ค่าปฏิกรรมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
ค่าปฏิกรรมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หมายถึง การจ่ายค่าทดแทน การถ่ายโอนทรัพย์สินและเครื่องมือซึ่งเยอรมนีถูกบังคับให้กระทำภายหลังจากสนธิสัญญาแวร์ซาย ภายหลังจากความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยมาตรา 231 ว่าด้วยความผิดฐานเป็นผู้ริเริ่มสงคราม เยอรมนีและพันธมิตรถูกบังคับให้ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความสูญเสียของฝ่ายพันธมิตรทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากสงคราม และจำเป็นต้องจ่ายในรูปของค่าปฏิกรรมสงคราม
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1921 คณะกรรมการค่าปฏิกรรมสงครามระหว่างฝ่ายพันธมิตรประกาศจำนวนเงินทั้งหมดทึ่เยอรมนีต้องชดใช้คิดเป็น 269,000 ล้านมาร์ก (ทองคำบริสุทธิ์ราว 100,000 ตัน) หรือคิดเป็นกว่า 23,600 ล้านปอนด์ หรือคิดเป็นกว่า 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ซึ่งคิดเป็น 785,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามค่าเงินในปี ค.ศ. 2011[1]) ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากในยุคนั้นมองว่ามากเกินกว่าจะยอมรับได้[2] จำนวนเงินที่เยอรมนีต้องผ่อนชำระในแต่ละปีได้รับการลดลงใน ค.ศ. 1924 และใน ค.ศ. 1929 จำนวนเงินที่ต้องชำระทั้งหมดได้ลดจำนวนลงมากกว่า 50% การผ่อนชำระยุติลงเมื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แห่งพรรคนาซี ก้าวขึ้นสู่อำนาจใน ค.ศ. 1933 โดยมีการชำระค่าปฏิกรรมสงครามไปแล้วหนึ่งในแปดของทั้งหมด[2] การผ่อนชำระงวดสุดท้ายมีขึ้นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 2010 ตรงกับวันครบรอบยี่สิบปีการรวมประเทศเยอรมนี[2]
พัฒนาการของการจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม
[แก้]เหตุการณ์ | มาร์กทองคำ เยอรมัน (ล้าน) |
มาตรฐานทองคำ ดอลลาร์สหรัฐ (ล้าน) |
---|---|---|
คณะกรรมการค่าปฏิกรรมสงครามระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตร ค.ศ. 1921 |
269,000 | 64,000 |
แผนการยัง ค.ศ. 1929 |
112,000 | 26,600 |
การประชุมโลซาน ค.ศ. 1932 |
20,000 | 4,800 |
ได้มีการโต้เถียงกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับความยุติธรรมและผลกระทบจากการเรียกค่าปฏิกรรมสงครามทั้งก่อนและหลังการลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายและสนธิสัญญาอื่น ๆ ในปี ค.ศ. 1919 โดยที่โด่งดังที่สุด จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ซึ่งเป็นผู้แทนของกระทรวงการคลังอังกฤษในที่ประชุมปารีสได้ลาออกจากตำแหน่งในเดือนมิถุนายน เพื่อเป็นการประท้วงต่อการเรียกเก็บค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาล และได้มีการประท้วงกันอย่างกว้างขวางในหนังสือขายดีเรื่อง The Economic Consequences of the Peace[3]
ต่อมา แผนการดอวส์ ในปี ค.ศ. 1924 ได้ปรับเปลี่ยนการจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามของเยอรมนีใหม่ ซึ่ง โอเวน ดี. ยัง และ ซีย์มูร์ พาร์กเกอร์ กิลเบิร์ต ได้รับมอบหมายให้มาดูแลแผนการดังกล่าว ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1929 แผนการยังได้ลดปริมาณค่าปฏิกรรมสงครามลงอีกเหลือ 112,000 ล้านมาร์ก (คิดเป็น 28,350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในเวลา 58 ปี นอกจากนั้น แผนการยังกำหนดให้แบ่งการจ่ายประจำปีลงเหลือปีละ 2,000 ล้านมาร์ก (คิดเป็น 473 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยหนึ่งส่วนให้ต้องจ่ายให้หมดอย่างไม่มีเงื่อนไข ส่วนอีกสองส่วนเป็นส่วนที่สามารถยืดเวลาชำระออกไปได้
