นาตาเลีย คอฟโชวา
นาตาเลีย เวเนดิคตอฟนา คอฟโชวา | |
---|---|
ชื่อพื้นเมือง | Наталья Венедиктовна Ковшова |
เกิด | 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1920 อูฟา สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย |
เสียชีวิต | 14 สิงหาคม ค.ศ. 1942 ซูโทกี เขตพาร์ฟินสกี สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย สหภาพโซเวียต | (21 ปี)
รับใช้ | สหภาพโซเวียต |
แผนก/ | ทหารราบ |
ประจำการ | ค.ศ. 1941–1942 |
ชั้นยศ | พลทหารหญิง |
หน่วย | กองทหารปืนเล็กยาวที่ 528 |
การยุทธ์ | แนวรบด้านตะวันออกของสงครามโลกครั้งที่สอง † |
บำเหน็จ |
นาตาเลีย คอฟโชวา (รัสเซีย: Наталья Ковшова; อังกฤษ: Natalya Kovshova; 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1920 – 14 สิงหาคม ค.ศ. 1942) เป็นพลซุ่มยิงหญิงชาวโซเวียต ที่ต่อสู้ในมหาสงครามของผู้รักชาติ
เธอร่วมต่อสู้กับเพื่อนของเธอที่ชื่อมารียา โปลีวาโนวา ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ระบุเป้าหมายการยิงของเธอ นาตาเลียต่อสู้อย่างกล้าหาญตลอดช่วงสงคราม เธอถูกสังหารในการต่อสู้กับกองทหารแวร์มัคท์ของเยอรมันในบริเวณใกล้กับนอฟโกรอดเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1942 ต่อมา เธอได้รับบำเหน็จหลังมรณกรรมในรายการวีรชนแห่งสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นบำเหน็จสูงสุดของสหภาพโซเวียตสำหรับความกล้าหาญ ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943[1]
ชีวิตช่วงต้น
[แก้]นาตาเลีย คอฟโชวา เกิดวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1920 ในอูฟา เมืองใหญ่ซึ่งเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐบัชคอร์โตสตาน ในประเทศรัสเซีย และอูฟายังถือเป็นหนึ่งในเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศรัสเซีย ไม่นานหลังจากที่เธอถือกำเนิด ครอบครัวของเธอได้ย้ายไปยังมอสโก ซึ่งเธอเข้ารับการศึกษาในไฮสกูลในกรุงมอสโก หลังสำเร็จการศึกษาจากไฮสกูล คอฟโชวาเริ่มทำงานที่สถาบันวิจัยมอสโกในขณะที่รอการเข้ารับการศึกษาในมหาวิทยาลัยการบิน เธอได้พบกับหญิงสาวชื่อมารียา โปลีวาโนวา ขณะที่อยู่ในสถาบัน ซึ่งทั้งสองได้กลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน[2]
มหาสงครามของผู้รักชาติ
[แก้]เมื่อมหาสงครามของผู้รักชาติเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1941 คอฟโชวาเข้าร่วมหน่วยนารอดโนโอโปลเชนีเย (ป้องกันตนเอง) ในมอสโกกับโปลีวาโนวาเมื่ออายุ 21 ปี กลุ่มป้องกันตนเองเหล่านี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเครื่องบินลุฟท์วัฟเฟอของเยอรมนีเริ่มระเบิดนครและเมืองต่าง ๆ ของรัสเซีย คอฟโชวารับผิดชอบในฝ่ายสังเกตการณ์และการสื่อสาร เธอใช้เวลาหลายคืนในหอควบคุม หลังจากเธอเก็บประสบการณ์ในกลุ่มป้องกันตนเอง คอฟโชวาได้เข้าร่วมการฝึกซุ่มยิงในกองทหารปืนเล็กยาวที่ 528 เช่นเดียวกับโรงเรียนฝึกซุ่มยิงแห่งสตรีส่วนกลาง หลังจากการฝึกฝนของเธอเสร็จสิ้น เธอได้รับการส่งไปยังแนวรบร่วมกับกองทหารปืนเล็กยาวที่ 528[3][4]
ในเดือนมกราคมปี ค.ศ. 1942 คอฟโชวาและโปลีวาโนวา ที่เข้าร่วมกองทหารเดียวกันหลังจากคอฟโชวา ได้เริ่มต่อสู้กับกองกำลังเยอรมันที่แนวรบด้านตะวันตกเฉียงเหนือ เธอทั้งสองเป็นที่ยอมรับในฐานะพลซุ่มยิงผู้อยู่ประจำของกรม คอฟโชวาทำหน้าที่เป็นมือปืนในทีมพลซุ่มยิงสาวสองคน ส่วนโปลีวาโนวาทำหน้าที่เป็นผู้ระบุเป้าหมายการยิง พวกเธอทั้งสองต่อสู้ในยุทธการที่มอสโกเมื่อกองทหารปืนเล็กยาวที่ 528 ถูกส่งไปช่วยปกป้องเมืองหลวงของรัสเซีย ระหว่างการทำศึก คอฟโชวาได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นพลซุ่มยิงผู้ชำนาญ ด้วยการสังหารทหารเยอรมันจำนวนมาก เธอยังขุดที่ตั้งฐานปืนใหญ่ต่อต้านรถถัง, รังปืนกล และสนามเพลาะทหารราบในระหว่างการป้องกันจำนวนมาก นอกจากนี้ เธอได้รับหน้าที่ฝึกทหารใหม่ถึงวิธีการใช้ปืน ตลอดจนฝึกนักเรียนที่ดีที่สุดให้เป็นพลซุ่มยิง โดยสอนให้พวกเขาเป็นนักแม่นปืนเร็ว สำหรับการปฏิบัติของเธอในยุทธการที่มอสโก คอฟโชวาได้รับบำเหน็จเครื่องอิสริยาภรณ์ดาวแดง[5]
