากรปี ค.ศ. 2010)
 • ทั้งหมด179,780 คน
เขตเวลาUTC+12 ( PETT)
 • ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)UTC+13 ( PETST)
เว็บไซต์http://pkgo.ru/

ปิตราปัฟลัฟสค์-คัมชัตสกี (รัสเซีย: Петропа́вловск-Камча́тский) เป็นเมืองใหญ่เพียงแห่งเดียวบนคาบสมุทรคัมชัตคาและเป็นเมืองศูนย์กลางการปกครองของคัมชัตคาไครทางตะวันออกไกลของรัสเซีย มีประชากรราว ๆ 180,000 คนหรือกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรในดินแดนคัมชัตคาไครทั้งหมด

ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1740 เพื่อเป็นฐานตั้งต้นของการสำรวจทางทะเลของไวทัส เบริงนักเดินเรือเชื้อสายเดนมาร์กซึ่งมารับภารกิจสำรวจทางทะเลให้กับจักรวรรดิรัสเซีย[1] เมืองนี้มีบทบาทสำคัญทางทะเลด้านตะวันออกไกลให้แก่รัสเซียมาอย่างยาวนาน เป็นทั้งสมรภูมิด้านตะวันออกไกลในสงครามไครเมียเมื่อปี ค.ศ. 1854 และมีส่วนร่วมในสงครามโลกครั้งที่สองจนได้รับเกียรติยกย่องในรัสเซียเป็นหนึ่งในเหล่าเมืองเกียรติยศทางการทหาร (อังกฤษ: City of military glory; รัสเซีย: Город воинской славы) เป็นที่ตั้งของสนามบินพาณิชย์เพียงแห่งเดียวบนคาบสมุทรและยังมีฐานทัพของกองเรือแปซิฟิกของรัสเซียตั้งอยู่ด้วย

ที่มาของชื่อ[แก้]

แม้ว่าคาบสมุทรคัมชัตคานั้นจะมีนักสำรวจชาวคอสแซคของทางรัสเซียกลุ่มอื่นเข้ามาสำรวจและตั้งชุมชนอยู่อาศัยมาก่อนตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1700 หากแต่ด้วยชนพื้นเมืองซึ่งอยู่มาก่อนนั้นได้ทำการรบพุ่งกับฝ่ายรัสเซียซึ่งเข้ามาทางตอนเหนือขึ้นไปของคาบสมุทร[2]ทำให้ไม่มีชุมชนของฝ่ายรัสเซียในบริเวณนี้จนกระทั่งการเดินทางมาถึงของไวตัส เบริงพร้อมกับกองเรือสำรวจซึ่งเดินทางมาจากทะเลโอค็อตสค์ เพื่อไปสำรวจทะเลทางตะวันออกของคาบสมุทรคัมชัตคา โดยเบริงได้สั่งให้มีการสร้างชุมชนขึ้นบริเวณอ่าวอะวาชาในวันที่ 17 ตุลาคม ปี ค.ศ. 1740 เพื่อให้เป็นฐานสำหรับการเตรียมการออกเรือสำรวจ โดยได้ตั้งชื่อชุมชน ณ อ่าวอะวาชานี้ว่า ปิตราปัฟลัฟสค์ จากชื่อเรือสองลำในกองเรือคือเรือเซนต์ปีเตอร์และเรือเซนต์พอล[1]

ด้วยว่าชื่อของเมืองนั้นตั้งมาจากชื่อของนักบุญสององค์ เมืองจึงได้นับถือนักบุญทั้งสองเป็นนักบุญประจำเมืองด้วยและใช้รูปของนักบุญทั้งสองในตราเมือง

สภาพทางภูมิศาสตร์[แก้]

อ่าวอะวาชา (เวิ้งน้ำเกือบตรงกลางด้านล่าง) และภูเขาไฟทั้งสาม (กลางภาพ)

