สายทอง
นางสายทอง | |
---|---|
ตัวละครใน ขุนช้างขุนแผน | |
แสดงโดย | มนัส บุณยเกียรติ (พ.ศ. 2498) ปนัดดา โกมารทัต (พ.ศ. 2528) พิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์ (พ.ศ. 2545) มณีชญา ธนะอารยัน (พ.ศ. 2562) อริศรา วงษ์ชาลี (พ.ศ. 2564) |
ข้อมูลตัวละครในเรื่อง | |
เพศ | หญิง |
อาชีพ | ทาส |
สังกัด | นางศรีประจัน |
คู่สมรส | ขุนแผน |
ศาสนา | ศาสนาพุทธ |
สัญชาติ | กรุงศรีอยุธยา |
นางสายทองเป็นชื่อตัวละครในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน โดยเป็นทาสของนางศรีประจันมีหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงนางพิมพิลาไลยบุตรสาวของนางศรีประจัน และยังเป็นภรรยาของขุนแผนด้วย
พื้นเพ
[แก้]นางสายทองเป็นทาสที่ขายตนเองให้แก่นางศรีประจันตั้งแต่ตนยังเล็ก ๆ ซึ่งหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายสภาพของนางสายทองว่า "...เป็นทาสชนิดขาดค่าไถ่ คือได้รับเงินไปแล้วก็ตกลงว่าจะไม่ไถ่ตัวเองออกไปเป็นอิสระต่อไป นางสายทองนี้ทำให้เห็นลักษณะของความเป็นทาสในเมืองไทยสมัยนั้น"[1] ถึงแม้จะเป็นทาสแต่นางสายทองก็ได้รับอนุญาตให้กินอยู่หลับนอนได้บนบ้านของเจ้านาย เหตุว่ามีหน้าที่พี่เลี้ยงนางพิมพิลาไลย บุตรสาวของนางศรีประจันซึ่งมีอายุอ่อนกว่าตนไม่กี่ปี ด้วยเหตุนี้ นิสัยใจคอและพฤติกรรมต่าง ๆ ของนางพิมพิลาไลยก็ล้วนมาจากการปลูกฝังและชักนำของนางสายทองทั้งสิ้น
การได้พบกับพลายแก้ว
[แก้]ต่อมาเมื่อพลายแก้วหรือขุนแผนบวชเป็นเณรวัดป่าเลไลยก์ ในยามสงกรานต์มีประเพณีจัดเทศน์มหาชาติเสมอ บังเอิญว่าพระที่จะเทศน์กัณฑ์มัทรีเกิดอาพาธปัจจุบันทันด่วน เณรแก้วจึงต้องปฏิบัติหน้าที่แทน และการเทศน์ของเณรแก้วนี้เป็นที่จับใจผู้ฟังทั่วไป นางพิมพิลาไลยที่มาฟังในคราวนั้นด้วยถึงกับเปลื้องผ้าซับในซึ่งเป็นแพรสีชมพูนิ่มออกพับใส่พานแล้วถวายเป็นเครื่องบูชากัณฑ์เทศน์ ซึ่งเณรแก้วและนางพิมก็เกิดประจับใจในกันและกัน ณ ตอนนี้เอง
เณรแก้วนั้นเมื่อนึกรักนางพิมเข้าแล้วก็เดินไปบิณฑบาตที่บ้านนางพิม จนได้พูดจากับนางพิมและนางสายทองจึงจำกันได้ว่าเคยเป็นเพื่อนเล่นกันมาแต่เล็ก ๆ ทั้งนั้น แต่ได้ประสบเคราะห์กรรมจึงแยกย้ายจากกันไป ซึ่งเณรแก้วก็ได้เชื้อเชิญสีกาทั้งสองให้ไปพบคบหากันที่วัดอีกด้วย
