นอวาก จอกอวิช
![]() | ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
![]() จอกอวิชในปี 2019 | |||||||||||||||
ชื่อจริง | Новак Ђоковић Novak Đoković | ||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ประเทศ (กีฬา) | ![]() ![]() | ||||||||||||||
ถิ่นพำนัก | มงเต-การ์โล ประเทศโมนาโก | ||||||||||||||
วันเกิด | 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1987 เบลเกรด สาธารณรัฐสังคมนิยมเซอร์เบีย สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย (ปัจจุบันคือประเทศเซอร์เบีย) | ||||||||||||||
ส่วนสูง | 1.88 ม. (6 ฟุต 2 นิ้ว)[1][2] | ||||||||||||||
เทิร์นโปร | 2003 | ||||||||||||||
การเล่น | มือขวา (แบ็กแฮนด์สองมือ) | ||||||||||||||
ผู้ฝึกสอน | โกราน อิวานิเซวิช (2019–ปัจจุบัน) | ||||||||||||||
เงินรางวัล | 154,927,064 ดอลลาร์สหรัฐ
| ||||||||||||||
เว็บไซต์ทางการ | novakdjokovic.com | ||||||||||||||
เดี่ยว | |||||||||||||||
สถิติอาชีพ | 1,001–203 (83.1%) | ||||||||||||||
รายการอาชีพที่ชนะ | 87 (สถิติอันดับ 5 ในประเภทชายเดี่ยว) | ||||||||||||||
อันดับสูงสุด | No. 1 (4 กรกฎาคม 2011) | ||||||||||||||
อันดับปัจจุบัน | No. 1 (21 มีนาคม 2022)[3] | ||||||||||||||
ผลแกรนด์สแลมเดี่ยว | |||||||||||||||
ออสเตรเลียนโอเพน | ชนะเลิศ (2008, 2011, 2012, 2013, 2015, 2016, 2019, 2020, 2021) | ||||||||||||||
เฟรนช์โอเพน | ชนะเลิศ (2016, 2021) | ||||||||||||||
วิมเบิลดัน | ชนะเลิศ (2011, 2014, 2015, 2018, 2019, 2021) | ||||||||||||||
ยูเอสโอเพน | ชนะเลิศ (2011, 2015, 2018) | ||||||||||||||
การแข่งขันอื่น ๆ | |||||||||||||||
Tour Finals | ชนะเลิศ (2008, 2012, 2013, 2014, 2015) | ||||||||||||||
Olympic Games | ![]() | ||||||||||||||
คู่ | |||||||||||||||
สถิติอาชีพ | 59–73 (44.7%) | ||||||||||||||
รายการอาชีพที่ชนะ | 1 | ||||||||||||||
อันดับสูงสุด | No. 114 (30 พฤศจิกายน 2009) | ||||||||||||||
อันดับปัจจุบัน | No. 181 (19 กรกฎาคม 2021)[4] | ||||||||||||||
ผลแกรนด์สแลมคู่ | |||||||||||||||
ออสเตรเลียนโอเพน | 1R (2006, 2007) | ||||||||||||||
เฟรนช์โอเพน | 1R (2006) | ||||||||||||||
วิมเบิลดัน | 2R (2006) | ||||||||||||||
ยูเอสโอเพน | 1R (2006) | ||||||||||||||
การแข่งขันแบบทีม | |||||||||||||||
Davis Cup | ชนะเลิศ (2010) | ||||||||||||||
Hopman Cup | รองชนะเลิศ (2008, 2013) | ||||||||||||||
| |||||||||||||||
รายการเหรียญรางวัล | |||||||||||||||
อัปเดตล่าสุดเมื่อ: 13 พฤษภาคม 2022 |
นอวาก จอกอวิช (เซอร์เบีย: Новак Ђоковић, อักษรโรมัน: Novak Đoković, ออกเสียง: [nôʋaːk dʑôːkoʋitɕ] ( ฟังเสียง);[5] เกิด: 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1987) เป็นนักเทนนิสอาชีพชายชาวเซอร์เบีย มือวางอันดับ 1 ของโลกคนปัจจุบัน[6] เขาคว้าแชมป์แกรนด์สแลมในประเภทชายเดี่ยว 20 สมัย และเป็นเจ้าของสถิติแชมป์เอทีพี มาสเตอร์ 1000 มากที่สุด 38 สมัย[7] รวมทั้งเป็นผู้เล่นคนเดียวที่คว้าแชมป์เอทีพี มาสเตอร์ 1000 ครบทั้ง 9 รายการ (Career Golden Masters) ซึ่งเขายังทำสถิติคว้าแชมป์แต่ละรายการได้อย่างน้อย 2 สมัย จอกอวิชเป็นผู้เล่นชายที่ครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ด้วยจำนวนสัปดาห์รวมที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์จำนวน 370 สัปดาห์[8] และทำสถิติครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 เมื่อจบฤดูกาล 7 ครั้ง[9] และยังเป็นผู้เล่นคนเดียวที่คว้าแชมป์การแข่งขันรายการหลักของเอทีพีครบทุกรายการ (Elite Titles)[10] ได้แก่ แชมป์แกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการ, แชมป์มาสเตอร์ทั้ง 9 รายการ และแชมป์เอทีพี ไฟนอล[a] อีกทั้งยังเป็นนักเทนนิสที่ทำเงินรางวัลจากการแข่งขันมากที่สุดตลอดกาล[11]
จอกอวิชได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในสามนักเทนนิสชาย (Big Three)[12][13] ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดร่วมกับ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ และ ราฟาเอล นาดัล[b] เขาเริ่มเล่นอาชีพในปี 2003 และคว้าแชมป์แกรนด์สแลมครั้งแรกในออสเตรเลียนโอเพนปี 2008 ก่อนจะขึ้นสู่ตำแหน่งอันดับ 1 ของโลกในปี 2011 ซึ่งเป็นปีที่เขาคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ 3 รายการ และแชมป์มาสเตอร์อีก 5 รายการ และก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 2010 จนถึงปัจจุบัน โดยคว้าแชมป์แกรนด์สแลม และแชมป์มาสเตอร์ได้มากกว่าผู้เล่นทุกคน และยังทำสถิติคว้าแชมป์เอทีพี ไฟนอล ติดต่อกัน 4 สมัย (ค.ศ. 2012–15) และตั้งแต่ปี 2011–2021 เขาจบฤดูกาลด้วยการเป็นมือวางอันดับ 1 หรืออันดับ 2 ได้มากถึง 10 จาก 11 ครั้ง
จอกอวิชประสบความสำเร็จมากที่สุดในปี 2015[14] โดยเข้าชิงชนะเลิศติดต่อกัน 15 รายการ และคว้าแชมป์แกรนด์สแลม 3 รายการ, แชมป์มาสเตอร์ 6 รายการ และแชมป์เอทีพี ไฟนอล ต่อมาในปี 2016 เขาคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ครบทุกรายการในอาชีพ (Career Grand Slam) หลังจากคว้าแชมป์เฟรนช์โอเพน[15] ทำสถิติเป็นผู้เล่นชายคนเดียวในยุคโอเพน[c] ที่ได้แชมป์แกรนด์สแลม 4 รายการติดต่อกันแบบข้ามปี (ค.ศ. 2015–16), เป็นผู้เล่นชายคนแรกนับตั้งแต่ปี 1969 ที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลม 4 รายการติดต่อกัน, เป็นผู้เล่นคนเดียวที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมในพื้นคอร์ตทั้ง 3 ประเภท 4 รายการติดต่อกัน[d] และยังทำสถิติครองตำแหน่งอันดับ 1 ด้วยคะแนนที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์[16] ต่อมาในปี 2021 เขาคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ 3 รายการอีกครั้ง โดยทำสถิติคว้าแชมป์ออสเตรเลียนโอเพน 9 สมัย มากที่สุดในบรรดาผู้เล่นชาย[17] ตามด้วยแชมป์เฟรนช์โอเพน ทำสถิติเป็นผู้เล่นชายคนแรกในยุคโอเพนที่ได้แชมป์แกรนด์สแลมทุกรายการอย่างน้อย 2 สมัย (Double Career Grand Slam)[18] และปิดท้ายด้วยแชมป์วิมเบิลดัน ถือเป็นผู้เล่นชายคนแรกตั้งแต่ปี 1969 ที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมสามรายการดังกล่าวได้ในปีเดียวกัน
ในการแข่งขันนานาชาติ จอกอวิชพาทีมเซอร์เบียคว้าแชมป์เดวิส คัพ[e] ในปี 2010 และ แชมป์เอทีพี คัพ ในปี 2020 และคว้าเหรียญทองแดงประเภทชายเดี่ยวในโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 จอกอวิชได้รับรางวัลนักกีฬาชายยอดเยี่ยมแห่งปีของลอริอุส 4 สมัย และสถิติรางวัลนักเทนนิสยอดเยี่ยมประจำปีของเอทีพี 7 สมัย และยังเคยดำรงตำแหน่งประธานสภานักเทนนิสของเอทีพีตั้งแต่ปี 2016–2020 เขาได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ขั้นสูงสุดของประเทศเซอร์เบีย และได้รับการยกย่องให้เป็นนักกีฬาชาวเซอร์เบียที่ยิ่งใหญ่ที่สุด[19][20]
ชีวิตส่วนตัว[แก้]
จอกอวิชเติบโตในครอบครัวนักกีฬาโดยคุณพ่อของเขา (Srđan Đoković) เป็นนักสกีและประกอบธุรกิจเปิดร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดในประเทศเซอร์เบีย[21] มารดาของเขาชื่อว่า "Dijana" จอกอวิชมีน้องชายชื่อ "มาร์กอ" ซึ่งเป็นนักเทนนิสอาชีพเช่นกัน จอกอวิชเริ่มเล่นเทนนิสตั้งแต่อายุ 4 ขวบ โดยในขณะอายุได้ 6 ขวบ เขาได้พบกับผู้ฝึกสอนหญิงชาวเซอร์เบีย "Jelena Genčić" ในร้านฟาสต์ฟู้ดของบิดาและมารดาของเขาซึ่ง Jelena รู้สึกทประทับใจกับผลงานของจอกอวิชจึงได้ตัดสินใจเป็นโค้ชให้กับเขาจนถึงปี 1999[22] ชีวิตในวัยเด็กของจอกอวิชค่อนข้างลำบากเนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจนและต้องต่อสู้กับภาวะสงครามในประเทศเซอร์เบีย[23][24] โดยเขาต้องฝึกซ้อมเทนนิสในสนามที่ผุผังจากการโดนระเบิด จอกอวิชก้าวสู่เส้นทางนักเทนนิสอาชีพเมื่ออายุ 12 ปี โดยได้เดินทางไปฝึกที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี เป็นเวลา 2 ปี นักเทนนิสต้นแบบที่เขาชื่นชอบคือ พีต แซมพราส เขาสามารถสื่อสารได้ 5 ภาษาได้แก่: ภาษาเซอร์เบีย, ภาษาอังกฤษ, ภาษาฝรั่งเศส, ภาษาเยอรมัน และ ภาษาอิตาเลียน[25]
จอกอวิชทานอาหารปลอดกลูเตน (Gluten-free) มาตั้งแต่ปี 2010[26] เนื่องจากถูกตรวจพบว่าตนเองมีอาการแพ้โปรตีนจากแป้งและเนื้อสัตว์บางประเภท โดยเขาได้หันมาเน้นโปรตีนจากปลาเป็นหลักและเน้นการทานผักและผลไม้แทน เขาดื่มแต่น้ำอุ่นเท่านั้นเพราะเชื่อว่าน้ำเย็นจะไปทำให้ระบบการย่อยช้าลง[27] และเขาไม่ดื่มแอลกอฮอล์[28]
เขาเป็นหนึ่งในนักเทนนิสที่มีอารมณ์ขัน[29] แต่ก็มักจะอารมณ์ร้อนเมื่อได้รับคำตัดสินที่ไม่เป็นธรรม และเคยปะทะคามรมกับกรรมการหลายครั้ง จอกอวิชยังมีความสนใจในพุทธศาสนา[30] โดยทุกครั้งที่เดินทางไปแข่งขันแกรนด์สแลมวิมเบิลดันที่ประเทศอังกฤษ เขาจะไปนั่งสมาธิ ณ วัดพุทธปทีป กรุงลอนดอน เป็นประจำ[31] และยังชื่นชอบการเล่นโยคะ จอกอวิชยอมรับว่าตนเองไม่ได้รับการยกย่องจากสื่อหรือแฟนเทนนิสเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับโรเจอร์ เฟเดเรอร์ และ ราฟาเอล นาดัล และมักถูกโจมตีทางสื่อสังคมออนไลน์รวมทั้งโดนโห่ในสนามบ่อยครั้ง[32][33][34]
จอกอวิชยังมีความสนใจในกีฬาฟุตบอลและบาสเกตบอล โดยมีทีมฟุตบอลที่ชื่นชอบคือเอซี มิลาน[35] และเบนฟิกา เขายังสนิทกับ ซลาตัน อีบราฮีมอวิช ยอดนักฟุตบอลชาวสวีเดน[36] และเขาชื่นชอบ โคบี ไบรอันต์ ตำนานนักบาสเกตบอลผู้ล่วงลับเป็นอย่างมาก[37]
เขาสมรสกับ เยเลน่า จอกอวิช[38] ในปี 2014 มีบุตรชายและบุตรสาวอย่างละหนึ่งคน ได้แก่ "สเตฟาน"[39] และ "ทาร่า" เขามีสุนัขตัวโปรดพันธุ์พูเดิลชื่อว่า "ปิแอร์"[40] เขาได้เขียนหนังสือชื่อว่า "Serve to Win" วางจำหน่ายในเดือนสิงหาคม 2013[41] โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อสู้กับเหตุการณ์เลวร้ายที่เขาต้องเผชิญในวัยเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาวะสงครามในกรุงเบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย และในหนังสือยังมีสูตรอาหารที่มีประโยชน์รวมทั้งวิธีการดูแลร่างกายเพื่อสุขภาพที่ดี จอกอวิชมีงานอดิเรกคือการเรียนภาษา และ การเต้นรำ
