ฉบับร่าง:จุฬาดิจิเวิร์ส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

จุฬาดิจิเวิร์ส (Chula DigiVerse) คือคลังสารสนเทศดิจิทัลขนาดใหญ่ พัฒนาระบบโดยสำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดให้ทดลองใช้งานครั้งแรก วันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสดุดีวันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า[1] โดยบูรณาการคลังสารสนเทศเดิมของสำนักงานฯ ไว้ในที่เดียวกัน ได้แก่ คลังปัญญาจุฬาฯ (CUIR), คลังเอกสารประเทศไทยและอาเซียนหลังยุคสงครามเย็น (Post-Cold War), คลังหนังสือหายาก (Rare Books Collections) คลังสื่อมัลติมีเดียและบันทึกการบรรยาย (Multimedia and E-Lecture Archive) ให้ประชาคมจุฬาฯ และบุคคลทั่วไปที่สนใจสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลออนไลน์ผลงานวิชาการและเอกสารดิจิทัลต่างๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้อย่างเสรี (Free Open Access) ตลอด 24 ชั่วโมง

ความเป็นมา

จุฬาดิจิเวิร์ส (Chula DigiVerse) ถือกำเนิดขึ้นจากโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการ Chula Digital Preservation System เพื่อบูรณาการและบริหารจัดการทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลที่สำคัญของจุฬาฯ ภายใต้แนวคิดการสงวนรักษาวัตถุดิจิทัลระยะยาวอย่างเป็นระบบ (Digital Preservation System) ตามมาตรฐานแบบจำลองเชิงอ้างอิงสำหรับระบบสารสนเทศเพื่อการจัดเก็บแบบเปิด (ISO 14721:2012 - Open archival information system - OAIS)

สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือที่เรียกกันติดปากว่า "หอสมุดกลางจุฬาฯ" มีการพัฒนาคลังสารสนเทศดิจิทัลของตนเองมานานแล้ว เพื่อให้บริการจัดเก็บ สงวนรักษา และเผยแพร่ทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัล อาทิ คลังวิทยานิพนธ์ (CUIR) ซึ่งเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (Born-digital theses) ไม่มีการเก็บรักษาวิทยานิพนธ์ในรูปแบบกระดาษอีกต่อไป รวมถึงทรัพยากรสารสนเทศแปลงสู่รูปแบบดิจิทัลเพื่อการสงวนรักษา (Digitization Collections) อาทิ หนังสือหายาก เอกสารทรงคุณค่าในยุคหลังสงครามเย็น สื่อมัลติมีเดีย และจดหมายเหตุที่เป็นมรดกขององค์กร คลังวิทยานิพนธ์อิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรฐานสากลของสำนักงานวิทยทรัพยากรยังเป็น 1 ใน 4 คลังสารสนเทศต้นแบบของประเทศไทยที่ผ่านการรับรองมาตรฐานคลังสารสนเทศดิจิทัลที่เชื่อถือได้ Core Trust Seal for Trust Worthy Repository

อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้สำนักงานวิทยทรัพยากรยังหาทางพัฒนาคลังสารสนเทศดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ให้มีระบบสงวนรักษาดิจิทัล (Digital Preservation System) เพื่อลดความเสี่ยงที่จะสูญเสียข้อมูล หรือข้อมูลไม่สามารถเข้าถึงได้อีกต่อไปเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งอาจทำให้วิทยานิพนธ์ดิจิทัลกว่า 76,000 รายการ หนังสือหายากเอกสารทรงคุณค่าดิจิทัลอีก 10,000 รายการ รวมถึงภาพกิจกรรม สื่อมัลติมีเดีย และบันทึกการสอนที่เป็นความทรงจำของมหาวิทยาลัยกว่า 10,000 รายการ เสี่ยงต่อการสูญเสียชนิดมิอาจกู้คืนได้ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาการสงวนรักษาอย่างเป็นระบบ และให้บริการในชื่อ จุฬาดิจิเวิร์ส (Chula DigiVerse) ดังปัจจุบัน
[2]

ระบบการทำงาน

จุฬาดิจิเวิร์ส (Chula DigiVerse) ดำเนินงานแตกต่างจากระบบคลังสารสนเทศดิจิทัลทั่วไป ตรงที่ระบบถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน และทำงานร่วมกัน ได้แก่

