ข้ามไปเนื้อหา

นักองค์สงวน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

องค์สงวน[หมายเหตุ ก] (เขมร: អង្គស្ងួន) เป็นเจ้าชายในราชวงศ์กัมพูชา

พระประวัติ

[แก้]

พงศาวดารเมืองพระตะบอง ของเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย) ระบุว่า องค์สงวนเป็นพระโอรสพระองค์หนึ่งของสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ (องค์เอง) พระมหากษัตริย์กัมพูชา มีพระเชษฐา คือ องค์จันทร์ (ภายหลังขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี) และมีพระอนุชา คือ องค์อิ่ม กับองค์ด้วง โดยองค์สงวนนั้นร่วมพระมารดากับองค์จันทร์ ส่วนองค์อิ่มกับองค์ด้วงร่วมพระมารดาอีกพระองค์หนึ่งด้วยกัน[1]

พงศาวดารเมืองพระตะบอง พรรณนาเหตุการณ์ในสมัยองค์เอง พระบิดาขององค์สงวน ว่า ใน พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) แห่งกรุงเทพฯ ทรงอาศัยช่วงที่กรุงกัมพูชามีความวุ่นวายภายใน ส่งพระยายมราช (แบน) ออกไปปราบปราม ได้กรุงกัมพูชามาเป็นเมืองขึ้น และพระยายมราช (แบน) ส่งองค์เอง ซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่ เข้ามาที่กรุงเทพฯ แล้วรัชกาลที่ 1 ทรงตั้งเจ้าพระยายมราช (แบน) เป็นเจ้าฟ้าทะละหะ ผู้รักษากรุงกัมพูชา โดยตั้งมั่นอยู่ที่เมืองอุดงมีชัย[2] ต่อมาใน พ.ศ. 2337 รัชกาลที่ 1 โปรดให้องค์เองกลับไปครองกัมพูชาเป็นพระมหากษัตริย์พระนามว่า สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีฯ แล้วรัชกาลที่ 1 ทรงแบ่งกรุงกัมพูชาออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งได้แก่เมืองพระตะบอง มีเมืองเสียมเรียบเป็นเมืองขึ้น ยกให้เจ้าฟ้าทะละหะ (แบน) ปกครองโดยขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และเปลี่ยนบรรดาศักดิ์เจ้าฟ้าทะละหะเป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อีกส่วนหนึ่งได้แก่ดินแดนที่เหลือของกรุงกัมพูชา ให้องค์เองปกครอง[2] องค์เอง เมื่อได้ครองกรุงกัมพูชาแล้ว ก็มีพระโอรสพระองค์ต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงองค์สงวนนี้[1]

พงศาวดารเมืองพระตะบอง ระบุต่อว่า[1] องค์เองครองกรุงกัมพูชาได้ 3 ปี ก็พิราลัย รัชกาลที่ 1 จึงโปรดให้องค์จันทร์ พระเชษฐาขององค์สงวน เวลานั้นพระชนม์ได้ 16 ปี ออกไปครองราชย์ต่อเป็นสมเด็จพระอุไทยราชาฯ และรัชกาลที่ 1 ทรงตั้งองค์สงวนเป็นอุปโยราชแห่งกรุงกัมพูชา[หมายเหตุ ข] และทรงตั้งองค์อิ่ม พระอนุชาขององค์สงวน เป็นอุปราชแห่งกรุงกัมพูชา[หมายเหตุ ค]

แต่เอกสารกัมพูชาระบุไว้ต่างออกไปว่า องค์สงวนได้เป็นอุปโยราชในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) แห่งกรุงเทพฯ โดยกล่าวว่า ใน พ.ศ. 2352 รัชกาลที่ 1 สวรรคต องค์จันทร์ซึ่งขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระอุไทยราชาฯ แล้ว ส่งพระอนุชา คือ องค์สงวน กับองค์อิ่ม เข้ามายังกรุงเทพฯ เพื่อถวายบังคมพระบรมศพ และถวายบังคมรัชกาลที่ 2 พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ รัชกาลที่ 2 จึงทรงตั้งองค์สงวนเป็นอุปโยราชแห่งกัมพูชา เรียกว่า พระชัยเชษฐามหาอุปโยราช และตั้งองค์อิ่มเป็นอุปราชแห่งกัมพูชา เรียกว่า พระศรีชัยเชษฐามหาอุปราช โดยมิได้ปรึกษาองค์จันทร์เลย ทำให้องค์จันทร์เกิดระหองระแหงกับองค์สงวนและองค์อิ่ม[3]

พงศาวดารเมืองพระตะบอง กล่าวถึงความผิดใจระหว่างองค์จันทร์และพระอนุชาเช่นกัน แต่ระบุเพียงว่า องค์จันทร์ เมื่อได้ครองราชย์แล้ว เกิดบาดหมางขึ้นกับองค์สงวน และองค์จันทร์ให้ประหารพระยาจักรี (แบน) ขุนนางผู้หนึ่งซึ่งฝักใฝ่องค์สงวน[1] องค์สงวนจึงพาองค์อิ่ม และองค์ด้วง ผู้เป็นพระอนุชา พร้อมด้วยขุนนางกัมพูชาอีกจำนวนหนึ่ง หนีเข้ามายังกรุงเทพฯ ส่วนองค์จันทร์ไปขอกองทัพเวียดนามมาช่วยคุ้มกัน[4] องค์สงวนประทับอยู่ในกรุงเทพฯ จนพิราลัย[5]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. หมายเหตุ ก เอกสารไทยเรียกว่า "เจ้าองค์สงวน",[1] "นักพระองค์สงวน",[3] และ "พระองค์สงวน[6]
  2. หมายเหตุ ข อุปโยราช (เขมร: ឧភយោរាជ อุภโยราช) เป็นตำแหน่งวังหลังในกัมพูชา มีสถานะรองจากพระทรงราชย์ (พระมหากษัตริย์)[7]
  3. หมายเหตุ ค อุปราช (เขมร: ឧបរាជ) เป็นตำแหน่งวังหน้าในกัมพูชา มีสถานะรองจากพระทรงราชย์ (พระมหากษัตริย์) และอุปโยราช (วังหลัง) ตามลำดับ[7]

อ้างอิง

[แก้]

บรรณานุกรม

[แก้]
  • ไกรฤกษ์ นานา (2564-10-19). "ฝรั่งเศสท้าทายสิทธิเหนือเขมรของสยาม เพราะผลประโยชน์ทับซ้อน". ศิลปวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: มติชน. สืบค้นเมื่อ 2565-06-13. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)CS1 maint: ref duplicates default (ลิงก์)
  • คทาธรธรณินทร์ (เยีย), เจ้าพระยา (2475). "พงศาวดารเมืองพระตะบอง". ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 16  (2 ed.). พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์.{{cite book}}: CS1 maint: ref duplicates default (ลิงก์)
  • ศานติ ภักดีคำ, บ.ก. (2549). "ตำราทำเนียบบันดาศักดิ์กรุงกัมพูชา". ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก. Vol. 12. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. ISBN 974-9528-47-6.{{cite book}}: CS1 maint: ref duplicates default (ลิงก์)
  • ศานติ ภักดีคำ (2565-03-03). "ร่องรอย "พระมหามงกุฎ" และของที่ราชวงศ์ไทยพระราชทานกษัตริย์กัมพูชา สมัยรัตนโกสินทร์". ศิลปวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: มติชน. สืบค้นเมื่อ 2565-06-13. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)CS1 maint: ref duplicates default (ลิงก์)