เมืองปิตราปัฟลัฟสค์-คัมชัตสกีตั้งอยู่ค่อนลงมาทางด้านใต้ของคาบสมุทรคัมชัตคาทางด้านตะวันออก เวลาท้องถิ่นของเมืองนั้นไวกว่ามอสโกซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัสเซียที่อยู่ห่างกัน 6,766 กิโลเมตรถึง 9 ชั่วโมง

ทิวทัศน์เมืองเมื่อหันไปยังปากอ่าวอะวาชาที่ออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิก

สภาพแวดล้อมโดยรอบของเมืองเป็นแนวทิวเขาจนแทบไม่มีจุดใดจากในตัวเมืองสามารถมองเห็นเส้นขอบฟ้าได้ จุดที่เมืองตั้งเป็นบริเวณที่ราบขนาดแคบ ๆ ลาดลงสู่ทะเลสลับเนิน อ่าวอะวาชาซึ่งเป็นทางออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกนั้นมีสภาพเกือบคล้ายลากูนด้วยมีช่องทางติดต่อกับมหาสมุทรแปซิฟิกเพียงแคบ ๆ ห่างจากตัวเมืองไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว ๆ 30 กิโลเมตรเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟสามลูกเรียงตัวกันในแนวตะวันตกไปยังตะวันออกคือ ภูเขาไฟคาเรียคสกี (Koryaksky Volcano) ภูเขาไฟอะวาชินสกี (Avachinsky Volcano) และ ภูเขาไฟคาเซลสกี (Kozelsky Volcano) โดยภูเขาไฟทั้งสามลูกนี้ไม่ค่อยปะทุบ่อยนักและถูกเรียกกันว่า Home Volcanoes ถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของเมืองซึ่งประกอบอยู่ในตราเมืองเช่นกัน

ภูมิอากาศของปิตราปัฟลัฟสค์-คัมชัตสกีได้รับอิทธิพลจากความชื้นของมหาสมุทรแปซิฟิกค่อนข้างมาก ทำให้อากาศไม่ค่อยหนาวเย็นรุนแรงนักแม้จะอยู่ในไซบีเรีย มีอุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนมกราคมเพียง -7 องศาเซลเซียส (ส่วนอื่นของไซบีเรียสามารถมีอุณหภูมิต่ำได้ถึง -30 องศาเซลเซียสในช่วงเดียวกัน) อากาศจะเริ่มหนาวเย็นลงได้ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายนและเริ่มมีหิมะได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมและหิมะสามารถคงอยู่โดยไม่ละลายได้จนถึงราวกลางมิถุนายน ในบางช่วงของฤดูหนาวหิมะสามารถตกลงมาสะสมเป็นปริมาณที่สูงมากและน้ำทะเลในบางส่วนของอ่าวอะวาชาสามารถจับตัวเป็นน้ำแข็งได้ ช่วงหน้าร้อนจะมีเพียงระยะสั้นไม่เกินสามเดือนโดยอุณหภูมิจะเป็นแบบอบอุ่นเฉลี่ยระดับ 15-16 องศาเซลเซียส

ด้านธรณีวิทยา เมืองเคยได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวบ่อยครั้งเนื่องจากอยู่ในแนวขนานกับรอยเลื่อนคูริล-คัมชัตคา (อังกฤษ: Kuril–Kamchatka Trench) ที่อยู่ใต้มหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งวางตัวในแนวเหนือ-ใต้จากหมู่เกาะคูริลทางด้านใต้ของคาบสมุทรขนานมาจนถึงครึ่งนึ่งของความยาวคาบสมุทรทั้งหมด ที่ผ่านมาบางครั้งเคยเกิดแผ่นดินไหวระดับมากกว่า 7 ริกเตอร์ในมหาสมุทรแปซิฟิกไม่ห่างจากเมืองมากนัก[3] ด้วยเหตุนั้นอาคารต่าง ๆ ในเมืองนอกจากไม่สร้างให้มีความสูงมากแล้วยังต้องสร้างให้รับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ด้วย

ประวัติศาสตร์[แก้]

