ฉบับร่าง:ศูนย์สารสนเทศประเทศไทยและประชาคมอาเซียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ศูนย์สารสนเทศประเทศไทยและประชาคมอาเซียน (Thailand and ASEAN Information Center) ตั้งอยู่ที่ชั้น 6 สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้บริการทรัพยากรสารสนเทศทางสังคมศาสตร์ในไทยและภูมิภาคเอชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ครอบคลุมประเด็นทางการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ ความมั่นคง ศิลปะและวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์ และการพัฒนา ปัจจุบัน มีคอลเลกชันให้บริการ ดังนี้ เอกสาร Cold War พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 6 พระนิพนธ์ของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ หนังสือส่วนพระองค์ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ และพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร มุมอินเดียศึกษา มุมจีนศึกษา และสิ่งพิมพ์ด้านอาเซียน[1][2]

ประวัติความเป็นมา

ศูนย์สารสนเทศประเทศไทยและประชาคมอาเซียน เดิมคือศูนย์เอกสารประเทศไทย Thailand Information Center (TIC) แรกเริ่มเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างศูนย์วิจัยและพัฒนาการทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด (MDRC) และหน่วยงานวิจัยและพัฒนาประเทศไทย (RDC-T) กับองค์การวิจัยโครงการขั้นสูง (ARPA) กระทรวงกลาโหม ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2511 ขณะนั้นศูนย์เอกสารฯ ดำเนินงานโดย The Battelle Memorial Institute – Columbus Laboratories ภายใต้สัญญาที่ลงนามกับ ARPA ถือได้ว่าศูนย์เอกสารฯ เป็นแหล่งทรัพยากรสารสนเทศที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทย โดยมุ่งเน้นในเชิงพฤติกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีกลุ่มผู้ใช้เป็นเจ้าหน้าที่ของ MDRC และ RDC-T บุคลากรหน่วยงานภาครัฐทั้งจากไทยและสหรัฐอเมริกา และนักวิจัยอิสระหรือจากหน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานและทำการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาด้านความมั่นคงและการพัฒนาประเทศไทย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 องค์การวิจัยขั้นสูง ได้เตรียมปิดการดำเนินงานในประเทศไทย ดังนั้น ศูนย์เอกสารฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของ ARPA จึงจำเป็นต้องยุติงานตามไปด้วย แต่ด้วยทรัพยากรสารสนเทศอันทรงคุณค่ากว่า 20,000 รายการ ที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการศึกษาและวิจัยในประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้แจ้งความจำนงขอรับศูนย์เอกสารฯ มาดำเนินการ โดยมีผู้แทนจากสหรัฐอเมริกาเป็นผู้อนุมัติ ศูนย์เอกสารฯ โอนย้ายเป็นหน่วยงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2514 และเปิดทำการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2515 ณ ชั้นหนึ่ง ตึกสาม ของคณะรัฐศาสตร์ หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2525 ศูนย์เอกสารฯ ได้ย้ายมาอยู่ที่อาคารมหาธีรราชานุสรณ์ หรืออาคารสำนักงานวิทยทรัพยากรในปัจจุบัน ตั้งอยู่หลังอาคารสำนักงานอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บนถนนพญาไท และเปิดให้บริการแก่สาธารณะเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2525[3]

บริการในปัจจุบัน

ห้องหนังสือหายาก เป็นแหล่งข้อมูลหนังสือหายากที่มีประวัติยาวนานเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศไทย มีหนังสือเก่าหายากจำนวนกว่า 20,000 เล่ม ที่ล้วนมีคุณลักษณะพิเศษ มีประวัติการพิมพ์ที่สำคัญ มีเนื้อหาสาระที่อาจหาจากต้นฉบับอื่นไม่ได้แล้ว หนังสือหายากที่ศูนย์สารสนเทศประเทศไทยและประชาคมอาเซียน (TAIC) มีให้บริการ ครอบคลุมตั้งแต่หนังสือเก่าทรงคุณค่าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือส่วนพระองค์ของกรมพระจันทบุรีนฤนาถ หนังสือส่วนพระองค์ของกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร นิทรรศการถาวรในอาศรมวงศาธิราชสนิท เอกสารชุดสงครามเย็น เอกสารต้นฉบับตัวเขียน สมุดไทย ราชกิจจานุเบกษาฉบับแรกถึง พ.ศ. 2487 (สมัยรัชกาลที่ 8) หนังสือที่จัดพิมพ์ในโอกาสพิเศษต่าง ๆ หนังสืองานศพของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ หรือมีเนื้อหาภายในสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทย พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวเนื่องกับรัชกาลที่ 9 ผลงานพระราชนิพนธ์ของพระราชวงศ์ที่เกี่ยวกับจุฬาฯ รวมทั้งหนังสือพิมพ์ วารสารฝรั่งเศส L'Illustration & Le Petit Journal หรือพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐออนไลน์ เล่ม 1-45 เป็นต้น

