ถ้ำก่อกู้น

พิกัด: 16°49′23″N 97°35′09″E / 16.82315°N 97.58578°E / 16.82315; 97.58578
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภายในถ้ำก่อกู้น

ถ้ำก่อกู้น (มอญ) ထီုကအ်ဂေါန် (พม่า: ကော့ဂွန်းဂူ; หรือ ถ้ำก๊อกุ๊นกู่)[1] เป็นถ้ำวัดพุทธในก่อกู้น [my] พะอัน รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า[2] ภายในถ้ำเต็มไปด้วยพระพุทธรูปขนาดเล็กนับพันองค์ประดับอยู่ตามผนังถ้ำ ปัจจุบันเป็นทั้งศาสนสถานและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของพะอัน

ที่ตั้ง[แก้]

ถ้ำก่อกู้น อยู่ห่างจากพะอัน 8 ไมล์ ห่างจากมอละมไยน์ 28 ไมล์ และห่างจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน 2 ไมล์ ถ้ำนี้ตั้งอยู่ที่เชิงเขาก่อกู้น มีความยาว 130 ฟุต กว้าง 70 ฟุต และสูง 25 ฟุต

ประวัติ[แก้]

ภาพสลักหินพุทธศาสนาและเทพเจ้าฮินดู
ภาพสลักหินที่มีจารึกอักษรมอญโบราณที่ชายเสื้อ
อักษรมอญโบราณและคำแปล

ถ้ำก่อกู้นเป็นถ้ำหินปูน ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่เชื่อว่าสร้างขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่ 7 ส่วนนักประวัติศาสตร์ Nai Maung Toe ได้ตั้งข้อสันนิษฐานจากจารึกของถ้ำว่าน่าจะสร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 6 หรือ 7 นักเดินทางชาวตะวันตกคนแรกที่เขียนถึงถ้ำนี้คือจอห์น ครอวเฟิร์ด เมื่อมกราคม ค.ศ. 1827[3][4]

พบภาพสลักจากหินสามก้อนภายในถ้ำก่อกู้น โดยสองภาพเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา และอีกภาพหนึ่งเกี่ยวข้องกับศาสนาฮินดู ภาพสลักทางพุทธศาสนาชิ้นหนึ่งมีอักษรมอญโบราณ 23 บรรทัด สลักไว้ที่ด้านซ้ายของชายเสื้อ ส่วนชายเสื้อด้านขวาแตกหักเสียหายเหลือเพียง 3 บรรทัดเท่านั้น ภาพสลักหินของศาสนาฮินดูมีการพรรณนาถึงพระพรหม, พระวิษณุ, พระศิวะ และพระคเณศด้วย ถ้ำก่อกู้นมีจารึกหินและหมึกซึ่งสามารถใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ ข้อความหมึกที่จารึกไว้ระบุนามผู้บริจาคและคำอธิษฐาน ตลอดจนจำนวนพระพุทธรูปที่บริจาค ตามหินจารึกอักษรมอญโบราณระบุว่าพระพุทธรูปบางองค์บริจาคโดยพระราชินีนาถแห่งเมาะตะมะ เมื่อครั้นพระเจ้าอโนรธามังช่อแห่งพุกาม ได้ยึดครองอาณาจักรสะเทิม และนำตัวพระเจ้ามนูหะไปยังพุกาม พระราชินีนาถแห่งเมาะตะมะสามารถหลบหนีออกมาได้ ว่ากันว่าพระนางหลบซ่อนอยู่ในถ้ำนี้และบริจาคพระพุทธรูปไว้เช่นกัน[5]

จารึกอักษรมอญโบราณ 23 บรรทัด โดยทั่วไปสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ การบริจาคและคำอธิษฐาน การแปลที่ใกล้ที่สุดมีดังนี้:

(จากอักษรพม่า) : "ဤဘုရားဆင်းတုတော်ကို မူးတး (မုတ္တမ) မိဖုရားဖြစ်သူ ကျွန်ုပ်သည် ဒုအေ်ဝါပ်မြို့၌ နေထိုင်ပြီး ဤဆင်းတုတော်ကိုထုထွင်းပြုလုပ်ခဲ့သည်။ ဒုအေ်ဝါပ် မြို့အတွင်း၌သော်လည်းကောင်း၊ မြို့နယ်ပြင်ပ၌သော်လည်းကောင်းတည်ရှိသမျှသော မြေနှင့်ကျောက်ဆင်းတုတော်တို့ကို ကျွန်ုပ်နှင့်ကျွန်ုပ်၏တပည့်များက စွမ်းရည်ရှိ၍ ထွင်းထုခဲ့သည်။ အခြားအခြားသော ဆရာများသည် ကျောက်ဘုရားများကို ထုထွင်းနိုင်ပါစေသတည်း"

(แปล) : "ฉันคือราชินีแห่ง Muhtah (มุตตะมะ) อยู่ใน Du'vop แกะสลักพระพุทธรูปองค์นี้ ฉันและสาวกตั้งใจสร้างพระพุทธรูปดินเผาและพระพุทธรูปหินแกะสลักใน Du'vop และในเขต ฉันดลใจช่างคนอื่นให้สลักพระพุทธรูปหิน"

— พระราชินีแห่งเมาะตะมะ

ปัจจุบันถ้ำอยู่ภายใต้การพิทักษ์ตามกฎหมายของกระทรวงวัฒนธรรม

อ้างอิง[แก้]

  1. พนิดา สงวนเสรีวานิช (2019-03-05). "ไหว้พระปลดหนี้ อันซีนเมืองพะอัน และ 'ก๊อกุ๊นกู่' ถ้ำสวยที่สุดในพม่า". มติชน. สืบค้นเมื่อ 2023-02-18.
  2. "ကရင်ပြည်နယ်၏ ဒေသန္တရ အချက်အလက်များ". ကရင်ပြည်နယ်အစိုးရ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 September 2017.
  3. "Westerner Behind the Wheel". The Irrawaddy. 4 September 2020.
  4. "ကရင်ပြည်နယ်မှ သမိုင်းဝင် ဂူကြီးများ". Mizzima (ภาษาพม่า). 19 December 2015.
  5. "ဘားအံနှင့် အထင်ကရ ဂူသုံးလုံး". MDN - Myanmar Digital News (ภาษาพม่า). สืบค้นเมื่อ 2022-10-23.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ถ้ำก่อกู้น 16°49′23″N 97°35′09″E / 16.82315°N 97.58578°E / 16.82315; 97.58578