  • ส่วนที่ 1 Digital Collection Management System เป็นระบบการจัดการข้อมูล คอลเลกชัน และการให้บริการ
  • ส่วนที่ 2 Digital Preservation System เป็นระบบการสงวนรักษาดิจิทัล ประกอบด้วยงานนโยบาย กระบวนการทำงาน และเทคโนโลยีช่วยในการกำหนดคุณลักษณะไฟล์ การแปลงไฟล์เพื่อการสงวนรักษา การควบคุมจัดเก็บข้อมูล และทวนสอบความเปลี่ยนแปลง

โดยการทำงานของทั้งสองส่วนจะต้องเชื่อมต่อถึงกัน (Interoperation) มีการตรวจสอบความครบถ้วนสมบูรณ์ของไฟล์ และการสำรองไฟล์ในรูปแบบที่เหมาะกับการสงวนรักษาระยะยาว พร้อมถูกดึงกลับมาใช้งานใหม่หากไฟล์ปัจจุบันชำรุด หรือมีการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี ลักษณะการทำงานดังกล่าวช่วยให้การเข้าถึงสารสนเทศดิจิทัลมีความยั่งยืน ทำให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลจะถูกนำกลับมาใช้งานใหม่ได้แม้จะเผชิญกับการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีหรือการโจมตีทางไซเบอร์ เป็นแหล่งข้อมูลที่ผู้ใช้งานเชื่อถือได้

บริการในปัจจุบัน

  • คลังปัญญาจุฬาฯ (CUIR) ให้บริการในรูปแบบฐานข้อมูลออนไลน์แบบเข้าถึงได้อย่างเสรี (Free Open Access Online Database) จัดเก็บและให้บริการสารสนเทศที่เป็นภูมิปัญญาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ รายงานการวิจัย วิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ โครงงานทางวิชาการ หนังสือตำรา บทความวารสารทางวิชาการ เอกสารประกอบการบรรยาย และผลงานอื่นๆ ทั้งของคณาจารย์ นักวิจัย นิสิต และหน่วยงานต่างๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • คลังเอกสารประเทศไทยและอาเซียนหลังยุคสงครามเย็น (Post- Cold war) สงวนรักษาเอกสารเชิงลึกด้านสังคมศาสตร์ และการพัฒนาประเทศไทย ตลอดจนพัฒนาการของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา 
  • คลังหนังสือหายาก ประกอบด้วยหนังสือส่วนพระองค์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ หนังสือส่วนพระองค์ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐออนไลน์ หนังสือหายากทรงคุณค่า วารสารและหนังสือพิมพ์
  • คลังสื่อมัลติมีเดียและวิดีโอบันทึกการเรียนการสอน ให้บริการคลังภาพนิ่งและวิดีโอเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญของมหาวิทยาลัยและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับประชาคมจุฬาฯ ตลอดจนให้บริการคลังชั้นเรียนออนไลน์
  • คลังจดหมายเหตุองค์กร รวบรวมหนังสือและเอกสารสำคัญต่าง ๆ ประกอบด้วย คลังจดหมายเหตุจุฬาฯ (Chula Archives) ภายในคลังมีหนังสือที่จัดพิมพ์ในวาระพิเศษของมหาวิทยาลัย ประวัติบุคคลสำคัญของจุฬาฯ สูจิบัตรพิธีพระราชทานปริญญาบัตร และปาฐกถาพิเศษ และคลังเอกสารจดหมายเหตุสำนักงานวิทยทรัพยากร (OAR Archives) 
  • คลังหนังสืออิเล็กทรอนิกส์แบบเปิด (Open e-Books) เป็นแหล่งรวบรวมรายงานการวิจัยจากต่างสถาบัน หนังสือวิชาการ และหนังสือทั่วไป ที่ผู้จัดทำได้อภินันทนาการและให้ทางสำนักงานวิทยทรัพยากรเผยแพร่ไฟล์ดิจิทัลผ่านทางออนไลน์ได้[3]
  1. https://www.facebook.com/photo/?fbid=740819741419427&set=a.465679095600161
  2. https://digiverse.chula.ac.th/About/
  3. https://digiverse.chula.ac.th/Highlight/detail/48