ประวัติการเล่นอาชีพ[แก้]
2003–05: เริ่มต้นอาชีพ[แก้]
จอกอวิชเริ่มเล่นอาชีพในปี 2003 ในช่วงเริ่มต้น จอกอวิชลงเล่นในการแข่งขันประเภท Challenger (รายการสมัครเล่น) เป็นหลัก โดยคว้าแชมป์ได้ 3 สมัย ตั้งแต่ปี 2003 ถึง 2005 รายการระดับทัวร์ครั้งแรกของเขาคือ Umag ในปี 2004 ที่โครเอเชีย ซึ่งเขาตกรอบ 32 คนสุดท้าย
2006: แชมป์แรก[แก้]
จอกอวิชขึ้นสู่อันดับที่ 40 ของโลกหลังผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศแกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพน และผ่านเข้าถึงรอบ 4 ที่วิมเบิลดัน สามสัปดาห์หลังจากนั้น จอกอวิชคว้าแชมป์เอทีพีครั้งแรกในชีวิตในรายการดัตช์โอเพนที่เมืองอาเมอร์สฟูร์ต ประเทศเนเธอร์แลนด์[42] โดยไม่เสียเซตเลยตลอดการแข่งขัน เอาชนะ นิโคลัส มัซซู ในรอบชิงชนะเลิศ เขาคว้าแชมป์รายการที่สองที่โมเซลโอเพน ประเทศฝรั่งเศส และก้าวเข้าสู่ 20 อันดับแรกของโลกในวัย 19 ปี
2007: ขึ้นสู่มือวางอันดับ 3 ของโลก[แก้]
จอกอวิชแพ้เฟเดอเรอร์ในรอบที่ 4 ออสเตรเลียนโอเพน ก่อนจะคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 รายการแรกที่ไมแอมี และเข้ารอบรองชนะเลิศแกรนด์สแลมได้เป็นครั้งแรกในการแข่งขันเฟรนช์โอเพน[43] จอกอวิชคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 ใบที่สอง ที่มอนทรีออล และทำสถิติเป็นผู้เล่นคนที่สองต่อจากโทมัส เบอร์ดิช ที่เอาชนะทั้งเฟเดอเรอร์และนาดัลได้นับตั้งแต่ทั้งสองคนก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นสองอันดับแรกของโลก
จอกอวิชผ่านเข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมได้เป็นครั้งแรก โดยพบกับเฟเดอเรอร์ในยูเอสโอเพนก่อนจะแพ้ไป 3 เซตรวด เขาจบฤดูกาลด้วยการขึ้นสู่ตำแหน่งมือวางอันดับ 3 ของโลก และได้สิทธิร่วมแข่งขันมาสเตอร์ คัพ (เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล ในปัจจุบัน) เป็นครั้งแรก แต่ไม่ผ่านรอบแบ่งกลุ่ม
2008: แชมป์แกรนด์สแลมแรก[แก้]

ในการแข่งขันออสเตรเลียนโอเพน จอกอวิชชนะเลิศแกรนด์สแลมได้เป็นครั้งแรก[44] โดยเอาชนะโจ-วิลฟรีด ซองกา 3–1 เซต และถือเป็นผู้เล่นชาวเซอร์เบียคนแรกที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ จอกอวิชชนะเลิศรายการมาสเตอร์ 1000 ได้อีกสองรายการที่อินเดียนเวลส์และกรุงโรม ก่อนจะตกรอบรองชนะเลิศเฟรนช์โอเพน และตกรอบวิมเบิลดัน เขาคว้าเหรียญทองแดงในการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง ก่อนจะแพ้เฟเดอเรอร์ในรอบรองชนะเลิศยูเอสโอเพน จอกอวิชจบฤดูกาลด้วยการคว้าแชมป์ เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล สมัยแรก เอาชนะ นิโคไล ดาวิเดนโก[45]
2009: แชมป์ 5 รายการ[แก้]
จอกอวิชไม่สามารถป้องกันแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนได้ โดยเขาขอยอมแพ้ในรอบ 8 คนสุดท้ายที่พบกับแอนดี ร็อดดิก เนื่องจากอาการฮีทสโตรก แต่เขาคว้าแชมป์ที่ดูไบได้ โดยชนะดาวิต เฟร์เรร์ ก่อนจะคว้าแชมป์ที่เซอร์เบีย ต่อมา ในเฟรนช์โอเพน จอกอวิชตกรอบที่ 3 โดยแพ้ ฟิลิปป์ โคห์ลชไรเบอร์ และตกรอบวิมเบิลดันโดยแพ้ทอมมี แฮส ก่อนจะตกรอบยูเอสโอเพนโดยแพ้เฟเดอเรอร์ จอกอวิชคว้าแชมป์ที่ 3 ของปีในรายการไชน่าโอเพน ที่ประเทศจีน ตามด้วยแชมป์รายการที่ 4 ที่สวิตเซอร์แลนด์ เขาปิดท้ายฤดูกาลด้วยแชมป์มาสเตอร์ที่กรุงปารีส และครองตำแหน่งมือวางอันดับ 3
2010: แชมป์เดวิส คัพ และขึ้นสู่มือวางอันดับ 2 ของโลก[แก้]
จอกอวิชตกรอบ 8 คนสุดท้ายออสเตรเลียนโอเพน แต่เขาขึ้นสู่ตำแหน่งอันดับ 2 ของโลกได้เป็นครั้งแรก เขาคว้าแชมป์แรกของปีที่ดูไบ และพาทีมชาติเซอร์เบียผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายในเดวิส คัพได้เป็นครั้งแรก ก่อนที่จะตกรอบ 8 คนสุดท้ายในเฟรนช์โอเพน แพ้ เยอร์เกน เมลเซอร์ ตามด้วยการแพ้ โทมัส เบอร์ดิช ในรอบรองชนะเลิศวิมเบิลดัน
ต่อมา ในยูเอสโอเพน จอกอวิชเอาชนะเฟเดอเรอร์ได้เป็นครั้งแรกในรายการนี้ ก่อนจะเข้าไปแพ้นาดัลในรอบชิง จอกอวิชพาเซอร์เบียเอาชนะเช็กเกียในรอบรองชนะเลิศ เดวิส คัพ ได้ในเดือนต่อมา ก่อนจะป้องกันแชมป์ไชน่าโอเพนได้ ตามด้วยการพาทีมเดวิสคัพ ของเซอร์เบียคว้าแชมป์ได้เป็นสมัยแรกโดยเอาชนะฝรั่งเศสในรอบชิงชนะเลิศ[46][47]
2011: แชมป์แกรนด์สแลม 3 รายการ และขึ้นสู่มือวางอันดับ 1 ของโลก[แก้]
ในปีนี้ถือเป็นปีที่ดีที่สุดของจอกอวิชนับตั้งแต่เริ่มเล่นอาชีพ[48] โดยเขาคว้าตำแหน่งชนะเลิศได้ถึง 10 รายการ รวมทั้งคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ถึงสามรายการ ในออสเตรเลียนโอเพน, วิมเบิลดัน และ ยูเอสโอเพน โดยเอาชนะแอนดี มาร์รี ในรอบชิงชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพน และ เอาชนะนาดัลในรอบชิงชนะเลิศวิมเบิลดันและยูเอสโอเพน[49] และยังคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 ได้ถึง 5 รายการ รวมทั้งทำเงินรางวัลรวมจากการแข่งขันได้มากที่สุดในปีเดียว (สถิติในขณะนั้น) จำนวน 12 ล้านดอลลาร์ เขาจบฤดูกาลด้วยการคว้าชัยชนะได้ถึง 70 นัดและครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ของโลกเป็นครั้งแรก
2012: แชมป์ออสเตรเลียนโอเพนสมัยที่ 3[แก้]
จอกอวิชป้องกันแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนได้โดยชนะนาดัลในการแข่งขัน 5 เซต ซึ่งใช้เวลาแข่งขันยาวนานถึง 5 ชั่วโมง 53 นาที ถือเป็นรอบชิงชนะเลิศรายการแกรนด์สแลมที่ยาวนานที่สุด[50] และเป็นแชมป์แกรนด์สแลมรายการที่ 5 ก่อนจะป้องกันแชมป์รายการมาสเตอร์ 1000 ที่ไมแอมีได้ แต่เขาไม่สามารถคว้าแชมป์เฟรนช์โอเพนและวิมเบิลดันได้ โดยแพ้ให้กับนาดัลและเฟเดอเรอร์ตามลำดับ
จอกอวิชได้รับเกียรติให้เป็นผู้ถือธงชาติเซอร์เบียในพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 แต่เขาทำได้เพียงอันดับ 4 โดยแพ้แอนดี มาร์รีในรอบรองชนะเลิศและแพ้ฆวน มาร์ติน เดล โปโตรในรอบชิงเหรียญทองแดง ในแกรนด์สแลมยูเอสโอเพน จอกอวิชก็ไม่สามารถป้องกันแชมป์ได้ โดยแพ้มาร์รี เขาปิดท้ายด้วยการคว้าแชมป์เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล ที่กรุงลอนดอนได้เป็นสมัยที่ 2 และครองตำแหน่งอันดับ 1 ของโลกเป็นปีที่สองติดต่อกัน[51]
2013: แชมป์ออสเตรเลียนโอเพนสมัยที่ 4[แก้]
จอกอวิชป้องกันแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนได้โดยเอาชนะมาร์รีในรอบชิงชนะเลิศ 3–1 เซต คว้าแชมป์สมัยที่ 4 และทำสถิติเป็นผู้เล่นชายคนเดียวในยุคโอเพนที่ได้แชมป์ออสเตรเลียนโอเพน 3 สมัยติดต่อกัน ตามด้วยแชมป์เอทีพี 500 ที่ดูไบ ก่อนจะแพ้ ฆวน มาร์ติน เดล โปโตร ในรอบรองชนะเลิศรายการมาสเตอร์ 1000 ที่อินเดียนเวลส์ ซึ่งเป็นการหยุดสถิติชนะรวดติดต่อกันทุกรายการ 22 นัดของตนเองลง ต่อมา เขาเอาชนะนาดัลได้ในรอบชิงชนะเลิศมาสเตอร์ 1000 ที่ มงเต-การ์โล คว้าแชมป์สมัยแรก แต่ไม่ประสบความสำเร็จในคอร์ตดินสามรายการใหญ่ที่เหลือทั้งที่กรุงมาดริด, กรุงโรม และแกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพน
จอกอวิชผ่านเข้าชิงชนะเลิศที่วิมเบิลดันและยูเอสโอเพนได้ ก่อนจะแพ้มาร์รี และนาดัลตามลำดับ ตามด้วยการคว้าแชมป์ที่ปักกิ่งสมัยที่ 4 และปิดท้ายฤดูกาลด้วยแชมป์มาสเตอร์ที่ปารีส และแชมป์ เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล สมัยที่ 3 และบอริส เบกเคอร์ ตำนานผู้เล่นชาวเยอรมันได้เข้ามาทำหน้าที่ผู้ฝึกสอนให้แก่จอกอวิช[52]
2014: แชมป์วิมเบิลดันสมัยที่ 2[แก้]
จอกอวิชไม่สามารถป้องกันแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนได้ โดยแพ้ สตาน วาวรีงกา ในรอบ 8 คนสุดท้าย เป็นการหยุดสถิติชนะติดต่อกัน 25 นัดในรายการนี้ลง ก่อนจะคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 ได้สามรายการที่อินเดียนเวลส์, ไมแอมี และ กรุงโรม โดยเอาชนะเฟเดอเรอร์ได้ที่อินเดียนเวลส์ และชนะนาดัลที่ไมแอมีและกรุงโรม ต่อมา จอกอวิชผ่านเข้าชิงชนะเลิศเฟรนช์โอเพนได้แต่แพ้นาดัลไปอีกครั้ง แต่ยังคว้าแชมป์วิมเบิลดันได้ โดยเอาชนะเฟเดอเรอร์ในการแข่งขัน 5 เซต ก่อนที่จะตกรอบรองชนะเลิศยูเอสโอเพน ต่อมา จอกอวิชคว้าแชมป์ที่ปักกิ่งได้เป็นสมัยที่ 5 ในรอบ 6 ปี ชนะโทมัช เบอร์ดิช และปิดท้ายด้วยแชมป์ เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล สมัยที่ 4 หลังจากที่เฟเดอเรอร์ถอนตัวในรอบชิงชนะเลิศ และเขาปิดฤดูกาลด้วยตำแหน่งอันดับ 1 เป็นครั้งที่ 3[53]
2015: หนึ่งในฤดูกาลที่ยอดเยี่ยมที่สุดในประวัติศาสตร์วงการเทนนิส[แก้]
ในปีนี้ถือเป็นปีที่จอกอวิชประสบความสำเร็จสูงที่สุดอีกครั้ง[54] เขาคว้าแชมป์คว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ถึง 3 รายการได้แก่ ออสเตรเลียนโอเพน (เอาชนะมาร์รีในรอบชิงชนะเลิศ), วิมเบิลดัน และ ยูเอสโอเพน (เอาชนะเฟเดอเรอร์) และคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 ได้ถึง 6 รายการ[55] และยังป้องกันแชมป์ เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล จากการเอาชนะเฟเดอเรอร์ และทำสถิติเป็นผู้เล่นคนแรกที่ได้แชมป์ 4 สมัยติดต่อกัน โดยในปีนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในฤดูกาลที่ดีที่สุดเท่าที่นักเทนนิสชายเคยทำได้[56]
จอกอวิชทำสถิติคว้าแชมป์ได้ 11 รายการในปีเดียว และเป็นผู้เล่นชายคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์ที่เข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมได้ทั้ง 4 รายการในปีเดียวกัน (ต่อจาก ร็อด เลเวอร์ และ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์) และยังคว้าเงินรางวัลจากการแข่งขันในหนึ่งปีปฏิทินได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ (21 ล้านดอลลาร์) พร้อมทั้งรักษาตำแหน่งอันดับ 1 เอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น อย่างไรก็ตาม เขาต้องพลาดการคว้าแชมป์เฟรนช์โอเพนเป็นสมัยแรก เมื่อต้องผิดหวังในรอบชิงชนะเลิศอีกครั้งโดยแพ้ สตาน วาวรีงกา 1–3 เซต
2016: Career Grand Slam[แก้]
