ข้ามไปเนื้อหา

จูดิธแห่งฟลานเดอส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จูดิธแห่งฟลานเดอส์
พระราชินีคู่สมรสแห่งเวสเซ็กซ์
เคานเตสแห่งฟลานเดอส์
ประสูติค.ศ. 843
สิ้นพระชนม์หลัง ค.ศ. 870
สวามี เอเธลเวูล์ฟแห่งเวสเซ็กซ์
เอเธลบาลด์แห่งเวสเซ็กซ์
บาลด์วินที่ 1 แห่งฟลานเดอส์
โอรสหรือธิดา บาลด์วินที่ 2 แห่งฟลานเดอส์
ชาร์ลส์
ราอูล
ราชวงศ์ การอแล็งเฌียง
พระบิดา ชาร์ลส์ผู้ศีรษะล้าน
พระมารดา แอร์เมนทรูดแห่งเออร์ลีย็องส์

จูดิธแห่งฝรั่งเศส หรือ จูดิธแห่งฟลานเดอส์ (อังกฤษ: Judith of Flanders) อภิเษกสมรสกับกษัตริย์แซ็กซันของอังกฤษสองครั้ง ครั้งแรกกับพระบิดา ต่อมากับพระโอรส พระองค์ยังเป็นทั้งพระมารดาเลี้ยงและพระเชษฐภคินี (พี่สะใภ้) ของพระเจ้าอัลเฟรดมหาราช บุตรชายจากการแต่งงานครั้งที่สามของพระองค์แต่งเข้าสายราชตระกูลแองโกลแซ็กซัน และลูกหลานของเขา มาทิลดาแห่งฟลานเดอส์ แต่งงานกับพระเจ้าวิลเลียมผู้พิชิต พิธีการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์กลายเป็นพิธีการมาตรฐานของของพระมเหสีของกษัตริย์อังกฤษในเวลาต่อมา

สายตระกูล

[แก้]

จูดิธเป็นพระธิดากษัตริย์การอแล็งเฌียงแห่งฟรานเชียตะวันตกที่รู้จักกันในชื่อ ชาร์ลส์ผู้ศีรษะล้าน กับพระมเหสี แอร์เมนทรูดแห่งเออร์ลีย็องส์ บุตรสาวของโอโด เคานต์แห่งเออร์ลีย็องส์กับภรรยา เอ็นเกลทรูด จูดิธประสูติราวปี ค.ศ. 843/844

อภิเษกสมรสกับพระเจ้าเอเธลวูล์ฟแห่งเวสเซ็กซ์

[แก้]

กษัตริย์แซ็กซันของชาวแซ็กซันตะวัน เอเธลวูล์ฟ ทิ้งเวสเซ็กซ์ไว้ในการดูแลของพระโอรส เอเธลบาลด์ แล้วเดินทางไปโรมเพื่อแสวงบุญ พระโอรสคนรองลงมา เอเธลเบิร์ต ถูกตั้งเป็นกษัตริย์แห่งเคนต์ในช่วงที่พระองค์ไม่อยู่ พระโอรสคนเล็กของเอเธลวูล์ฟ อัลเฟรด อาจติดตามพระบิดาไปโรมด้วย พระมเหสีคนแรกของเอเธลวูล์ฟ (และเป็นมารดาของพระโอรสธิดาที่เป็นพระโอรสห้าคน) คือ ออสเบอร์ ไม่มีใครรู้ว่าเธอเสียชีวิตหรือแค่ถูกเขี่ยทิ้งไปในตอนที่เอเธลวูล์ฟเจรจาเรื่องการแต่งงานเชื่อมสัมพันธไมตรีที่มีความสำคัญมากกว่า

ระหว่างเดินทางกลับจากโรม เอเธลวูล์ฟแวะพักที่ฝรั่งเศสกับชาร์ลส์หลายเดือน ที่นั่น พระองค์ได้หมั้นหมายในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 856 กับพระธิดาของชาร์ลส์ จูดิธ ที่มีพระชนมายุราว 13 พรรษา

