ดิอันนาวันไทมส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ดิอันนาวันไทมส์
บันทึกประวัติศาสตร์เมืองของเราทุกสัปดาห์
(Recording our town’s history weekly)
ประเภทรายสัปดาห์
ขนาดหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น
เจ้าของคีธ เดวิส
บรรณาธิการบริหารคีธ เดวิส
ก่อตั้งเมื่อพ.ศ. 2550
ภาษาสหรัฐ อังกฤษ-อเมริกัน
ฉบับสุดท้ายพ.ศ. 2553
สำนักงานใหญ่เลขที่ 303 ถนนพริตชาร์ดตะวันตก เมืองอันนาวัน รัฐอิลลินอย สหรัฐอเมริกา
ยอดจำหน่าย~50+
เว็บไซต์ดิอันนาวันไทมส์

ดิ อันนาวัน ไทมส์ (อังกฤษ: The Annawan Times) เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ประจำเมืองอันนาวัน ซึ่งเป็นเมืองขนาดเล็ก มีประชากรประมาณ 900 คน ตั้งอยู่ในรัฐอิลลินอย ของสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งโดยเด็กชายคีธ เดวิส โดยนอกจากจะออกเป็นฉบับพิมพ์แล้ว ยังมีเว็บไซต์ข่าวเป็นของตัวเอง ส่งผลให้มีสินค้าและบริการหลายชนิดมาลงโฆษณา รวมถึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกพิเศษ ของสมาคมนักข่าวแห่งรัฐอิลลินอย ซึ่งเป็นองค์กรระดับรัฐ ที่มีหนังสือพิมพ์ในอิลลินอยส์เป็นสมาชิกแทบทั้งหมด และเป็นสมาคมหนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา

ประวัติ[แก้]

หนังสือพิมพ์ ดิ อันนาวัน นิวส์ (ชื่อเดิม; The Annawan News) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ขณะที่ ด.ช.คีธ อายุได้ 9 ปี เนื่องจากเขาเห็นว่า ไม่มีหนังสือพิมพ์ของเมืองที่อาศัยอยู่แม้แต่ฉบับเดียว ส่วนหนังสือพิมพ์ระดับรัฐ หรือเมืองใกล้เคียง ที่มีอยู่ขณะนั้น ก็มักไม่นำเสนอข่าวสาร ภายในชุมชนของเขาเท่าไรนัก ประกอบกับอุปนิสัยของเขาเอง ที่ให้ความสนใจกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น และอยู่รอบตัวเขา เมื่อได้รับรู้เรื่องใดๆ ก็ต้องการทราบว่า ความจริงของเรื่องนั้นเป็นอย่างไร ด้วยเหตุผลดังกล่าว เขาจึงเริ่มผลิตหนังสือพิมพ์ ที่เสนอข่าวท้องถิ่นขึ้นด้วยตนเอง เพื่อแจกให้เปล่า โดยออกวางแผงทุกวันพฤหัสบดี ในระยะแรกนั้น ยังมีเพื่อนๆ ของเขามาช่วยงานในบางโอกาส แต่พวกเขาก็ไม่ได้สนุกสนานกับกิจกรรมนี้ คีธจึงลงมือทำเองเพียงลำพัง หลังจากนั้นเป็นต้นมา

ต่อมา คีธจึงเปลี่ยนชื่อหนังสือพิมพ์เป็น ดิ อันนาวัน ไทมส์ ซึ่งมีจำนวนระหว่าง 6-8 หน้ากระดาษ ที่ประกอบไปด้วยเรื่องราวหลากหลาย ทั้งข่าวสังคม, ข่าวชุมชน, ประชาสัมพันธ์กิจกรรม, สารคดี, ภาพข่าว, การ์ตูนช่อง, โฆษณาย่อย และข่าวภูมิอากาศ ซึ่งเขาให้ความสนใจเป็นพิเศษ โดย ไคล์ เดวิส น้องชายของเขา ยังให้ความช่วยเหลือต่างๆ โดยเฉพาะการสร้างเกมปริศนา (Puzzle) อย่างซูโดะกุ ซึ่งไคล์มีความถนัด รวมทั้งมีชาวอันนาวันจำนวนหนึ่ง ช่วยส่งเบาะแสข่าวเบื้องต้น ตลอดจนแนวความคิดสำหรับเขียนบทความ ผ่านทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์, จดหมาย หรือแม้แต่โทรศัพท์ไปหาโดยตรง และเขายังสามารถขอรับข้อมูลบางส่วน จากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และตำรวจของเมืองได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ผู้สนใจก็สามารถรับไปอ่านได้ จากกล่องใส่หนังสือพิมพ์ของคีธ ที่ตั้งอยู่ใกล้ประตูร้านขายของชำ ใจกลางเมืองอันนาวัน โดยที่กล่องดังกล่าว จะมีช่องหยอดเหรียญ เพื่อรับบริจาคจากผู้อ่านด้วย และยังมีวางไว้ตามร้านค้าทั่วไปแห่งอื่นๆ ภายในเมือง แต่ละจุดจะมีหนังสือพิมพ์ประมาณ 15-20 ฉบับ อนึ่ง เขายังมีสมาชิก ที่ชำระค่าจัดส่งหนังสือพิมพ์ถึงบ้านทางไปรษณีย์ อีกจำนวน 3 ราย นอกจากนี้ ดิ อันนาวัน ไทมส์ ยังมีเว็บไซต์ข่าวเป็นของตนเอง ในชื่อโดเมน www.annawantimes.com ซึ่งคีธเป็นผู้จัดทำโดยลำพังในทุกกระบวนการ ทั้งออกแบบหน้าเว็บ เขียนข่าวและบทความลง เป็นต้น โดยใช้โต๊ะอาหารของบ้านแทนโต๊ะข่าว, ผลิตทั้งหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ จากคอมพิวเตอร์ของเขาเอง และพิมพ์ด้วยการใช้เครื่องถ่ายเอกสารของครอบครัว แต่เมื่อไม่นานนี้ สำนักพิมพ์ขนาดเล็กของเมืองใกล้เคียง เสนอว่าจะพิมพ์ ดิ อันนาวัน ไทมส์ ให้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ในปี พ.ศ. 2554 โดยเขาต้องนำต้นฉบับไปส่งล่วงหน้าในวันอังคาร