จอกอวิชเอาชนะนาดัลได้ในรอบชิงชนะเลิศที่โดฮา ตามด้วยการป้องกันแชมป์ออสเตรเลียนโอเพน โดยเอาชนะมาร์รีได้อีกครั้ง คว้าแชมป์สมัยที่ 6 เขายังคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 ได้ทั้งสองรายการที่อินเดียนเวลส์ และ ไมแอมี โดยเป็นปีที่สามติดต่อกันที่เขาคว้าแชมป์สองรายการดังกล่าวได้ ตามด้วยแชมป์มาสเตอร์ 1000 คอร์ตดินที่กรุงมาดริดโดยเอาชนะมาร์รี
ในการแข่งขันเฟรนช์โอเพน จอกอวิชประสบความสำเร็จในการคว้าแชมป์ได้เป็นสมัยแรก และคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ครบทุกรายการในอาชีพ (Career Grand Slam)[57] หลังจากที่เขาแพ้ในรอบชิงชนะเลิศมา 3 ครั้งก่อนหน้านี้ โดยถือเป็นผู้เล่นชายคนที่ 8 ในประวัติศาสตร์ที่สามารถทำ Career Grand Slam ได้ โดยชนะมาร์รีในรอบชิงชนะเลิศ 3–1 เซต และทำสถิติเป็นผู้เล่นชายคนแรกนับตั้งแต่ปี 1969 ที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลม 4 รายการติดต่อกัน, ผู้เล่นชายคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์ที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลม 4 รายการติดต่อกัน (ต่อจาก ดอน บัดจ์ และ ร็อด เลเวอร์), เป็นผู้เล่นคนเดียวที่ได้แชมป์แกรนด์สแลมในพื้นคอร์ตทั้ง 3 ประเภท 4 รายการติดต่อกัน (วิมเบิลดัน และ ยูเอสโอเพนใน 2015 - ออสเตรเลียนโอเพน และ เฟรนช์โอเพน 2016), เป็นผู้เล่นชายคนเดียวในยุคโอเพนที่ได้แชมป์แกรนด์สแลม 4 รายการติดต่อกันแบบข้ามปี (2015–16) และยังเป็นผู้เล่นที่ครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ด้วยคะแนนที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ (16,950 คะแนน)
อย่างไรก็ตามจอกอวิชต้องตกรอบที่ 3 ในวิมเบิลดัน โดยแพ้ แซม แควร์รี่ย์ ก่อนจะตกรอบแรกในโอลิมปิก แพ้ ฆวน มาร์ติน เดลโปโตร ไปอีกครั้ง ต่อมา จอกอวิชแพ้ สตาน วาวรีงกา คู่แข่งคนสำคัญอีกครั้งในรอบชิงชนะเลิศยูเอสโอเพน 1–3 เซต และทำได้เพียงรองแชมป์ เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล โดยแพ้มาร์รีสองเซตรวด ก่อนจะเสียตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ให้มาร์รี และบอริส เบกเคอร์ ได้ประกาศยุติบทบาทการทำหน้าที่ผู้ฝึกสอนให้แก่จอกอวิช[58]
2017: ปีแห่งการบาดเจ็บ[แก้]
ในปี 2017 ถือเป็นปีที่ย่ำแย่ที่สุดของจอกอวิช เนื่องจากเขาต้องประสบปัญหาบาดเจ็บข้อศอกตลอดทั้งปี[59] ในเดือนพฤษภาคม อานเดร แอกัสซี ตำนานผู้เล่นชาวอเมริกันได้เข้ามาทำหน้าที่ผู้ฝึกสอนคนใหม่ให้แก่จอกอวิช เขาถอนตัวจากวิมเบิลดันในรอบ 8 คนสุดท้ายในขณะแข่งขันกับ โทมัส เบอร์ดิช เนื่องจากอาการบาดเจ็บในช่วงต้นเซตที่ 2 ซึ่งเขากล่าวว่าอาการบาดเจ็บข้อศอกขวานี้ได้รบกวนเขามาเป็นเวลานานร่วมปี ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม จอกอวิชได้ประกาศยุติการแข่งขันในทุกรายการที่เหลือเพื่อพักฟื้น[60]
2018: กลับสู่ความยิ่งใหญ่[แก้]
ภายหลังจากตกรอบที่ 4 ในออสเตรเลียนโอเพน จอกอวิชเข้ารับการผ่าตัดข้อศอก[61] และกลับมาลงแข่งขันอีกครั้งในรายการมาสเตอร์ที่ อินเดียนเวลส์ และ ไมแอมี แต่ก็ต้องตกรอบ ตามด้วยการตกรอบการแข่งขันคอร์ตดินทุกรายการ
จอกอวิชกลับสู่ความยิ่งใหญ่ได้อีกครั้งในวิมเบิลดัน แม้จะเป็นเพียงมือวางอันดับ 12 ของรายการแต่ก็สามารถคว้าแชมป์ได้ โดยเอาชนะนาดัลในรอบรองชนะเลิศซึ่งต้องใช้เวลาแข่งขันถึง 5 ชั่วโมง 17 นาที ถือเป็นนัดการแข่งขันที่ยาวนานที่สุดเป็นอันดับสองของรายการ ก่อนจะเอาชนะ เควิน แอนเดอร์สัน ในรอบชิงชนะเลิศสามเซตรวดคว้าแชมป์เป็นสมัยที่ 4[62] ทำให้เขาเป็นผู้เล่นชายคนที่ 4 ในยุคโอเพน (ต่อจาก โรเจอร์ เฟเดอเรอร์, พีต แซมพราส และ บิยอร์น บอร์ก) ที่คว้าแชมป์วิมเบิลดันได้อย่างน้อย 4 สมัย[63] ส่งผลให้เขากลับเข้าสู่ 10 อันดับแรกของโลกเป็นครั้งแรกในรอบหนึ่งปี
จอกอวิชยังคงเล่นได้อย่างยอดเยี่ยม โดยแม้จะตกรอบในรายการมาสเตอร์ 1000 ที่แคนาดา แต่เขาคว้าแชมป์ที่ซินซินแนติได้เป็นครั้งแรกโดยเอาชนะเฟเดอเรอร์ ส่งผลให้จอกอวิชเป็นผู้เล่นคนเดียวที่ชนะเลิศรายการมาสเตอร์ 1000 ครบทั้ง 9 รายการ (Career Golden Masters) และเป็นผู้เล่นคนเดียวที่คว้าตำแหน่งชนะเลิศรายการหลักของเอทีพี ทัวร์ ได้ครบทุกรายการ (Elite Titles)
ต่อมา จอกอวิชลงแข่งยูเอสโอเพน และคว้าแชมป์ได้เป็นสมัยที่ 3 และเป็นแชมป์แกรนด์สแลมรายการที่ 14 ทำสถิติเทียบเท่ากับพีต แซมพราส โดยเอาชนะ ฆวน มาร์ติน เดล โปโตร ในรอบชิงชนะเลิศสามเซตรวด ก่อนจะคว้าแชมป์มาสเตอร์ที่เซี่ยงไฮ้ได้เป็นสมัยที่ 4 และกลับขึ้นสู่ตำแหน่งมือวางอันดับ 1 เป็นครั้งแรกในรอบสองปี และแม้จะทำได้เพียงรองแชมป์สองรายการสุดท้ายในมาสเตอร์ที่ปารีส และ เอทีพี ไฟนอล แต่เขายังคงจบฤดูกาลด้วยตำแหน่งอันดับ 1 เป็นครั้งที่ 5[64]

2019: แชมป์ออสเตรเลียนโอเพนสมัยที่ 7 และแชมป์วิมเบิลดันสมัยที่ 5[แก้]
จอกอวิชตกรอบรองชนะเลิศที่โดฮา ก่อนจะคว้าแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนได้เป็นสมัยที่ 7 และเป็นแชมป์แกรนด์สแลมสมัยที่ 15 ทำสถิติแซง พีต แซมพราส โดยเอาชนะนาดัลในรอบชิงชนะเลิศสามเซต ต่อมา เขาตกรอบรายการมาสเตอร์ 1000 ที่อินเดียนเวลส์, ไมแอมี และมงเต-การ์โล ก่อนจะคว้าแชมป์มาสเตอร์รายการที่ 33 ซึ่งเป็นสถิติเท่ากับนาดัลในขณะนั้นที่กรุงมาดริด ก่อนจะตกรอบรองชนะเลิศเฟรนช์โอเพน โดยแพ้ ด็อมมินิค ทีม 2–3 เซต
จอกอวิชป้องกันแชมป์วิมเบิลดันได้โดยเอาชนะเฟเดอเรอร์ 3–2 เซต โดยใช้เวลาแข่งขันไปถึง 5 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์รอบชิงชนะเลิศของรายการ โดยเขาได้เอาตัวรอดจากการเสียเปรียบถึง 2 แชมป์เปียนชิพพอยต์ก่อนจะกลับมาเอาชนะได้ ต่อมา เขาตกรอบที่ 4 ยูเอสโอเพน โดยถอนตัวอาการบาดเจ็บ ตามด้วยการตกรอบรายการมาสเตอร์ 1000 ที่เซี่ยงไฮ้ โดยแพ้ สเตฟาโนส ซิตซีปัส 1–2 เซต แต่ไปคว้าแชมป์มาสเตอร์ทีปารีสได้เป็นสมัยที่ 5 โดยชนะ เดนิส เชโปวาลอฟ เขาปิดท้ายฤดูกาลโดยตกรอบแบ่งกลุ่ม เอทีพี ไฟนอล โดยแพ้ธีมและเฟเดอเรอร์[65] ก่อนจะเสียตำแหน่งอันดับ 1 ให้กับนาดัลในช่วงสิ้นปี
2020: แชมป์ออสเตรเลียนโอเพนสมัยที่ 8[แก้]
จอกอวิชประเดิมฤดูกาลด้วยการพาทีมชาติเซอร์เบียคว้าแชมป์ เอทีพี คัพ ซึ่งจัดแข่งขันเป็นปีแรกที่ออสเตรเลีย โดยชนะสเปน 2–1 คู่[66] ซึ่งจอกอวิชเอาชนะนาดัลในการแข่งขันประเภทเดี่ยว 2–0 เซตด้วย[67] และตามด้วยการคว้าแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนสมัยที่ 8 ได้ โดยเอาชนะ ด็อมมินิค ทีม ในรอบชิงชนะเลิศ 3–2 เซต ก่อนจะคว้าแชมป์ที่ดูไบได้เป็นสมัยที่ 5 ต่อมาในเดือนมิถุนายน เขาถูกตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเขาได้รับการวิจารณ์อย่างหนักในฐานะที่เป็นผู้จัดการแข่งขันรายการพิเศษที่ บอลข่าน และมีผู้เล่นที่เข้าร่วมการแข่งขันติดเชื้อหลายราย[68][69]
เขาทำสถิติเป็นผู้เล่นคนแรกที่ชนะเลิศรายการมาสเตอร์ 1000 ทุกรายการได้อย่างน้อย 2 สมัย (Double Career Golden Masters) โดยเอาชนะ มิลอช ราวนิช ที่ซินซินแนติ ก่อนจะถูกปรับแพ้ในการแข่งขันรอบที่ 4 ในแกรนด์สแลมยูเอสโอเพน เนื่องจากเขาตีลูกบอลไปโดนผู้กำกับเส้นหญิงโดยไม่ตั้งใจ ต่อมา เขาคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 รายการที่ 36 ได้ โดยชนะ ดีเอโก ชวาร์ตซ์มัน ในการแข่งขันที่กรุงโรม และเข้าชิงชนะเลิศเฟรนช์โอเพนได้แต่แพ้นาดัลอย่างขาดลอย ตามด้วยการตกรอบรองชนะเลิศ เอทีพี ไฟนอล โดยแพ้ธีม ต่อมา ในเดือนธันวาคม จอกอวิชทำสถิติเป็นผู้เล่นชายคนที่สองต่อจากเฟเดอเรอร์ที่ครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ของโลกครบ 300 สัปดาห์ ก่อนจะจบฤดูกาลด้วยการเป็นมือวางอันดับ 1 เป็นครั้งที่ 6 ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดร่วมกับ พีต แซมพราส
2021: Double Career Slam, สถิติแชมป์มาสเตอร์ 1000 และสถิติการครองตำแหน่งอันดับ 1[แก้]
ทีมชาติเซอร์เบียตกรอบแรกในการแข่งขัน เอทีพี คัพ[70] แต่จอกอวิชป้องกันแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนได้โดยชนะ ดานีอิล เมดเวเดฟ ขาดลอย ทำสถิติคว้าแชมป์ได้มากที่สุดในประเภทชายเดี่ยว 9 สมัย และคว้าแชมป์สามสมัยติดต่อกันเป็นครั้งที่สอง[71] ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม จอกอวิชทำสถิติครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ด้วยจำนวนสัปดาห์รวมที่มากที่สุดตลอดกาลแซงเฟเดอเรอร์ได้สำเร็จ (311 สัปดาห์)[72] จอกอวิชได้รองแชมป์รายการมาสเตอร์ 1000 ที่กรุงโรมโดยแพ้นาดัล ก่อนจะคว้าแชมป์ที่กรุงเบลเกรดได้
เขาลงแข่งขันเฟรนช์โอเพน และสามารถสร้างประวัติศาสตร์ได้ด้วยการคว้าแชมป์แกรนด์สแลมรายการที่ 19 และเป็นผู้เล่นชายคนแรกในยุคโอเพน (นับตั้งแต่ปี 1968) ที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมทุกรายการได้อย่างน้อย 2 สมัย เอาชนะ สเตฟานอส ซิตซิปาส ในรอบชิงชนะเลิศ 3–2 เซต ทั้งที่เป็นฝ่ายตามหลังไปก่อน 0–2 เซต โดยจอกอวิชถือเป็นผู้เล่นคนที่ 6 ในยุคโอเพนที่กลับมาคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้หลังจากตามหลังไปก่อน 0–2[73] และยังชนะเลิศการแข่งขันรายการใหญ่ (Elite Titles) ได้แก่รายการแกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการ, รายการมาสเตอร์ทั้ง 9 รายการ และ รายการ เอทีพี ไฟนอล ได้อย่างน้อย 2 สมัย
ต่อมา เขาลงแข่งขันวิมเบิลดัน[74] และในวันที่ 2 กรกฎาคม ภายหลังจากชนะ เดนิส คุดลา จากสหรัฐในรอบที่ 3 จอกอวิชทำสถิติเป็นผู้เล่นชายคนแรกที่คว้าชัยชนะในแกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการได้อย่างน้อย 75 นัด[75] ก่อนจะป้องกันแชมป์ได้โดยเอาชนะ มัตเตโอ แบร์เรตตีนี 3–1 เซต คว้าแชมป์แกรนด์สแลมครบ 20 สมัย และเป็นแชมป์วิมเบิลดันสมัยที่ 6[76] เขายังถือเป็นผู้เล่นชายคนแรกในรอบ 52 ปีที่คว้าแชมป์ออสเตรเลียนโอเพน, เฟรนช์โอเพน และวิมเบิลดัน ได้ภายในปีเดียวกัน นับตั้งแต่ ร็อด เลเวอร์ทำได้ในปี 1969[77][78] และเป็นผู้เล่นชายคนที่สองต่อจากนาดัลที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมในพื้นคอร์ตทั้ง 3 ประเภท (ฮาร์ดคอร์ต, คอร์ตดิน และคอร์ตหญ้า) ได้ในปีเดียวกัน