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ตลาดหุ้นวอลสตรีทล่มและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ทำให้มีการประกาศพักชำระหนี้ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1931 เนื่องจากเห็นว่าเยอรมนีและออสเตรียใกล้จะประสบกับภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย ประธานาธิบดีฮูเวอร์จึงได้เลื่อนการชำระค่าปฏิกรรมสงครามและหนี้ระหว่างรัฐบาลออกไปเป็นเวลาหนึ่งปี ซึ่งอังกฤษยอมรับข้อเสนอดังกล่าว แต่ได้รับการต่อต้านอย่างแข็งขันและการผัดเวลาออกไปสิบเจ็ดวัน โดยอันเดร ตาร์ดีเยอแห่งฝรั่งเศส[4] ระหว่างช่วงพักชำระหนี้ ในเยอรมนีได้ประสบกับสภาวะเงินเฟ้ออย่างหนัก ทำให้สูญเงินไปกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ธนาคารทุกแห่งปิดตัวลงชั่วคราว
สภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้ายลงของเยอรมนี ทำให้เกิดการประชุมโลซาน ซึ่งได้มีการออกเสียงให้ยกเลิกค่าปฏิกรรมสงครามดังกล่าว จนถึงขณะนี้ เยอรมนีได้ชำระหนี้ไปแล้วหนึ่งในแปดส่วนตามจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาแวร์ซาย แต่ผลจากข้อตกลงโลซานนั้นขึ้นอยู่กับการรับรองของสหรัฐอเมริกาที่จะตกลงผัดผ่อนหนี้สงครามของรัฐบาลยุโรปตะวันตกทั้งหลาย อย่างไรก็ตาม ผลจากข้อตกลงดังกล่าวล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงมิใช่เพราะรัฐสภาสหรัฐปฏิเสธที่จะยอมผัดผ่อนหนี้สงคราม หากแต่เป็นการก้าวขึ้นสู่อำนาจของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และการปฏิเสธที่จะชำระค่าปฏิกรรมสงครามเพิ่มเติมของเขา เยอรมนีได้ชำระค่าปฏิกรรมสงครามไปแล้ว 20,000 ล้านมาร์ก และนักประวัติศาสตร์ มาร์ติน คิทเช่น แย้งว่า การมองว่าเยอรมนีหมดสภาพทางเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากค่าปฏิกรรมสงครามนั้นเป็นเพียงเรื่องเล่าที่ไม่เป็นความจริงเท่านั้น[5] คิทเช่นยังระบุต่อไปว่า แทนที่จะเป็นการทำให้เยอรมนีอ่อนแอลง เยอรมนีกลับเข้มแข็งขึ้นจนสามารถได้รับการผ่อนผันการชำระไปสองครั้งและยอดค่าปฏิกรรมสงครามที่ลดลง[5]
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจเยอรมนี
[แก้]ปัญหาทางเศรษฐกิจที่มีต่อการจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม และความไม่พอใจของชาวเยอรมันที่มีต่อการลงโทษดังกล่าว มักจะถูกพิจารณาว่าเป็นสาเหตุที่นำไปสู่จุดสิ้นสุดของสาธารณรัฐไวมาร์ และการเริ่มต้นของการปกครองแบบเผด็จการในเยอรมนี ที่เรียกว่า นาซีเยอรมนี ส่วนบางคนได้ทำนายเอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่าการลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายจะก่อให้เกิดผลกระทบเช่นนี้[6] โดยมีนักประวัติศาสตร์ผู้โด่งดังเป็นส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วยกับการอ้างเหตุผลดังกล่าว อย่างเช่น มาร์กาเรต แมกมิลแลน โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับระบบสาธารณูปโภคระหว่างช่วงการถอยทัพของทหารเยอรมันก็ได้นำมาพูดถึงด้วย จากที่ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Peacemakers: The Paris Peace Conference of 1919 and Its Attempt to End War อธิบายถึงการอ้างสิทธิ์ของฝรั่งเศสและเบลเยี่ยม "จากจุดเริ่มต้น ฝรั่งเศสและเบลเยี่ยม อ้างสิทธิ์ให้มีการกระจายค่าปฏิกรรมสงครามามลำดับของผลกระทบจากความเสียหาย ในเขตอุตสาหกรรมหนักทางตอนเหนือของฝรั่งเศส เยอรมนีได้ลำเลียงเอาสิ่งที่ต้องการออกไปเป็นจำนวนมากและทำลายส่วนที่เหลืออยู่ทั้งหมด แม้ว่ากองทัพเยอรมันจะล่าถอยในปี ค.ศ. 1918 แต่ก็ยังสามารถเจียดเวลาออกไประเบิดเหมืองถ่านหินซึ่งมีความสำคัญของฝรั่งเศสได้อยู่ดี"[7] อย่างไรก็ตาม เบลเยี่ยมไม่ได้รับค่าปฏิกรรมสงครามตามที่เคยสัญญาเอาไว้ในสนธิสัญญาแวร์ซาย เนื่องจากฝรั่งเศสและอังกฤษเองต่างก็มีหนี้ที่ตนต้องชำระอยู่เช่นเดียวกัน นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน แซลลี มาร์กส์ ให้ความเห็นว่า เคนส์ได้ตกหลุมรักคาร์ล เมนชีออร์ สมาชิกคณะผู้แทนเยอรมัน และระบุว่ามุมมองเกี่ยวกับค่าปฏิกรรมสงครามนั้น "... ก่อตัวขึ้นจากความหลงใหลในตัวคาร์ล เมนชีออร์ นักการเงินชาวเยอรมันและผู้เชี่ยวชาญด้านค่าปฏิกรรมสงครามที่เขาพบระหว่างการเจรจาที่สปาไม่นานหลังจากมีการสงบศึก"[8]
