พระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก บุษบกพระราชลัญจกร)

พระบรมราชสัญลักษณ์ทั้ง 9 รัชกาลนี้ ประดิษฐานบนบุษบก แต่เดิมเรียกว่า “บุษบกตราแผ่นดิน” นั้น มี 3 บุษบก ตั้งอยู่บนไพที ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของพระมณฑป 1 ด้านตะวันออกเฉียงใต้ 1 และด้านด้านตะวันตกเฉียงใต้ 1

พระบุษบกทั้ง 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานหินอ่อนรูปสี่เหลี่ยม รอบฐานทั้ง 4 ด้านมีรูปช้างที่สำคัญที่คู่พระบุญญาธิการของพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาล แสดงให้เห็นว่า ในรัชกาลใดทรงได้ช้างสำคัญคู่พระบารมีกี่เชือกด้วย

บุษบกทั้ง 3 องค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นเครื่องแสดงถึงพระบรมราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 5 รัชกาล จึงได้ทรงสร้างพระบรมราชสัญลักษณ์ของพระองค์ไว้เป็นพุทธบูชา ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

  • บนพระบุษบกองค์ตะวันตกเฉียงเหนือ ประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์ 3 รัชกาล ดังนี้
    • พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 เป็นรูปมงกุฎไม่มีพระจอน ซึ่งหมายถึงว่าพระองค์เป็นพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และอีกประการหนึ่งก่อนขึ้นเถลิงราชสมบัติ ก็ทรงมีบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกด้วย จึงได้มีการเชิญพระมหาพิชัยมงกุฎซึ่งเป็นอาภรณ์สำหรับกษัตริย์ ถวายเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์เพื่อให้เหมาะกับบรรดาศักดิ์ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ และสมกับที่พระองค์เป็นพระปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ในกาลต่อมาด้วย
    • พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 2 เป็นรูปครุฑจับนาค กล่าวกันว่า เพราะพระนามเดิมคือ “ฉิม” อันวิมานฉิมพลีนั้นเป็นวิมานแห่งครุฑอันทรงอานุภาพ จึงทรงใช้รูปครุฑจับนาคเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ และพระราชลัญจกรประจำรัชกาล
    • พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เป็นรูปพระวิมาน กล่าวกันว่าเพราะพระนามเดิม คือ “ทับ” ซึ่งหมายถึงที่อยู่ จึงทรงใช้รูปพระวิมานเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ และเป็นพระบรมราชลัญจกร



  • บนพระบุษบกองค์ตะวันตกเฉียงใต้ ประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์ 2 รัชกาล ดังนี้
    • พระบรมราชสัญลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นรูปพระมหามงกุฎ เพราะพระนามเดิมของพระองค์คือ “เจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทวาวงศ์” จึงใช้ตรามงกุฎเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ และพระบรมราชลัญจกรประจำรัชกาล แต่รูปมงกุฎผิดแผกกับมงกุฎรัชกาลที่ 1 ด้วยเป็นพระมงกุฎที่มีพระจอนประกอบด้วย
    • พระบรมราชสัญลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นรูปพระจุลมงกุฎ (หรือพระเกี้ยว) เพราะพระนามเดิมคือ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ซึ่งหมายถึงเครื่องประดับเกล้าชนิดหนึ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ใช้พระเกี้ยวเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ และเป็นพระบรมราชลัญจกรประจำรัชกาล


    • พระบรมราชสัญลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เรียกว่า พระราชลัญจกรพระวชิระ เป็นรูปวชิราวุธ ยอดรัศมีประดิษฐ์บนพานแว่นฟ้าตั้งอยู่เหนือตั่ง มีฉัตรกลีบบัวตั้งอยู่สองข้าง เป็นสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธย "วชิราวุธ" ซึ่งหมายถึง ศาสตราวุธของพระอินทร์
    • พระบรมราชสัญลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เรียกว่า พระราชลัญจกรพระแสงศร เป็นรูปพระแสงศร 3 องค์ คือ พระแสงศรพรหมาสตร์ พระแสงศรประลัยวาต พระแสงศรอัคนีวาต เหนือราวพาดพระแสงเป็นดวงตรามหาจักรีบรมราชวงศ์ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ เบื้องซ้ายและเบื้องขวาของราวพาดพระแสงตั้งบังแทรก สอดแทรกด้วยลายกนกอยู่บนพื้นตอนบนของดวงตรา พระแสงศร 3 องค์นี้ เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า "ประชาธิปกศักดิเดชน์" ซึ่งมาจากความหมายของศัพท์ คำสุดท้ายของวรรคที่ว่า "เดชน์" แปลว่า ลูกศร
    • พระบรมราชสัญลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 เป็นรูปพระโพธิสัตว์ ประทับบนบัลลังก์ดอกบัว ห้อยพระบาทขวาเหนือบัวบาน หมายถึงแผ่นดิน พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวตูม และมีเรือนแก้วด้านหลังแทนรัศมี มีแท่นรองรับตั้งฉัตรบริวารทั้งสองข้าง เป็นพระราชสัญลักษณ์ของบรมนามาภิไธยว่า "อานันทมหิดล" ซึ่งแปลความว่า เป็นที่ยินดีของแผ่นดิน เพราะพระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลย ราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ใน ระบอบประชาธิปไตย ด้วยความยินดีของอเนกนิกรชาวไทย ประหนึ่งพระโพธิสัตว์ เสด็จมาประทานความร่มเย็น เป็นสุขแก่ทวยราษฎร์ทั้งมวล
    • พระบรมราชสัญลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นรูปพระที่นั่งอัฐทิศ ประกอบด้วยวงจักร กลางวงจักรมีอักขระเป็น "อุ" หรือ "เลข9" รอบวงจักรมีรัศมีเปล่งออกโดยรอบ เหนือจักรเป็นรูปเศวตฉัตร 7 ชั้น ฉัตรตั้งอยู่บนพระที่นั่งอัฐทิศ แปลความหมายว่า มีพระบรมเดชานุภาพในแผ่นดิน โดยที่วันบรมราชาภิเษก ตามโบราณราชประเพณี ได้เสด็จประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศ สมาชิกรัฐสภาถวายน้ำอภิเษกจากทิศทั้ง8 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ทรงรับน้ำอภิเษกจากสมาชิกรัฐสภา แทนที่จะรับจากราชบัณฑิตดั่งในรัชกาลก่อน


“ทุน ณ อยุธยา” ร่วมใจกันปฏิสังขรณ์บุษบกพระบรมราชสัญลักษณ์รัชกาลที่ 1, 2, 3, 4 และ 5 เมื่อพ.ศ. 2525 ส่วนพระบรมราชสัญลักษณ์รัชกาลที่ 6, 7, 8, และ 9 โปรดเกล้าให้สร้างเพิ่มขึ้นใหม่ เมื่อฉลองครบ 200 ปีรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2525

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

เรื่องและภาพจากบทความเรื่อง พระบรมราชสัญลักษณ์ ๙ รัชกาล ในหนังสือ พระบรมราชจักรีวงศ์ รวบรวมโดย ม.ร.ว.ตาบทิพย์ จามรมาน จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นบรรณาการแก่สมาชิกราชสกุล ณ อยุธยา โดย “ทุน ณ อยุธยา” พ.ศ. 2530 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ประธาน ทุน ณ อยุธยา