ต่อมา จอกอวิชลงแข่งโอลิมปิก[79] โดยแพ้ อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ ในรอบรองชนะเลิศ 1–2 เซต ตามด้วยการแพ้ ปาโบล การ์เรโญ บุสตา ในนัดชิงเหรียญทองแดงสองเซตรวด[80] และยังลงแข่งขันในประเภทคู่ผสมโดยจับคู่กับ นีนา สโตยาโนวิช ก่อนจะแพ้ อัสลัน คารัตเซฟ และ เอเลนา เวสนินา จากรัสเซียในรอบรองชนะเลิศ และคู่ของเขาได้ถอนตัวในนัดชิงเหรียญทองแดงเนื่องจากจอกอวิชมีปัญหาสภาพร่างกาย ต่อมา เขาถอนตัวจากมาสเตอร์ที่โทรอนโตและซินซินแนติ ก่อนจะกลับมาแข่งขันยูเอสโอเพน โดยผ่านเข้าชิงชนะเลิศกับ ดานีอิล เมดเวเดฟ และแพ้ไปอย่างขาดลอยสามเซต แต่ยังทำสถิติเข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมมากที่สุด 31 ครั้งเท่ากับเฟเดอเรอร์ จอกอวิชถอนตัวจากรายการมาสเตอร์ที่อินเดียน เวลส์ ในเดือนตุลาคม[81]
เขากลับมาลงแข่งขันในรายการมาสเตอร์ที่กรุงปารีสเดือนพฤศจิกายน โดยผ่านเข้าชิงชนะเลิศ และทำสถิติเป็นผู้เล่นที่ครองตำแหน่งอันดับ 1 ของโลกเมื่อจบฤดูกาลมากที่สุด 7 ครั้ง แซงหน้า พีต แซมพราส[82] และเอาชนะเมดเวเดฟ 2–1 เซต ทำสถิติคว้าแชมป์รายการมาสเตอร์ 1000 มากที่สุด 37 สมัยแซงหน้านาดัล และทำสถิติคว้าแชมป์มาสเตอร์ที่ปารีสสูงสุด 6 สมัย[83] ต่อมา จอกอวิชลงแข่งขันเอทีพี ไฟนอล ที่ตูริน และแพ้ซเฟเร็ฟในรอบรองชนะเลิศ 1–2 เซต เขาปิดฤดูกาลด้วยการลงเล่นเดวิส คัพ ให้ทีมชาติเซอร์เบียซึ่งตกรอบรองชนะเลิศโดยแพ้โครเอเชีย และเขาครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ของโลกครบ 350 สัปดาห์ในวันที่ 6 ธันวาคม 2021[84][85][86]
2022: กรณีพิพาทในแกรนด์สแลม ออสเตรเลียน โอเพน และ ชัยชนะนัดที่ 1,000[แก้]
จอกอวิชถอนตัวจากการแข่งขัน เอทีพี คัพ ที่ซิดนีย์ในเดือนมกราคม[87] เขาประกาศว่าจะไปป้องกันแชมป์ออสเตรเลียนโอเพน โดยได้รับการยกเว้นฉีดวัคซีนจากฝ่ายจัดการแข่งขันและรัฐวิกตอเรีย ทว่าเมื่อเขาเดินทางมาถึงเมืองเมลเบิร์น ในวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 2022 เขาได้รับการปฏิเสธการเข้าประเทศเนื่องจากยังไม่ได้รับวัคซีน โดยถูกยกเลิกวีซ่าที่มีการขอมาอย่างถูกต้องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2021 โดยเจ้าหน้าที่ ณ ท่าอากาศยานทัลลามารีน แจ้งว่า "การจะได้รับอนุมัติวีซ่าเพื่อเข้าประเทศออสเตรเลียอย่างถูกต้อง บุคคลนั้นจะไม่มีสิทธิ์ขอรับการยกเว้นการฉีดวัคซีน" เขาถูกกักตัวอยู่ในสนามบิน 8 ชั่วโมง ก่อนที่ สกอตต์ มอร์ริซัน นายกรัฐมนตรีจะออกมาแถลงว่า "รัฐบาลออสเตรเลียไม่อนุญาตให้จอกอวิชเข้าประเทศ"[88][89]
จอกอวิชได้ยื่นอุทธรณ์[90] และในวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 2022 ศาลตัดสินให้เขาชนะคดี โดยระบุว่าการยกเลิกวีซ่าของจอกิอวิชโดยรัฐบาลออสเตรเลียนั้น "ไม่สมเหตุสมผล" และมีคำสั่งให้ปล่อยตัวจอกอวิชจากโรงแรมที่กักตัว และให้รัฐบาลชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เขา[91][92] ตัวแทนของรัฐบาลออสเตรเลียยังยืนกรานว่าจอกอวิชไม่สมควรได้เข้าประเทศ และขู่จะทำการตอบโต้ด้วยการดำเนินคดีและเนรเทศเขาออกนอกประเทศ[93] ต่อมา ในวันที่ 11 มกราคม รัฐบาลออสเตรเลียอ้างว่าจอกอวิชให้ข้อมูลเท็จในเรื่องการกักตัวในช่วงที่เขาติดเชื้อไวรัสโคโรนาตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 2021 รวมถึงมีการกรอกข้อมูลเท็จในเอกสารที่เขาใช้ยื่นขอวีซ่า[94][95][96] จอกอวิชชี้แจงว่าตนมิได้จงใจกรอกข้อทูลเท็จ โดยเป็นความผิดพลาดของทีมงานที่กรอกข้อมูลแทนเขา[97] จอกอวิชยังคงมีชื่อในการจับสลากแบ่งสายการแข่งขันในวันที่ 13 มกราคม ทว่ารัฐบาลออสเตรเลียใช้สิทธิ์ยกเลิกวีซ่าของเขาอีกครั้งในวันต่อมา จอกอวิชได้ยื่นอุทธรณ์เป็นครั้งที่สอง[98][99] แต่ในวันที่ 16 มกราคม ศาลสูงสุดตัดสินให้เขาแพ้คดี และหมดสิทธิ์ลงแข่งขันอย่างเป็นทางการ[100][101] รวมทั้งถูกลงโทษห้ามเข้าออสเตรเลียเป็นเวลา 3 ปี[102]
จอกอวิชกลับมาลงแข่งขันอีกครั้งในรายการเอทีพี 500 ที่ดูไบในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไม่มีข้อบังคับในการฉีดวัคซีนสำหรับนักกีฬา[103] และในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ เขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีว่าจะยอมพลาดการลงแข่งขันหลายการแทนการยอมฉีดวัคซีน เนื่องจากเหตุผลทางด้านร่างกายและความกังวลส่วนตัว โดยจะไม่สนใจอันดับโลกหรือจำนวนแชมป์ที่เขาจะทำได้หลังจากนี้[104] เขาเสียตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ของโลกให้แก่ ดานีอิล เมดเวเดฟ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ หลังจากตกรอบก่อนรองชนะเลิศที่ดูไบ และไม่ได้ลงแข่งขันมาสเตอร์ 1000 ทั้งสองรายการที่สหรัฐในเดือนมีนาคมเนื่องจากไม่ได้รับวัคซีน[105] อย่างไรก็ตาม จอกอวิชก็กลับขึ้นสู่ตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ได้อีกครั้งในวันที่ 21 มีนาคม หลังจากที่เมดเวเดฟตกรอบที่อินเดียนเวลส์[106]
เข้าสู่การแข่งขันคอร์ตดิน จอกอวิชเริ่มต้นด้วยการลงแข่งขันมาสเตอร์ 1000 ที่มงเต-การ์โลในเดือนเมษายน[107] แต่ก็ตกรอบแรกหลังจากแพ้ อาเลฆันโดร ดาบิโดบิช โฟกินา จากสเปน[108] ก่อนจะกลับไปลงแข่งขันรายการเอทีพี 250 ที่กรุงเบลเกรด โดยเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศแต่แพ้ อังเดรย์ รูเบลฟ 1–2 เซต ตามด้วยการลงแข่งขันรายการมาสเตอร์ที่กรุงมาดริดในเดือนพฤษภาคม และแพ้ การ์โลส อัลการาซ ดาวรุ่งชื่อดังชาวสเปนในรอบรองชนะเลิศ 1–2 เซต และลงแข่งขันต่อในมาสเตอร์ที่กรุงโรม และเขาคว้าชัยชนะครบ 1,000 นัดในอาชีพ หลังจากเอาชนะ คาสเปอร์ รืด จากนอร์เวย์ในรอบรองชนะเลิศ โดยถือเป็นผู้เล่นชายคนที่ 5 ในประวัติศาสตร์ ต่อจาก จิมมี คอนเนอร์, อิวาน เลนเดิล, เฟเดอเรอร์ และ นาดัล ที่ทำได้[109] ก่อนที่จะชนะ สเตฟาโนส ซิตซีปัส ในรอบชิงชนะเลิศสองเซตรวด คว้าแชมป์ที่กรุงโรมเป็นสมัยที่ 6 และเพิ่มสถิติการคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 เป็นสมัยที่ 38[110]
รูปแบบการเล่น[แก้]
จอกอวิชได้รับการยอมรับว่าสามารถเล่นได้ดีทุกคอร์ต[111][112] (A versatile all-court player) สามารถเล่นทั้งเกมบุกและเกมรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีอาวุธทีเด็ดคือแบ็กแฮนด์ที่หนักหน่วงและแม่นยำ และยังเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว แฟน ๆ หลายคนยกย่องว่าเขาเป็นผู้เล่นที่เก่งที่สุดในการตีโต้หลังเส้นเบสไลน์เนื่องจากเขาสามารถอ่านทางบอลของคู่ต่อสู้ได้ดี เขายังเป็นผู้เล่นที่มีจุดเด่นในการรีเทิร์นลูกเสริ์ฟได้ดีที่สุดคนหนึ่ง[113] และได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เล่นที่มีจิตใจแข็งแกร่งแม้ตกอยู่ในสภาวะคับขัน[114] เขามักแสดงออกถึงความนิ่งในการต่อสู้และเอาชนะคู่แข่งได้บ่อยครั้ง ลูกเสิร์ฟของเขาเคยเป็นจุดอ่อนมาหลายปี แต่ภายหลังจากที่จอกอวิชได้ โกราน อิวานิเซวิช มาเป็นหนึ่งในทีมผู้ฝึกสอนตั้งแต่ปี 2019 เขาก็ได้พัฒนาการเสริ์ฟขึ้นมาจนกลายเป็นอาวุธเด็ดในปัจจุบัน[115]
เกมบุกของจอกอวิชนั้นมีความหลากหลายและอันตรายมาก เขาเป็นผู้เล่นที่เน้นเกมส์บุกและมักไม่ค่อยตั้งรับโดยมักโจมตีคู่แข่งด้วยการยิงโฟร์แฮนด์ที่คมและเน้นทิศทาง กราวด์สโตรกของเขาจะอันตรายมากเมื่ออยู่หลังเส้นเบสไลน์และยังกะจังหวะรวมถึงทิศทางได้ยากมากเนื่องจากมีความแรงและแม่นยำทำให้คู่ต่อสู้ยากที่จะโต้กลับมา และเขายังชอบเล่นลูกหยอดเป็นประจำแม้ในแต้มสำคัญซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเสียคะแนน
จอกอวิชยังได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักกีฬาที่มีร่างกายแข็งแรงและยืดหยุ่นมากที่สุดคนหนึ่ง[116][117][118] ซึ่งเป็นผลมาจากการเล่นโยคะเป็นประจำ ทำให้เขาสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างว่องไวและยังเปลี่ยนจังหวะการตีจากเกมรับเป็นเกมบุกได้อย่างไหลลื่น ร่างกายของเขาสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วซึ่งเป็นข้อได้เปรียบเมื่อเขาต้องแข่งขันในนัดที่ยืดเยื้อหลายชั่วโมง
สถิติโลก[แก้]

จอกอวิชครองสถิติโลกในวงการมากมาย[119] มีสถิติที่สำคัญได้แก่:
- เป็นนักเทนนิสชาวเซอร์เบียคนแรกที่ได้แชมป์แกรนด์สแลม[120]
- เป็นหนึ่งในสองผู้เล่นชายที่เข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมชายเดี่ยวมากที่สุด (31 ครั้ง, เท่ากับ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์)
- เป็นหนึ่งในสองผู้เล่นในยุคโอเพน (ร่วมกับ ราฟาเอล นาดัล) ที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมในประเภทชายเดี่ยวทุกรายการได้อย่างน้อย 2 สมัย (Double Career Grand Slam)[121]
- เป็นผู้เล่นคนเดียวที่ชนะเลิศการแข่งขันรายการหลัก (Elite Titles) ของเอทีพีครบทุกรายการ (ชนะเลิศแกรนด์สแลมครบทั้ง 4 รายการ, ชนะเลิศรายการมาสเตอร์ 1000 ครบทั้ง 9 รายการ และชนะเลิศเอทีพี ไฟนอล)[122]
- เป็นผู้เล่นคนเดียวที่ชนะเลิศการแข่งขันรายการหลักของเอทีพีได้อย่างน้อย 2 สมัยในแต่ละรายการ (Double Elite Titles)[123]
- เป็นผู้เล่นชายคนเดียวที่ได้แชมป์แกรนด์สแลมในพื้นคอร์ต 3 ประเภท (ฮาร์ดคอร์ต, คอร์ตหญ้า และ คอร์ตดิน) 4 รายการติดต่อกัน (วิมเบิลดัน และ ยูเอสโอเพน 2015 - ออสเตรเลียนโอเพน และ เฟรนช์โอเพน 2016)
- คว้าแชมป์แกรนด์สแลมออสเตรเลียนโอเพนมากที่สุดในประเภทชายเดี่ยว (9 สมัย)[124]
- เป็นผู้เล่นชายคนเดียวในยุคโอเพนที่ได้แชมป์ออสเตรเลียนโอเพน 3 สมัยติดต่อกัน (2011–13 และ 2019–21)[125]
- เป็นผู้เล่นชายคนแรกนับตั้งแต่ปี 1969 ที่คว้าแชมป์ออสเตรเลียนโอเพน, เฟรนช์โอเพน และวิมเบิลดันในปีเดียวกัน (2021)
- เป็นผู้เล่นชายคนที่สองที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมในพื้นคอร์ตทั้ง 3 ประเภท (ฮาร์ดคอร์ต, คอร์ตดิน และคอร์ตหญ้า) ได้ในปีเดียวกัน
- เป็นผู้เล่นชายคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์ที่ได้แชมป์แกรนด์สแลม 4 รายการติดต่อกัน (ต่อจาก ดอน บัดจ์ และ ร็อด เลเวอร์)
- เป็นผู้เล่นชายคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์ที่เข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมทุกรายการในปีเดียวกัน (ต่อจาก ดอน บัดจ์ และ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์)
- เป็นผู้เล่นชายที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมหลังจากมีอายุครบ 30 ปีได้มากที่สุด (8 รายการ)
