เพลงขับวีรกรรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แปดช่วงของ เพลงแห่งรอล็อง ในหนึ่งภาพ

เพลงขับวีรกรรม (ฝรั่งเศส: chanson de geste, "บทเพลงวีรกรรมของวีรบุรุษ") เป็นเรื่องเล่าสมัยกลาง เป็นมหากาพย์ประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงแรกเริ่มของวรรณกรรมฝรั่งเศส[1] เพลงขับวีรกรรมที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 11 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12 ไม่นานก่อนเกิดกวีนิพนธ์ความในใจ (lyric poetry) ของตรูบาดูและทรูแวร์ และบทร้อยกรองวีรคติอัศวิน (chivalric romance) เพลงขับวีรกรรมถึงจุดสูงสุดช่วง ค.ศ. 1150–1250[2]

เพลงขับวีรกรรมประพันธ์ในรูปร้อยกรอง มีความยาวปานกลาง (โดยเฉลี่ยที่ 4,000 บาท)[3] เดิมขับร้องและภายหลังท่องโดยวณิพกและนักแสดงสัญจร มีต้นฉบับเพลงขับวีรกรรมประมาณ 300 ชิ้นที่เหลือรอดจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมาจากสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 12–15

ที่มา[แก้]

นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 มีการอภิปรายถึงต้นกำเนิดของเพลงขับวีรกรรม โดยเฉพาะระยะเวลาของการประพันธ์กับเหตุการณ์จริงที่อ้างถึง[4] เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เพลงกล่าวถึงเกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 8–10 เพลงขับวีรกรรมที่เก่าแก่ที่สุดเกิดขึ้นช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 11 มีเพียงเพลงขับวีรกรรม 3 ชิ้นที่แต่งก่อนปี ค.ศ. 1150 ได้แก่ เพลงแห่งกีโยม (Chanson de Guillaume), เพลงแห่งรอล็อง (Chanson de Roland) และ กอร์มงและอีซ็องบาร์ (Gormond et Isembart)[4] ครึ่งแรกของ เพลงแห่งกีโยม อาจแต่งขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 11[5][6] ขณะที่นักวิชาการคนหนึ่งเสนอว่า กอร์มงและอีซ็องบาร์ อาจแต่งขึ้นในปี ค.ศ. 1068[7] ส่วน เพลงแห่งรอล็อง อาจแต่งขึ้นระหว่างหลัง ค.ศ. 1086[8] ถึงประมาณ ค.ศ. 1100[4][9]

มีทฤษฎี 3 ทฤษฎีที่พยายามอธิบายที่มาของเพลงขับวีรกกรรม ทฤษฎีที่ 1 บรรยายว่าเป็นการสืบเนื่องจากงานวรรณกรรมที่เก่าแก่กว่านั้นอย่างมหากาพย์ บทกวีลีริก และบทกวีร้อยแก้ว[10] นักวิจารณ์หลายคน เช่น โกลด ชาร์ล ฟอเรียล, ฟร็องซัว ฌุสต์ มารี แรนัวร์ และยาค็อพ กริม เสนอว่าบทกวีลีริกเป็นบทกวีตามธรรมชาติที่ผู้คนขับขานก่อนจะถูกนำมารวมกันเป็นมหากาพย์[11] เมื่อสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ปีโอ ราจนา เสนอว่าเพลงขับวีรกรรมอาจได้รับอิทธิพลจากกลุ่มชนเจอร์แมนิก หลังพบความคล้ายคลึงระหว่างเพลงขับวีรกรรมกับเรื่องเล่าเจอร์แมนิกเก่า/เมรอแว็งเฌียง[12]

ทฤษฎีที่ 2 ของปอล แมแยร์ เสนอว่าเพลงขับวีรกรรมพัฒนาจากร้อยแก้วเดิมที่พรรณนาถึงเหตุการณ์จริง[10][13]

ทฤษฎีที่ 3 (ซึ่งไม่ได้รับการยอมรับในปัจจุบัน)[14] ของโฌแซ็ฟ เบดีเย เสนอว่าเพลงขับวีรกรรมเกิดขึ้นราว ค.ศ. 1000 โดยนักร้อง (ร่วมกับนักบวช) ที่พยายามเลียนเพลงสวดนักบุญในโบสถ์ โดยนำเนื้อหามาจากวีรบุรุษที่มีสักการสถานหรือหลุมศพอยู่ในเส้นทางจาริกแสวงบุญ ทั้งนี้เพื่อดึงดูดให้ผู้แสวงบุญมาที่โบสถ์[15] นักวิจารณ์ยังเสนอความเห็นว่าความรู้ในภาษาละตินของนักบวชยังมีส่วนช่วยในการประพันธ์เพลงเหล่านี้[13][15]

