ปลาฉลามหัวบาตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาฉลามหัวบาตร
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Chondrichthyes
ชั้นย่อย: Elasmobranchii
อันดับ: Carcharhiniformes
วงศ์: Carcharhinidae
สกุล: Carcharhinus
สปีชีส์: C.  leucas
ชื่อทวินาม
Carcharhinus leucas
(Müller & Henle, 1839)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของปลาฉลามหัวบาตร (สีน้ำเงิน)
ชื่อพ้อง[2]
  • Carcharhinus azureus (Gilbert & Starks, 1904)
  • Carcharhinus nicaraguensis (Gill & Bransford, 1877)
  • Carcharhinus vanrooyeni Smith, 1958
  • Carcharhinus zambezensis (Peters, 1852)
  • Carcharias azureus Gilbert & Starks, 1904
  • Carcharias leucas Müller & Henle, 1839
  • Carcharias spenceri Ogilby, 1910
  • Carcharias zambezensis Peters, 1852
  • Eulamia nicaraguensis Gill & Bransford, 1877
  • Galeolamna bogimba Whitley, 1943
  • Galeolamna greyi mckaili Whitley, 1945
  • Squalus obtusus Poey, 1861
  • Squalus platyodon Poey, 1861

ปลาฉลามหัวบาตร (อังกฤษ: Bull shark; ชื่อวิทยาศาสตร์: Carcharhinus leucas) เป็นปลาฉลามชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลาฉลามครีบดำ (Carcharhinidae)

ลักษณะและพฤติกรรม[แก้]

มีรูปร่างอ้วนป้อม หัวกลมป้านมีขนาดใหญ่ ข้อที่สองครีบหลังเป็นกระโดงรูปสามเหลี่ยมมุมป้าน มีนิสัยดุร้าย กินปลาและสัตว์ต่าง ๆ ในน้ำเป็นอาหาร รวมทั้งอาจทำร้ายมนุษย์ได้ด้วย พบอาศัยในทะเลเขตอบอุ่นและเขตร้อนทั่วโลก โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่ง ขนาดโตเต็มที่ได้ถึง 3.5 เมตร น้ำหนักหนักได้ถึง 316.5 กิโลกรัม

ปลาฉลามหัวบาตร เป็นปลาฉลามชนิดที่สามารถปรับตัวให้อยู่ในน้ำจืดได้ โดยพบเป็นบางครั้งในแม่น้ำใหญ่ที่ห่างจากทะเลนับร้อยกิโลเมตร เช่น แม่น้ำมิสซิสซิปปี, แม่น้ำอเมซอน, แม่น้ำแซมบีซี, แม่น้ำไทกริส, แม่น้ำแยงซี, ทะเลสาบนิคารากัว ในประเทศไทยเช่น แม่น้ำโขง, แม่น้ำแม่กลอง, แม่น้ำสาละวิน เป็นต้น[3] โดยปลาจะว่ายเข้ามาจากทะเล มีรายงานว่าอยู่ห่างจากทะเลมากที่สุด คือ แม่น้ำอเมซอน ในทวีปอเมริกาใต้ พบอยู่ห่างจากทะเลถึง 2,200 ไมล์[4]

ปลาฉลามหัวบาตร เป็นปลาที่ล่าเหยื่อเป็นอาหาร สามารถที่จะกินปลาขนาดใหญ่เช่น ปลากระเบน หรือแม้แต่พวกเดียวกันได้ โดยฟันที่อยู่กรามล่างจะมีลักษณะแหลมยาวกว่าฟันที่อยู่กรามบน เพราะใช้ในการกัดเหยื่อก่อน ก่อนที่ฟันกรามบนจะงับซ้ำลงมาเพื่อไม่ให้เหยื่อหลุด ในบางครั้งจะสะบัดเหยื่อให้ขาดเป็น 2 ท่อนด้วย โดยแรงกัดที่วัดได้วัดได้สูงสุดถึง 1,250 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว โดยมักใช้หัวพุ่งชนก่อนกัดเหยื่อ อีกทั้งนับได้ว่าเป็นสัตว์ที่มีฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนสูงที่สุดในบรรดาสัตว์โลกทั้งมวลอีกด้วย[5]