- เข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมในรายการฮาร์ดคอร์ต (พื้นคอนกรีต) มากที่สุดในประเภทชายเดี่ยว (18 ครั้ง)
- เป็นผู้เล่นคนเดียวที่เข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมทุกรายการได้อย่างน้อย 6 ครั้ง
- เป็นผู้เล่นชายคนเดียวที่เข้ารอบรองชนะเลิศแกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการได้อย่างน้อย 9 ครั้ง
- เป็นผู้เล่นชายคนเดียวที่ชนะในแกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการได้อย่างน้อย 75 นัดในทุกรายการ[126]
- เป็นผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดที่เข้าถึงรอบรองชนะเลิศแกรนด์สแลมได้ครบทุกรายการ (21 ปี)
- คว้าแชมป์เอทีพี ไฟนอล ติดต่อกัน 4 สมัย (ปี 2012–15)[127]
- คว้าแชมป์เอทีพี มาสเตอร์ 1000 ครบทั้ง 9 รายการ (Career Golden Masters)[128]
- คว้าแชมป์เอทีพี มาสเตอร์ 1000 แต่ละรายการได้อย่างน้อย 2 สมัย (Double Career Golden Masters)[129]
- คว้าแชมป์เอทีพี มาสเตอร์ 1000 มากที่สุด (38 สมัย)[130]
- เป็นผู้เล่นชายที่ครองตำแหน่งอันดับ 1 ด้วยจำนวนสัปดาห์รวมที่มากที่สุด (370 สัปดาห์)[131]
- ครองตำแหน่งอันดับ 1 ของโลกด้วยคะแนนที่สูงที่สุด (16,950 คะแนน, ปี 2016)[132]
- เป็นผู้เล่นที่ครองตำแหน่งอันดับ 1 ของโลกเมื่อจบฤดูกาลมากที่สุด (7 ครั้ง)
- ทำเงินรางวัลรวมจากการแข่งขันมากที่สุด (นับรวมทั้งประเภทชายเดี่ยว, หญิงเดี่ยว, ประเภทคู่ และ ประเภทคู่ผสม)[133]
- เป็นผู้เล่นที่ชนะผู้เล่นมือวาง 3 อันดับแรก 5 อันดับแรก และ 10 อันดับแรกของโลกได้มากที่สุด
- ชนะผู้เล่นมือวาง 10 อันดับแรกของโลกได้ 30 ครั้งในปีเดียวกัน และชนะผู้เล่น 10 อันดับแรกของโลกได้ครบทุกคนในปีเดียวกัน (ปี 2015)
คู่แข่งคนสำคัญ[แก้]
ราฟาเอล นาดัล[แก้]
คู่แข่งที่สำคัญที่สุดของจอกอวิชได้แก่ ราฟาเอล นาดัล ทั้งคู่เคยพบกันมากถึง 58 ครั้ง ซึ่งเป็นสถิติการพบกันของนักเทนนิสสองคนที่มากที่สุดในยุคโอเพน[134] จอกอวิชเอาชนะไปได้ 30 ครั้ง และพ่ายแพ้ 28 ครั้ง ซึ่งจอกอวิชถือเป็นผู้เล่นที่เอาชนะนาดัลได้มากที่สุดนับตั้งแต่นาดัลเล่นอาชีพมา ในขณะเดียวกัน นาดัลก็เป็นผู้เล่นที่เอาชนะจอกอวิชได้มากที่สุดเช่นกัน ทั้งคู่พบกันในรอบชิงชนะเลิศทุกรายการ 28 ครั้ง จอกอวิชเอาชนะได้ 15 ครั้ง แพ้ 13 ครั้ง โดยนาดัลมีสถิติที่เหนือกว่าในรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลม จำนวน 5–4 ครั้ง (พบกัน 9 ครั้ง) จอกอวิชเอาชนะนาดัลในรอบชิงชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพนได้ 2 ครั้ง (ปี 2012 และ 2019), วิมเบิลดัน 1 ครั้ง (2011) และ ยูเอสโอเพน 1 ครั้ง (2011) ในขณะที่นาดัลเอาชนะจอกอวิชได้ในรอบชิงชนะเลิศเฟรนช์โอเพน 3 ครั้ง (2012, 2014 และ 2020) และ ยูเอสโอเพน 2 ครั้ง (2010 และ 2013) โดยการแข่งขันครั้งประวัติศาสตร์ของทั้งคู่คือการพบกันในรอบชิงชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพน 2012 ซึ่งใช้เวลาแข่งขันกันถึง 5 ชั่วโมง 53 นาที ถือเป็นรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมที่นานที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยจอกอวิชเอาชนะไปได้ 3–2 เซต[135]
จอกอวิชยังเป็นหนึ่งในสองผู้เล่น (ร่วมกับโรบิน เซอเดอร์ลิง) ที่เอาชนะนาดัลในเฟรนช์โอเพนได้ และเป็นผู้เล่นคนเดียวที่เอาชนะนาดัลได้สองครั้งในรายการดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีคอร์ตที่ตนเองถนัดและมักจะชนะคู่ต่อสู้อีกฝ่ายได้บ่อยครั้งเมื่อได้ลงแข่งขันในพื้นสนามที่ตนเองถนัด โดยจอกอวิชชนะนาดัลได้ในการแข่งขันบนฮาร์ดคอร์ต (พื้นคอนกรีต) 20 ครั้ง แพ้ไปเพียง 7 ครั้ง ในขณะที่นาดัลก็เอาชนะจอกอวิชบนคอร์ตดินได้ถึง 19 ครั้ง แพ้ไปเพียง 8 ครั้งเช่นกัน[136] และทั้งคู่มีสถิติเท่ากันในการแข่งขันบนคอร์ตหญ้าโดยผลัดกันแพ้ชนะคนละ 2 ครั้ง จอกอวิชยังถือเป็นผู้เล่นคนเดียวที่เอาชนะนาดัลได้ในแกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการ
โรเจอร์ เฟเดอเรอร์[แก้]
โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ถือเป็นคู่แข่งคนสำคัญอีกคนหนึ่งของจอกอวิช ทั้งคู่เคยพบกัน 50 ครั้ง จอกอวิชเอาชนะไปได้ 27 ครั้ง และแพ้ 23 ครั้ง ทั้งคู่พบกันในรอบชิงชนะเลิศทุกรายการ 19 ครั้ง และจอกอวิชเอาชนะไปได้ 13 ครั้ง แพ้ 6 ครั้ง และพบกันในรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลม 5 ครั้ง ซึ่งจอกอวิชเอาชนะไปได้ถึง 4 ครั้ง โดยจอกอวิชเป็นผู้เล่นที่ชนะเฟเดอเรอร์ได้มากที่สุดนับตั้งแต่เฟเดอเรอร์เล่นอาชีพมา การแข่งขันครั้งสำคัญของทั้งคู่มีมากมาย[137] เช่น การพบกันในรอบชิงชนะเลิศวิมเบิลดัน 3 ครั้ง (2014, 2015 และ 2019) ซึ่งจอกอวิชเอาชนะได้ทั้งสามครั้ง โดยเฉพาะในปี 2019 ถือเป็นนัดประวัติศาสตร์เนื่องจากทั้งคู่ใช้เวลาแข่งขัน 5 ชั่วโมง นานที่สุดในประวัติศาสตร์รอบชิงชนะเลิศของรายการ และจอกอวิชเอาชนะไปได้ 3–2 เซต โดยเอาตัวรอดจากการเสียเปรียบถึง 2 แชมป์เปียนชิพพอยต์ในเซตตัดสินก่อนจะพลิกกลับมาเอาชนะได้ คว้าแชมป์วิมเบิลดันสมัยที่ 5[138]
นอกจากนี้ ยังมีการแข่งขันรอบรองชนะเลิศยูเอสโอเพน 2011[139] ซึ่งจอกอวิชเป็นฝ่ายตามหลังไปก่อน 0–2 เซต ก่อนที่จะกลับมาชนะได้ในสองเซตถัดมา และเมื่อเข้าสู่เซตที่ 5 เฟเดอเรอร์เป็นฝ่ายได้ 2 Match Point และทำท่าว่าจะเอาชนะไปได้ แต่จอกอวิชก็ได้แสดงถึงความนิ่งและจิตใจของผู้ชนะด้วยการพลิกกลับมาชนะได้[140] โดยจอกอวิชถือเป็นผู้เล่นคนเดียวที่เอาชนะเฟเดอเรอร์ได้ในแกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการ ในทำนองเดียวกัน เฟเดอเรอร์ก็เป็นผู้เล่นคนเดียวที่เอาชนะจอกอวิชได้ในแกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการเช่นกัน
แอนดี มาร์รี[แก้]
จอกอวิชยังถือเป็นคู่แข่งคนสำคัญของ แอนดี มาร์รี ทั้งคู่รู้จักกันตั้งแต่ยังเด็กและเคยเข้าแคมป์เพื่อฝึกเทนนิสเยาวชนด้วยกัน[141] โดยทั้งคู่เคยพบกันมาแล้ว 36 ครั้ง[142] จอกอวิชเอาชนะไปได้ 25 ครั้ง แพ้ 11 ครั้ง ทั้งคู่พบกันในรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลม 7 ครั้ง จอกอวิชเอาชนะไป 5 ครั้ง ในรอบชิงชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพน 4 ครั้ง (2011, 2013, 2015 และ 2016) และ เฟรนช์โอเพน 1 ครั้ง (2016) แต่มาร์รี่ก็เอาชนะจอกอวิชได้ 2 ครั้งในรอบชิงชนะเลิศวิมเบิลดัน (2013) และยูเอสโอเพน (2012) เช่นกัน นัดสำคัญของทั้งคู่คือการพบกันในรอบชิงชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพน 4 ครั้ง และจอกอวิชเอาชนะไปได้ทั้ง 4 ครั้ง ทำให้ให้มาร์รี่เป็นผู้เล่นที่มีสถิติเข้าชิงชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพนมากถึง 5 ครั้ง โดยที่คว้าแชมป์ไม่ได้เลย[143] และหลังจากความพ่ายแพ้ในรอบชิงชนะเลิศวิมเบิลดัน 2013 จอกอวิชเอาชนะมาร์รี่ได้ถึง 14 ครั้งจากการพบกัน 17 ครั้งหลังสุด
โจ-วิลฟรีด ซองกา[แก้]
จอกอวิช และโจ-วิลฟรีด ซองกา นักเทนนิสชาวฝรั่งเศสมีสถิติการพบกัน 23 ครั้ง[144] โดยจอกอวิชชนะไป 17 ครั้ง และแพ้ 6 ครั้ง ทั้งคู่พบกันในรายการแกรนด์สแลม 8 ครั้ง และจอกอวิชชนะไปได้ 7 ครั้ง[145] การแข่งขันครั้งแรกคือรอบชิงชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพน 2008 ซึ่งจอกอวิชชนะ 3–1 เซต คว้าแชมป์แกรนด์สแลมแรกในอาชีพ แต่ซองกาก็เอาชนะจอวอกิชได้ใน 4 ครั้งต่อมาที่ไทยแลนด์โอเพนรวมถึงรายการมาสเตอร์ที่ปารีสและจีน ก่อนที่จอกอวิชจะกลับมาชนะในรายการมาสเตอร์ที่ไมแอมีปี 2009
ทั้งคู่พบกันในแกรนด์สแลมอีกครั้งในรอบ 8 คนสุดท้ายออสเตรเลียนโอเพน 2010 และซองกาเอาชนะได้ในการแข่งขัน 5 เซตซึ่งจอกอวิชมีอาการป่วยระหว่างแข่งขัน[146] แต่จอกอวิชก็เอาชนะคืนได้ในรอบรองชนะเลิศวิมเบิลดัน 2011 ชนะ 3–1 เซต ผ่านเข้าชิงชนะเลิศและคว้าแชมป์วิมเบิลดันสมัยแรก และทั้งคู่พบกันในปี 2012 อีกหลายครั้งได้แก่ ในเฟรนช์โอเพน 2012 รอบ 8 คนสุดท้ายซึ่งจอกอวิชชนะ 3–2 เซต แม้จะเป็นฝ่ายตามหลังก่อน 1–2 เซต รวมทั้งเอาชนะได้อีกในโอลิมปิก 2012, มาสเตอร์ที่กรุงโรม, ไชนาโอเพน และเอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล[147] ซึ่งเป็นการชนะซองกาถึง 5 ครั้งในปีเดียว และทั้งคู่พบกันล่าสุดในออสเตรเลียนโอเพน 2019 รอบที่ 2 ซึ่งจอกอวิชชนะ 3 เซตรวด โดยปัจจุบันซองกาได้ห่างหายไปจากวงการเนื่องจากอาการบาดเจ็บ
การกุศล[แก้]
จอกอวิชก่อตั้งมูลนิธิ "Novak Djokovic Foundation" ในปี 2007[148] เพื่อช่วยเหลือเด็กผู้ด้อยโอกาส โดยมีการสร้างโรงเรียนรวมถึงมอบทุนการศึกษาให้แก่เด็ก ๆ ในหลายประเทศโดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา และในปี 2015 จอกอวิชในฐานะประธานมูลนิธิ และทูตสันถวไมตรีของยูนิเซฟ (UNICEF Global Goodwill Ambassadors) ได้เข้าพบนาย จิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลกเพื่อลงนามความร่วมมือในโครงการพัฒนาเด็กปฐมวัยของยูนิเซฟ (Early Childhood Development Program-ECD)
ในปี 2019 บริษัทมงต์บลองค์ (Montblanc International) ผู้ผลิตสินค้าหรูหราของเยอรมนีได้เปิดตัวปากการุ่นใหม่ "Montblanc X Djokovic Foundation" โดยมีเพียง 300 ด้ามในโลก ซึ่งรายได้ทั้งหมดจะมอบให้แก่มูลนิธิการ " Novak Djokovic Foundation" เพื่อช่วยเหลือเด็กผู้ด้อยโอกาส โดยทำการเปิดตัวในนิวยอร์ก และมีการนำเอา StarWalker รูปแบบการเขียน Fineliner มาสลักลายเซ็นของจอกอวิชลงไปที่ตัวปากกาพร้อมสมุดจดและกล่องซึ่งมีลวดลายแบบเดียวกับตัวปากกา โดยมีราคาขายอยู่ที่ชุดละ 740 ดอลลาร์สหรัฐ
ในการแข่งขันออสเตรเลียนโอเพน 2021 จอกอวิชได้บริจาคเงินจำนวน 1 ล้านดอลลาร์ให้กับบรรดาผู้เล่นที่ตกรอบในการแข่งขัน โดยเพจเฟซบุ๊กของจอกอวิชเปิดเผยว่า เขาตัดสินใจแบ่งเงินรางวัลดังกล่าวให้แก่นักเทนนิสที่ตกรอบแรก ๆ ของรายการเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมอาชีพที่ขาดแคลนรายได้ในช่วงที่การแข่งขันถูกยกเลิกจากวิกฤตโควิด-19[149] อนึ่ง นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2020 ส่งผลให้การแข่งขันรายการต่าง ๆ ถูกยกเลิก จอกอวิชได้ร่วมมือกับเฟเดอเรอร์ และนาดัล ในการระดมเงินเพื่อช่วยเหลือเพื่อนนักเทนนิสที่ได้รับผลกระทบ โดยจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือนักเทนนิสมืออันดับล่างๆที่กำลังประสบปัญหาทางการเงิน ซึ่งระดมเงินได้ราว 4 ล้านปอนด์และมอบให้แก่นักเทนนิสในอันดับที่ 250 ไปจนถึงอันดับที่ 700 ของโลกคนละ 8,000 ปอนด์[150]
