ข้ามไปเนื้อหา

ปลาค้าวดำเหนือ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาค้าวดำเหนือ
ปลาค้าวดำเหนือที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำทตโตกิฟุ ประเทศญี่ปุ่น
สถานะการอนุรักษ์

ไม่มีข้อมูล  (IUCN 3.1)[1]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Siluriformes
วงศ์: Siluridae
สกุล: Wallagonia
สปีชีส์: W.  micropogon
ชื่อทวินาม
Wallagonia micropogon
(Ng, 2004)
ชื่อพ้อง
  • Wallago micropogon
    Ng, 2004

ปลาค้าวดำเหนือ หรือ ปลาเค้าดำเหนือ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Wallagonia micropogon) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน (Siluridae) จัดเป็นปลาที่อยู่ในอันดับปลาหนัง (Siluriformes)

ปลาค้าวดำเหนือมีรูปร่างลำตัวยาวแต่ค่อนข้างป้อม ลำตัวที่อยู่ค่อนไปทางหางมีลักษณะแบนข้างมาก พื้นลำตัวสีเทาถึงดำสนิท ส่วนหัวมีขนาดใหญ่และแบน ปากกว้าง ภายในมีฟันซี่เล็ก ๆ อยู่ในขากรรไกรทั้ง 2 ข้าง มีหนวด 2 คู่ โดยคู่ที่อยู่มุมปากมีลักษณะเรียวยาว ส่วนคู่ที่ใต้คางจะสั้นและเล็กมาก มีครีบทั้งหมด 7 ครีบ ครีบก้นใหญ่และยาวจรดครีบหาง ขอบปลายหางด้านบนจะใหญ่กว่าด้านล่าง ส่วนท้องป่องออก ส่วนหลังยกสูงขึ้นกว่าปลาค้าวขาว (Wallago attu) ซึ่งเป็นปลาที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่จัดอยู่ในคนละสกุล

มีขนาดลำตัวยาวได้ถึง 1 เมตร น้ำหนักกว่า 50 กิโลกรัม โดยอาจยาวได้ถึงกว่า 2 เมตร น้ำหนัก 80 กิโลกรัม สถิติที่ใหญ่ที่สุดพบที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์

พฤติกรรมตามปกติ มักจะซุกตัวอยู่นิ่ง ๆ ใต้น้ำ เป็นปลาที่สายตาไม่ดี จึงใช้หนวดในการนำทางและหาอาหาร พบตามแม่น้ำสายใหญ่ ๆ ทั้งภาคกลางและภาคอีสานของประเทศไทย เช่น แม่น้ำเจ้าพระยาและสาขา, แม่น้ำแม่กลอง, แม่น้ำโขงและสาขา และพบได้ถึงประเทศเวียดนาม

เดิมทีถูกจัดให้อยู่รวมเป็นชนิดเดียวกับปลาค้าวดำใต้ (W. leerii) ซึ่งเป็นปลาค้าวดำที่พบในภาคใต้ แต่ได้ถูกแยกออกมาใน ค.ศ. 2004 เมื่อมีการศึกษาใหม่ โดยปลาค้าวดำเหนือมีครีบอกยาวกว่า หัวงอนขึ้นเล็กน้อย ดวงตาเล็กกว่า และมีหนวดยาวถึงบริเวณฐานครีบท้อง[2]

ปลาค้าวดำเหนือเป็นปลาไทยอีกชนิดหนึ่งที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แต่เป็นปลาที่มีนิสัยดุร้าย ก้าวร้าว หวงถิ่นที่อยู่อาศัยมาก กินปลาขนาดเล็กตัวอื่นเป็นอาหาร จึงมักเลี้ยงตัวเดียวเดี่ยว ๆ นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นปลาที่สามารถฮุบกลืนกินเหยื่อหรืออาหารขนาดใหญ่ได้ โดยในอดีตที่บ้านปากกิเลน อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เคยมีเหตุการณ์ปลาค้าวดำเหนือกินคนมาแล้ว โดยเกิดเหตุที่โป๊ะท่าน้ำ เมื่อทารกคนหนึ่งอุจจาระเลอะเปรอะเปื้อนทั้งตัว ผู้เป็นแม่จึงนำไปแกว่งล้างในแม่น้ำ ทันใดนั้นก็ได้มีปลาค้าวดำเหนือตัวใหญ่โผล่ขึ้นมาจากน้ำฮุบกินเด็กเข้าไปทั้งตัว เหตุการณ์นี้เป็นที่แตกตื่นตกใจของผู้คนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนั้น[3] นอกจากนี้แล้ว ปลาค้าวดำเหนือมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น "ปลาอีทุก" หรือ "ปลาทุก" ในภาษาอีสาน โดยเรียกตามสีลำตัวที่มีสีดำสนิทเหมือนกับคนสวมชุดไว้ทุกข์

อ้างอิง[แก้]

  1. Allen, D. (2010). "Wallago micropogon". IUCN Red List of Threatened Species. 2010. สืบค้นเมื่อ 4 March 2013.
  2. Roberts, T.R. (2014): Wallago Bleeker, 1851 and Wallagonia Myers, 1938 (Ostariophysi, Siluridae), Distinct Genera of Tropical Asian Catfishes, with Description of †Wallago maemohensis from the Miocene of Thailand. Bulletin of the Peabody Museum of Natural History, 55 (1): 35-47. doi:10.3374/014.055.0103
  3. หน้า 114, Monsters of the River 2013 โดย กิตติพงษ์ จารุธาณินทร์, ป๋อง บางตาล. "V.I.P. (Very Important Pisces)". นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 4 ฉบับที่ 39: กันยายน 2013

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]