ข้ามไปเนื้อหา

บิยอร์น บอร์ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บิยอร์น บอร์ก
บอร์กในปี 2014
ชื่อเต็มBjörn Rune Borg
ประเทศ (กีฬา)ธงของประเทศสวีเดน สวีเดน
ถิ่นพำนักMonte Carlo, Monaco
วันเกิด (1956-06-06) 6 มิถุนายน ค.ศ. 1956 (68 ปี)
Stockholm, Sweden
ส่วนสูง1.80 เมตร (5 ฟุต 11 นิ้ว)
เทิร์นโปร1973 (comeback in 1991)
ถอนตัว1984, 1993
การเล่นRight-handed (two-handed backhand)
ผู้ฝึกสอนLennart Bergelin (1971–1983)
Ron Thatcher (1991–1993)
เงินรางวัลUS$3,655,751
Int. Tennis HoF1987 (member page)
เดี่ยว
สถิติอาชีพ654–140 (82.4%)
รายการอาชีพที่ชนะ66 (8th in the Open Era)
อันดับสูงสุดNo. 1 (23 August 1977)
ผลแกรนด์สแลมเดี่ยว
ออสเตรเลียนโอเพน3R (1974)
เฟรนช์โอเพนW (1974, 1975, 1978, 1979, 1980, 1981)
วิมเบิลดันW (1976, 1977, 1978, 1979, 1980)
ยูเอสโอเพนF (1976, 1978, 1980, 1981)
การแข่งขันอื่น ๆ
Tour FinalsW (1979, 1980)
WCT FinalsW (1976)
คู่
สถิติอาชีพ86–81 (51.2%)
รายการอาชีพที่ชนะ4
ผลแกรนด์สแลมคู่
ออสเตรเลียนโอเพน3R (1973)
เฟรนช์โอเพนSF (1974, 1975)
วิมเบิลดัน3R (1976)
ยูเอสโอเพน3R (1975)
การแข่งขันแบบทีม
Davis CupW (1975)

บิยอร์น บอร์ก (สวีเดน: Björn Borg; ออกเสียง [bjœːɳ bɔrj] sv-Björn Borg.ogg) เป็นอดีตนักเทนนิสชายมือวางอันดับหนึ่งของโลกชาวสวีเดน เขาครองตำแหน่งมือวางอันดับหนึ่งรวม 109 สัปดาห์ และเป็นเจ้าของตำแหน่งชนะเลิศรายการแกรนด์สแลมในประเภทชายเดี่ยว 11 สมัย โดยชนะเลิศเฟรนช์โอเพน 6 สมัย และวิมเบิลดัน 5 สมัย[1] บอร์กได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักเทนนิสชายที่เก่งที่สุด รวมทั้งเป็นหนึ่งในนักกีฬาชาวสวีเดนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล[2][3][4] เขามีฉายาว่า "The Ice Man"[5] หรือมนุษย์น้ำแข็งเนื่องจากสไตล์การเล่นอันสุขุมเยือกเย็น[6][7]

บอร์กเป็นนักเทนนิสชายคนแรกที่ถือสถิติชนะเลิศวิมเบิลดันติดต่อกัน 5 สมัย จากการเข้าชิงติดต่อกัน 6 สมัย (ชนะเลิศปี 1976-1980 จากการเข้าชิงในปี 1976-1981 โดยพ่ายแพ้ต่อจอห์น แม็กเอนโรในปี 1981)[8] และสถิติชนะเลิศเฟรนช์โอเพน 6 สมัย จากการเข้าชิง 6 ครั้ง ระหว่างปี 1974-1981 (6-0) ถือเป็นสถิติที่ดีที่สุดเป็นอันดับ 4 ในการเข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลม[9] เป็นรองเพียง พีต แซมพราส ในวิมเบิลดัน (7-0), นอวาก จอกอวิช ในออสเตรเลียนโอเพน (9-0) และราฟาเอล นาดัล ในเฟรนช์โอเพน (13-0) เขายังเป็นหนึ่งในสองผู้เล่นชาย (ร่วมกับ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์) ที่สามารถเข้าชิงชนะเลิศรายการเฟรนช์โอเพนและวิมเบิลดันติดต่อกัน 4 ปี (1978-81) และเป็นผู้เล่นคนเดียวที่สามารถชนะเลิศแกรนด์สแลมทั้ง 2 รายการดังกล่าวได้ 3 สมัยติดต่อกัน (1978-80)