อุปกรณ์และชุดแข่ง[แก้]
ในช่วงเริ่มต้นของการเล่นอาชีพในปี 2003 จอกอวิชสวมชุดแข่งขันของอาดิดาส จนกระทั่งปี 2009 เขาได้เปลี่ยนไปเซ็นสัญญากับ เซร์คีโอ ทักชีนี แบรนด์ชื่อดังจากอิตาลี ภายหลังจากอาดิดาสได้ปฏิเสธการต่อสัญญาฉบับใหม่กับเขาและได้หันไปสนับสนุน แอนดี มาร์รี แทน อย่างไรก็ตามทักชีนีไม่ได้ออกแบบรองเท้าให้กับจอกอวิชทำให้เขาใส่รองเท้าแข่งขันของอาดิดาสต่อไป และหลังจากนั้นเพียง 1 ปีทักชีนีได้ยุติสัญญากับจอกอวิชเนื่องจากไม่สามารถจ่ายโบนัสให้แก่จอกอวิชได้[151][152]
นับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา จอกอวิชสวมรองเท้าสีน้ำเงินและแดงของอาดิดาสรุ่น Barricade ซึ่งทั้งสองสีเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แทนธงชาติเซอร์เบีย ต่อมาในปี 2012 เขาได้เซ็นสัญญากับยูนิโคล่ แบรนด์ดังจากประเทศญี่ปุ่นด้วยสัญญามูลค่า 8 ล้านยูโรต่อปี และได้เซ็นสัญญาระยะยาวในการสวมรองเท้าของอาดิดาสในปี 2013 เขาได้ยุติสัญญากับยูนิโคล่ในปี 2017 และได้เซ็นสัญญากับ ลาคอสต์ ของมาจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันจอกอวิชใช้ไม้เทนนิสยี่ห้อ HEAD รุ่น Graphene 360+ Speed Pro racket[153]
สถิติการแข่งขัน[แก้]
แกรนด์สแลม[แก้]
ชายเดี่ยว: ชิงชนะเลิศ 31 รายการ (ชนะเลิศ 20, รองชนะเลิศ 11)
ผลลัพธ์ | ปี | รายการ | พื้นสนาม | คู่แข่ง | ผลการแข่งขัน |
---|---|---|---|---|---|
รองชนะเลิศ | 2007 | ยูเอสโอเพน | คอนกรีต | ![]() |
6–7(4–7), 6–7(2–7), 4–6 |
ชนะเลิศ | 2008 | ออสเตรเลียนโอเพน (1) | คอนกรีต | ![]() |
4–6, 6–4, 6–3, 7–6(7–2) |
รองชนะเลิศ | 2010 | ยูเอสโอเพน | คอนกรีต | ![]() |
4–6, 7–5, 4–6, 2–6 |
ชนะเลิศ | 2011 | ออสเตรเลียนโอเพน (2) | คอนกรีต | ![]() |
6–4, 6–2, 6–3 |
ชนะเลิศ | 2011 | วิมเบิลดัน (1) | หญ้า | ![]() |
6–4, 6–1, 1–6, 6–3 |
ชนะเลิศ | 2011 | ยูเอสโอเพน (1) | คอนกรีต | ![]() |
6–2, 6–4, 6–7(3–7), 6–1 |
ชนะเลิศ | 2012 | ออสเตรเลียนโอเพน (3) | คอนกรีต | ![]() |
5–7, 6–4, 6–2, 6–7 (5–7), 7–5 |
รองชนะเลิศ | 2012 | เฟรนช์โอเพน | ดิน | ![]() |
4–6, 3–6, 6–2, 5–7 |
รองชนะเลิศ | 2012 | ยูเอสโอเพน | คอนกรีต | ![]() |
6–7(10–12) , 5–7, 6–2, 6–3, 2–6 |
ชนะเลิศ | 2013 | ออสเตรเลียนโอเพน (4) | คอนกรีต | ![]() |
6–7(2–7), 7–6(7–3), 6–3, 6–2 |
รองชนะเลิศ | 2013 | วิมเบิลดัน | หญ้า | ![]() |
4–6, 5–7, 4–6 |
รองชนะเลิศ | 2013 | ยูเอสโอเพน | คอนกรีต | ![]() |
2–6, 6–3, 4–6, 1–6 |
รองชนะเลิศ | 2014 | เฟรนช์โอเพน | ดิน | ![]() |
6–3, 5–7, 2–6, 4–6 |
ชนะเลิศ | 2014 | วิมเบิลดัน (2) | หญ้า | ![]() |
6–7(7–9) , 6–4, 7–6(7–4), 5–7 ,6–4 |
ชนะเลิศ | 2015 | ออสเตรเลียนโอเพน (5) | คอนกรีต | ![]() |
7–6(7–5), 6–7(4–7), 6–3, 6–0 |
รองชนะเลิศ | 2015 | เฟรนช์โอเพน | ดิน | ![]() |
6–4, 4–6, 3–6, 4–6 |
ชนะเลิศ | 2015 | วิมเบิลดัน (3) | หญ้า | ![]() |
7–6(7–1), 6–7(10–12) ,6–4, 6–3 |
ชนะเลิศ | 2015 | ยูเอสโอเพน (2) | คอนกรีต | ![]() |
6–4, 5–7, 6–4, 6–4 |
ชนะเลิศ | 2016 | ออสเตรเลียนโอเพน (6) | คอนกรีต | ![]() |
6–1, 7–5, 7–6(7–3)
|
ชนะเลิศ | 2016 | เฟรนช์โอเพน (1) | ดิน | ![]() |
3–6, 6–1, 6–2, 6–4 |
รองชนะเลิศ | 2016 | ยูเอสโอเพน | คอนกรีต | ![]() |
7–6(7–1), 4–6, 5–7, 3–6 |
ชนะเลิศ | 2018 | วิมเบิลดัน (4) | หญ้า | ![]() |
6–2, 6–2, 7–6(7–3) |
ชนะเลิศ | 2018 | ยูเอสโอเพน (3) | คอนกรีต | ![]() |
6–3, 7–6(7–4), 6–3 |
ชนะเลิศ | 2019 | ออสเตรเลียนโอเพน (7) | คอนกรีต | ![]() |
6–3, 6–2, 6–3 |
ชนะเลิศ | 2019 | วิมเบิลดัน (5) | หญ้า | ![]() |
7–6(7–5), 1–6, 7–6(7–4), 4–6, 13–12(7–3) |
ชนะเลิศ | 2020 | ออสเตรเลียนโอเพน (8) | คอนกรีต | ![]() |
6–4, 4–6, 2–6, 6–3, 6–4 |
รองชนะเลิศ | 2020 | เฟรนช์โอเพน | ดิน | ![]() |
0–6, 2–6, 5–7 |
ชนะเลิศ | 2021 | ออสเตรเลียนโอเพน (9) | คอนกรีต | ![]() |
7–5, 6–2, 6–2 |
ชนะเลิศ | 2021 | เฟรนช์โอเพน (2) | ดิน | ![]() |
6–7(6–8), 2–6, 6–3, 6–2, 6–4 |
ชนะเลิศ | 2021 | วิมเบิลดัน (6) | หญ้า | ![]() |
6–7(4–7), 6–4, 6-4, 6-3 |
รองชนะเลิศ | 2021 | ยูเอสโอเพน | คอนกรีต | ![]() |
4–6, 4–6, 4–6 |
(ตัวเลขในวงเล็บคือจำนวนครั้งที่ชนะเลิศ)
เอทีพี ไฟนอล[แก้]
ชิงชนะเลิศ 7 สมัย (ชนะเลิศ 5 สมัย, รองชนะเลิศ 2 สมัย)
ผลลัพธ์ | ปี | สถานที่ | พื้นสนาม | คู่แข่ง | ผลการแข่งขัน |
---|---|---|---|---|---|
ชนะเลิศ | 2008 | เซี่ยงไฮ้ | คอนกรีต (ในร่ม) | ![]() |
6–1, 7–5 |
ชนะเลิศ | 2012 | ลอนดอน | คอนกรีต (ในร่ม) | ![]() |
7–6(8–6), 7–5 |
ชนะเลิศ | 2013 | ลอนดอน | คอนกรีต (ในร่ม) | ![]() |
6–3, 6-4 |
ชนะเลิศ | 2014 | ลอนดอน | คอนกรีต (ในร่ม) | ![]() |
เฟเดอเรอร์ขอถอนตัว |
ชนะเลิศ | 2015 | ลอนดอน | คอนกรีต (ในร่ม) | ![]() |
6–3, 6–4 |
รองชนะเลิศ | 2016 | ลอนดอน | คอนกรีต (ในร่ม) | ![]() |
3–6, 4–6 |
รองชนะเลิศ | 2018 | ลอนดอน | คอนกรีต (ในร่ม) | ![]() |
4–6, 3–6 |
เอทีพี ทัวร์ มาสเตอร์ 1000[แก้]
ชิงชนะเลิศ 55 รายการ (ชนะเลิศ 38 รายการ (สถิติสูงสุด), รองชนะเลิศ 17)
ผลลัพธ์ | ปี | รายการ | พื้นสนาม | คู่แข่ง | ผลการแข่งขัน |
---|---|---|---|---|---|
รองชนะเลิศ | 2007 | อินเดียนเวลส์ | คอนกรีต | ![]() |
2–6, 5–7 |
ชนะเลิศ | 2007 | ไมแอมี | คอนกรีต | ![]() |
6–3, 6–2, 6–4 |
ชนะเลิศ | 2007 | มอนทรีออล | คอนกรีต | ![]() |
7–6(7–2), 2–6, 7–6(7–2) |
ชนะเลิศ | 2008 | อินเดียนเวลส์ | คอนกรีต | ![]() |
6–2, 5–7, 6–3 |
ชนะเลิศ | 2008 | โรม | ดิน | ![]() |
4–6, 6–3, 6–3 |
รองชนะเลิศ | 2008 | ซินซินแนติ | คอนกรีต | ![]() |
6–7(4–7), 6–7(5–7) |
รองชนะเลิศ | 2009 | ไมแอมี | คอนกรีต | ![]() |
2–6, 5–7 |
รองชนะเลิศ | 2009 | มงเต-การ์โล | ดิน | ![]() |
3–6, 6–2, 1–6 |
รองชนะเลิศ | 2009 | โรม | ดิน | ![]() |
6–7(2–7), 2–6 |
รองชนะเลิศ | 2009 | ซินซินแนติ | คอนกรีต | ![]() |
1–6, 5–7 |
ชนะเลิศ | 2009 | ปารีส | คอนกรีต (ในร่ม) | ![]() |
6–2, 5–7, 7–6(7–3) |
ชนะเลิศ | 2011 | อินเดียนเวลส์ (2) | คอนกรีต | ![]() |
4–6, 6–3, 6–2 |
ชนะเลิศ | 2011 | ไมแอมี (2) | คอนกรีต | ![]() |
4–6, 6–3, 7–6(7–4) |
ชนะเลิศ | 2011 | มาดริด | ดิน | ![]() |
7–5, 6–4 |
ชนะเลิศ | 2011 | โรม (2) | ดิน | ![]() |
6–4, 6–4 |
ชนะเลิศ | 2011 | มอนทรีออล (2) | คอนกรีต | ![]() |
6–2, 3–6, 6–4 |
รองชนะเลิศ | 2011 | ซินซินแนติ | คอนกรีต | ![]() |
4–6, 0–3 (ขอยอมแพ้) |
ชนะเลิศ | 2012 | ไมแอมี (3) | คอนกรีต | ![]() |
6–1, 7–6(7–4) |
รองชนะเลิศ | 2012 | มงเต-การ์โล | ดิน | ![]() |
3–6, 1–6 |
รองชนะเลิศ | 2012 | โรม | ดิน | ![]() |
5–7, 3–6 |
ชนะเลิศ | 2012 | มอนทรีออล (3) | คอนกรีต | ![]() |
6–3, 6–2 |
รองชนะเลิศ | 2012 | ซินซินแนติ | คอนกรีต | ![]() |
0–6, 6–7(7–9) |
ชนะเลิศ | 2012 | เซี่ยงไฮ้ | คอนกรีต | ![]() |
5–7, 7–6(13–11), 6–3 |
ชนะเลิศ | 2013 | มงเต-การ์โล | ดิน | ![]() |
6–2, 7–6(7–1) |
ชนะเลิศ | 2013 | เซี่ยงไฮ้ (2) | คอนกรีต | ![]() |
6–1, 3–6, 7–6(7–3) |
ชนะเลิศ | 2013 | ปารีส (2) | คอนกรีต (ในร่ม) | ![]() |
7–5, 7–5 |
ชนะเลิศ | 2014 | อินเดียนเวลส์ (3) | คอนกรีต | ![]() |
3–6, 6–3, 7–6(7–3) |
ชนะเลิศ | 2014 | ไมแอมี (4) | คอนกรีต | ![]() |
6–3, 6–3 |
ชนะเลิศ | 2014 | โรม (3) | ดิน | ![]() |
4–6, 6–3, 6–3 |
ชนะเลิศ | 2014 | ปารีส (3) | คอนกรีต | ![]() |
6–2, 6–3 |
ชนะเลิศ | 2015 | อินเดียนเวลส์ (4) | คอนกรีต | ![]() |
6–3, 6–7(5–7), 6–2 |
ชนะเลิศ | 2015 | ไมแอมี (5) | คอนกรีต | ![]() |
7–6(7–3), 4–6, 6–0 |
ชนะเลิศ | 2015 | มงเต-การ์โล (2) | ดิน | ![]() |
7–5, 4–6, 6–3 |
ชนะเลิศ | 2015 | โรม (4) | ดิน | ![]() |
6–4, 6–3 |
รองชนะเลิศ | 2015 | มอนทรีออล | คอนกรีต | ![]() |
4–6, 6–4, 3–6 |
รองชนะเลิศ | 2015 | ซินซินแนติ | คอนกรีต | ![]() |
6–7(1–7), 3–6 |
ชนะเลิศ | 2015 | เซี่ยงไฮ้ (3) | คอนกรีต | ![]() |
6–2, 6–4 |
ชนะเลิศ | 2015 | ปารีส (4) | คอนกรีต (ในร่ม) | ![]() |
6–2, 6–4 |
ชนะเลิศ | 2016 | อินเดียนเวลส์ (5) | คอนกรีต | ![]() |
6–2, 6–0 |
ชนะเลิศ | 2016 | ไมแอมี (6) | คอนกรีต | ![]() |
6–3, 6–3 |
ชนะเลิศ | 2016 | มาดริด (2) | ดิน | ![]() |
6–2, 3–6, 6–3 |
รองชนะเลิศ | 2016 | โรม | ดิน | ![]() |
3–6, 3–6 |
ชนะเลิศ | 2016 | มอนทรีออล (4) | คอนกรีต | ![]() |
6–3, 7–5 |
รองชนะเลิศ | 2017 | โรม | ดิน | ![]() |
4–6, 3–6 |
ชนะเลิศ | 2018 | ซินซินแนติ | คอนกรีต | ![]() |
6–4, 6–4 |
ชนะเลิศ | 2018 | เซี่ยงไฮ้ (4) | คอนกรีต | ![]() |
6–3, 6–4 |
รองชนะเลิศ | 2018 | ปารีส | คอนกรีต (ในร่ม) | ![]() |
5–7, 4–6 |
ชนะเลิศ | 2019 | มาดริด (3) | ดิน | ![]() |
6–3, 6–4 |
รองชนะเลิศ | 2019 | โรม | ดิน | ![]() |
0–6, 6–4, 1–6 |
ชนะเลิศ | 2019 | ปารีส (5) | คอนกรีต (ในร่ม) | ![]() |
6–3, 6–4 |
ชนะเลิศ | 2020 | ซินซินแนติ (2) | คอนกรีต | ![]() |
1–6, 6–3, 6–4 |
ชนะเลิศ | 2020 | โรม (5) | ดิน | ![]() |
7–5, 6–3 |
รองชนะเลิศ | 2021 | โรม | ดิน | ![]() |
5–7, 6–1, 3–6 |
ชนะเลิศ | 2021 | ปารีส (6) | คอนกรีต (ในร่ม) | ![]() |
4–6, 6–3, 6-3 |
ชนะเลิศ | 2022 | โรม (6) | ดิน | ![]() |
6–0, 7–6(7–5) |
- ชนะเลิศต่างรายการทั้งหมด 9/9 ครบทุกรายการ (สถิติสูงสุด)
- เข้าชิงชนะเลิศต่างรายการทั้งหมด 9/9 ครบทุกราบการ
โอลิมปิก[แก้]
ชายเดี่ยว: ชิงเหรียญ 3 ครั้ง (คว้า 1 เหรียญทองแดง)
ผลลัพธ์ | วันที่ | รายการ | พื้นสนาม | คู่แข่งในรอบชิงเหรียญ | ผลการแข่งขัน |