ต่อมา เมื่อนางสายทองมาพบที่วัด เณรแก้วได้ร้องขอให้นางพานางพิมมาพบที่ไร่ฝ้ายหลังบ้านนางศรีประจัน เมื่อนางสายทองมีทีท่าอิดเอือนด้วยการอ้างความไม่เหมาะสมทางประเพณี เณรแก้วจึงยื่นข้อเสนอว่าเมื่อตนได้เป็นสามีนางพิมแล้ว จะแบ่งปันความเป็นสามีมาให้นางสายทองด้วย ซึ่งนางสายทองก็รับข้อเสนอนี้โดยการพานางพิมมาไร่ฝ้ายเพื่อที่ตนจะได้พบกับเณรแก้วเช่นกัน ก่อนที่เณรแก้วจะมาพบนางพิมที่ไร่ฝ้ายก็ได้ขอสึกจากความเป็นเณรกับพระรูปหนึ่ง เมื่อพบกันและพลอดรักกันเสร็จแล้ว ตอนเย็นก็กลับวัดไปต่อศีลกับพระอีกรูปหนึ่ง กลับสภาพเป็นเณรอีกครั้ง ซึ่งหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายว่า[2]
...เณรในสมัยขุนแผนนั้น...เห็นว่ามิได้กวดขันกันเรื่องวัตรปฏิบัติมากนัก คงให้ถือแต่ศีล 10 แล้วก็ถือว่าเป็นเพียงแค่เณร เมื่อศีล 10 มิใช่ศีลปาฏิโมกข์ซึ่งไม่มีอาบัติและไม่มีทัณฑกรรมหรือบทลงโทษแต่อย่างใด เมื่อศีลขาดแล้วต่อศีลใหม่ก็กลายเป็นเณรบริสุทธิ์ต่อไปอีก
ภายหลังจากที่พลายแก้วกลับกลายเป็นเณรแก้วอีกครั้งแล้ว นางสายทองก็ไปมาหาสู่เณรแก้วถึงกุฏิโดยคอยหากับข้าวกับปลามาให้และอยู่พูดคุยกันเป็นเวลานาน ๆ เป็นประจำ ฝ่ายเณรแก้วนั้นคิดใช้นางสายทองเป็นสะพานเข้าหานางพิมจึงเริ่มพูดจาแทะโลมนางสายทอง ครั้นเห็นว่านางสายทองเฉย ๆ ไม่จริงจังด้วย ก็เสกหมากด้วยคาถามหาละลวยให้นางสายทองรับประทาน ซึ่งเมื่อรับประทานแล้วนางสายทองก็กลับกลายเป็นอีกคนหนึ่งทันที มีความรู้สึกอยากตกเป็นภรรยาของเณร ณ บัดนั้น ทั้งเณรแก้วและสีกาจึงเริ่มมีสัมพันธ์ทางเพศกันบนกุฏิ
ระหว่างนั้นมีพระรูปหนึ่งเดินผ่านกุฏิเณรแก้วมาได้ยินเสียงประหลาดก็เกิดความสงสัย มองลอดเข้าไปทางช่องฝาเห็นภาพอุจาดบาดตาทนไม่ได้ จึงรุดไปฟ้องสมภารวัดป่าเลไลยก์ สมภารครั้นได้ยินก็โกรธจัด ฉวยได้ไม้พลองก็ถือบุกเข้าไปในกุฏิเณรแก้ว พบเณรกับสีกานั่งอยู่ด้วยกันก็กระหน่ำตีไม่ยั้ง ทั้งเณรแก้วและนางสายทองจึงตะเลิดเปิดเปิงกันไปคนละทิศละทาง
เณรแก้วนั้นเมื่อกระเจิดกระเจิงออกมาแล้วก็ไม่คิดกลับไปอีก จึงไปฝากตัวเป็นศิษย์สมภารคงวัดแคแห่งอำเภอเมืองสุพรรณบุรีนั้นเองเพื่อร่ำเรียนวิชาการต่าง ๆ จากสมภาร สมภารคงนี้เป็นคนรู้จักมักจี่กับนางทองประศรีมารดาของเณรเองและมีชื่อเสียงทางด้านวิชาอาคม ซึ่งในระยะนั้น ขุนช้างได้ส่งเถ้าแก่มาเจรจาสู่ขอนางพิมจากนางศรีประจัน ซึ่งนางศรีประจันเองก็ชักเออออไปข้างขุนช้างเพราะเห็นแก่ความร่ำรวยของขุนช้าง แต่นางพิมไม่ยอม ตะโกนด่าขุนช้างออกมาแต่ในห้องนอน การสู่ขอจึงระงับไปชั่วคราว นางพิมนั้นก็อาศัยจังหวะขอให้นางสายทองพาตนไปพบเณรแก้วที่วัดแคแล้วเล่าเรื่องให้ฟัง เณรแก้วจึงสึกจากสมณเพศแล้วรบเร้าให้มารดามาสู่ขอนางพิมตามประเพณี
การตกเป็นภรรยาของพลายแก้ว