คอฟโชวาแสดงความเกลียดชังครั้งใหญ่ต่อชาวเยอรมันในช่วงสงคราม เธอได้รับแรงบันดาลใจจากการโฆษณาชวนเชื่อของโซเวียตที่อธิบายว่าทหารโซเวียตต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยของมาตุภูมิอย่างไร เธอเขียนถึงแม่ของเธอในปี ค.ศ. 1942: "แม่สามารถได้ยินเรื่องราวที่น่ากลัวจากชาวบ้านที่อยู่ในมือของพวกฟาสซิสต์ ผู้หญิงที่เราอาศัยอยู่มีแขกมาเยี่ยมโดยกล่าวว่าชาวเยอรมันได้ยิงพี่ชายของเธอและเพื่อนของเธอสี่คนเพียงเพราะพวกเขาออกไปข้างนอกหลัง 4 โมงเย็น" นาตาเลียค้นพบความยินดีอย่างยิ่งในการสังหารทหารเยอรมัน เธอเขียนถึงแม่ของเธอเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1942: "คุณแม่สุดที่รักของหนู!" "อย่าโกรธที่หนูไม่ได้เขียนจดหมายถึงแม่เกี่ยวกับการบาดเจ็บ แต่หนูไม่ต้องการที่จะกังวลถึงแม่โดยไม่มีเหตุผล เพราะไม่มีอะไรร้ายแรงเกิดขึ้น..." "หนูกลับมาพร้อมหน่วยวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1942 ตอนนี้ มาเชนกา [มารียา] กับหนูกำลังทำงานกับพลซุ่มยิงวัยสาว สถิติของพวกเค้าดูดี ในสองสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิถุนายนนักเรียนของเราลดจำนวนชาวเยอรมันลง 3 คน ก็ไม่เลว!"... "ไม่กี่วันที่ผ่านมาเราห้าคนไปลาดตระเวนโดยไม่พูดอะไรกับผู้บัญชาการของกองร้อย พวกเราอยู่ภายใต้จมูกของเยอรมัน และพวกเขาไม่ระแคะระคาย!"[5]
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1942 กรมของคอฟโชวามุ่งมั่นที่จะต่อสู้ใกล้หมู่บ้านซูโทกี-บายเอโกโว ในแคว้นนอฟโกรอด พลปืนกลและพลซุ่มยิงต่อต้านการรุกรานของเยอรมันในสนามเพลาะ ทหารโซเวียตถูกสังหารทีละคน จนกระทั่งมีเพียงคอฟโชวาและโปลีวาโนวาที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งทั้งคู่ได้รับบาดเจ็บ เมื่อการถูกจับไม่ใช่ทางเลือก คอฟโชวาตัดสินใจดึงสลักระเบิดออก และรอระเบิดทหารเยอรมันเมื่อพวกเขามาถึงสนามเพลาะ ในที่สุดเมื่อพวกเยอรมันมาถึงสนามเพลาะ คอฟโชวาได้ทำการระเบิด สังหารตัวเธอ, โปลีวาโนวา และทหารเยอรมันจำนวนมาก หลังจากนั้นไม่นาน เธอได้รับบำเหน็จหลังมรณกรรมเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์วีรชนแห่งสหภาพโซเวียต เพื่อเป็นการระลึกถึงการเสียสละของเธอ มีการเประเมินว่าคอฟโชวาและโปลีวาโนวาได้สังหารทหารเยอรมันไปกว่า 300 นายด้วยกัน[4][6]
นอกจากนี้ มีเรืออวนลากของโรงงานประมงโซเวียตลำหนึ่งได้รับการขนานนามว่า "นาตาเลีย คอฟโชวา" ในคริสต์ทศวรรษ 1960
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Melnikov, A.E. "Ковшова Наталья Венедиктовна". สืบค้นเมื่อ 19 July 2011.
- ↑ "Поливанова Мария Семеновна". airaces.narod.ru. สืบค้นเมื่อ 2018-01-25.
- ↑ "Ковшова Наталья Венедиктовна - снайпер Великой Отечественной войны Герой Советского Союза - Ворошиловские стрелки. Русские снайперы Великой Отечественной войны". airaces.narod.ru. สืบค้นเมื่อ 2018-01-31.
- ↑ 4.0 4.1 Sakaida, Henry (2012-04-20). Heroines of the Soviet Union 1941–45 (ภาษาอังกฤษ). Bloomsbury Publishing. ISBN 9781780966922.
- ↑ 5.0 5.1 "Ковшова Наталья Венедиктовна". www.warheroes.ru (ภาษารัสเซีย). สืบค้นเมื่อ 2018-01-31.
- ↑ "От солдата до генерала: Воспоминания о войне. Том 5. Читать бесплатно онлайн в электронном виде | Страница 4 | Единое окно". window.edu.ru. สืบค้นเมื่อ 2018-01-31.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ นาตาเลีย คอฟโชวา