การอภิปรายสมัยหลังสนใจเพลงขับวีรกรรมในด้านจารีต (เป็นส่วนหนึ่งของธรรมเนียมประชานิยม) และปัจเจก (ประพันธ์โดยผู้เขียนคนเดียว)[13] นักวิชาการพยายามค้นคว้าต้นฉบับเพื่อสืบหาวีรบุรุษตามตำนาน สำรวจความสืบเนื่องของธรรมเนียมวรรณกรรมละติน[16] รวมถึงศึกษาในแง่มุขปาฐะ แม้นักวิชาการบางส่วนจะเน้นย้ำว่าการเขียนมีความสำคัญต่อเพลงขับวีรกรรมมากกว่าในแง่การอนุรักษ์เนื้อหาและการรักษาฉันทลักษณ์

เนื้อหาและโครงสร้าง[แก้]

เพลงขับวีรกรรมประพันธ์ด้วยภาษาฝรั่งเศสเก่า มีเนื้อหาเกี่ยวกับตำนาน (ซึ่งบางครั้งอิงเหตุการณ์จริง) ในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8–10 สมัยชาร์ล มาร์แตล, ชาร์เลอมาญ และจักรพรรดิหลุยส์ผู้ศรัทธา โดยเน้นย้ำการสงครามกับชาวมัวร์และซาราเซน รวมถึงความขัดแย้งของกษัตริย์กับขุนนาง

เนื้อหาเพลงขับวีรกรรมเรียกรวม ๆ ว่าปกรณัมเกี่ยวกับฝรั่งเศส ในทำนองเดียวกับปกรณัมเกี่ยวกับบริเตนที่มีเรื่องราวของพระเจ้าอาร์เทอร์และอัศวินโต๊ะกลม และปกรณัมเกี่ยวกับโรมที่มีเรื่องราวของอเล็กซานเดอร์มหาราชและจูเลียส ซีซาร์[17][18]

ปัจจัยสำคัญที่แยกเพลงขับวีรกรรมจากบทร้อยกรองวีรคติ (ซึ่งมักสำรวจบทบาทของบุคคล) คือการวิจารณ์และการเฉลิมฉลองกลุ่มคน (มักแสดงภาพวีรบุรุษในเรื่องเป็นบุคคลตามเทวลิขิต)[19] รวมถึงเป็นตัวแทนของความซับซ้อนทางความสัมพันธ์และการรับใช้ในระบบฟิวดัล

เนื้อหาของเพลงขับวีรกรรมเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสสังคม การยุทธ์และความกล้าหาญเป็นแก่นหลักของเพลงขับวีรกรรมช่วงแรก ก่อนจะมีส่วนอื่น ๆ เช่น เงินตรา ฉากในเมือง ตัวละครหญิง และความรักเข้ามาเพิ่มเติม[2] นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบทางจินตนิมิตและการผจญภัยซึ่งรับมาจากบทร้อยกรองวีรคติอย่างเวทมนตร์ ยักษ์ และอสุรกาย เพลงขับวีรกรรมบางส่วนที่เล่าถึงสงครามครูเสดครั้งที่หนึ่งมีเรื่องราวการผจญภัยทางตะวันออกซึ่งมาจากคำบอกเล่าของนักรบครูเสด ขณะที่เพลงขับวีรกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ที่เล่าถึงสงครามร้อยปีมีเนื้อหาชาตินิยมและโน้มน้าวใจ[20]

ฉันทลักษณ์[แก้]

เพลงขับวีรกรรมยุคแรกมักประพันธ์แบบหนึ่งบาทมีสิบพยางค์ (decasyllable) และมีการกระทบสระ (assonance) กล่าวคือมีสระเน้นตัวสุดท้ายเหมือนกัน แต่พยัญชนะต่างกันไปในแต่ละบาท ตัวอย่างของ เพลงแห่งรอล็อง แสดงรูปแบบดังกล่าว โดยสระกระทบในบทนี้คือสระ e:

Desuz un pin, delez un eglanter
Un faldestoed i unt, fait tout d'or mer:
La siet li reis ki dulce France tient.
Blanche ad la barbe et tut flurit le chef,
Gent ad le cors et le cuntenant fier.
S'est kil demandet, ne l'estoet enseigner.

เพลงขับวีรกรรมยุคหลังเป็นแบบสัมผัสเดี่ยว (monorhyme) หรือมีเสียงสระตรงพยางค์สุดท้ายของแต่ละบาทเหมือนกัน นอกจากนี้เพลงขับวีรกรรมยุคหลังมักประพันธ์ด้วยบทร้อยกรองอะเล็กซันดรีน (alexandrine) ซึ่งมีสิบสองพยางค์ บทเปิดเรื่องของ เลเชติฟ (Les Chétifs) แสดงรูปแบบดังกล่าว โดยสัมผัสคือ ie:

Or s'en fuit Corbarans tos les plains de Surie,
N'enmaine que .ii. rois ens en sa conpaignie.
S'enporte Brohadas, fis Soudan de Persie;
En l'estor l'avoit mort a l'espee forbie
Li bons dus Godefrois a le chiere hardie
Tres devant Anthioce ens en la prairie.