ได้รับการสวมมงกุฎเป็นพระราชินี

[แก้]

เอเธลวูล์ฟกับจูดิธกลับไปที่ดินแดนของพระองค์ ทั้งคู่แต่งงานกันในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 856 พิธีการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ทำให้จูดิธมีตำแหน่งเป็นพระราชินี เห็นได้ชัดว่าเอเธลวูล์ฟทำตามที่ได้ให้สัญญาไว้กับชาร์ลส์ ให้จูดิธได้รับการสวมมงกุฎเป็นพระราชินีหลังการแต่งงาน ก่อนหน้านี้พระมเหสีของกษัตริย์แซ็กซันเป็นเพียงแค่ "พระมเหสีของกษัตริย์" ไม่ได้มีตำแหน่งใดๆ เป็นของตนเอง

สองรุ่นต่อมา การเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ให้พระราชินีกลายเป็นพิธีการมาตรฐานที่ประกอบพิธีในโบสถ์

เอเธลบาลด์ก่อกบฏต่อพระบิดา อาจเพราะพระองค์กลัวว่าพระโอรสธิดาของจูดิธจะได้เป็นทายาทของพระบิดาแทนที่พระองค์ หรืออาจเพียงเพราะต้องการกันไม่ให้พระบิดากลับมาควบคุมเวสเซ็กซ์อีกครั้ง หนึ่งในพันธมิตรของเอเธลบาลด์ในการก่อกบฏครั้งนี้คือบิชอปแห่งเชอร์บอร์น เอเธลวูล์ฟหยุดพระโอรสด้วยการยกพื้นที่ทางตะวันตกของเวสเซ็กซ์ให้เอเธลบาลด์

การแต่งงานครั้งที่สอง

[แก้]

หลังแต่งงานกับจูดิธ เอเธลวูล์ฟมีชีวิตอยู่อีกไม่นาน และทั้งคู่ไม่มีพระโอรสธิดาด้วยกัน พระองค์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 858 ทำให้พระโอรสคนโต เอเธลบาลด์ ได้เวสเซ็กซ์ทั้งหมดมาอยู่ในมือ พระองค์ยังแต่งงานกับพระมเหสีม่ายของพระบิดา จูดิธ อาจจะเพราะทรงยอมรับในเกียรติภูมิของการแต่งงานกับพระธิดาของกษัตริย์ฝรั่งเศสผู้ทรงอำนาจ

ศาสนจักรประณามการแต่งงานว่าเป็นการร่วมประเวณีในเครือญาติใกล้ชิด และการแต่งงานถูกประกาศให้เป็นโมฆะในปี ค.ศ. 860 ในปีเดียวกันนั้นเอเธลบาลด์สิ้นพระชนม์ จูดิธที่ในเวลานั้นพระชนมายุ 16-17 พรรษาและยังไม่มีพระโอรสธิดาขายดินแดนในอังกฤษของตนและกลับไปฝรั่งเศส ขณะที่พระโอรสของเอเธลวูล์ฟ เอเธลเบิร์ต สืบทอดตำแหน่งต่อจากเอเธลบาลด์

การแต่งงานครั้งที่สาม

[แก้]

พระบิดาของจูดิธกักบริเวณพระองค์ไว้ในคอนแวนต์ อาจจะเพราะหวังที่จะมองหาการแต่งงานครั้งใหม่ให้พระองค์ แต่จูดิธหนีออกจากคอนแวนต์ในราวปี ค.ศ. 861 โดยหนีตามชายที่ชื่อบาลด์วิน เห็นได้ชัดว่าพระองค์ได้รับความช่วยจากพระอนุชา หลุยส์