จากนโยบายจากแสวงหาดินแดนใหม่ทางตะวันไกลของจักรวรรดิรัสเซีย คาบสมุทรคัมชัตคาได้ถูกเข้ามาสำรวจโดยคณะสำรวจของชาวรัสเซียตั้งแต่ปลายยุคคริสต์ศตวรรษที่ 17 หากแต่การจะเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของคัมชัตคามักถูกต่อต้านโดยเหล่าชาวพื้นเมืองของคาบสมุทรซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่มาก่อนเป็นเวลายาวนานโดยเฉพาะชาวคาเรียค (Koryaks) ซึ่งอยู่ทางด้านบนของตัวคาบสมุทรติดกับแผ่นดินใหญ่และส่วนตอนกลางและทางใต้นั้นเป็นถิ่นของชาวอิเทลเมน (Itelmens) หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งคือ ชาวคัมชาตดัล (Kamchatdals) หลังจากดำเนินการสู้รบกับฝ่ายรัสเซียมานานหลายสิบปี ในท้ายสุดชาวอิเทลเมนประสบกับโรคระบาดซึ่งมากับชาวรัสเซียที่มาครอบครองดินแดนจนทำให้ประชากรของชาวอิเทลเมนตายไปเป็นจำนวนมากและไม่สามารถลุกขึ้นต้านทานฝ่ายรัสเซียได้อีก และเริ่มมีการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับฝ่ายรัสเซียจนแทบถูกกลืนหายไปหมดสิ้น

ภาพพิมพ์ของเมืองปิตราปัฟลัฟสค์จากคริสต์ศตวรรษที่ 18

ในปี ค.ศ. 1740 ไวตัส เบริง นักสำรวจทางทะเลเชื้อสายเดนมาร์กที่มารับราชการในกองทัพเรือรัสเซียได้เดินทางมาถึงบริเวณอ่าวอะวาชาจากทะเลโอค็อตสค์ก่อนเริ่มการสำรวจ Second Kamchatka Expedition (ซึ่งต่อมาจะเป็นการค้นพบอะแลสกาเป็นครั้งแรก) เนื่องจากเห็นว่าเป็นภูมิประเทศที่เหมาะสมจะให้ใช้เป็นจุดพักกำลังในการเดินเรือด้วยเป็นอ่าวเกือบปิดลึกเข้ามาจากมหาสมุทรแปซิฟิกจึงได้ให้มีการสร้างชุมชนขึ้นเพื่อเป็นจุดแวะสำหรับการเดินเรือในย่านนี้ด้วยไม่มีชุมชนใดสร้างใช้เป็นที่พักเรือได้เลยมาก่อน จากนั้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1941 เบริงได้เริ่มการสำรวจไปทางตะวันออกของคาบสมุทรคัมชัตคาจนเรือสองลำคือ เรือเซนต์ปีเตอร์ กับ เรือเซนต์พอล พลัดหลงจากกันเพราะทัศนวิสัยเลวร้ายกลางทะเล วันที่ 10 ตุลาคมปีนั้นเรือเซนต์พอลได้ล่องกลับมายังเมืองปิตราปัฟลัฟสค์ก่อน[4]เรือเซนต์ปีเตอร์ของเบริงซึ่งลอยลำไปสำรวจฝั่งตะวันตกของอะแลสกา สุดท้ายแล้วเบริงก็ได้เสียชีวิตลงที่เกาะร้างกลางทะเลก่อนจะสามารถล่องเรือกลับมาถึงเมืองได้ (ปัจจุบันเกาะที่เบริงเสียชีวิตคือ เกาะเบริง เป็นหนึ่งในเกาะของหมู่เกาะคอมมานเดอร์ (Commander Islands) นอกชายฝั่งคาบสมุทรคัมชัตคา)

