ศิวนาฏราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก นาฏราชา)
ศิวนาฏราช
เทพแห่งการระบำ
รูปปั้นสัมฤทธิ์ของพระศิวะ เทพแห่งการระบำ สมัยราชวงศ์โจฬะในคริสต์ศตวรรษที่ 10 ปัจจุบันจัดแสดงที่Los Angeles County Museum of Art
ชื่ออื่นAdalvallaan, Koothan, Sabesan, Ambalavanan [1]
ส่วนเกี่ยวข้องพระศิวะ
สัญลักษณ์อัคนี
คัมภีร์Anshumadbhed agama
Uttarakamika agama

นาฏราช (สันสกฤต: नटराज, อักษรโรมัน: Naṭarāja) มีอีกชื่อว่า อาฏลฺวลฺลาน (ทมิฬ: ஆடல்வல்லான், อักษรโรมัน: Ādalvallāṉ)[2] เป็นรูปปั้นพระศิวะในฐานะเทพนักระบำแห่งจักรวาล การระบำของพระองค์มีชื่อเรียกว่า ตาณฑวะ[3][4] มีการบรรยายถึงท่าระบำและศิลปะในเอกสารทางศาสนาฮินดูหลายแห่ง เช่น Tevaram, Thiruvasagam ในภาษาทมิฬ และ Anshumadbhed agama กับ Uttarakamika agama ในภาษาสันสกฤตและครันถะ ระบำมูรติปรากฏในโบสถ์พราหมณ์หลักในลัทธิไศวะทั้งหมด[5] และเป็นสัญลักษณ์ทางประติมากรรมที่รู้จักกันดีในอินเดีย และนิยมใช้เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมอินเดีย[6][7] โดยถือเป็นหนึ่งในภาพที่สวยงามที่สุดในศิลปะฮินดู[8][9]

รูปประติมากรรมนี้ให้พระศิวะเป็นเทพแห่งการเต้นระบำและนาฏศิลป์[10] นอกจากนี้ยังมีภาพนูนของนาฏราชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายแห่ง เช่น นครวัด และในเกาะบาหลี ประเทศกัมพูชา และเอเชียกลาง[10][11][12]

ศิวนาฏราชในศิลปะอินเดีย[แก้]

นาฏราช หรือพระศิวะในฐานะของบรมครูองค์แรกแห่งการร่ายรำ พระหัตถ์ขวาด้านบน ทรงถือกลองรูปร่างคล้ายๆ นาฬิกาทราย (เอวคอด) กลองเล็ก ๆ ใบนี้ให้จังหวะประกอบการฟ้อนรำของพระศิวะ และที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ เสียงกลองเป็นสัญลักษณ์แทนธาตุแรกที่ถือกำเนิดขึ้นในจักรวาล นั่นคือ กลองเป็นสัญลักษณ์แห่งการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ทั้งมวล

พระหัตถ์ซ้ายด้านบน ถืออัคนี อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการทำลายล้าง โดยคำว่า ทำลายล้าง ในที่นี้ หมายถึง ล้างความชั่ว ล้างอวิชชา ให้หมดไป เพื่อเปิดทางการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาใหม่ พระกรและพระหัตถ์คู่ซ้าย-ขวา ซึ่งแทนการสร้างสรรค์และการทำลายล้างนี้ กางออกไปในระดับเสมอกัน อันบ่งบอกถึงความหมายที่ว่า "มีเกิด ก็ย่อมมีดับ" นั่นเอง

พระหัตถ์ขวาด้านล่างแบออก เรียกว่า ปางอภัยมุทรา (abhaya pose) ซึ่งมีความหมายว่า "จงอย่าได้กลัวเลย" (do not fear) เพราะไม่มีภัยใด ๆ จะมากล้ำกลาย ท่านี้บ่งว่าพระศิวะเป็นผู้ปกป้องอีกด้วย

ส่วนพระกรซ้ายด้านล่างพาดขวางลำตัวระดับอก ในลักษณะคล้ายๆ งวงช้าง ซึ่งบางคนตีความว่า เป็นงวงของพระคเณศ เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ และเป็นบุตรของพระศิวะอีกต่างหาก ปลายนิ้วของพระกรที่เป็นงวงช้างนี้ชี้ไปที่พระบาทซ้ายที่ยกขึ้น มาจากพื้น ก็ตีความกันว่า พระบาทที่ยกขึ้นมานี้บ่งบอกถึงการหลุดพ้นจากวัฏสงสาร

