ถ้ำพระโพธิสัตว์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ถ้ำพระโพธิสัตว์ หรือ ถ้ำเขาน้ำพุ เป็นถ้ำในจังหวัดสระบุรี ที่มีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นที่พบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญภายในถ้ำคือภาพสลักนูนต่ำที่สร้างขึ้นในสมัยทวารวดี สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ คาดว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรศที่ 13-15 ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ (วัดพระโพธิสัตว์, วัดถ้ำเขาน้ำพุ) ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มหาราช เคยเสด็จฯ ประพาสถ้ำแห่งนี้ในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2439 สังเกตได้จากรอยแกะสลักอักษรพระปรมาภิธัย จ.ป.ร. บริเวณถ้ำธรรมทัศน์ ซึ่งเป็นถ้ำที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน[1]

ในบริเวณเดียวกัน นอกจากถ้ำพระโพธิสัตว์แล้ว ยังประกอบด้วยถ้ำอื่น ๆ ได้แก่ ถ้ำพระธรรมทัศน์, ถ้ำลุมพินีสวนหิน, ถ้ำสงัดเจดีย์

ภาพแกะสลักพระโพธิสัตว์[แก้]

ภาพแกะสลักพระโพธิสัตว์ปางประทับบาท ล้อมรอบด้วยเทวดา และเทพเจ้าฮินดู ได้แก่ พระอิศวร และ พระนารายณ์ ในลักษณะถวายความเคารพแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ลักษณะศิลปะได้รับอิทธิพลจากศิลปะราชวงศ์คุปตะ-หลังคุปตะ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ตั้งข้อสังเกตว่าภาพแกะสลักนูนต่ำนี้เป็นภาพที่แสดงถึงพระพุทธเจ้าและเทพเจ้าฮินดูในภาพเดียวกันที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยขุดพบในประเทศไทย นอกจากนี้ยังแสดงถึงการแข่งขันระหว่างสองศาสนา หรืออาจแสดงถึงการอยู่ร่วมกันของทั้งสองศาสนา[2]

กรณีการระเบิดทำลายภูเขาหินข้างเคียง[แก้]

ในปี พ.ศ. 2559 สำนักข่าวหลายแหล่งได้ตีพิมพ์ข่าวการอนุมัติสัมปทานระเบิดภูเขาหินในบริเวณใกล้เคียงกับวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ สร้างความกังวลให้บุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านทางประวัติศาสตร์, ประชาชน และพระสงฆ์ในบริเวณวัดเป็นอย่างมาก ว่าการระเบิดภูเขาหินดังกล่าวอาจส่งผลต่อภาพแกะสลักนูนต่ำภายในถ้ำ ซึ่งเป็นโบราณวัตถุสำคัญที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์และหายากในประเทศไทย นอกจากนี้ยังกังวลว่าจะส่งผลเสียหายต่อถ้ำอื่น ๆ ในบนิเวณใกล้เคียง ซึ่งมีทั้งวัดที่ชาวบ้านเคารพสักการะ และถ้ำที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและอนุสรณ์ทางประวัติศาสตร์[3]

อ้างอิง[แก้]