กลุ่มหนังสือหายากที่ทรงคุณค่าที่สุดกลุ่มหนึ่งของจุฬาฯ คือ หนังสือส่วนพระองค์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ซึ่งเป็นพระอัยกาฝ่ายพระราชบิดาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และหนังสือส่วนพระองค์ของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร หรือพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าธานีนิวัต ซึ่งเป็นอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 9 จุฬาฯ ได้รับมอบมาทั้งตู้หนังสือส่วนพระองค์ ซึ่งมีทั้งในหมวดศาสนา ภาษา และอื่นๆ ซึ่งเป็นความสนใจส่วนพระองค์ อีกทั้งมีส่วนของหนังสือภาษาอังกฤษที่มีการสั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศในสมัยนั้น รวมถึงหนังสือองค์ความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีต่างๆ ที่สะท้อนวัฒนธรรมไทยในแต่ละรัชสมัย[4]

ศูนย์สารสนเทศประเทศไทยและประชาคมอาเซียน(TAIC) ยังให้บริการ ฐานข้อมูลเฉพาะด้านสารสนเทศประเทศไทยและประชาคมอาเซียนรวบรวมข้อมูลบรรณานุกรมของทรัพยากรสารสนเทศคัดสรร ด้านสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประชาคมอาเซียน ราว 100,000 เรื่อง ประกอบด้วย หนังสือ รายงานวิจัย รายงานการประชุม และ Grey Literature ให้บริการบทคัดย่อ (Abstract) และดรรชนีสืบค้น (Index) ภาษาอังกฤษ สำหรับทรัพยากรสารสนเทศคัดสรร

งานสงวนรักษาทรัพยากรสารสนเทศ (Digital Preservation)

ศูนย์สารสนเทศประเทศไทยและประชาคมอาเซียน (TAIC) ตระหนักดีว่าหนังสือหายากเป็นหนังสือที่มีความเปราะบาง ยากต่อการหยิบจับ เสี่ยงต่อการชำรุดเสียหาย จึงได้เริ่มสแกนและจัดเก็บไฟล์หนังสือหายากราว 10 ปีก่อน เพื่อสร้างเป็น “ฐานข้อมูลหนังสือหายาก” ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการแปลงหนังสือเป็น e-Rare books ให้บริการในฐานข้อมูลไปแล้วกว่า 10,000 เล่ม ส่วนตัวเล่มต้นฉบับยังคงอนุรักษ์ไว้และจัดเก็บรักษาในตู้ในพื้นที่ควบคุมความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บในรูปแบบของไฟล์ก็มีข้อจำกัดและความซับซ้อนของ Digital object ที่ต้องการการดูแลอย่างเหมาะสมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จึงต้องวางแผนให้ไฟล์เหล่านี้สามารถจะรองรับการเปลี่ยนแปลงหรือสามารถจะยังคง “เปิดได้” ในอนาคต โครงการจัดเก็บข้อมูลจึงยกระดับจาก “Collection” เป็น “Digital Preservation” พัฒนากระบวนการการรักษาดิจิทัลไฟล์เหล่านี้ให้คงอยู่ เพื่อให้ไฟล์หนังสือหายากเหล่านี้ยังคงเปิดอ่านใช้งานได้อีกอีก 10-20 ปีให้หลัง ไม่ว่าฮาร์ดแวร์หรือซอฟแวร์จะเปลี่ยนไปอย่างไร ปัจจุบันผู้ที่สนใจสามารถอ่านหนังสือหายากฉบับดิจิทัลที่ '''จุฬาดิจิเวิร์ส (Chula DigiVerse)''' ซึ่งเป็นคลังสารสนเทศดิจิทัลใหม่ที่ถูกออกแบบให้รองรับการสงวนรักษาดิจิทัลระยะยาวในอนาคต (Digital Preservation) และเปิดให้เข้าถึงแบบ Open Access เข้าถึงได้จากทุกมุมโลก[5]

  1. https://www.car.chula.ac.th/
  2. https://www.chula.ac.th/en/
  3. http://tic.car.chula.ac.th/th/about-tic/background
  4. https://www.car.chula.ac.th/taic.php
  5. https://digiverse.chula.ac.th/