น้ำแข็งย้อย


น้ำแข็งย้อย (อังกฤษ: icicle) คือน้ำแข็งในรูปทรงแท่งแหลม ที่เกิดขึ้นการหยดหรือไหลตกของน้ำหรือหยดน้ำค้างและแข็งตัวกลายเป็นน้ำแข็งอีกครั้ง ภายใต้อุณหภูมิบรรยากาศที่ต่ำกว่าจุดเยือกแข็งของน้ำ สะสมตัวยาวขึ้นเรื่อย ๆ ภายใต้สภาวะที่เหมาะสม
การก่อตัวและพลวัต
[แก้]
น้ำแข็งย้อยสามารถก่อตัวได้แม้ในสภาวะที่มีแสงแดดจ้า ซึ่งต้องมีอุณหภูมิบรรยากาศต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง (ของน้ำ) ก่อตัวเมื่อน้ำแข็งหรือหิมะละลายด้วยแสงแดดหรือแหล่งความร้อนอื่น ๆ (เช่น อาคารที่มีฉนวนความร้อนไม่ดี และมีไอความร้อนรั่วออกมา) โดยจะละลายอย่างต่อเนื่องช้า ๆ รวมตัวกันและไหลหยดลงนอกจุดที่ละลายตัว และแข็งตัวกลายเป็นน้ำแข็งอีกครั้ง เมื่อเวลาผ่านไปน้ำละลายและแข็งตัวที่ไหลอย่างต่อเนื่องจะสะสมตัวทำให้น้ำแข็งย้อยยาวขึ้น สภาวะอีกรูปแบบหนึ่งคือ การก่อตัวในช่วงพายุน้ำแข็ง เมื่อละอองฝนตกลงมาในบรรยากาศที่ต่ำกว่าจุดเยือกแข็งเล็กน้อยจะสะสมอย่างช้า ๆ เป็นแท่งน้ำแข็งย้อยจำนวนมากห้อยลงมาจากกิ่งไม้ ใบไม้ สายไฟ ฯลฯ โดยเฉพาะในจุดที่เป็นช่องทางของลม สภาวะที่สาม น้ำแข็งสามารถก่อตัวได้ทุกที่ที่น้ำไหลซึมออกมาหรือหยดลงบนพื้นผิวในแนวตั้ง เช่น ช่องถนนที่ตัดผ่านภูเขาหิน (ช่องเขาที่ตัดด้วยฝีมือมนุุษย์) ช่องเขาธรรมชาติ หรือหน้าผา น้ำแข็งย้อยอาจก่อตัวและสะสมตัวจนมีขนาดใหญ่มากเป็น "น้ำตกน้ำแข็ง" ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของนักปีนเขาน้ำแข็ง
น้ำแข็งย้อยก่อตัวขึ้นบนพื้นผิวที่มีรูปทรงและผิวต่าง ๆ ได้แก่ ผิวเรียบ ตรง หรือไม่สม่ำเสมอ จะมีอิทธิพลต่อรูปร่างของแท่งน้ำแข็งย้อยได้ อิทธิพลอีกประการหนึ่งคือ การละลายน้ำและทิศทางของลม ซึ่งทำให้น้ำอาจไหลเข้าหาแท่งน้ำแข็งเป็นเส้นตรง (ในทิศทางเดิม) หรืออาจไหลจากหลายทิศทาง (จากกระแสลมไม่คงที่ หรือเปลี่ยนทิศทางไม่สม่ำเสมอ)[1] สิ่งสกปรกในน้ำอาจทำให้เกิดการกระเพื่อมตัวของหยดน้ำที่มาสะสมบนพื้นผิว กลายเป็นน้ำแข็งย้อยที่มีผิวเป็นคลื่น[2]
น้ำแข็งย้อยขยายตัวขึ้น (โดยมากคือ การเพิ่มความยาว) เป็นแท่งย้อยลงมาในรูปทรงเดียวกับหยดน้ำ และผลของกระบวนการก่อตัวนี้เอง ทำให้ภายในของน้ำแข็งย้อยที่กำลังก่อตัว ยังเป็นน้ำ (น้ำในรูปเหลว) เหมือนหลอดน้ำแข็งที่ห่อหุ้มน้ำไว้ และผนังของหลอดน้ำแข็งหนาประมาณ 0.1 มิลลิเมตร (0.0039 นิ้ว) และกว้างโดยเฉลี่ย 5 มิลลิเมตร (0.20 นิ้ว) การขยายตัวของน้ำแข็งย้อยทั้งความยาวและความกว้างสามารถคำนวณได้ และแปรตามความซับซ้อนของอุณหภูมิของอากาศ ความเร็วลม และอัตราการไหลของน้ำ เข้าสู่น้ำแข็งย้อย[3] โดยทั่วไปอัตราเร็วการเพิ่มของความยาวจะแตกต่างกันไปตามเวลาและในสภาวะที่เหมาะสม ซึ่งอาจมีค่ามากกว่า 1 เซนติเมตร (0.39 นิ้ว) ต่อนาที
ด้วยเงื่อนไขที่เหมาะสม น้ำแข็งอาจก่อตัวในถ้ำ เป็นถ้ำน้ำแข็งย้อย (ซึ่งในกรณีนี้เรียกอีกอย่างว่า น้ำแข็งงอกน้ำแข็งย้อย - ice stalactites) นอกจากนี้ยังสามารถก่อตัวขึ้นจากน้ำเค็ม (น้ำเกลือ) ที่ละลายจมตัวจากน้ำแข็งในทะเล ที่เรียกว่า นิ้วน้ำแข็ง ซึ่งสามารถฆ่าเม่นทะเล และปลาดาวได้จริง ซึ่งทีมงานภาพยนตร์ของบีบีซีสังเกตเห็นในบริเวณใกล้เขาเอเรบัส แอนตาร์กติกา[4]
ความเสียหายและการบาดเจ็บที่เกิดจากน้ำแข็งย้อย
