ตฤศลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตฤศลา
คู่สมรสสิทธารถะแห่งกุนทครามะ
บุตรพระมหาวีระ
นันทิวรรธนะ
สุทรรศนะ
บิดามารดาเชฏกะ (บิดา)

ตฤศลา หรือ ปริยการิณี เป็นพระมารดาของพระมหาวีระ ตีรถังกรลำดับที่ 24 และสุดท้ายของศาสนาเชน เป็นพระมเหสีของสิทธารถะแห่งกุนทครามะ (ปัจจุบันอยู่ในรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย)[1][2] เรื่องราวของพระองค์ปรากฏอยู่ในเอกสารเชน

พระประวัติ[แก้]

ตฤศลาประสูติในวรรณะกษัตริย์ ใน อุตตรปุราณะ และ ศลากาปุรุษะ กล่าวถึงกษัตริย์เชฏกะแห่งเวสาลี มีพระราชโอรสสิบพระองค์ และพระราชธิดาเจ็ดพระองค์ พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ชื่อปริยการิณี (คือตฤศลา) เสกสมรสกับสิทธารถะ[3] แต่แฮร์มัน จาโกบี นักภารตวิทยาชาวเยอรมัน ระบุว่าตฤศลาน่าจะเป็นพระขนิษฐาของเชฏกะมากกว่า[2] ทั้งนี้ภรรยาคนที่สามของเชฏกะชื่อเกษมะ เป็นธิดาของผู้นำตระกูลมัทระแห่งปัญจาบ[4] พระขนิษฐาของตฤศลาส่วนใหญ่ไปเป็นมเหสีกษัตริย์หัวเมืองใหญ่ต่าง ๆ มีพระองค์หนึ่งเป็นมเหสีพระเจ้าพิมพิสาร และมีพระขนิษฐาคนหนึ่งออกบำเพ็ญพรตตามคติเชน

ทั้งตฤศลาและสิทธารถะนับถือพระปารศวนาถ ตีรถังกรลำดับที่ 23 เอกสารเชนระบุว่าตฤศลาทรงครรภ์ได้เก้าเดือนกับอีกเจ็ดวันครึ่งจึงประสูติกาลพระโอรสตรงกับคริสต์ศตวรรษที่ 8 ส่วนเอกสารฝ่ายเศวตามพรระบุว่าเทวนันทา มเหสีวรรณะพราหมณ์ทรงครรภ์มาแต่เดิม พระอินทร์จึงใช้อำนาจวิเศษย้ายพระกุมารไปสู่พระครรภ์ตฤศลาแทน สาเหตุก็เพราะตีรถังกรทุกพระองค์ล้วนบังเกิดในวรรณะกษัตริย์เท่านั้น[1]

สุบินนิมิตอันเป็นมงคล[แก้]

ตฤศลาทรงสุบินนิมิต

ก่อนประสูติกาลตฤศลามีสุบินนิมิตถึงสิ่งมงคล เอกสารว่าทิคัมพรระบุว่ามี 16 ประการ ส่วนเอกสารเศวตามพรระบุว่ามีเพียง 14 ประการเท่านั้น เมื่อตฤศลาตื่นบรรทม ก็ได้ทูลสวามีถึงนิมิตมงคล[5] ในวันถัดมาสิทธารถะจึงเรียกให้โหรหลวงเข้าเฝ้าเพื่อทำนายนิมิตของตฤศลา ซึ่งโหรทั้งหลายจึงกราบทูลว่าพระราชโอรสที่จะประสูติจะเป็นผู้เข้มแข็งกล้าหาญ และเปี่ยมด้วยคุณธรรม

โดยสิ่งมงคลที่ปรากฏในสุบินนิมิตของตฤศลามีดังนี้

  1. ช้างเอราวัณ
  2. วัว
  3. สิงโต
  4. พระลักษมี
  5. มวลบุปผาชาติ
  6. ดวงจันทร์วันเพ็ญ
  7. ดวงอาทิตย์
  8. ธงผืนใหญ่
  1. หม้อปูรณฆฏะ
  2. สระน้ำที่เต็มไปด้วยปทุมชาติ
  3. เกษียรสมุทร
  4. วิมานอากาศ
  5. อัญมณี
  6. ไฟไร้ควัน
  7. ปลาคู่ (เฉพาะนิกายทิคัมพร)
  8. บัลลังก์หรือพระโธรน (เฉพาะนิกายทิคัมพร)

เชิงอรรถ[แก้]

อ้างอิง
  1. 1.0 1.1 "Mahavira, Jaina teacher". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ 1 September 2015.
  2. 2.0 2.1 Sunavala 1934, p. 52.
  3. Jain, Dr. Pannalal (2015), Uttarapurāṇa of Āchārya Guṇabhadra, Bhartiya Jnanpith, p. 482, ISBN 978-81-263-1738-7
  4. Krishna, Narendra. (1944) History of India, A. Mukherjee & bros. p. 90.
  5. Shah 1987, p. 47.
บรรณานุกรม