นอกจากนี้ บอร์กยังเป็นผู้เล่นคนแรกที่เข้าชิงชนะเลิศวิมเบิลดัน 6 ปีติดต่อกัน[10] ก่อนที่สถิติดังกล่าวจะถูกทำลายโดยเฟเดอเรอร์ซึ่งเข้าชิงชนะเลิศ 7 ปีติดต่อกัน (2003-09) และยังเป็นผู้เล่นคนแรกที่เข้าชิงชนะเลิศเฟรนช์โอเพน, วิมเบิลดัน และยูเอสโอเพนในปีเดียวกันได้ถึง 3 ครั้ง (1978, 80-81) ก่อนที่สถิติดังกล่าวจะถูกทำลายโดยเฟเดอเรอร์เช่นกัน (2006-09) เขาคว้าตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ของโลกเมื่อจบสิ้นปี 3 ครั้ง และชนะเลิศรายการซูเปอร์ซีรีย์ (รายการเอทีพี มาสเตอร์ ในปัจจุบัน) รวม 16 สมัย เขาได้รับการยอมรับว่าสามารถเล่นได้ดีในทุกพื้นผิวสนาม[11][12] และสามารถเข้าชิงชนะเลิศรายการแกรนด์สแลมได้ในทั้ง 3 พื้นคอร์ต (เฟรนช์โอเพน, วิมเบิลดัน และ ยูเอสโอเพน)

เขาถือเป็นคู่แข่งคนสำคัญของ จอห์น แม็กเอนโร ยอดผู้เล่นชาวอเมริกัน ซึ่งทั้งคู่แย่งชิงความสำเร็จกันอย่างดุเดือดในช่วงทศวรรษ 70-80[13][14][15] จึงมีการนำเรื่องราวการชิงชัยของทั้งคู่ไปทำเป็นภาพยนตร์อัตชีวประวัติที่มีชื่อเรื่องว่า Borg vs McEnroe[16] ซึ่งอ้างอิงจากเหตุการณ์การแข่งขันในแกรนด์สแลมวิมเบิลดันรอบชิงชนะเลิศเมื่อปี 1980 ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนัดชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมเทนนิสที่สนุกตื่นเต้นที่สุดครั้งหนึ่ง[17][18] โดยได้เริ่มออกฉายในปี 2017 และได้รับเสียงตอบรับจากแฟนกีฬาเทนนิสเป็นอย่างดี[19]

บอร์กเลิกเล่นอาชีพในวัยเพียง 26 ปี (ค.ศ. 1984)[20] เนื่องจากความกดดันจากการลงเล่นอย่างต่อเนื่องซึ่งส่งผลต่อสภาพร่างกาย และความเบื่อหน่ายในการเล่นอาชีพ และได้หันไปประกอบอาชีพเป็นนักธุรกิจหลายประเภทซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก ก่อนจะกลับมาลงแข่งขันเทนนิสอาชีพอีกครั้งในวัย 33 ปี และเลิกเล่นอย่างถาวรในปี 1993 เขาไดรับการเสนอชื่อเข้าสู่หอเกียรติยศของสมาคมเทนนิสนานาชาติใน ค.ศ. 1987

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]

บียอร์น บอร์ก เกิดที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 1956[21] เป็นลูกชายคนเดียวของนายรูน ซึ่งประกอบอาชีพช่างไฟฟ้าและอดีตนักปิงปองอาชีพ และนางมาร์กาเรธา บอร์ก เขาเติบโตขึ้นมาในบริเวณใกล้เคียง Södertälje ในวัยเด็กเขาประทับใจไม้เทนนิสสีทองที่พ่อของเขาได้รับจากการชนะเลิศการแข่งขันการกุศลรายการหนึ่ง (คุณพ่อของเขาแข่งขันปิงปองแต่กลับได้รางวัลเป็นไม้เทนนิส) ซึ่งพ่อของเขามอบแร็กเกตนั้นให้กับเขา และนั่นเป็นแรงบันดาลใจทีทำให้บอร์กอยากเป็นนักเทนนิส

เมื่อเห็นว่าลูกชายมีความฝัน พ่อและแม่ของบอร์ก จึงสนับสนุนลูกชายคนนี้อย่างเต็มที่ พร้อมกับถ่ายทอดเรื่องความเป็นมืออาชีพในฐานะของนักกีฬา ความมุ่งมั่นตั้งใจ อดทนกับการฝึกฝน จนทำให้บอร์กพัฒนาฝีมือของตัวเองอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่เริ่มต้นอาชีพนักเทนนิส เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นนักกีฬาที่เก่งกาจและมีความอดทนสูง เขามีสไตล์การเล่นที่โดดเด่น โดยสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างว่องไว กล้ามเนื้ออันแข็งแรงของเขาทำให้เขาสามารถตีลูกท็อปสปินได้อย่างหนักๆหน่วง ทั้งโฟร์แฮนด์และแบ็คแฮนด์สองมือ ทำใหเขาสามารถเล่นได้ดีทั้งในคอร์ตดินและคอร์ตหญ้า เมื่ออายุได้ 13 ปี เขาก็เอาชนะผู้เล่นรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ดีที่สุดของสวีเดนและคว้าแชมป์ระดับเยาวชนได้

