ตริภังค์
ตริภังค์ (อักษรโรมัน: Tribhaṅga; ตฺริภงฺค) เป็นท่ายืนที่ใช้ในศิลปะอินเดีย และ นาฏลีลาอินเดียคลาสสิก เช่น โอฑิศศี ตริภังค์มีลักษณะคือลำตัวเอียงโค้งสามส่วน คือ เข่าเอียงไปทางหนึ่ง, สะโพกเอียงไปทางหนึ่ง และที่คอกับไหล่จึงเอียงกลับไปทางเดียวกับเข่า[1][2]
มีปรากฏหลักฐานของท่ายืนแบบตริภังค์ในศิลปะอินเดียเก่าแก่ถึง 2,000 ปี และสามารถพบได้ในศิลปะ ทั้งประติมากรรมและจิตรกรรมของอินเดีย มีตัวอย่างให้พบอยู่นับไม่ถ้วน[3] ตริภังค์แพร่กระจายไปสู่เอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านศาสนาอินเดีย ตริภังค์มีลักษณะเทียบเท่ากับคอนทรัปโปสโต และ "เส้นเว้าเอส" ในศิลปะตะวันตก ซึ่งทำให้ศิลปะบุคคลมีลักษณะเคลื่อนไหว มีความลื่นไหลที่มีจังหวะ และมีพลังงานของความเยาว์วัย ("rhythmic fluidity and ... youthful energy")[4]
คำนี้มาจากภาษาสันสกฤต โดย ภงฺค แปลว่าท่าทางหรือปาง ส่วน ตฺริ แปลว่าสาม ชื่ออื่น ๆ ของท่าทางเดียวกันนี้ในเอกสารเกี่ยวกับนาฏศิลป์โบราณใช้คำว่า สมภังค์ สำหรับ "ท่าที่สมดุล" ทั้งยืน นั่ง หรือนอน นอกจากนี้ยังมี อภังค์ สำหรับการโค้งขาข้างหนึ่งเล็กน้อย ทำให้เกิดทรวดทรงที่มีส่วนโค้งเล็กกว่า และยังมีท่าที่ซับซ้อนอย่าง อติภังค์[5] ที่ซึ่งพบตัวอย่างได้ในท่าร่ายรำขององค์ศิวนาฏราช[6]
ประวัติศาสตร์
[แก้]ที่มาของท่าตริภังค์มักกล่าวกันว่ามาจากประติมากรรม เด็กหญิงร่ายรำ จากโมเฮนโจดาโร อายุราว 2300-1750 ปีก่อน ค.ศ.[7] กระนั้นก็ไม่ได้เป็นรูปแสดงอย่างตริภังค์ที่พบในปัจจุบัน หรือตริภังค์อาจจะมีที่มาจากนาฏกรรมก่อนที่จะเป็นทัศนศิลป์[8] ทั้งนี้ หลักฐานที่ปรากฏในศิลปะยุคแรกนั้นชัดเจนกว่า รูปตริภังค์ในยุคแรก ๆ แทบจะปรากฏในรูปสตรีทั้งสิ้น ต่อมาจึงค่อย ๆ แพร่หลายมาพบในรูปบุรุษเช่นกัน ตัวอย่างชิ้นสำคัญของตริภังค์ เช่น ยักษีที่ภรรหูต (ราว 100 ปี ก่อน ค.ศ.), รูปคลาสสิกที่สาญจี (ราว ค.ศ. 10)[9] และ ยักษีแห่งภูเตศวร (ศตวรรษที่ 2)
ปรากฏท่าตริภังค์ในประติมากรรมคุปตะ และบนเหรียญจำนวนมากจากจักรวรรดิคุปตะ (ราว ค.ศ. 319 - 543) ปรากฏท่าตริภังค์ทั้งในรูปของกษัตริย์และเทพเจ้าบนเหรียญทั้งสองหน้า[10] ในยุคนี้ ตริภังค์เริ่มปรากฏในทั้งศิลปะฮินดูและพุทธ ไปจนถึงศิลปะไชนะ[11] ภาพจิตรกรรมโบราณของอินเดียที่มีชื่อเสียงที่สุด ภาพพระโพธิสัตว์ปัทมปานีที่ถ้ำหมายเลข 1 ในหมู่ถ้ำอชันตา (ค.ศ. 478) ก็ประทับยืนตริภังค์[12] ท่าตริภังค์นี้ยังคงนิยมใช้ในรูปพระโพธิสัตว์เรื่อยมา