การแสดง[แก้]

เพลงขับวีรกรรมใช้การบอกเล่าเป็นหลัก เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่ในคริสต์ศตวรรษที่ 11–13 ยังขาดการรู้หนังสือ[21] (ยกเว้นสมาชิกราชสำนักและตระกูลขุนนาง)[22] ยังคงมีการถกเถียงว่าในยุคแรกมีการเขียนเนื้อเพลงลงบนกระดาษหนังไว้ก่อน แล้วให้ผู้แสดงอ่านจากต้นฉบับนั้น (แต่กระดาษหนังมีราคาค่อนข้างสูง)[23] หรือให้ผู้แสดงท่องจำเนื้อเพลงไว้ก่อนการแสดง[24] หรือผู้แสดงด้นสดบางส่วน[23] หรือผู้แสดงด้นสดทั้งหมดไปก่อน แล้วจึงบันทึกเนื้อเพลงตามทีหลัง นอกจากนี้ยังมีความเห็นในหมู่นักวิชาการถึงสภาพสังคมและการรู้หนังสือของผู้แสดง โดยจากการศึกษาพบว่าการบอกเล่ามีบทบาทสำคัญต่อผู้แสดงและผู้ชม

นักวิชาการยังมีความเห็นที่แตกต่างกันต่อวิธีการแสดง โดยทั่วไปเชื่อว่าเดิมกวี วณิพก และนักแสดงสัญจรขับร้อง (บางครั้งบรรเลงร่วมกับวิเอล เครื่องสายคล้ายไวโอลินในปัจจุบัน) ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นการท่องจำในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 13[2] มีการคำนวณว่าผู้แสดงสามารถขับร้องได้ประมาณ 1,000 บทต่อหนึ่งชั่วโมง[25] และบางครั้งจำกัดที่ 1,000–1,300 บทต่อการแสดงหนึ่งครั้ง[21] จึงเป็นไปได้ที่การแสดงเพลงขับวีรกรรมอาจเกิดขึ้นหลายวัน[25]

แม้จะมีหลักฐานว่าเพลงขับวีรกรรมอย่าง เพลงแห่งรอล็อง ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชม[26] แต่นักวิจารณ์บางส่วนเสนอว่าเพลงขับวีรกรรมไม่ใช่วรรณกรรมประชานิยม[27] และเพลงขับวีรกรรมบางชิ้นแต่งขึ้นเพื่อผู้ชมระดับอภิชนและนักรบ[28]

อ้างอิง[แก้]

  1. France, Peter (1995). The new Oxford companion to literature in French. Clarendon Press. ISBN 0198661258.
  2. 2.0 2.1 2.2 Hasenohr, 242.
  3. Holmes, 66.
  4. 4.0 4.1 4.2 Hasenohr, 239.
  5. Hasenohr, 520–522.
  6. Holmes, 102–104.
  7. Holmes, 90–92.
  8. La Chanson de Roland, 10.
  9. Hasenohr, 1300.
  10. 10.0 10.1 Holmes, 68.
  11. Holmes, 66–67.
  12. Holmes, 67.
  13. 13.0 13.1 13.2 see also Hasenohr, 239.
  14. La Chanson de Roland, 11.
  15. 15.0 15.1 Holmes, 68-9.
  16. see also Hasenohr, 240.
  17. Classen, Albrecht, บ.ก. (2015). Handbook of Medieval Culture: Fundamental Aspects and Conditions of the European Middle Ages. Vol. 2. Berlin, Germany: De Gruyter. p. 893. ISBN 978-3-11-037763-7. สืบค้นเมื่อ 17 July 2016.
  18. Janin, Hunt; Carlson, Ursula (2013). Mercenaries in Medieval and Renaissance Europe. Jefferson, NC, USA: McFarland. p. 32. ISBN 978-1-4766-1207-2. สืบค้นเมื่อ 17 July 2016.
  19. La Chanson de Roland, 16–17.
  20. Hasenohr, 242
  21. 21.0 21.1 La Chanson de Roland, 12.
  22. Bumke, 429.
  23. 23.0 23.1 La Chanson de Roland, 14.
  24. Bumke, 521-2.
  25. 25.0 25.1 Bumke, 522.
  26. Brault, 28.
  27. Brault, 353 (note 166).
  28. see Brault, 28.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]