หลังจากนั้นปิตราปัฟลัฟสค์ได้กลายเป็นจุดพักเรือของการสำรวจทางมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น โดยในปี ค.ศ. 1779 เจมส์ คุก ได้มาหยุดเรือที่ปิตราปัฟลัฟสค์ ต่อมา ค.ศ. 1787 ฌ็อง-ฟร็องซัว เดอ ลา เปรูซ (Jean-François de La Pérouse) นักเดินเรือของฝรั่งเศสก็ได้มาหยุดแวะที่เมืองเช่นกันก่อนการสำรวจมหาสมุทรแปซิฟิกทางใต้ ทว่าเมืองไม่ได้เติบโตขึ้นจากที่เป็นเพียงชุมชนเล็ก ๆ มีคนอยู่ไม่ถึงพันคนไปอีกนับร้อยปี

การปิดล้อมโจมตีช่วงสงครามไครเมีย[แก้]

ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของปิตราปัฟลัฟสค์ปรากฏขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 1854 ซึ่งรัสเซียกำลังทำสงครามไครเมียโดยอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับฝรั่งเศสและอังกฤษ เนืองจากในระยะนั้นทั้งสองชาติได้เริ่มมามีอาณานิคมในแถบเอเชียแล้วและเมืองปิตราปัฟลัฟสค์เองก็มีฐานะในยามนั้นเป็นฐานกำลังหลักของกองทัพเรือรัสเซียทางฝั่งแปซิฟิก ในเดือนสิงหาคมกองเรือของทั้งสองชาติได้แล่นมาจากจีนและทำการปิดล้อมโจมตีเมืองปิตราปัฟลัฟสค์ซึ่งในเวลานั้นมีคนในเมืองเพียง 988 คนกับปืนเพียง 68 กระบอก ทว่าฝ่ายรัสเซียสามารถต้านทานจากโจมตีด้วยจำนวนเรือ 6 ลำ ปืน 206 กระบอกและทหารราว ๆ 2,500 คนได้จนฝ่ายฝรั่งเศสและอังกฤษต้องจำล่าถอยไปด้วยเสบียงที่ร่อยหรอลงและใกล้เข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งทางฝ่ายรัสเซียได้ใช้โอกาสที่เข้าสู่ฤดูหนาวตัดสินใจอพยพทิ้งร้างเมือง เมื่อกองเรือของฝรั่งเศสและอังกฤษยกกำลังกลับมาอีกครั้งในฤดูร้อนปีถัดมาจึงพบเพียงเมืองร้างว่างเปล่าซึ่งก็ถูกยิงถล่มเสียหายก่อนจะถอนกำลังออกไป กระนั้นวีรกรรมของฝ่ายรัสเซียซึ่งสามารถปกป้องเมืองไม่ให้ถูกยึดครองโดยฝ่ายศัตรูก็ถูกยกย่องจนปิตราปัฟลัฟสค์ได้รับการขนานนามว่าเป็นเซวัสโตปอลแห่งตะวันออก

หลังจากนั้นคัมชัตคาได้กลายเป็นจุดหมายของนักโทษซึ่งถูกเนรเทศมาจากทางตะวันตกของประเทศ ทำให้อัตราประชากรเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จนในที่สุดชาวรัสเซียได้กลายเป็นประชากรส่วนของทั้งเมืองและตัวคาบสมุทรคัมชัตคา

เมืองปิดทางการทหารสมัยคอมมูนิสต์[แก้]

ในระยะนี้ประชากรของเมืองได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากการย้ายกำลังทหารมาประจำในฐานทัพต่าง ๆ รอบอ่าวอะวาชาอย่างเนืองแน่น ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ปิตราปัฟลัฟสค์-คัมชัตสกีได้กลายเป็นหนึ่งในเมืองกำลังหลักของการส่งเรือรบและเครื่องบินไปต่อสู้กับทางญี่ปุ่นเพื่อแย่งชิงหมู่เกาะคูริล จนทำให้ได้รับยกย่องเป็นเมืองเกียรติยศทางการทหารเมื่อปี ค.ศ. 2011[5]