[แก้]อย่างไรก็ดี ในระหว่างรอการสู่ขอนั้น พลายแก้วได้ลักลอบมาหานางพิมที่บ้านนางศรีประจันในยามดึก โดยนางสายทองเป็นผู้เปิดประตูให้เข้ามาและมอบแพรห่มกายของนางให้พลายแก้วห่มเพื่อกันคนผิดสังเกต พลายแก้วก็เข้าหานางพิมแล้วมีเพศสัมพันธ์กันในครั้งนั้น เมื่อนางพิมหลับไปพลายแก้วก็ออกจากห้องนางพิมไปเข้าห้องนางสายทองและร่วมเพศกัน ซึ่งเสภาขุนช้างขุนแผนกล่าวว่าการร่วมเพศกันระหว่างพลายแก้วกับนางพิมนั้นเป็นไปโดยอ่อนโยน แต่ระหว่างพลายแก้วกับนางสายทองนั้นตรงกันข้ามทีเดียว โดยว่า
พลางเป่าปัถมังกระทั่งทรวง | สายทองง่วงงงงวยระทวยนิ่ง |
ทำตาปริบปรอยม่อยประวิง | เจ้าพลายอิงเอนทับลงกับเตียง |
ค่อยขยับจับเลื่อนแต่น้อยน้อย | ฝนปรอยฟ้าลั่นสนั่นเปรี้ยง |
ลมพัดซัดคลื่นสำเภาเอียง | ค่อยหลีกเลี่ยงแล่นเลียบตลิ่งมา |
พายุหนักชักใบได้ครึ่งรอก | แต่เกลือกกลอกกลับกลิ้งอยู่หนักหนา |
ทอดสมอรอท้ายเป็นหลายครา | เภตราหยุดแล่นเป็นคราวคราว |
สมพาสพิมดุจริมแม่น้ำตื้น | ไม่มีคลื่นแต่ระลอกกระฉอกฉาว |
ปะสายทองดุจต้องพายุว่าว | พอออกอ่าวก็พอจมล่มลงไป |
ฝ่ายนางพิมนั้นเมื่อสะดุ้งตื่นขึ้นไม่พบพลายแก้วก็ออกตามหาไปถึงห้องนางสายทองพบภาพบาดตา ก็เกิดทะเลาะเบาะแว้งกันตึงตังถึงขนาดตัดเป็นตัดตายกัน นางศรีประจันซึ่งนอนอยู่บนเรือนและควรจะตื่นตั้งแต่พลายแก้วขึ้นบ้านแล้วก็ตื่นตกใจเพราะเสียงทะเลาะตึงตังนั้น แต่ก็นอนอยู่บนเตียงแล้วร้องออกมาเพียงว่า "เรื่องอะไรกัน" นางสายทองจึงตอบกลับว่าแมวมาล้วงไหน้ำมัน และนางพิมก็เสริมว่าดีที่ตนออกมาช่วยไล่แมวได้ทัน มิเช่นนั้นน้ำมันคงหมดไหแล้ว แล้วนางศรีประจันก็หลับต่อไปโดยไม่สะกิดใจอันใด
การสิ้นสุดบทบาทของนางสายทอง
[แก้]หลังจากที่นางพิมสมรสกับพลายแก้วและพลายแก้วได้รับบรรดาศักดิ์ "ขุนแผน" แล้ว ก็ไม่ปรากฏบทบาทสำคัญของนางสายทองนอกจากการปฏิบัติหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงของพิม กระทั่งมาปรากฏตัวอีกครั้งในตอนงานศพของนางพิมแล้วก็หายไปไม่มีการกล่าวถึงอีกเลย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2539). "ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่". คึกฤทธิ์ ปราโมช. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2538). หน้า 190.
- ↑ คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2539). "ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่". คึกฤทธิ์ ปราโมช. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2538). หน้า 205.