---|---|---|---|---|---|
เหรียญทองแดง | 16 สิงหาคม 2008 | โอลิมปิกฤดูร้อน 2008, ปักกิ่ง, จีน (รอบชิงเหรียญทองแดง) | คอนกรีต | ![]() |
6–3, 7–6(7–4) |
อันดับ 4 | 5 สิงหาคม 2012 | โอลิมปิกฤดูร้อน 2012, ลอนดอน, สหราชอาณาจักร (รอบชิงเหรียญทองแดง) | หญ้า | ![]() |
5–7, 4–6 |
อันดับ 4 | 31 กรกฎาคม 2021 | โอลิมปิกฤดูร้อน 2020, โตเกียว, ญี่ปุ่น (รอบชิงเหรียญทองแดง) | คอนกรีต | ![]() |
4–6, 7–6(8–6), 3–6 |
คู่ผสม: ชิงเหรียญ 1 ครั้ง (คว้าอันดับ 4)
ผลลัพธ์ | วันที่ | รายการ | พื้นสนาม | เล่นคู่กับ | คู่แข่ง | ผลการแข่งขัน |
---|---|---|---|---|---|---|
อันดับ 4 | 31 กรกฎาคม 2021 | โอลิมปิกฤดูร้อน 2020 (ชิงเหรียญทองแดง) | คอนกรีต | ![]() |
![]() ![]() |
ถอนตัวไม่ลงแข่งขัน |
การแข่งขันประเภททีม (ทีมชาติเซอร์เบีย)[แก้]
ชนะเลิศเดวิสคัพ 1 สมัย และเอทีพี คัพ 1 สมัย
รายการพิเศษ (การกุศล)[แก้]
ชนะเลิศ 6 รายการ, รองชนะเลิศ 1 รายการ
ผลลัพธ์ | วันที่ | รายการ | พื้นสนาม | คู่แข่ง | ผลการแข่งขัน |
---|---|---|---|---|---|
ชนะเลิศ | ธันวาคม 2011 | World Tennis Championship, อาบูดาบี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ | คอนกรีต | ![]() |
6–2, 6–1 |
ชนะเลิศ | ธันวาคม 2012 | World Tennis Championship, อาบูดาบี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ | คอนกรีต | ![]() |
6–7(4–7), 6–3, 6–4 |
ชนะเลิศ | ธันวาคม 2013 | World Tennis Championship, อาบูดาบี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ | คอนกรีต | ![]() |
7–5, 6–2 |
ชนะเลิศ | มีนาคม 2014 | BNP Paribas Showdown, นิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา | คอนกรีต | ![]() |
6–3, 7–6(7–2) |
รองชนะเลิศ | มกราคม 2015 | World Tennis Championship, อาบูดาบี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ | คอนกรีต | ![]() |
(ถอนตัวไม่ลงแข่ง) |
ชนะเลิศ | ธันวาคม 2018 | World Tennis Championship, อาบูดาบี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ | คอนกรีต | ![]() |
4–6, 7–5, 7–5 |
ชนะเลิศ | มกราคม 2021 | A Day at The Drive, แอดิเลด, ออสเตรเลีย | คอนกรีต | ![]() |
6–3 |
เงินรางวัล[แก้]
ปี | รายการ แกรนด์สแลม |
รายการ เอทีพี |
รวม | เงินรางวัล($) | อันดับ |
---|---|---|---|---|---|
2003 | 0 | 0 | 0 | $2,704 | 937[154] |
2004 | 0 | 0 | 0 | $40,790 | 292[155] |
2005 | 0 | 0 | 0 | $202,416 | 114[156] |
2006 | 0 | 2 | 2 | $644,940 | 28[157] |
2007 | 0 | 5 | 5 | $3,927,700 | 3[158] |
2008 | 1 | 3 | 4 | $5,689,078 | 3[159] |
2009 | 0 | 5 | 5 | $5,476,472 | 3[160] |
2010 | 0 | 2 | 2 | $4,278,856 | 3[161] |
2011 | 3 | 7 | 10 | $12,619,803 | 1[162] |
2012 | 1 | 5 | 6 | $12,803,739 | 1[162] |
2013 | 1 | 6 | 7 | $12,447,947 | 2[163] |
2014 | 1 | 6 | 7 | $14,269,463 | 1[164] |
2015 | 3 | 8 | 11 | $21,146,145 | 1 |
2016 | 2 | 5 | 7 | $14,138,824 | 2 |
2017 | 0 | 2 | 2 | $2,116,524 | 14 [1] |
2018 | 2 | 2 | 4 | $15,967,184 | 1 |
2019 | 2 | 3 | 5 | $13,372,355 | 2 |
2020 | 1 | 3 | 4 | $6,511,233 | 1 |
2021 | 3 | 2 | 5 | $9,100,547 | 1 |
2022 | 0 | 0 | 0 | $107,338 | 155 |
Career | 20 | 67 | 87 | $154,927,064 | 1 |
- ข้อมูลเมื่อ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 2022[update].
เชิงอรรถ[แก้]
- ↑ ก่อนหน้านี้ใช้ชื่อการแข่งขันว่า เดอะ มาสเตอร์ กรังปรีซ์, เอทีพี ทัวร์ เวิลด์ แชมป์เปียนชิป, เดอะ มาสเตอร์ส คัพ, เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล ก่อนจะเปลี่ยนเป็นเอทีพี ไฟนอล ในปี 2017
- ↑ ทั้งสามคนเป็นผู้เล่นที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์วงการเทนนิสชาย อ้างอิงจากจำนวนถ้วยรางวัล เงินรางวัล และสถิติโลกต่าง ๆ ที่บันทึกโดยสมาคมเทนนิสอาชีพ
- ↑ ยุคโอเพนในการแข่งขันเทนนิสทั่วโลกเริ่มต้นในปี 1968 หมายถึง การเปิดโอกาสให้นักเทนนิสมือสมัครเล่นได้ร่วมแข่งขันรายการต่าง ๆ โดยก่อนหน้านั้น การแข่งขันรายการใหญ่ทั่วโลกจะเปิดโอกาสให้เฉพาะผู้เล่นที่มีชื่อเสียงเท่านั้น
- ↑ ได้แก่ คอร์ตหญ้าในวิมเบิลดัน 2015, ฮาร์ดคอร์ตในยูเอสโอเพน 2015, ฮาร์ดคอร์ตในออสเตรเลียนโอเพน 2016 และ คอร์ตดินในเฟรนช์โอเพน 2016
- ↑ การแข่งขันเริ่มขึ้นในปี 1900 เป็นการแข่งขันรายการนานาชาติของทีมชายที่ใหญ่ที่สุดของสหพันธ์เทนนิสนานาชาติ เปรียบเสมือนการแข่งขันชิงแชมป์โลก ผู้จัดงานได้อธิบายไว้ว่าเป็น "World Cup of Tennis" และผู้ชนะจะเรียกว่าทีมแชมป์โลก
ดูเพิ่ม[แก้]
- โรเจอร์ เฟเดอเรอร์
- ราฟาเอล นาดัล
- แอนดี มาร์รี
- ดานีอิล เมดเวเดฟ
- แกรนด์สแลม
- เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล
- โอลิมปิกฤดูร้อน
- เทนนิส
อ้างอิง[แก้]
- ↑ "Novak Djokovic". ATP Tour. สืบค้นเมื่อ 1 April 2019.
- ↑ "Djokovic, Novak". novakdjokovic.com. สืบค้นเมื่อ 13 July 2015.
- ↑ "Rankings Singles". ATP Tour.
- ↑ "Rankings Doubles". ATP Tour.
- ↑ "The pronunciation by Novak Djokovic himself". ATP Tour. สืบค้นเมื่อ 9 January 2018.
- ↑ "Rankings | Singles | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Djokovic beats Medvedev for 37th Masters title in Paris". news.cgtn.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Limited, Bangkok Post Public Company. "Djokovic sets all-time record for weeks at world No. 1". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2021-06-08.
- ↑ Tennis.com. "Novak Djokovic clinches historic seventh year-end No. 1 finish". Tennis.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "History: Djokovic Stands Alone | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Novak Djokovic Has Now Officially Won More Prize Money Than Any Other Tennis Player In History". Celebrity Net Worth (ภาษาอังกฤษ). 2021-07-20.
- ↑ "Which way will the 'GOAT race' turn?". BBC Sport (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-06-05.
- ↑ Fendrich, Howard. "Big Three 'Greatest of All-Time' debate? Forget it". Cape Cod Times (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak sets gold standard in record-breaking 2015 season". Novak Djokovic (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic beats Andy Murray to claim first French Open title". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2016-06-05.
- ↑ "Nole sets new absolute ATP ranking record!". Novak Djokovic (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Dominant Novak Djokovic Seals Historic Ninth Australian Open Crown | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ Briggs, Simon; Hodges, Vicki (2021-06-13). "Novak Djokovic wins 19th major after battling back from two sets down in French Open final". The Telegraph (ภาษาอังกฤษ). ISSN 0307-1235. สืบค้นเมื่อ 2021-11-29.
- ↑ "The Order of the Karađorđe`s Star". Novak Djokovic (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic awarded with the highest distinction of the Serbian Church". Novak Djokovic (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Hendrix, Hale (2018-08-13). "Novak Djokovic Childhood Story Plus Untold Biography Facts". Childhood Biography - (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Who is Novak Djokovic? Everything You Need to Know". www.thefamouspeople.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Post, The Jakarta. "'I came from nothing' - Djokovic says tough childhood made him a fighter". The Jakarta Post (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic spent his childhood fighting for survival". Tennis World USA (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Davies, Joe (2018-08-13). "Novak Djokovic Childhood Story Plus Untold Biography Facts". Childhood Biography - (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Perrotta, Tom (2013-07-31). "Djokovic Opens the Refrigerator". Wall Street Journal (ภาษาอังกฤษ). ISSN 0099-9660. สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
- ↑ This, Eat; July 15, Not That! Editors; 2018 (2018-07-15). "8 Food Secrets from Novak Djokovic | Eat This Not That!". Eat This Not That (ภาษาอังกฤษ).CS1 maint: numeric names: authors list (link)
- ↑ "Novak Djokovic talks about the effects of alcohol on him". Tennis World USA (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic is always entertaining. Watch this funny Djokovic video mash up". Outside the Ball (ภาษาอังกฤษ). 2015-01-01.
- ↑ Davis, Scott. "Novak Djokovic goes to a Buddhist temple to meditate between matches at Wimbledon". Business Insider (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Wimbledon Thai Buddhist temple frequented by Djokovic in urgent need of new roof | SWLondoner". South West Londoner (ภาษาอังกฤษ). 2016-11-18.
- ↑ Kale, Rupin (2020-09-11). "'How Djokovic is treated by the international media doesn't correspond with what he has achieved' – Serbian journalist". www.sportskeeda.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Becker: Djokovic deserves more respect". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2019-07-15.
- ↑ "Djokovic deserves more respect - Becker". BBC Sport (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-06-08.
