ฌอง หลุยส์ เวย์
ฌอง หลุยส์ เวย์ | |
---|---|
เกิด | 6 มกราคม ค.ศ. 1840 เมืองอาโรล จังหวัดโอต-ลัวร์ ประเทศฝรั่งเศส |
เสียชีวิต | 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1909 (69 ปี) โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ |
สัญชาติ | ฝรั่งเศส |
มุขนายกฌอง หลุยส์ เวย์[1][2] (ฝรั่งเศส: Jean Louis Vey) เป็นบาทหลวงโรมันคาทอลิกชาวฝรั่งเศส ปฏิบัติหน้าที่มิชชันนารีในราชอาณาจักรสยาม และได้รับแต่งตั้งเป็นมุขนายกผู้แทนพระสันตะปาปาประมุขมิสซังสยามตะวันออก (Vicar Apostolic of Eastern Siam) ในสมัยรัชกาลที่ 5
ประวัติ
[แก้]มุขนายกฌอง หลุยส์ เวย์ เกิดที่เมืองอาโรล จังหวัดโอต-ลัวร์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1840[3] เมื่อโตขึ้นได้เข้าศึกษาที่เซมินารีเล็ก แล้วจึงเข้าเรียนที่เซมินารีของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1862 ท่านได้รับศีลอนุกรมเป็นบาทหลวงเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ.1865 แล้วออกเดินทางจากฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม เพื่อมาทำการประกาศข่าวดีในสยาม
บาทหลวงเวย์ เดินทางถึงสยามในเดือนกันยายน ขณะนั้นบาทหลวงโอกุสแต็ง-โฌแซ็ฟ ดูว์ปง เพิ่งรับตำแหน่งประมุขมิสซังสยามตะวันออกได้ไม่นาน หลังจากศึกษาภาษาสยามแล้ว ท่านก็เริ่มทำงานต่าง ๆ ช่วยเหลือมิสซังตามแต่ได้รับมอบหมายจากมุขนายก เช่น เป็นอธิการโบสถ์อัสสัมชัญ บางรัก เป็นผู้ดูแลเซมินารี จนกระทั่งได้ปฏิบัติหน้าที่แทนอุปมุขนายกมิสซัง บาทหลวงมาร์แต็งซึ่งชราภาพมากจนปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ อย่างไรก็ตามบาทหลวงเวย์ มักมีนิสัยชอบวางอำนาจและจู้จี้ ทำให้มิชชันนารีอื่น ๆ ในสมัยนั้นไม่ค่อยชอบท่าน แต่เพราะความจริงจังในการทำงาน ท่านจึงเป็นที่รักของประมุขมิสซัง ช่วงที่มุขนายกดูว์ปงป่วยหนัก ท่านจึงได้เรียกประชุมมิชชันนารีเพื่อขอให้เลือกบาทหลวงเวย์เป็นประมุขมิสซังคนต่อไป เมื่อมุขนายกดูว์ปงถึงแก่มรณกรรมแล้ว ปรากฏว่าเหล่ามิชชันนารีไม่ยอมลงคะแนนเลือกบาทหลวงเวย์ ทำให้ตำแหน่งประมุขมิสซังสยามตะวันออกว่างไปเกือบ 2 ปี เมื่อการเลือกตั้งอีกครั้งบาทหลวงเวย์จึงได้รับเสียงสนับสนุนเป็นเอกฉันท์
บาทหลวงเวย์ได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 9 ให้ดำรงตำแหน่งผู้แทนพระสันตะปาปาประจำมิสซังสยามตะวันออกและมุขนายกเกียรตินามแห่งเกราซา (Titular Bishop of Gerasa) เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1875 ขณะอายุได้ 35 ปี
มุขนายกฌอง หลุยส์ เวย์ ถึงแก่มรณกรรมด้วยไข้มาลาเรียที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1909[1] ขณะอายุได้ 69 ปี
ผลงาน
[แก้]ในช่วงที่มุขนายกเวดำรงตำแหน่งประมุขมิสซัง มิสซังในสยามได้เจริญขึ้นหลายประการ มีการซื้อที่ดินเพิ่มเติมเพื่อสร้างโบสถ์ตั้งโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ท่านได้ส่งเสริมการประกาศาสนาในภาคอีสานและประเทศลาว การเผยแผ่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จนต่อมาสันตะสำนักให้ตั้งมิสซังลาวขึ้นแยกจากมิสซังสยามตะวันออก
ผลงานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งคือการทำพจนานุกรมภาษาไทยชื่อ ศริพจน์ภาษาไทย์ โดยปรับปรุงจาก สัพะ พะจะนะ พาสา ไท ของมุขนายกฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "พระสังฆราช ฌอง หลุยส์ เวย์". หอจดหมายเหตุ มิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2556.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ วิกตอร์ ลาร์เก, ประวัติพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย, แม่พระยุคใหม่, 2539, หน้า 213-264
- ↑ "Bishop Jean-Louis Vey". Catholic-hierarchy. 4 กันยายน 2556. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2556.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)
ก่อนหน้า | ฌอง หลุยส์ เวย์ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
โอกุสแต็ง-โฌแซ็ฟ ดูว์ปง | ผู้แทนพระสันตะปาปาประจำมิสซังสยามตะวันออก (ค.ศ. 1875 - ค.ศ. 1909) |
เรอเน แปร์รอส |