ประวัติการเล่นอาชีพ

[แก้]
บอร์กในปี 1974
บอร์กในการแข่งขันนัดการกุศลในปี 1991

ความแข็งแกร่งของ บอร์ก ทำให้ เลนนาร์ท เบอร์เยลิน นักเทนนิสชายอันดับหนึ่ง 1 ของสวีเดน ในช่วงปลายยุค 60 เข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนจนบอร์กได้ติดทีมชาติสวีเดน ลงแข่งขันรายการเดวิส คัพ (Davis Cup) ในปี 1972 ในวัยเพียง 15 ปี[22]

หลังจากเก็บประสบการณ์ในการแข่งขันระดับชาติ บอร์กเปิดตัวอย่างเป็นทางการด้วยการคว้าแชมป์วิมเบิลดันในระดับเยาวชน ในปีเดียวกัน ทำให้เมื่อเข้าสู่ปี 1973 บอร์กในวัย 16 ปี ได้รับอนุญาตลงแข่งขันในรายการอาชีพ โดยไม่ต้องรอให้อายุครบ 18 ปี[23] และในปีแรกที่เขาเริ่มเล่นอาชีพเขาสามารถเข้าชิงชนะเลิศได้ถึง 4 รายการแต่ยังไม่สามารถคว้าแชมป์รายการใดมาครองได้

อย่างไรก็ตามในปี 1974 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ในอาชีพของเขาอย่างแท้จริง โดยบอร์กสามารถคว้าแชมป์อย่างเป็นทางการได้ตั้งแต่รายการแรกของปีที่ นิวซีแลนด์ โอเพน ก่อนจะคว้าแชมป์เพิ่มได้อีก 6 รายการรวมเป็น 7 รายการในปีนี้ รวมทั้งสามารถชนะเลิศแกรนด์สแลมได้เป็นครั้งแรกจากรายการเฟรนช์โอเพน ในวัยเพียง 18 ปี 8 วัน[24] กลายเป็นแชมป์เฟรนช์โอเพนที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ ณ เวลานั้น (สถิตินี้ของบอร์กถูกทำลายในปี 1989 โดย ไมเคิล ชาง นักเทนนิสชาวสหรัฐอเมริกา)[25][26][27]

เขายังคงครองสถิติคว้าแชมป์เฟรนช์โอเพน ได้ 6 สมัยจากการเข้าชิงทั้งหมด 6 ครั้งในช่วงระหว่างปี 1974-1981 นอกจากนี้ยังประกาศศักดาคว้าแชมป์วิมเบิลดันได้ถึง 5 สมัยติดต่อกัน ก่อนจะประกาศเลิกเล่นเทนนิสแบบเหนือความคาดหมายในปี 1983 ด้วยวัยเพียงแค่ 26 ด้วยเหตุผลเรื่องของความกดดันจากการแข่งขันที่ทำให้สภาพร่างกายเหนื่อยล้าเกินไป ในช่วงปี 1991 บอร์กได้ตัดสินใจหวนคืนสู่วงการเทนนิสอีกครั้ง แต่การกลับคืนสู่วงการในครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนอย่างตำนานที่เคยทำได้ และเขาไม่สามารถคว้าชัยชนะจากการแข่งขันได้อีกเลยแม้แต่นัดเดียว จึงได้ตัดสินใจเลิกเล่นอาชีพอย่างถาวรในปี 1993[28]

ภาพลักษณ์

[แก้]

บอร์ก มีภาพลักษณ์ที่โดดเด่น ติดตาแฟนเทนนิสโลกในช่วงยุค 80 เนื่องจากเจ้าตัวชอบไว้ผมยาว[29] และหนวดเครารุงรัง[30] พ่อและแม่รวมถึงแฟนเทนนิสบางคนพยายามที่จะเกลี้ยกล่อมให้เขาเปลี่ยนภาพลักษณ์เพื่อให้ดึงดูดสปอนเซอร์ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่เขากลับมาเล่นอาชีพเป็นครั้งที่สองในช่วงต้นปี 90 บอร์กได้มีการเปลี่ยนภาพลักษณ์โดยการตัดผมและโกนหนวดเคราเป็นบางครั้ง

สถิติโลก

[แก้]

บิยอร์น บอร์ก ครองสถิติโลกในวงการเทนนิสจำนวน 4 รายการได้แก่

  • ทำสถิติคว้าชัยชนะในแกรนด์สแลมวิมเบิลดันจำนวน 41 นัดติดต่อกัน (ค.ศ.1976-81)
  • เป็นผู้เล่นที่มีเปอร์เซนต์การคว้าชัยชนะในแกรนด์สแลมวิมเบิลดันมากที่สุด (92.73%)
  • ชนะเลิศรายการแกรนด์สแลมโดยเสียคะแนนให้คู่แข่งตลอดการแข่งขันน้อยที่สุด (เฟรนช์โอเพน ค.ศ. 1978)
  • เป็นผู้เล่นที่มีสถิติการคว้าชัยชนะจากการแข่งขันเซตตัดสิน (เซตที่ 5) ที่ดีที่สุดในเอทีพี (ชนะ 20, แพ้ 3: 86.96%)