- ↑ World, Republic. "Novak Djokovic gets a special birthday wish from his favorite football club AC Milan". Republic World (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Zlatan Ibrahimovic opens up on relationship with Novak Djokovic". Tennis World USA (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Gleeson, Scott. "Novak Djokovic breaks down at Australian Open center court remembering friend Kobe Bryant". USA TODAY (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic marries pregnant fiancée days after winning Wimbledon". For The Win (ภาษาอังกฤษ). 2014-07-10.
- ↑ "Novak Djokovic's wife gives birth to baby boy (Updated)". Washington Post (ภาษาอังกฤษ). ISSN 0190-8286. สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
- ↑ Tennis.com. "Djokovic shares his love for dogs with cute videos". Tennis.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ https://www.amazon.com/Serve-Win-Gluten-Free-Physical-Excellence/dp/0345548981
- ↑ "July 23, 2006: The day Novak Djokovic won the first title of his career". Tennis Majors (ภาษาอังกฤษ). 2020-07-23.
- ↑ "French Open 2007 | Sport | The Guardian". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Djokovic battles to Aussie title" (ภาษาอังกฤษ). 2008-01-27. สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
- ↑ "Tennis: ATP Finals - London 2008 - results, fixtures - Scoreboard.com". www.scoreboard.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Tennis-X.com. "Djokovic, Team Goes Bald as Serbia Celebrates First Davis Cup Title [Video]" (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Serbia wins its first Davis Cup". Tennis Australia (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Network, Simon Cambers for The Sport Collective, part of the Guardian Sport (2011-11-17). "Is Novak Djokovic's year the best ever in men's tennis? | Guardian Sport Network". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Inspired Djokovic dethrones Nadal". BBC Sport (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
- ↑ "2012 | The great tennis match of all time?". ausopen.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Djokovic to end year in top spot". BBC Sport (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-05-25.
- ↑ "Djokovic hires Becker as head coach". BBC Sport (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-05-25.
- ↑ "Roger Federer pulls out of ATP Tour Finals with back injury". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2014-11-16.
- ↑ "Novak Djokovic Chasing His Best Year Yet | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Novak Djokovic's 2015 season stakes claim to being best ever". Hindustan Times (ภาษาอังกฤษ). 2015-10-19.
- ↑ Eckstein, Jeremy. "Is Novak Djokovic's 2015 Season the Greatest in Men's Tennis History?". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Players React To Novak Djokovic's Historic Win At Roland Garros | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Novak Djokovic and Boris Becker Split | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Novak Djokovic will miss the rest of 2017 season with elbow injury". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2017-07-26.
- ↑ "Djokovic Ends 2017 Season Due To Elbow Injury | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ Staff, Reuters (2018-02-03). "Djokovic undergoes surgery to cure troublesome elbow". Reuters (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ 2021-05-25.
- ↑ "Djokovic beats Anderson to win Wimbledon". BBC Sport (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-05-25.
- ↑ "Stats". Novak Djokovic (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Djokovic Completes Remarkable Return To No. 1 | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Federer beats Djokovic to reach ATP semis". BBC Sport (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-05-25.
- ↑ "Team Serbia Triumphs; ATP Cup By The Numbers | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Novak Djokovic Beats Rafael Nadal At ATP Cup Final In Sydney | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ News, A. B. C. "Tennis champ Novak Djokovic tests positive for COVID-19, apologizes for holding tournament: 'We were wrong'". ABC News (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic tests positive for Covid-19 amid Adria Tour fiasco". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2020-06-23.
- ↑ "Novak Djokovic Praises Serbia Fight After 2021 ATP Cup Exit - Match Reaction | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Stats: Novak Djokovic's 9th Australian Open crown, 18th Grand Slam and 82nd title". ESPN (ภาษาอังกฤษ). 2021-02-21.
- ↑ "Immersive Feature: How Djokovic Became The Longest-Reigning Champ In ATP History | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Djokovic fights back to win French Open". BBC Sport (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-06-13.
- ↑ "2021 Wimbledon ATP Entry List with Djokovic, Medvedev and Federer (last update 17-06-21)". Tennisuptodate.com (ภาษาอังกฤษ). 2021-06-18.
- ↑ "Novak Djokovic Saves Set Point, Overcomes Denis Kudla Challenge At Wimbledon | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ Amako, Uche (2021-07-11). "Novak Djokovic wins his sixth Wimbledon title and a 20th Grand Slam with victory over Matteo Berrettini - live reaction". The Telegraph (ภาษาอังกฤษ). ISSN 0307-1235. สืบค้นเมื่อ 2021-07-11.
- ↑ "Stats: Djokovic ties Federer, Nadal's 20 Grand Slams with 6th Wimbledon title". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2021-07-11.
- ↑ "Djokovic wins Wimbledon for 20th Slam". BBC Sport (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-07-11.
- ↑ "Tokyo 2020 Olympic Games - 'I've booked my flight' - Novak Djokovic confirms decision to compete at Olympics". Eurosport (ภาษาอังกฤษ). 2021-07-16.
- ↑ "Pablo Carreno Busta Upsets Novak Djokovic To Win Bronze In Tokyo | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Novak Djokovic Withdraws From Indian Wells | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ Tennis.com. "Novak Djokovic clinches historic seventh year-end No. 1 finish". Tennis.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Djokovic Wins Record 37th Masters 1000 Crown | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Novak Djokovic spends 350th week atop, eyes Steffi Graf's all-time record". www.timesnownews.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Tennis.com. "Novak Djokovic kicks off 350th career week at No. 1 on ATP rankings". Tennis.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic Celebrates 350th Week At World No. 1 | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Novak Djokovic withdraws from ATP Cup". Tennis World USA (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic denied Australia visa, will be deported to raise doubts over 2022 Australian Open title defence". Eurosport (ภาษาอังกฤษ). 2022-01-05.
- ↑ "Novak Djokovic: Australia cancels top tennis player's visa". BBC News (ภาษาอังกฤษ). 2022-01-05. สืบค้นเมื่อ 2022-01-05.
- ↑ "Djokovic to remain in immigration detention as legal team launches court action against deportation order". ABC News (ภาษาอังกฤษ). 2022-01-05. สืบค้นเมื่อ 2022-01-08.
- ↑ Mills, Adam Cooper, Anthony Galloway, Paul Sakkal, Tammy (2022-01-10). "Djokovic's fate in minister's hands after court quashes visa ban". The Sydney Morning Herald (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic v Minister for Home Affairs | Federal Circuit and Family Court of Australia". www.fcfcoa.gov.au (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic wins Australia visa appeal - but government could still deport him". Sky News (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic set to face further questions over false travel claims". The Independent (ภาษาอังกฤษ). 2022-01-11.
- ↑ "Australian Border Force investigating whether Novak Djokovic made false travel claim". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2022-01-11.
- ↑ Rumsby, Ben; White, Josh (2022-01-11). "Novak Djokovic investigated over claim he lied on Australian Travel Declaration". The Telegraph (ภาษาอังกฤษ). ISSN 0307-1235. สืบค้นเมื่อ 2022-01-11.
- ↑ Paul, Sonali; Walsh, Courtney (2022-01-12). "Djokovic sorry for COVID errors, Australian Open visa still in doubt". Reuters (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-01-12.
- ↑ "Novak Djokovic: Australia cancels tennis star's visa". BBC News (ภาษาอังกฤษ). 2022-01-14. สืบค้นเมื่อ 2022-01-14.
- ↑ "Novak Djokovic news LIVE: Latest as Australia cancels visa again". The Independent (ภาษาอังกฤษ). 2022-01-14.
- ↑ "Live: Novak Djokovic 'extremely disappointed' with the court ruling against him". ABC News (ภาษาอังกฤษ). 2022-01-15. สืบค้นเมื่อ 2022-01-16.
- ↑ "Djokovic 'disappointed' with losing deportation appeal". AP NEWS (ภาษาอังกฤษ). 2022-01-16.
- ↑ "PM leaves door open for Djokovic to return sooner than three-year ban window". ABC News (ภาษาอังกฤษ). 2022-01-17. สืบค้นเมื่อ 2022-01-17.
- ↑ "Djokovic set for return in Dubai". BBC Sport (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-01-30.
- ↑ "Novak Djokovic willing to miss tournaments over vaccine". BBC News (ภาษาอังกฤษ). 2022-02-15. สืบค้นเมื่อ 2022-02-17.
- ↑ "Novak Djokovic pulls out of Indian Wells as vaccine stance derails US trip". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2022-03-09.
- ↑ Zagoria, Adam. "Novak Djokovic Officially Returns To World No. 1 In Men's Tennis". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic will officially play Monte Carlo". Tennis World USA (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Agencies (2022-04-12). "Undercooked Djokovic loses to Davidovich Fokina in Monte Carlo". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Immersive Tribute: Novak Djokovic's Journey To 1,000 Wins | Novak 1,000 | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Novak Djokovic Extends 'Big Titles' Lead With Rome Victory | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Tennis Strategy: The Aggressive, The Defensive, The Serve-Volleyer and The All-Court". I AM SURVIVORDEAN (ภาษาอังกฤษ). 2009-11-10.
- ↑ Rao, Madhusudan G. "20 Most Athletic Players in Tennis History". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "First Serve Return Points Won | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "The Buddhist temple that helps Djokovic maintain his winning ways". The Independent (ภาษาอังกฤษ). 2015-07-05.
- ↑ "Why You Should Pay More Attention To Novak Djokovic's Serve | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ Revolution, Health Fitness (2015-06-05). "Novak Djokovic Fittest Athlete in the World". Health Fitness Revolution (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ ""Novak Djokovic Is One of the Best Athletes on the Planet Ever" - Dominic Thiem". EssentiallySports. 2020-06-03.
- ↑ Health, Men's (2015-09-11). "Is Novak Djokovic the fittest athlete of all time?". Men's Health (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic – The official website". Novak Djokovic (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Jun 13, Reuters /; 2021; Ist, 23:19. "FACTBOX: French Open champion Novak Djokovic | Tennis News - Times of India". The Times of India (ภาษาอังกฤษ).CS1 maint: numeric names: authors list (link)
- ↑ "Novak Djokovic Comeback Seals Historic Roland Garros Victory | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "ATP News: Djokovic Extends Big Titles Lead With Second Career Golden Masters | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Novak Djokovic rallies to beat Stefanos Tsitsipas in epic French Open final". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2021-06-13.
- ↑ "Djokovic wins ninth Australian Open". BBC Sport (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-06-14.
- ↑ "NOLE WINS HIS THIRD AUSTRALIAN OPEN CROWN IN HISTORIC MATCH!". Novak Djokovic (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "2021 Wimbledon: Novak Djokovic secures his 75th Wimbledon win". in.news.yahoo.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic wins ATP World Tour Finals for 4th consecutive time - GKToday". www.gktoday.in.
- ↑ "Djokovic Completes Career Golden Masters In Cincinnati | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Unstoppable Djokovic Claims Second Career Golden Masters at Western and Southern Open - Tennis Now". www.tennisnow.com.
- ↑ "Novak Djokovic defeats Daniil Medvedev in Paris Masters final to gain revenge: As it happened". Eurosport (ภาษาอังกฤษ). 2021-11-07.
- ↑ Limited, Bangkok Post Public Company. "Djokovic sets all-time record for weeks at world No. 1". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2022-01-14.
- ↑ Arjun (2018-09-19). "7 Novak Djokovic records which may never be broken". www.sportskeeda.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "ATP: career prize money earnings of tennis players 2019". Statista (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "'Rafael Nadal's greatest rival on clay is still Novak Djokovic,' says Toni Nadal". Tennis World USA (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic Beats Rafael Nadal In Epic 2012 Australian Open Final | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Nadal earns win in Djokovic rivalry, Rome title". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2021-05-16.
- ↑ Corbett, Merlisa Lawrence. "The Evolution of the Roger Federer vs. Novak Djokovic Rivalry". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Djokovic Beats Federer: How The Wimbledon 2019 Final Was Won | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ Tennis.com. "2011: Djokovic hits return heard 'round the world to beat Federer". Tennis.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "US Open 2011: Roger Federer struggles to accept Novak Djokovic defeat". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2011-09-11.
- ↑ "Andy Murray & Novak Djokovic: Childhood Friends Battling On The Big Stage | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Novak Djokovic VS Andy Murray | Head 2 Head | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Five finals, five defeats: Andy Murray's misery in Melbourne". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2016-01-31.
- ↑ "N. Djokovic - J. Tsonga Head to Head Game Statistics, Tennis Tournament Results - Tennis Statistics Wettpoint". tennis.wettpoint.com.
- ↑ "Evolution of Djokovic vs Tsonga rivalry". Tennis Factor (ภาษาอังกฤษ). 2012-10-07.
- ↑ "Ill Djokovic hands Tsonga victory". ABC News (ภาษาอังกฤษ). 2010-01-27. สืบค้นเมื่อ 2022-01-14.
- ↑ "Djokovic downs Tsonga at Tour Finals". ABC News (ภาษาอังกฤษ). 2012-11-05. สืบค้นเมื่อ 2022-01-14.
- ↑ "Novak Djokovic – The official website". Novak Djokovic (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ น้ำใจงาม! ยอโควิช บริจาค 1 ล้านดอลลาร์ เยียวยาผู้เล่นตกรอบแรก ออสเตรเลียน โอเพ่น, สืบค้นเมื่อ 2021-06-09
- ↑ "'เฟด-นาดาล-ยอโควิช' ชวนนักเทนนิสตั้งกองทุนช่วยเหลือเพื่อนร่วมวงการที่ลำบากจากโควิด-19". THE STANDARD. 2020-04-20.
- ↑ Rovell, Darren (2012-05-22). "Sergio Tacchini, Djokovic Shockingly Part Ways". www.cnbc.com.
- ↑ "#61 Novak Djokovic". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic Equipment & Clothing - Tennisnuts.com". www.tennisnuts.com.
- ↑ "2003 Prize Money". คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2012-01-29.
- ↑ "2004 Prize Money". คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2012-01-27.
- ↑ "2005 Prize Money". คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2012-01-26.
- ↑ "2006 Prize Money". คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2009-06-07.
- ↑ "2007 Prize Money". คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2010-01-03.
- ↑ "2008 Prize Money". คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2009-08-27.
- ↑ "2009 Prize Money". คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2010-03-07.
- ↑ "2010 Prize Money". คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2011-07-28.
- ↑ 162.0 162.1 "2011 Prize Money". คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2013-02-01.
- ↑ "2013 Prize Money". คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2014-03-21.
- ↑ "2014 Prize Money". คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2011-01-10.