ท่านแม่นางศรีเสงี่ยม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ท่านแม่นางศรีเสงี่ยม
พระมเหสีฝ่ายซ้าย
พระภัสดาพระอินทราชา
เจ้าพระยาญาติ
พระบุตรเจ้าพระยาธรรมราชา
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (อภิเษกสมรส)
ตรอซ็อกผแอม (อภิเษกสมรส)
พระบิดาขุนทรงพระอินท์

ท่านแม่นางศรีเสงี่ยม[1][2] หรือ นักนางพศรี[3] เป็นธิดาของขุนนางกรุงอโยธยาในช่วงที่ปกครองจักรวรรดิเขมร เดิมรับราชการเป็นบาทบริจาริกาตำแหน่งพระสนมในพระอินทราชา (เอกสารไทยเรียก เจ้าพระยาแพรก หรือ แกรก) ต่อมาได้เป็นพระมเหสีฝ่ายซ้ายในเจ้าพระยาญาติ ท่านแม่นางศรีเสงี่ยมมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง คือ เจ้าพระยาธรรมราชา ซึ่งได้สืบราชสันตติวงศ์อาณาจักรเขมรในเวลาต่อมา

พระประวัติ[แก้]

ท่านแม่นางศรีเสงี่ยมเป็นธิดาของขุนทรงพระอินท์ พระพี่เลี้ยงของพระอินทราชา และเป็นพระญาติวงศ์ของพระอินทมิตรา (พระนามเดิม นางเกสร)[3] เจ้านายจากอโยธยาที่ประทับในเมืองพระนคร หลังสมเด็จพระราเมศวรเข้ายึดครองเมืองดังกล่าว[4] และยังเป็นญาติของพญาศรีราชเดโชไทยซึ่งเป็นขุนนางที่มีชื่อเสียงทั้งคู่[3] ต่อมาเข้ารับราชการเป็นบาทบริจาริกาตำแหน่งพระสนมในพระอินทราชา[3] พระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2[5]

หลังเจ้าพระยาญาติลอบสังหารพระอินทราชา ขึ้นปกครองเมืองพระนครเอง และได้แต่งตั้งให้นางเป็นพระมเหสีฝ่ายซ้าย ดังปรากฏเนื้อหาใน พงศาวดารเขมรฉบับนักองค์เอง ความว่า "...ครั้นอยู่มาปีหนึ่งพญาคามยาตแต่งกลอุบาย เอาดาบใส่ในยแงสุราผนึกปลอมเข้าไปกับของทั้งปวง เข้าไปถวายพระอินทราชา ๆ ให้เปิดแงออก ผู้ซึ่งเอาของมาถวายนั้นก็ชักเอาดาบในแงเข้าฟันพระอินทราชาตาย จับพระมเหษีย์หนึ่งพระสนมหนึ่ง พญาคามยาตได้เสวยราชณะเมืองพระนครหลวง..."[3] สอดคล้องกับ ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชาฉบับนักองค์นพรัตน ที่ระบุว่า "พระเจ้าบรมราชากษัตริย์เมืองไทย จึงได้เศกให้พระยาแกรก ซึ่งเปนพระราชบุตรของพระเจ้าธรรมโศรกราชขึ้นเสวยราชสมบัติ ทรงพระนามพระอินทราชา ครั้นอยู่ต่อมาไม่นาน พระบรมราชาเจ้าพระยาญาติ ใช้ให้มหาดเล็ก (คนสนิท) ๒ คน ไปลอบฆ่าพระอินทราชาถึงทิวงคตเสียในปีฉลูนั้นเอง ๚"[5] มีเรื่องราวว่าหลังเจ้าพระยาญาติสังหารพระอินทราชา ผู้ปกครองชาวสยามไปแล้ว ครั้นเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปภายในพระราชวัง ก็ทรงเห็นหญิงสาวชาวสยามกำลังร่ำไห้อยู่ในพระตำหนัก เมื่อเจ้าพระยาญาติตรัสถาม หญิงชาวสยามก็ก้มพระพักตร์ ทรงมองเจ้าพระยาญาติด้วยหางพระเนตร แล้วตรัสกลับไปว่าชื่อศรีเสงี่ยมเป็นเจ้ามาแต่อโยธยา เจ้าพระยาญาติชื่นชอบในรูปโฉมของนางจึงตั้งขึ้นเป็นพระมเหสีในพระองค์[6] พงศาวดารเขมรฉบับนักองค์เอง กล่าวถึงตอนนี้ว่า "...ฝ่ายซ้ายนั้นครองกันกับนักนางพศรีผู้บุตรขุนทรงพระอินท์ มีบุตรคลอดปีเถาะ ชื่อเจ้าพญาธรรมราชา แลนักนางพศรีกับนางเกสรซึ่งเปนพระมเหษีฝ่ายซ้ายนั้นเปนญาติพญาศรีราชเดโชไทย..."[3]

ครั้น พ.ศ. 2001 เจ้าพระยาธรรมราชา พระราชโอรส ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นเจ้ากรุงกัมพูชา มีพระนามว่า สมเด็จพระราชโองการ พระธรรมราชาธิราชรามาธิบดี[2][4][7]

อ้างอิง[แก้]

  1. นักองค์นพรัตน (เขียน) เรืองเดชอนันต์ (ทองดี), พันตรี หลวง (แปล). ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณแปลใหม่. พระนคร : โสภณพิพรรฒธนากร. 2460, หน้า 78
  2. 2.0 2.1 เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006). 2563, หน้า 84
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 อมรวงศ์วิจิตร, หม่อม. "พงษาวดารเมืองลแวก". ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ 4. พระนคร : โสภณพิพรรฒธนากร. 2458, หน้า 26
  4. 4.0 4.1 Briggs, Lawrence Palmer (1948). "Siamese Attacks on Angkor Before 1430". The Far Eastern Quarterly. 8 (1): 33. JSTOR 2049480.
  5. 5.0 5.1 เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006). 2563, หน้า 83
  6. Leclère, Adhémard (1914). Histoire Du Cambodge (ภาษาฝรั่งเศส). p. 217–18. สืบค้นเมื่อ 13 June 2021.
  7. นักองค์นพรัตน (เขียน) เรืองเดชอนันต์ (ทองดี), พันตรี หลวง (แปล). ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณแปลใหม่. พระนคร : โสภณพิพรรฒธนากร. 2460, หน้า 79