ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของปราสาทพนมรุ้ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของปราสาทพนมรุ้ง
ขบวนการศิลปะแบบนครวัด
สถานที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง, จังหวัดบุรีรัมย์ ประเทศไทย

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของปราสาทพนมรุ้ง เป็นโบราณวัตถุที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของไทย ที่เชื่อว่าถูกโจรกรรมไปเมื่อราวปี พ.ศ. 2503 ในช่วงสงครามเวียดนาม และถูกนำไปจัดแสดงอยู่ที่สถาบันศิลปะชิคาโก ในรัฐอิลลินอย ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ในที่สุดชาวไทยนำโดยรัฐบาล และ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ก็ได้ทับหลังชิ้นนี้คืนมาในปี พ.ศ. 2531

ประวัติ[แก้]

ในปี พ.ศ. 2508 กรมศิลปากรพบชิ้นส่วนบางชิ้นของทับหลัง ที่ร้านขายของเก่าย่านราชประสงค์จึงได้ยึดคืนมา ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 ศาสตราจารย์ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ขณะดำรงตำแหน่งคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และ ดร. ไฮแรม วูดเวิร์ด จูเนียร์ อดีตอาสาสมัครสันติภาพ ที่เคยสอนในมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ไปพบทับหลังนารายณ์บรรทม สินธุ์ชิ้นนี้ ที่สถาบันศิลปะ นครชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา และทรงมีหนังสือแจ้งอธิบดีกรมศิลปากรอย่างเป็นทางการว่าควรจะขอกลับคืน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2531 ขณะที่การบูรณะปราสาทหินพนมรุ้งใกล้จะเสร็จเรียบร้อย มีการรื้อฟื้นเรื่องการขอคืนทับหลังขึ้นมาใหม่ ซึ่งครั้งนี้ได้รณรงค์กันอย่างกว้างขวาง ทั้งในกรุงเทพมหานคร ต่างจังหวัด ชาวไทยที่อาศัยอยู่ในนครชิคาโกรวมทั้งชาวอเมริกันและชาติอื่น ๆ ได้ให้การสนับสนุน

จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีรองศาสตราจารย์วันชัย วัฒนกุล อธิการบดีวิทยาลัยครูบุรีรัมย์ เป็นประธาน อาจารย์เทียนชัย ให้ศิริกุล และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ เป็น เลขาฯ ร่วมกับข้าราชการ พ่อค้าประชาชน และนักเรียนนักศึกษา กว่า 15,000 คนได้ชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องขอทับหลังคืน โดยทำหนังสือถึงเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นายพร อุดมพงษ์

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 สถาบันศิลปะ นครชิคาโก ได้ส่งทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ กลับคืนสู่ประเทศไทย ในพระนามของศาสตราจารย์ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ทับหลังจะถึงสนามบินดอนเมืองในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 โดยสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์

รายละเอียดของงาน[แก้]

ที่ทับหลังของมณฑปด้านทิศตะวันออกปราสาทประธาน เป็นภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ โดยพระนารายณ์บรรทมตะแคงขวาเหนือพระยาอนันตนาคราชซึ่งทอดตัวอยู่เหนือมังกรอีกต่อหนึ่งท่ามกลางเกษียรสมุทร มีก้านดอกบัวผุดขึ้นจากพระนาภีของพระองค์ มีพระพรหมประทับอยู่เหนือดอกบัวนั้น พระนารายณ์ทรงถือ คฑา สังข์ และจักรไว้ในพระหัตถ์หน้าซ้าย พระหัตถ์หลังซ้ายและพระหัตถ์หลังด้านขวาตามลำดับ ส่วนพระหัตถ์หน้าขวารองรับพระเศียรของพระองค์ ทรงมงกุฎรูปกรวย กุณฑล กรองศอ และทรงผ้าจีบเป็นริ้ว มีชายผ้ารูปหางปลาซ้อนกันอยู่ 2 ชั้น ด้านหน้าคาดด้วยสายรัดพระองค์ มีอุบะขนาดสั้นห้อยประดับ มีพระลักษณมีชายาพระองค์ประทับนั้นอยู่ตรงปลายพระบาท

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]