ฉบับร่าง:หลวงสรรค์บุรานุรักษ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หลวงสรรคบุรานุรักษ์(ฉาย อัมพเศวต)

อำมาตย์เอก พระยาชัยนฤนาท (ฉาย อัมพเศวต) ต.จ.ว., จ.ม., รัตน ว.ป.ร.4, อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท เป็นชาวเมืองสรรค์ เกิดในรัชกาลที่ 4 เมื่อ ณ วันพุธ เดือนอ้าย ขึ้น 15 ค่ำ ปีเถาะ จุลศักราช 1229 (วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2410) เป็นบุตร หลวงภัคดีบริรักษ์ (อ่ำ) กรมการเมืองสรรค์[1]

ในวัยเด็ก ได้ศึกษาอักขรสมัย และบวชที่วัดมเหยงค์ ในเมืองสรรค์ แล้วรับราชการที่เมืองนั้น จนได้เป็นตำแหน่ง หลวงพินิจสุภาแพ่ง เมื่อ พ.ศ. 2432 (อายุ 22 ปี) ครั้นเมื่อจัดตั้งมณฑลนครสวรรค์ ได้รับราชการฝ่ายตุลาการมาจน พ.ศ. 2442 (อายุ 32 ปี) ได้ตำแหน่งนายอำเภอสรรค์ (คือเมืองสรรค์แต่ก่อน ซึ่งจัดการปกครองลดลงเป็นอำเภอ) แล้วได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น หลวงสรรค์บุรานุรักษ์ ตำแหน่งนายอำเภอสรรค์บุรี เมื่อ พ.ศ. 2443 (อายุ 33 ปี)

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองเหนือ พ.ศ. 2444 พระยาชัยนฤนาถยังเป็นหลวงสรรค์บุรานุรักษ์ จัดการรับเสด็จที่เมืองสรรค์เรียบร้อย และกราบทูลชี้แจงการงานบ้านเรือนเวลามีรับสั่งถามถูกถ้วนพอพระราชหฤทัย ทรงพระเมตตามาแต่คราวนั้น ครั้นตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชรว่างลง เมื่อ พ.ศ. 2447 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ไปรั้งราชกาลเมืองกำแพงเพชร แล้วพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเป็น พระวิเชียรปราการ ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ตั้งแต่ พ.ศ. 2448 (อายุ 38 ปี) เป็นต้นมา

ใน พ.ศ. 2448 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระยุพราชเสด็จกลับจากเมืองเชียงใหม่ มาถึงเมืองกำแพงเพชร พระวิเชียรปราการ ก็ได้นำเสด็จประพาสเมืองโบราณ ได้ฟังพระกระแสทรงอธิบาย ได้บังเกิดความเลื่อมใสในโบราณคดี ถวายตัวเป็นศิษย์ศึกษาโบราณคดีมาแต่นั้น

ครั้นเสด็จกลับแล้วจึงตั้งต้นคิดแผ้วถางที่เมืองกำแพงเพชรเก่าอันเป็นป่าดงรกชัฏมาช้านาน พยายามค่อยถางไปจนเตียนปรากฏโบราณสถานทั้งปวง ทั้งที่เมืองเก่าและที่อรัญญิกข้างหลัง เมืองจึงเป็นที่คนไปมาเที่ยวดูได้สะดวกจนตราบเท่าทุกวันนี้

ต่อมาอีก 1 ปี ถึง พ.ศ. 2449 ก็ได้รับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสขึ้นไปถึงเมืองกำแพงเพชร ได้จัดการรับเสด็จ และนำเสด็จประพาสโบราณสถานในเมืองกำแพงเพชร เป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก รุ่งขึ้นอีกปี 1 ถึง พ.ศ. 2450 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระยุพราช เสด็จขึ้นไปประพาสเมืองพระร่วง เสด็จโดยทางเรือพระที่นั่งไปขึ้นบกที่เมืองกำแพงเพชร พระวิเชียรปราการ ได้นำเสด็จทอดพระเนตรโบราณสถาน ทั้งปวงที่ได้จัดการแผ้วถางตามพระกระแสทรงแนะนำไว้แต่ก่อน แล้วตามเสด็จทางบกซึ่งเสด็จไปตามถนนพระร่วงจนถึงเมืองสุโขทัยและเมืองสรรคโลก

ถึงรัชกาลสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเป็นพระยาวิเชียรปราการ เมื่อ พ.ศ. 2454 ( อายุ 44 ปี ) แต่รับราชการอยู่เมืองกำแพงเพชรต่อมาได้อีกปีเดียว ด้วยเมืองกำแพงเพชร เป็นเมืองที่มีไข้ชุกชุม พระยาวิเชียรปราการ ทนความเจ็บไข้มาได้หลายปีจนถึง พ.ศ. 2454 เกิดไข้ระบาดคราวใหญ่ บุตรภรรยาบ่าวไพร่ของ พระยาวิเชียรปราการ ที่ไปอยู่ด้วยถึงแก่กรรมเกือบหมด ได้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาททรงสงสาร จึงโปรดให้ย้ายตำแหน่งมาเป็นผู้ว่าราชกาลจังหวัดชัยนาท แล้วทรงพระราชทานสัญญาบัตรเป็น พระยาชัยนฤนาท รับราชการในตำแหน่งนี้มาจนตลอดอายุ

พระยาชัยนฤนาท ได้รับพระราชทานบำเน็จความชอบเมื่อใน รัชกาลที่ 5 ได้รับพระราชทางเครื่องราชอิสริยาภรณ์สงกุฎสยามชั้นที่ 4 ในรัชกาลที่ 6 ได้รับพระราชทานเข็มข้าหลวงเดิม และเหรียญรัตนาภรณ์ชั้น 4 และเมื่อ พ.ศ. 2459 ได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติจุลจอมเกล้าวิเศษ กับโต๊ะกาทองคำเครื่องยศด้วย

พระยาชัยนฤนาทป่วยเป็นลมด้วยโรคหัวใจพิการ ถึงแก่อนิจกรรมที่เมืองชัยนาท เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมปี พ.ศ. 2462 คำนวนอายุได้ 52 ปี

สถูปบรรจุอัฐิ ของหลวงสรรคบุรานุรักษ์ (ฉาย อัมพเศวต)

ปัจจุบัน สถูปบรรจุอัฐิของ พระยาชัยนฤนาท (ฉาย อัมพเศวต) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเจดีย์ประธานวัดมะเหยงคณ์ เมืองสรรค์บุรี ไม่ไกลจากบริเวณที่ตั้งของกุฏิพระชัยนาทมุนี (หรุ่น) ซึ่งพระยาชัยนฤนาทได้สร้างถวาย ให้กับพระชัยนาทมุนี (หรุ่น) อดีตเจ้าอาวาสวัดมะเหยงคณ์ นอกจากนี้ชื่อของท่านยังถูกนำไปตั้งเป็นชื่อของพระพุทธรูป ที่ท่านร่วมกับชาวบ้านเมืองสรรค์บุรี บูรณะพระที่อยู่ทางทิศตะวันออกของเจดีย์วัดพระแก้ว ให้มีลักษณะที่สมบูรณ์ คือ หลวงพ่อฉาย อีกด้วย

อ้างอิง[แก้]

  1. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. (2526). คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก. กรุงเทพฯ: ชมรมดำรงวิทยา.

หมวดหมู่:ขุนนางไทย