ปลาฉลามหัวบาตร มีร่างกายที่สามารถปรับตัวให้อาศัยอยู่ในน้ำจืดสนิทได้ ด้วยการควบคุมปริมาณเกลือและยูเรีย จากต่อมที่ทวารหนักที่ทำหน้าที่เหมือนวาล์วเปิดปิดปัสสาวะ ควบคุมปริมาณเกลือให้สมดุลกับร่างกาย อีกทั้งการที่มีส่วนหัวขนาดใหญ่ทำให้ได้เปรียบกว่าปลาฉลามกินเนื้อชนิดอื่น ๆ ด้วยการที่มีรูรับประสาทสัมผัสที่ส่วนจมูกมากกว่า ทำให้ปลาฉลามหัวบาตรรับรู้สนามไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี จนสามารถรับรู้ได้ถึงเสียงหัวใจเต้นของมนุษย์ ทำให้มีประสาทสัมผัสการล่าที่ดีกว่าปลาฉลามชนิดอื่น [4] โดยปกติแล้ว ปลาตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ สามารถสืบพันธุ์และขยายพันธุ์เติบโตในน้ำจืดได้ แม้แต่ขณะที่อยู่ในท้อง ลูกปลาฉลามหัวบาตรจะกินกันเองจนเหลือเพียงไม่กี่ตัวที่จะคลอดออกมา

ปลาฉลามหัวบาตรตัวเมียในเขตอนุรักษ์แนวปะการังที่ฟิจิ
ส่วนหัว
ปลาทั้งตัวที่ถูกจับได้

เป็นปลาที่ใช้ตกเป็นเกมกีฬา รวมถึงใช้บริโภค แต่การเลี้ยงในสถานที่เลี้ยงกลับไม่รอด พบเพียงแต่ที่เดียวเท่านั้น คือ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในออสเตรเลีย[3]

ปลาฉลามหัวบาตรที่พบในแม่น้ำบรีเด ในแอฟริกาใต้ มีพฤติกรรมที่แปลกไปกว่าปลาฉลามหัวบาตรในที่อื่น ๆ คือ ไม่โจมตีทำร้ายมนุษย์หากมีอาหารในแม่น้ำเพียงพอ และจะหาอาหารโดยการขโมยปลาที่ตกได้โดยชาวประมงในท้องถิ่น ด้วยการตามเรือประมงไป จึงทำให้ปลาที่นี่มีขนาดใหญ่กว่าปลาที่พบในที่อื่น[6]

การทำร้ายมนุษย์[แก้]

ปัจจุบัน มีการจัดอันดับให้ปลาฉลามหัวบาตรเป็นปลาฉลามที่มีอันตรายต่อมนุษย์มากที่สุด เนื่องด้วยการที่พบกระจายอยู่ทั่วโลกและสามารถเข้ามาอาศัยได้ในน้ำจืดได้[4]

ในเหตุการณ์ปลาฉลามโจมตีที่ชายฝั่งเจอร์ซีย์ ค.ศ. 1916 เป็นการจู่โจมมนุษย์โดยปลาฉลามหัวบาตรที่ขึ้นชื่ออย่างมาก และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ ปีเตอร์ เบนชลีย์ นักเขียนชาวอเมริกัน แต่งเป็นนวยายเรื่อง Jaws ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันที่โด่งดังมากในปี ค.ศ. 1975[7]

ในปลายปี ค.ศ. 2002 ซึ่งตรงกับฤดูร้อนของออสเตรเลีย มีนักศึกษาระดับปริญญาเอก 2 คน ได้ลงไปว่ายน้ำในทะเลสาบไมอามี รัฐควีนส์แลนด์ เพื่อดับร้อน คนหนึ่งสามารถว่ายน้ำขึ้นฝั่งได้อย่างปลอดภัย แต่ โบ มาร์ติน นักศึกษาอีกคนวัย 23 ปี กลับหายไป เมื่อเพื่อนของเขากระโดดลงไปช่วยก็ไม่พบตัว วันรุ่งขึ้น พ่อของมาร์ตินและเจ้าหน้าที่ตำรวจออกตามหา แต่ก็ไม่พบ อีก 3 วันต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เลิกค้นหาแล้ว แต่พ่อของมาร์ตินยังคงค้นหาต่อด้วยเรือแคนู ในที่สุดก็พบศพลูกชายตัวเอง ในสภาพที่กึ่งจมกึ่งลอย ด้วยก๊าซในร่างกายที่ดันศพให้ลอยขึ้นมา ผลของการชันสูตร พบว่า โบ มาร์ติน เสียชีวิตจากการถูกปลาฉลามหัวบาตรกัดถึง 3 ครั้ง โดยบาดแผลฉกรรจ์ที่สุดอยู่ที่ต้นขาซ้าย[4]

ในวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 2003 ที่แม่น้ำบริสเบน ในออสเตรเลีย มีผู้พาม้าแข่งของตัวลงไปว่ายน้ำเพื่อออกกำลังกาย ปรากฏว่าม้าน้ำหนักถึง 2,000 ปอนด์ ถูกอะไรบางอย่างโจมตีที่ขาหลังและสะโพก จนเกือบจะถูกลากลงไปในน้ำ แม้จะรอดมาได้ด้วยเชือกที่เจ้าของผูกจูงไว้ แต่ด้วยแผลที่ฉกรรจ์ แม้ภายนอกจะหายสนิทแล้ว แต่กล้ามเนื้อภายในคงยังเสียหาย จนไม่อาจใช้เป็นม้าแข่งได้อีกต่อไป ภาพของบาดแผลผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่าเป็นการโจมตีของปลาฉลามหัวบาตร[4]

นอกจากนี้แล้วยังมีรายงานอื่น ๆ มาจากหลายส่วนของโลก เช่น อินเดีย และทะเลสาบมิชิแกน และแม่น้ำมิสซิปซิปปี ในสหรัฐอเมริกา หรือทะเลสาบน้ำจืด ในฟิลิปปินส์ ที่พบว่าปลาฉลามหัวบาตรทำร้ายมนุษย์ หรือสัตว์เลี้ยง แม้กระทั่งกัดกินศพที่ลอยน้ำมาด้วย

ในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 2015 มีนักท่องเที่ยวหญิงชาวออสเตรเลียลงเล่นน้ำทะเลที่หาดกะรน จังหวัดภูเก็ต ถูกสัตว์ทะเลบางอย่างทำร้ายจนมีแผลเหวอะที่เท้าซ้าย สันนิษฐานว่าเป็นปลาฉลาม และน่าจะเป็นปลาฉลามหัวบาตร[8] แต่ในประเทศไทย จัดว่าพบปลาฉลามหัวบาตรน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นปลาที่พบในแนวปะการังซึ่งเป็นปลาขนาดใหญ่[3] ส่วนในน้ำจืดพบได้น้อยมาก และเป็นปลาขนาดเล็ก เช่น แม่น้ำสาละวิน หรือแม่น้ำแม่กลอง [3] [4]

อ้างอิง[แก้]

  1. Simpfendorfer, C. & Burgess, G.H. (2005). "Carcharhinus leucas". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2011.1. สืบค้นเมื่อ 18 August 2011.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  2. Carcharhinus leucas. ITIS Standard Report Page.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 กิตติพงษ์ จารุธาณินทร์ ฉลามน้ำจืด....จากแม่น้ำแม่กลอง Aquarium Biz ฉบับที่ 4 ตุลาคม 2553 หน้า 94
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 Freshwater Shark, "River Monsters". สารคดีแอนิมอลแพลนเน็ต.
  5. [ลิงก์เสีย] รายการ Knowledge Zone คลังปัญญา ออกอากาศทางช่อง 9 : 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
  6. Hidden Predator, "River Monsters" "River Monsters". สารคดีแอนิมอลแพลนเน็ต.
  7. Handwerk, Brian. "Great Whites May Be Taking the Rap for Bull Shark Attacks". National Geographic News. สืบค้นเมื่อ 1 February 2007.
  8. "ดร.ธรณ์ มั่นใจ สัตว์กัดนักท่องเที่ยวทะเลภูเก็ต คือ ฉลาม". สนุกดอตคอม. สืบค้นเมื่อ 7 November 2015.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Carcharhinus leucas ที่วิกิสปีชีส์