ส่วนพระบาทขวานั้นเหยียบอยู่บนอสูรมูลาคนี ซึ่งเป็นตัวแทนของอวิชชา เมื่ออวิชชาถูก 'เหยียบ' ไม่ให้โผล่ขึ้นมาบดบังความจริง ความรู้แจ้ง (วิชชา) ก็จะปรากฏขึ้นนั่นเอง

วงกลม ๆ ที่ล้อมพระศิวะอยู่ก็คือ ขอบเขตแห่งการร่ายรำ อันเป็นตัวแทนของจักรวาลทั้งมวล โดยมีขอบด้านนอกเป็นเปลวไฟ และมีขอบด้านในเป็นน้ำในมหาสมุทร พระศิวะในปางนาฏราชนี้ยังแสดงคู่ตรงกันข้ามกันเช่น กลอง = สร้าง vs ไฟ = ทำลาย แม้พระศิวะจะร่ายรำ ขยับมือ ขยับเท้าและแขนขาอย่างต่อเนื่อง แต่พระพักตร์กลับสงบนิ่งเฉย เหมือนไร้ความรู้สึก ซึ่งเป็นเสมือนการสอนว่า การเกิด-ดับของสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่โดยตลอด พระเกศาของพระศิวะยาวสยาย ปลิวสะบัดยื่นออกไปทั้งซ้ายขวา เป็นสัญลักษณ์แทนผู้ละทิ้งชีวิตทางโลก แต่ก็มีพระแม่คงคาและพระจันทร์เสี้ยวอันเป็นสัญญลักษณ์แห่งเทพสตรีประดับอยู่ด้วย

ศิวนาฏราชในศิลปขอม[แก้]

ปราสาทหินในศิลปขอม ทับหน้าของปรางค์ประธานจะแกะสลักเป็นรูปพระศิวนาฏราช หรือ พระอิศวรทรงฟ้อนรำ ซึ่งจัดเป็นประติมากรรมที่สำคัญที่สุดในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย ในศิลปขอมนั้นภาพพระศิวนาฏราชจะเป็นภาพสลักนูนต่ำทั้งสิ้น ไม่เป็นประติมากรรมชนิดลอยตัว ส่วนทับหลังของปราสาทจะเป็นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธิ์

ศิวนาฏราชกับศิลปการแสดง[แก้]

นาฏศิลป์[แก้]

ภาพการร่ายรำของพระศิวะนับว่ามีบทบาทสำคัญในคติความเชื่อของผู้ที่นับถือศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ตามตำนานระบุว่าการร่ายรำของพระศิวะเป็นที่เลื่องลือและยกย่องของเหล่าเทพทั้งมวลถึงความสวยงามและน่ายำเกรงในที ในจังหวะลีลาอันเป็นสัญลักษณ์แห่งการเนรมิตสร้างสรรค์

การร่ายรำนี้ภายหลังพระภรตมุนีได้ทราบ จึงขอร้องให้พระคเณศไปกราบบังคมทูลให้พระศิวะซึ่งเป็นพระราชบิดาร่ายรำอีกครั้งเพื่อจะได้จารึกท่าการร่ายรำนี้เป็นบทนาฏยศาสตร์สืบไป พระศิวะท่านจึงได้ร่ายรำให้ชมอีกและได้เรียกเหล่าเทพเทวดาทั้งปวงมาชมพระองค์ร่ายรำอีกครั้ง

บางตำนานกล่าวว่าพญาอนันตนาคราชได้ชมการร่ายรำนี้เมื่อองค์พระอิศวรท่านร่ายรำหลังจากปราบฤๅษีผู้ฝ่าฝืนเทวบัญญ้ติ และปรารถนาจะได้ชมอีก องค์พระนารายณ์ได้ประทานคำแนะนำให้ไปบำเพ็ญตบะที่เชิงเขาไกรลาสเพื่อบูชาองค์พระศิวะ ด้วยอำนาจแห่งการบูชานี้ องค์พระศิวะจึงโปรดประทานพรให้ และถามในสิ่งที่พญาอนันตนาคราชปรารถนา พญานาคราชจึงกราบทูลว่าอยากจะได้เห็นองค์พระศิวะร่ายรำอีกสักครั้ง พระศิวะก็โปรดประทานดังปรารถนา และได้เสด็จลงมาร่ายรำยังมนุษยโลก ซึ่งเชื่อกันว่าสถานที่นั้นคือ วิหาร จิทัมพรัม ในรัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย

