นครแม่สอด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นครแม่สอด เป็นโครงการยุบรวมเทศบาลนครแม่สอดและเทศบาลตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตากและจัดตั้งขึ้นเป็นนครแม่สอดมีฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอาณาเขตครอบคลุมเขตเทศบาลนครแม่สอดและเทศบาลตำบลท่าสายลวดที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับ นครแม่สอดมีฐานะเป็นนิติบุคคล การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเขตนครแม่สอดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา เมื่อมีการจัดตั้งนครแม่สอดแล้ว ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดตากมีเขตพื้นที่ครอบคลุมเขตจังหวัดตากยกเว้นเขตนครแม่สอด

แนวทาง[แก้]

โดยมีแนวทางการดำเนินการโครงการเป็นหลายแนวทาง เช่น ยกฐานะเทศบาลเมืองแม่สอด เป็นเทศบาลนครแม่สอดแล้วจัดตั้งเป็นเขตการปกครองในรูปแบบใหม่ที่ศึกษาลักษณะการบริหาร การจัดการ และการปกครองจาก กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา เข้าไว้ด้วยกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการขยายตัวของอำเภอแม่สอด เป็นจังหวัดแม่สอด ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอชายแดนฝั่งตะวันตกของจังหวัดตาก ประกอบด้วย อำเภอแม่สอด อำเภอแม่ระมาด อำเภอท่าสองยาง อำเภอพบพระ อำเภออุ้มผาง และโครงการจัดตั้ง 3 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอรวมราษฎร์คีรี แยกจากอำเภอพบพระ กิ่งอำเภอพะวอ-ด่านแม่ละเมา แยกจากอำเภอแม่สอด และกิ่งอำเภอมงคลคีรีเขตร์ แยกจากอำเภอท่าสองยาง

ปัจจุบันมีคณะอนุกรรมการพัฒนารูปแบบให้บริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หาแนวทางเพื่อผลักดัน การยกระดับฐานะท้องถิ่นที่มีความพร้อมเพื่อเป็นเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในเมืองหลักที่สำคัญ โดยพิจารณา 5 ส่วนประกอบสำคัญในการคัดเลือก ซึ่งประกอบไปด้วย อันดับแรก คือ เมืองที่มีความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจและมีการพัฒนาในระดับมหานคร เช่น เมืองใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา เป็นต้น และเมืองที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว อาทิเช่น เกาะสมุย หัวหิน รวมทั้งเมืองชายแดน เช่น แม่สอด อรัญ ตลอดจนเมืองอุตสาหกรรม เช่น มาบตาพุด และสุดท้ายเมืองด้านประวัติศาสตร์ อย่างเช่น อยุธยา และสุโขทัย เป็นต้น [1]

ซึ่งเมืองแม่สอดถือได้ว่าเป็นเมืองที่เข้าข่ายในหลักการว่าด้วยเมืองชายแดนสำคัญด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เมืองแม่สอดได้มีตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เสนอว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนทุกๆด้านของการเป็นเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษ ควบคู่เขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จึงตั้งคณะทำงานขึ้นมา 3 ลักษณะ คือ การศึกษาด้านเมืองเศรษฐกิจชายแดน และท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เพื่อใช้เมืองแม่สอดเป็นเมืองนำร่องนั้น มีนายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เป็นประธานคณะทำงาน ส่วนเมืองอุตสาหกรรม ให้นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ เป็นประธานคณะทำงาน สำหรับเมืองด้านท่องเที่ยวนั้น ให้องค์ประกอบทุกภาคส่วน ศึกษาข้อกฎหมาย อีกทั้งให้คณะสภาพัฒน์ฯ เป็นเลขานุการ คณะทำงานเพื่อติดตามและประเมินผลทุก 2 สัปดาห์[1]

นโยบายของรัฐบาล[แก้]

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวไว้ในรายการเชื่อมั่นประเทศไทย กับนายกอภิสิทธิ์ ดังนี้ "ความก้าวหน้าของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เราได้ทำกฎหมายพิเศษในเรื่องของนครแม่สอดซึ่งจะเป็นเขตการปกครองส่วนพิเศษที่รัฐบาลจะได้ผลักดันแบบกรุงเทพมหานครกับเมืองพัทยา นครแม่สอดที่จะเป็นการปกครองท้องถิ่นพิเศษจะมี ความพิเศษมากขึ้นไปอีก คือว่า จะเป็นครั้งแรกที่เราจัดทำกฎหมาย ที่ให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของแรงงานต่างด้าว ซึ่งเริ่มด้วยการค้าชายแดน กฎหมายนี้ถือว่าจะเป็นกฎหมายการกระจายอำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีความก้าวหน้าฉบับหนึ่งซึ่งก็เป็นนโยบายใหม่ที่รัฐบาลกำลังทำ" [2]

โดยนายจตุรงค์ ปัญญาดิลก ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ส่งหนังสือถึงสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ นร. 0107/2142 เพื่อนำเสนอเรื่องร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ “นครแม่สอด” พ.ศ. ..... เพื่อเรียนให้นายกรัฐมนตรี ได้ทราบถึง ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวที่มีอยู่ 6 หมวด 110 มาตรา ตามที่คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) ที่ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่าง พ.ร.บ. "นครแม่สอด” พ.ศ. ..... ซึ่งมีสาระสรุปได้คือการกำหนด

  1. พื้นที่ “นครแม่สอด”
  2. โครงสร้างการบริหาร ที่แตกต่างจาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รูปแบบอื่น ๆ
  3. อำนาจหน้าที่ทั่วไป (มาตรา 63) ของ “นครแม่สอด” รวมทั้งอำนาจหน้าที่พิเศษ (มาตรา 64)
  4. รายได้รายจ่าย
  5. การกำกับดูแล และให้ดำเนินการตาม ร่าง พ.ร.บ. “นครแม่สอด” และข้อกฎหมาย

โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีการพิจารณาแล้วเห็นว่า “นครแม่สอด” จังหวัดตาก มีศักยภาพ ความพร้อม ในการเป็นประตูเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและสามารถพัฒนาให้เป็นฐานในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ มีความเหมาะสมที่จะยกฐานะให้เป็น อปท.รูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” เพื่อให้สามารถจัดบริการสาธารณะที่มีคุณภาพแก่ประชาชนและรองรับการเจริญเติบโตของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการนครแม่สอด พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553 และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป[3]

ล่าสุด[แก้]

ล่าสุด พลเอก ประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งเร่งให้ทางนาย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นำร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการนครแม่สอดเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายในวันอังคารที่14 ตุลาคม 2557

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 อปท.นิวส์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 72 ปักษ์แรก เดือนกรกฎาคม วันที่ 1-15 กรกฎาคม 2556 หน้า 6
  2. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ผู้ผลิต). (2553, 28 กุมภาพันธ์). เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายก ฯ อภิสิทธิ์ [รายการโทรทัศน์]. กรุงเทพฯ: สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย [เอ็นบีที].
  3. สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 22 มิถุนายน 2553[ลิงก์เสีย]

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]