ถึงแม้ว่า คีธจะใช้เวลาในช่วงเช้าตรู่ก่อนไปโรงเรียน และวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ สำหรับทำงานอดิเรกนี้ รวมกันกว่า 10-15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็ตาม แต่เขาก็ทำสัญญากับ โรเจอร์ และ คอลลีน เดวิส บิดาและมารดาไว้ว่า เขาจะต้องมีผลการเรียนไม่ต่ำกว่าระดับ บี ไม่เช่นนั้น การออกหนังสือพิมพ์ของเขาจะต้องเลื่อนออกไป เพื่อให้เวลากับการทบทวนบทเรียนมากขึ้น อนึ่ง เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2553 คีธได้รับกล่องพัสดุไปรษณีย์ จากสมาคมนักข่าวแห่งรัฐอิลลินอย ซึ่งเต็มไปด้วยอุปกรณ์จำเป็นต่างๆ สำหรับการเป็นนักหนังสือพิมพ์ คือบัตรสื่อมวลชน, คู่มือบรรณาธิกร (Stylebook) ของสำนักข่าวเอพี, สติกเกอร์สีแดง มีตัวอักษรสีขาว ข้อความว่า PRESS, สมุดบันทึกสำหรับผู้สื่อข่าว, ปากกา เป็นต้น ที่สำคัญคือ มีบัตรสมาชิกสมาคมฯ ที่ระบุชื่อเขา และหนังสือแต่งตั้งให้เขา และ ดิ อันนาวัน ไทมส์ เป็นสมาชิกอันทรงเกียรติ (Honorary Member) ของสมาคมฯ เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่นเดียวกับสมาชิกทั่วไป แต่ไม่ต้องมีค่าสมาชิกใดๆ ทั้งสิ้น

เนื่องจากก่อนหน้านั้น คีธพยายามร้องขอสมาชิกภาพจากสมาคมฯ มาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับความสนใจจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเท่าที่ควร เพราะเห็นว่าเป็นเด็ก จึงไม่คิดว่าเป็นเรื่องจริงจัง จนกระทั่งผู้บริหารระดับสูงของสมาคมฯ ทราบเรื่องดังกล่าว จึงอนุมัติความเป็นสมาชิกแก่เขา และ ดิ อันนาวัน ไทมส์ โดย เดวิด พอร์เตอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและการตลาด ให้เหตุผลว่า สมาคมฯ พิจารณาจากความสามารถ และความตั้งใจของเขา ซึ่งเป็นอาสาสมัครปฏิบัติงานวารสารศาสตร์ทั้งหมดโดยลำพัง ตั้งแต่อายุยังน้อย อันเป็นเรื่องที่สมาคมฯ ต้องการส่งเสริมแก่เยาวชนทั่วไป จึงมอบสถานะสมาชิกให้เป็นพิเศษ เพื่อสนับสนุนและให้กำลังใจแก่เขา โดยมิได้ให้ความสำคัญ กับการตรวจสอบมาตรฐาน ดังเช่นที่สมาชิกอื่นๆ ต้องผ่านการพิจารณา หากแต่สนใจในประโยชน์สาธารณะ และความถูกต้องตามกฎหมาย ของเนื้อหาที่ตีพิมพ์มากกว่า

ทว่าหลังจากนั้นไม่กี่เดือน การออกหนังสือพิมพ์ของ ด.ช.คีธต้องหยุดลงในปีเดียวกันนั้น ขณะที่เขามีอายุ 12 ปี และศึกษาในระดับ 7 (เทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 1 ในประเทศไทย) เนื่องจากมีภารกิจที่จำเป็นมากขึ้นตามวัย

ภาพยนตร์สั้น[แก้]

ขณะที่ ด.ช.คีธ ยังคงบรรณาธิกรหนังสือพิมพ์ของเขาอยู่นั้น โจนาธาน นาโปลิตาโน (Jonathan Napolitano) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอิตาลี มีความสนใจในเรื่องราวของเขา จึงติดตามถ่ายทำเพื่อผลิตเป็นภาพยนตร์สั้น ในชื่อเดียวกับหนังสือพิมพ์ มีความยาว 13 นาที และนำออกเผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2556 (ค.ศ. 2013)[1]

อ้างอิง[แก้]

  • "Youngster keeps Annawan in the know". Star Courier. 10 เมษายน พ.ศ. 2553. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-29. สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  • "Hot off the presses". Bureau County Republican. 2 มิถุนายน พ.ศ. 2553. สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)[ลิงก์เสีย]
  • "Town's Only Reporter Just 12 Years Old". บริษัทการกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา สาขาชิคาโก. 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-22. สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  • คีธ เดวิส นักข่าววัย 12. คอลัมน์ ทีนเทศ, หน้า 25, มติชนรายวัน (30 มิถุนายน พ.ศ. 2553)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]