ข้ามไปเนื้อหา

นิยายวีรคติอัศวิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อิเวนต่อสู้กับกาเวนเพื่อชิงความรักของลอดีนกลับคืนมา ภาพประกอบสมัยกลางจากนิยายวีรคติอัศวินเรื่อง อิเวนหรืออัศวินแห่งสิงโต ของเครเตียง เดอ ทรัว

นิยายวีรคติอัศวิน (อังกฤษ: chivalric romance) เป็นประเภทของเรื่องเล่าร้อยกรองหรือร้อยแก้วที่ได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นสูงของยุโรปสมัยกลางตอนกลางและสมัยใหม่ตอนต้น มีเนื้อหาเกี่ยวกับการผจญภัยที่เต็มไปด้วยความมหัศจรรย์ บางครั้งก็แฝงปรากฏการณ์เหลือเชื่อ ตามปกติตัวเอกของเรื่องจะเป็นอัศวินพเนจรผู้เปี่ยมไปด้วยคุณสมบัติของวีรบุรุษและออกเดินทางเพื่อปฏิบัติภารกิจบางอย่าง นิยายประเภทนี้พัฒนาต่อยอดมาจากมหากาพย์โบราณเมื่อเวลาผ่านไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "การเน้นเรื่องความรักและจรรยามารยาทในราชสำนักทำให้นิยายเหล่านี้แตกต่างจากเพลงขับวีรกรรมและมหากาพย์ประเภทอื่น ๆ ซึ่งเน้นวีรกรรมการรบของชายชาตรีมากกว่า"[1]

วรรณกรรมประชานิยมยังดึงเอาแก่นเรื่องต่าง ๆ ในนิยายวีรคติอัศวินมาใช้ แต่มีเจตนาแฝงนัย เสียดสี หรือล้อเลียนเจือปน นิยายวีรคติอัศวินมักนำตำนาน เทพนิยาย และประวัติศาสตร์มาดัดแปลงให้เข้ากับรสนิยมของผู้อ่านและผู้ฟัง แต่เมื่อถึงประมาณ ค.ศ. 1600 นิยายประเภทนี้ก็เสื่อมความนิยมลง มิเกล เด เซร์บันเตส ได้ล้อเลียนนิยายเหล่านี้ผ่านนวนิยายเรื่อง ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน อันโด่งดังของเขา อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของ "สมัยกลาง" ในสมัยใหม่กลับได้รับอิทธิพลจากนิยายวีรคติอัศวินมากกว่าวรรณกรรมประเภทอื่น ๆ จากสมัยเดียวกัน คำว่า "สมัยกลาง" จึงมักชวนให้นึกถึงภาพอัศวิน ดรุณีตกทุกข์ มังกร และกลไกการเล่าเรื่องวีรคติอื่น ๆ[2]

นิยายวีรคติอัศวินในสมัยแรกแต่งเป็นร้อยกรองภาษาฝรั่งเศสเก่า ภาษานอร์ม็องอังกฤษ ภาษาอุตซิตา และภาษาอาร์เปอตัง ภายหลังจึงเริ่มแต่งเป็นภาษาสเปน ภาษาโปรตุเกส ภาษาอังกฤษ ภาษาอิตาลี (กวีนิพนธ์ซิซิลี) และภาษาเยอรมัน ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 มีการแต่งเป็นร้อยแก้วมากขึ้นเรื่อย ๆ นิยายวีรคติอัศวินในสมัยหลัง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิยายที่มีต้นกำเนิดจากฝรั่งเศส) มีแนวโน้มอย่างเด่นชัดที่จะเน้นแก่นเรื่องแนวรักเทิดทูน เช่น ความเชื่อมั่นศรัทธาแม้ในยามยากลำบาก เป็นต้น

อ้างอิง

[แก้]
  1. Chris Baldick (2008). "Chivalric Romance". The Oxford Dictionary of Literary Terms (3rd ed.). Oxford University Press. ISBN 978-0-19-172717-7. OCLC 4811919031.
  2. Lewis, C. S. (1994). The Discarded Image (Canto ed.). Cambridge: Cambridge University Press. p. 9. ISBN 978-0-521-47735-2.