[แก้]น้ำแข็งย้อยสามารถก่อให้เกิดอันตรายทั้งด้านความปลอดภัยและด้านโครงสร้างอาคาร น้ำแข็งย้อยที่ห้อยลงมาอาจตกลงและทำให้เกิดการบาดเจ็บ และหรือความเสียหายต่อบุคคลหรือสิ่งของที่อยู่ด้านล่าง นอกจากนี้การสะสมตัวของน้ำแข็งอาจมีน้ำหนักมาก น้ำแข็งเกาะบนวัตถุ เช่น ลวด คาน หรือเสาค้ำ น้ำหนักของน้ำแข็งที่มากพอจะทำลายความสมบูรณ์ของโครงสร้างของวัตถุหรืออาคารอย่างรุนแรง และอาจทำให้วัตถุแตกหักหรืออาคารเสียหายได้ ความเสียหายนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับหลังคา โดยเฉพาะในส่วนที่ไม่ได้ออกแบบให้รับน้ำหนักอื่นนอกเหนือจากตัวหลังคาเอง สามารถสร้างความเสียหายให้กับยานพาหนะที่จอดอยู่ใกล้เคียงหรือภายใน และผู้อยู่อาศัยภายในอาคาร น้ำแข็งย้อยบนหลังคาสามารถสมทบเข้ากับเขื่อนน้ำแข็งบนหลังคา ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายจากน้ำเมื่อน้ำซึมเข้าไปใต้หลังคาชิงเกิลรูฟได้ (shingle roof หรือเรียกหลังคายางมะตอยเป็นวัสดุสังเคราะห์)[1] (น้ำซึมที่ีเข้าไปและแข็งตัว จะขยายปริมาณ ทำให้การยึดเกาะของแผ่นยางมะตอยน้อยลง — การแข็งตัวของน้ำที่สร้างความเสียหาย ดูเพิ่มที่ น้ำแข็ง, ปรากฏการณ์น้ำแข็งลิ่ม)
นอกจากนี้ยังมีความเสียหายอื่น ๆ ที่ได้รับการบันทึก เช่น
เรื่องราวของเด็กหนุ่มชาวอังกฤษที่ตายเนื่องจากถูกน้ำแข็งย้อยที่ร่วงลงมาใน ค.ศ. 1776 มักเป็นที่เล่าขาน[5][6][7]
น้ำแข็งย้อยขนาดใหญ่ที่ก่อตัวบนหน้าผา ใกล้ทางหลวงเป็นที่ทราบกันดีว่าตกลงมาและสร้างความเสียหายให้กับยานยนต์[1]
ใน ค.ศ. 2010 มีผู้เสียชีวิต 5 คนและบาดเจ็บ 150 คนจากน้ำแข็งในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย หลังจากหิมะตกหนักทำให้หลังคาอาคารอะพาร์ตเมนต์พังทลาย รวมทั้งสร้างความเสียหายให้กับบ้านส่วนตัวหลายหลังและหอสมุดแห่งชาติรัสเซีย
ดูเพิ่ม
[แก้]- นิ้วน้ำแข็ง (นิ้วแห่งความตาย - brinicle)
- เข็มน้ำแข็ง (ice spike)
- สนิมย้อย (rusticle)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 Ribas, Jorge (9 February 2010). "Snowmageddon Brings Icicles of Doom". Discovery News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-03. สืบค้นเมื่อ 19 September 2012.
- ↑ "Why Icicles Look the Way They Do". NY Times. 16 March 2015. สืบค้นเมื่อ 25 March 2015.
- ↑ Makkonen, L. (1988). "A model of icicle growth". Journal of Glaciology. 34: 64–70. Bibcode:1988JGlac..34...64M. doi:10.1017/S0022143000009072.
- ↑ Ella Davies: 'Brinicle' ice finger of death filmed in Antarctic เก็บถาวร 2012-02-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน filmed by Hugh Miller and Doug Anderson, Frozen Planet, BBC Nature, BBC One, broadcast 23 November 2011.
- ↑ Sporting Magazine: or, Monthly Calendar of the Transactions of The Turf, The Chase, and Every Other Diversion Interesting to the Man of Pleasure, Enterprise, and Spirit, Vol. 27. London: J. Wheble. 1806. p. 95.
- ↑ Billing, Joanna (2003). The Hidden Places of Devon. Aldermaston, England: Travel Publishing Ltd. p. 51.
- ↑ Streever, Bill (2009). Cold: Adventures in the World's Frozen Places. New York: Little, Brown and Company. p. 147.
In 1776, a son of the parish clerk of Bampton in Devon, England, was killed by an icicle that plummeted from the church tower and speared him. His memorial: Bless my eyes / Here he lies / In a sad pickle / Kill'd by an icicle.