อ้างอิงและเชิงอรรถ

[แก้]
  1. "Compare and contrast" เก็บถาวร 2012-10-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Jon Wertheim, Sports Illustrated, September 23, 2002
  2. "Björn Borg". IMDb.
  3. Keady, Martin (18 เมษายน 2020). "The Greatest: The Men and Women Who Made Tennis. No. 3 – Björn Borg". Last Word On Tennis (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  4. Fincher, Donald. "Best Tennis Player of All Time: Bjorn Borg". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
  5. "Bjorn Borg dominated Wimbledon and was known to many as The Ice Man of tennis". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).
  6. "Björn Borg: the man with ice in his stomach". www.newstatesman.com (ภาษาอังกฤษ).
  7. "January 15, 1981: The day ice-man Bjorn Borg lost his cool". Tennis Majors (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 15 มกราคม 2021.
  8. มีนักเทนนิสสองคนที่ทำสถิติเทียบเท่าหรือดีกว่า ได้แก่ พีท แซมพราส ชนะเลิศ 7 ครั้งจากการเข้าชิง 7 ครั้ง ระหว่างปี 1993-2000 เว้นปี 1996 ที่ไม่ได้เข้าชิง และโรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ชนะเลิศ 6 ครั้งจากการเข้าชิง 7 ครั้งติดต่อกัน ระหว่างปี 2003-2009 โดยชนะเลิศ 5 ครั้งติดต่อกันระหว่างปี 2003-2007
  9. "Borg still making the shots", Douglas Robson, USA Today, May 25, 2006
  10. "Bjorn Borg | Overview | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  11. "The greatest: Bjorn Borg – enigma with a bomb-proof winning mentality | Tim Lewis". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 10 กรกฎาคม 2020.
  12. Subra, Rohan. "Men's Tennis: The 5 Best Clay-Court Players of All Time". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
  13. "BBC Two - Borg vs McEnroe". BBC (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  14. Maiorana, Sal (14 กรกฎาคม 2020). "40 years ago, Bjorn Borg and John McEnroe put forth a brilliant Wimbledon final". Medium (ภาษาอังกฤษ).
  15. "Bjorn Borg VS John McEnroe | Head 2 Head | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  16. Haylock, Zoe; Haylock, Zoe (15 เมษายน 2018). "'Borg vs. McEnroe': 5 Cast Members and Their Real-Life Inspirations". The Hollywood Reporter (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  17. "Wimbledon - July 5, 1980: The Borg vs McEnroe final". Tennis Majors (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 5 กรกฎาคม 2021.
  18. Keady, Martin (10 กรกฎาคม 2021). "The Five Finest Wimbledon Men's Finals Ever". Last Word On Tennis (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  19. Borg vs. McEnroe (2017) - IMDb (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน), สืบค้นเมื่อ 5 สิงหาคม 2021
  20. "A Life In Reverse: How The Ice-Borg warmed with age". The Independent (ภาษาอังกฤษ). 23 ตุลาคม 2011.
  21. "Who is Björn Borg? Everything You Need to Know". www.thefamouspeople.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  22. "December 21, 1975: Bjorn Borg leads Sweden to Davis Cup glory". Tennis Majors (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 21 ธันวาคม 2020.
  23. "Happy Birthday Bjorn Borg: Records of the Legendary 'Ice Man' of Tennis". News18 (ภาษาอังกฤษ). 6 มิถุนายน 2021.
  24. "1974 - Roland-Garros - The 2021 Roland-Garros Tournament official site". www.rolandgarros.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  25. "RG 1989: Michael Chang's path to history - Roland-Garros - The 2021 Roland-Garros Tournament official site". www.rolandgarros.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  26. "The Day Michael Chang Stunned Ivan Lendl At Roland Garros: 'It Was About Survival' | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  27. "How Michael Chang defeated Ivan Lendl at the French Open in 1989". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 21 พฤษภาคม 2013.
  28. "International Tennis Hall of Fame". www.tennisfame.com.
  29. Nast, Condé (28 สิงหาคม 2017). "As Tennis Fever Hits Fashion Week Stockholm (and the Movies), We Look Back at Björn Borg's Smashing Style". Vogue (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  30. "Bjorn Borg Story - Bio, Facts, Networth, Family, Auto, Home | Famous Tennis Players | SuccessStory". successstory.com.