ทั้งคู่ลี้ภัยไปอยู่ในอารามที่ซ็องลีส์ที่ทั้งคู่น่าจะแต่งงานกันที่นั่น

พระบิดาของจูดิธ ชาร์ลส์ โกรธกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และให้พระสันตะปาปาตัดขาดทั้งคู่ออกจากศาสนาเป็นการลงโทษ สองสามีภรรยาหนีไปโลธาริงเกีย อาจจะด้วยความช่วยเหลือของโรริกชาวไวกิ้ง และยื่นอุทธรณ์ต่อพระสันตะปาปานิโคลัสที่ 1 ในโรมเพื่อขอความช่วยเหลือ พระสันตะปาปากล่อมชาร์ลส์แทนสองสามีภรรยา และสุดท้ายพระองค์ก็ยอมอ่อนข้อให้กับการแต่งงานครั้งนี้

สุดท้ายแล้วพระเจ้าชาร์ลส์ก็มอบดินแดนส่วนหนึ่งให้ราชบุตรเขยและให้เขาไปรับมือกับการโจมตีของชาวไวกิงในพื้นที่ดังกล่าว การโจมตีที่ว่า หากไม่ขัดขวางไว้ อาจเป็นภัยต่อชาวแฟรงก์ นักวิชาการส่วนหนึ่งสันนิษฐานว่าชาร์ลส์หวังที่จะให้บาลด์วินถูกฆ่าตายในการสู้รบดังกล่าว แต่บาลด์วินกลับทำสำเร็จ พื้นที่ที่ตอนแรกถูกเรียกว่าพื้นที่ชายแดนของบาลด์วินต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อ ฟลานเดอส์ ชาร์ลส์ผู้ศีรษะล้านตั้งตำแหน่ง เคานต์แห่งฟลานเดอส์ ขึ้นมาให้บาลด์วิน

จูดิธมีบุตรกับบาลด์วินที่ 1 เคานต์แห่งฟลานเดอส์หลายคน บุตรชายคนหนึ่งของทั้งคู่ ชาร์ลส์ มีชีวิตอยู่ไม่ถึงวัยผู้ใหญ่ บุตรชายอีกคน บาลด์วิน กลายเป็นบาลด์วินที่ 2 เคานต์แห่งฟลานเดอส์ บุตรชายคนที่สาม ราอูล (หรือรูดอล์ฟ) ได้เป็นเคานต์แห่งค็อมเบร

จูดิธสิ้นพระชนม์ราวปี ค.ศ. 870 ไม่กี่ปีก่อนพระบิดาจะกลายเป็นจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

ความสำคัญทางลำดับวงศ์ตระกูล

[แก้]

ลำดับวงศ์ตระกูลของจูดิธมีความเกี่ยวโยงสำคัญกับประวัติศาสตร์ราชวงศ์อังกฤษ เวลาหนึ่งในช่วงปี ค.ศ. 893 ถึง 899 บาลด์วินที่ 2 แต่งงานกับเอลฟ์ธรีธ พระธิดาของกษัตริย์แซ็กซัน พระเจ้าอัลเฟรดมหาราช ที่เป็นพระอนุชาของพระสวามีคนที่สองและพระโอรสของสวามีคนแรกของพระองค์ ลูกหลานคนหนึ่งของทั้งคู่ บุตรสาวของเคานต์บาลด์วินที่ 4 แต่งงานกับทอสทิก ก็อดวินสัน พระอนุชาของพระเจ้าแฮโรลด์ ก็อดวินสัน กษัตริย์แซ็กซันที่ได้รับการสวมมงกุฎคนสุดท้ายของอังกฤษ

ที่สำคัญกว่านั้น ลูกหลานอีกคนหนึ่งของบุตรชายของจูดิธ บาลด์วินที่ 2 กับภรรยา เอลฟ์ธรีธ คือ มาทิลดาแห่งฟลานเดอส์ ที่แต่งงานกับพระเจ้าวิลเลียมผู้พิชิต กษัตริย์นอร์มันคนแรกของอังกฤษ

แหล่งข้อมูล

[แก้]