ช่วงสงครามเย็น ทางโซเวียตได้เพิ่มการพัฒนาทางด้านการทหารในบริเวณคาบสมุทรอย่างมาก คัมชัตคาถูกประกาศให้เป็นเขตหวงห้ามทางการทหารที่แม้แต่ชาวรัสเซียเองก็มิสามารถเดินทางเข้ามาได้ง่าย มีการส่งเรือดำน้ำมาประจำการที่ฐานทัพเรือและหน่วยฝูงบินของกองทัพโซเวียตก็ประจำการอยู่ที่สนามบินหลักของเมืองรวมถึงมีเขตพื้นที่หวงห้ามเพื่อทดลองขีปนาวุธพิสัยไกลด้วย[6] ดังนั้นในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1983 โคเรียนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 007ได้บังเอิญบินรุกล้ำเข้ามาในน่านฟ้าของคัมชัตคาใกล้กับเมืองปิตราปัฟลัฟสค์-คัมชัตสกีจนถูกทางการโซเวียตสงสัยว่าเป็นการสอดแนมและถูกสั่งยิงตกเมื่อบินออกจากเขตคาบสมุทรไปถึงบริเวณเกาะซาฮาลินแล้ว

หลังจากล่มสลายของโซเวียต[แก้]

แม้ว่าการล่มสลายลงของโซเวียตจะเป็นการเปิดเมืองให้ผู้คนสามารถเดินทางเข้ามาได้ง่ายขึ้น ทว่าหลังจากการล่มสลายของโซเวียตประชากรของเมืองกลับลดลงอย่างต่อเนื่องจากการย้ายถิ่นฐานออกไปยังที่อื่น ในขณะเดียวกับเศรษฐกิจของเมืองก็เริ่มเปลี่ยนทิศทางจากที่เดิมพึ่งพาการประมงและธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่งทางเรือและการทหาร ในระยะหลัง ๆ นักท่องเที่ยวทั้งชาวรัสเซียและชาวต่างชาติบางส่วนเริ่มเข้ามาเที่ยวในคัมชัตคามากขึ้นและด้วยฐานะที่เป็นเมืองที่มีความเจริญมากที่สุดของคาบสมุทร ปิตราปัฟลัฟสค์-คัมชัตสกีจึงได้กลายเป็นจุดตั้งต้นของการเดินทางเที่ยวชมธรรมชาติของคาบสมุทร กระนั้นเมืองก็ไม่ค่อยได้รับการพัฒนามากเท่าในช่วงสงครามเย็น สภาพทั่วไปจึงค่อนข้างเสื่อมโทรมไม่มีการก่อสร้างอะไรใหม่มากไปจากสมัยโซเวียตนัก

ปัจจุบันนี้แม้ว่าจะสิ้นสุดยุคการเป็นเมืองปิดทางการทหารแล้ว ทว่าก็ยังคงมีกิจกรรมทางการทหารเกิดขึ้นรอบ ๆ เมืองอยู่เสมอ ฝูงบินของกองทัพรัสเซียก็ยังคงประจำการอยู่ที่สนามบินปิตราปัฟลัฟสค์-คัมชัตสกี ฐานทัพเรือของกองเรือแปซิฟิกก็ยังคงมีการซ้อมรบนอกชายฝั่งรวมถึงมีการเสริมกำลังยุทโธปกรณ์ใหม่ ๆ อยู่ในทุกวันนี้[7]

เศรษฐกิจ[แก้]

การคมนาคม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "История образования города Петропавловска-Камчатского". Petropavlovsk-Kamchatsky city website. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-21. สืบค้นเมื่อ 2015-01-22.
  2. "THE ITELMENS". The Red Book of the Peoples of the Russian Empire.
  3. "Beyond Moscow : Petropavlovsk-Kamchatsky". The Moscow Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-17. สืบค้นเมื่อ 2015-01-22.
  4. "Captain Bering and Captain Chirikov". Beyond the Map. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-27. สืบค้นเมื่อ 2015-01-23.
  5. "Dmitry Medvedev presented certificates conferring City of Military Glory title on Kovrov, Lomonosov, Taganrog and Petropavlovsk-Kamchatsky". President of Russia official website.
  6. "Russia Successfully Test Launches RS-24 Yars ICBM From Plesetsk: Ministry". Sputnik news.
  7. "S-400 Air Defense Systems to Protect Russia's Kamchatka". Sputnik news.