เข้าใจว่าในศตวรรษที่ 9 ท่าตริภังค์เริ่มแพร่กระจายไปในทุกรูปบุคคล และยิ่งเห็นได้เด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งศตวรรษที่ 13 จึงเริ่มเห็นส่วนโค้งแบบตริภังค์ลดลง ในพุทธศิลป์นิยมแสดงพระพุทธเจ้าประทับตริภังค์เล็กน้อย ส่วนตีรถังกรของศิลปะไชนะแทบไม่ปรากฏในท่าตริภังค์เลย พระวิษณุ และ พระพรหม ก็ปรากฏท่าตริภังค์เล็กน้อยเป็นครั้งคราเท่านั้น ดังเช่นที่มนเทียรแห่งขชุราโหซึ่งพบพระวิษณุและพระพรหมในท่าตริภังค์อยู่ทั่วไป[13] ส่วน พระกฤษณะ ในปางทรงขลุ่ยจะประทับตริภังค์ โดยมีขาส่วนล่างไขว้ไปอีกข้างและใช้เพียงนิ้วโป้งเท้าแตะพื้น
ในศิลปะฮินดูและพุทธศิลป์ของเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ ท่าที่เป็นตริภังค์มักจะบ่งบอกว่าเป็นของยุคแรกเริ่มได้รับอิทธิพลอินเดีย รูปตริภังค์ค่อย ๆ กลายมาเป็นตัวตรงเมื่อเวลาผ่านไป[14] แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่ในรูปที่แสดงการร่ายรำ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Tribhanga", Getty Research, Art & Architecture Thesaurus
- ↑ Varma, K. M. (1983). Myth of the so-called "tribhaṅga" as a "pose", or, The nature and number of bhaṅgas. Proddu. p. 15.
- ↑ Rowland, 162
- ↑ Berkson, 130
- ↑ Berkson, 121
- ↑ Anand, Mulk Raj, The Hindu View of Art, 2019 (reprint), Routledge, ISBN 0429627521, 9780429627521114, google books
- ↑ Chakraborty, Swati, Socio-religious and cultural study of the ancient Indian coins, 324, 1986, B.R. Pub. Corp.; Harle, 17 for date
- ↑ Rowland, 158; Berkson, 121-122
- ↑ Craven, 70
- ↑ Craven, 118
- ↑ Berkson, 133-137
- ↑ Craven, 125
- ↑ Masson-Ousel, 380-383; Brahma at Khajuraho
- ↑ Masson-Ousel, 382-383; Rowland, 427
บรรณานุกรม
[แก้]- Berkson, Carmel, The Life of Form in Indian Sculpture, 2000, Abhinav Publications, ISBN 8170173760, 9788170173762, google books
- Craven, Roy C., Indian Art: A Concise History, 1987, Thames & Hudson (Praeger in USA), ISBN 0500201463
- Harle, J.C., The Art and Architecture of the Indian Subcontinent, 2nd edn. 1994, Yale University Press Pelican History of Art, ISBN 0300062176
- Masson-Ousel, P., Stern, P., Willman-Grabowska, H., Ancient India and Indian Civilization, 2013 (reprint), Routledge, ISBN 1136200657, 9781136200656, google books
- Rowland, Benjamin, The Art and Architecture of India: Buddhist, Hindu, Jain, 1967 (3rd edn.), Pelican History of Art, Penguin, ISBN 0140561021
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Tribhanga