น้อยโหน่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
น้อยโหน่ง
ผลน้อยโหน่ง
ผลน้อยโหน่งเมื่อผ่าครึ่ง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Magnoliales
วงศ์: Annonaceae
สกุล: Annona
สปีชีส์: A.  reticulata
ชื่อทวินาม
Annona reticulata
L.
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของน้อยโหน่งในอเมริกากลาง
ชื่อพ้อง
  • Annona humboldtiana Kunth
  • Annona humboldtii Dunal[1]
  • Annona excelsa Kunth
  • Annona laevis Kunth
  • Annona longifolia Sessé & Moc.
  • Annona riparia Kunth
  • Rollinia mucosa (Jacq.) Baill.[2]
  • Rollinia deliciosa Saff.
  • Annona mucosa Jacq.
  • Rollinia orthopetala A. DC.
  • Rollinia pulchrinervia A. DC.
  • Rollinia sieberi A. DC.

น้อยโหน่ง (อังกฤษ: Custard-apple, Bullock's-heart) ผลไม้ชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Annona reticulata อยู่ในวงศ์กระดังงา สกุลเดียวกับ น้อยหน่า (A. squamosa) เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีดอกคล้ายดอกของน้อยหน่า แต่ผลมีขนาดโตกว่า เปลือกบางแต่เหนียว ค่อนข้างเรียบ ไม่นูนเป็นตา ๆ สีเขียวจาง ๆ ปนสีแดงเรื่อ ๆ ความสูงของลำต้นประมาณ 5-8 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเป็นรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก หรือใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับเป็นรูปใบหอก ปลายและโคนใบแหลมสีเขียวสด ปลูกได้ในดินทั่วไป

เนื้อในผลหนาสีขาว รสชาติหวานแต่ไม่เท่าน้อยหน่า มีเมล็ดมาก มีคุณค่าทางอาหาร คือมีวิตามินเอมากกว่าน้อยหน่า นอกจากนี้แล้วยังมีสรรพคุณทางยา คือ ผลทั้งดิบและสุกแก้ท้องร่วง โรคบิด โรคซาง ลมจุกเสียด แก้พยาธิในท้อง และพยาธิผิวหนัง, รากใช้แก้เหงือกบวม รักษาโรคเรื้อน เปลือกและต้นใช้แก้บิด ท้องเสีย เป็นยาห้ามเลือดและสมานแผล, ใบใช้ฆ่าพยาธิผิวหนัง แก้บวมและฟกช้ำ เมล็ดใช้เป็นยาสมานแผล นอกจากนี้แล้วทั้งผลดิบและใบสดยังสามารถใช้ต้มเอาน้ำทำเป็นสีย้อมผ้าให้สีดำและสีน้ำเงินที่สวยงามและติดทนนานอีกด้วย[1][2]

น้อยโหน่ง จะนิยมรับประทานน้อยกว่าน้อยหน่า เนื่องจากผลมีกลิ่นฉุน ยังมีชื่อเรียกต่างกันไปตามภาษาถิ่นในแต่ละภาคอีกด้วย เช่น มะโหน่ง หรือ มะเนียงแฮ้ง (ภาคเหนือ), น้อยหนัง (ภาคใต้) เป็นต้น

ทั้งน้อยโหน่งและน้อยหน่า มิใช่พืชพื้นเมืองของไทยหรือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เป็นพืชพื้นเมืองของภูมิภาคอเมริกากลาง เชื่อว่าถูกเข้านำมาครั้งแรกในสมัยอยุธยา[3] แต่ปัจจุบัน สามารถพบน้อยโหน่งและน้อยหน่าได้ทั่วไป ทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ไต้หวัน, อินเดีย, ออสเตรเลีย และแอฟริกาตะวันตก

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. น้อยโหน่ง Custard apple / Bullock[ลิงก์เสีย]
  2. น้อยโหน่ง [ลิงก์เสีย]
  3. "กินน้อยหน่าอย่าทิ้งเมล็ด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-25. สืบค้นเมื่อ 2010-10-21.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]