ท่าฟ้อนรำทั้ง 108 ท่าขององค์พระศิวะนี้เป็นท่าพื้นฐานสำหรับวิชานาฏยศาสตร์ อันเป็นท่ารำต้นแบบของชาวอินเดีย และแพร่หลายมาถึงเขมร และไทย ผู้รับอิทธิพลด้านวัฒนธรรมของอินเดียสืบต่อมา ผู้ที่นับถือศาสนาฮินดูนั้นเชื่อว่าจังหวะการร่ายรำของพระศิวะอาจบันดาลให้เกิดผลดีและผลร้ายแก่โลกได้ ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องอ้อนวอนให้พระองค์ฟ้อนรำในจังหวะที่พอดี โลกจึงจะร่มเย็นเป็นสุข หากพระองค์โกรธกริ้วด้วยการร่ายรำในจังหวะที่รุนแรงแล้วก็ย่อมจะนำมาซึ่งภัยพิบัติแก่โลกนานัปการ

ดุริยางคศิลป์[แก้]

กลองในพระหัตถ์ของพระศิวะในปางศิวะนาฏราชนี้ เป็นกลองสองหน้า เอวตรงกลางคอด มีลูกตุ้มยึดกับสายสำหรับใช้กระทบหน้ากลองทั้ง 2 ข้าง กลองนี้เรียกว่ากลอง ทมรุ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีเพียงชิ้นเดียวที่องค์พระศิวะท่านเลือกใช้ประกอบการร่ายรำอันยิ่งใหญ่นี้ ผู้ประกอบพิธีในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ได้นำเอากลองนี้มาใช้ในการประกอบพิธีมงคล และพัฒนามาเป็นเครื่องดนตรีที่เรียกว่า "บัณเฑาะว์" ในปัจจุบัน คำว่าบัณเฑาะว์มาจากคำบาลีว่า "ปณวะ" หรือ "ตาณฑวะ" ในภาษาสันสกฤต

อ้างอิง[แก้]

  1. "கூத்தன் சபேசன் அம்பலவாணன் நடராஜன்Sagarva Bharath Foundation". 20 July 2020.
  2. Rajarajan, R. K. K. (January 2018). "If this is Citambaram-Nataraja, then where is Tillai-Kūttaṉ? An Introspective Reading of Tēvāram Hymns". In Pedarapu Chenna Reddy, ed. History, Culture and Archaeological Studies Recent Trends, Commemoration Volume to Prof. M.L.K. Murthy, Vol. II, Delhi: B.R. Publishing Corporation, Pp. 613-634, PLS. 54.1-6. (ภาษาอังกฤษ).
  3. Archana Verma (2011). Performance and Culture: Narrative, Image and Enactment in India. Cambridge Scholars Publishing. pp. 19–26. ISBN 978-1-4438-2832-1.
  4. Encyclopædia Britannica (2015)
  5. T. A. Gopinatha Rao (1997). Elements of Hindu Iconography. Motilal Banarsidass. pp. 223–224. ISBN 978-81-208-0877-5.
  6. Gomathi Narayanan (1986), SHIVA NATARAJA AS A SYMBOL OF PARADOX, Journal of South Asian Literature, Vol. 21, No. 2, pages 208-216
  7. Anna Libera Dallapiccola (2007). Indian Art in Detail. Harvard University Press. p. 28. ISBN 978-0-674-02691-9.
  8. David Smith (2003). The Dance of Siva: Religion, Art and Poetry in South India. Cambridge University Press. pp. 1–2. ISBN 978-0-521-52865-8.
  9. Frank Burch Brown (2014). The Oxford Handbook of Religion and Arts. Oxford University Press. pp. 489–490. ISBN 978-0-19-517667-4.
  10. 10.0 10.1 Saroj Panthey (1987). Iconography of Śiva in Pahāṛī Paintings. Mittal Publications. pp. 59–60, 88. ISBN 978-81-7099-016-1.
  11. Banerjee, P. (1969). "A Siva Icon from Piandjikent". Artibus Asiae. 31 (1): 73–80. doi:10.2307/3249451. JSTOR 3249451.
  12. Mahadev Chakravarti (1986). The Concept of Rudra-Śiva Through the Ages. Motilal Banarsidass. p. 178 with footnotes. ISBN 978-81-208-0053-3.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]