นักเศรษฐศาสตร์อย่างเช่นเคนส์ประเมินว่าการจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาลดังกล่าวเป็นไปไม่ได้ในทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ในเรียงความ Versailles and International Diplomacy ในหนังสือ The Treaty of Versailles: A Reassessment after 75 Years วิลเลียม อาร์. เคย์เลอร์ ได้แสดงทัศนะ ว่า "การเพิ่มปริมาณภาษีและการลดการบริโภคในสาธารณรัฐไวมาร์ จะช่วยเพิ่มยอดรายได้จากการส่งออกเพื่อก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศที่จำเป็นสำหรับการชำระหนี้ค่าปฏิกรรมสงคราม"[9] อย่างไรก็ตาม รายได้จากการส่งออกและผลของการขาดดุลในการส่งออกทำให้เกิดเป็นสถานการณ์ทางการเมืองอันยากยิ่ง ซึ่งอันที่จริงแล้ว มันก็เป็นสาเหตุของการประท้วงหยุดงานทั่วประเทศในสหราชอาณาจักร ค.ศ. 1926
ส่วนคนบางกลุ่มได้โต้แย้งว่า การพิจารณาว่าการจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามนั้นเป็นสาเหตุหลักของสภาพทางเศรษฐกิจของเยอรมนีในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1919-1939 นั้นเป็นความเข้าใจผิด โดยอ้างเหตุผลว่า เยอรมนีได้ชำระค่าปฏิกรรมสงครามเป็นเงินส่วนน้อย และอัตราเงินเฟ้ออย่างรุนแรงในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1920 นั้นเป็นผลมาจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจภายในสาธารณรัฐไวมาร์เอง ในความเป็นจริงแล้ว การยึดครองแคว้นรูร์โดยฝรั่งเศสนั้น แท้จริงแล้วสร้างความเสียหายให้แก่เยอรมนีมากกว่าค่าปฏิกรรมสงครามเสียอีก ส่วนอีกด้านหนึ่งได้กล่าวว่า การจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามดังกล่าวนี้เป็นสาเหตุเดียวของสภาพทางเศรษฐกิจ อันนำไปสู่การก้าวขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ ในความเป็นจริงแล้ว เยอรมนีได้ทำสิ่งที่น่าทึ่งหลังจากสภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงในปี ค.ศ. 1923 และกลับมาเป็นประเทศซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกได้อีกครั้งหนึ่ง
สภาพทางเศรษฐกิจยังคงดำเนินไปได้ด้วยดีจนกระทั่งการลงทุนจากต่างชาติ และการกู้ยืมเงินเพื่อชำระค่าปฏิกรรมสงคราม ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทล่ม ทำให้ปัญหานี้ขยายขึ้นเนื่องจากการกู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ชาวอเมริกันโดยบริษัทเยอรมัน แม้ว่าค่าปฏิกรรมสงครามที่ถูกจำกัดลงตามแผนการดอวส์ จะได้รับเงินในปริมาณมากผ่านทางการกู้ยืมเงินระหว่างประเทศ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1924 เป็นต้นมา ทางการเยอรมัน "เต็มไปได้วยผู้ให้กู้จากต่างชาติ"[10] ทำให้หนี้ค่าปฏิกรรมสงครามซึ่งจ่ายเป็นรายปีถูกบีบลงเหลือเพียงไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น
และแนวคิดของเอ. เจ. พี. เทย์เลอร์ ในหนังสือเรื่อง The Origins of the Second World War ว่า การเรียกค่าปฏิกรรมสงครามดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่เด็ดขาด ซึ่งการลงโทษดังกล่าวถือได้ว่ารุนแรง แต่ไม่อาจยับยั้งเยอรมนีไม่ให้ก้าวขึ้นสู่ความเป็นมหาอำนาจของโลกได้อีกครั้งหนึ่ง และในทศวรรษเดียวเท่านั้นที่เยอรมนีภายใต้การนำของฮิตเลอร์ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจได้อีกครั้งหนึ่ง
การจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง
[แก้]หลังจากที่เยอรมนีเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง เยอรมนีก็ยังคงหยุดการชำระค่าปฏิกรรมสงครามอยู่ ที่ประชุมระหว่างประเทศในปี ค.ศ. 1953 ตัดสินใจว่าเยอรมนีจะต้องชำระค่าปฏิกรรมสงครามภายหลังจากได้มีการรวมประเทศ เยอรมนีตะวันตกได้ชำระหนี้ที่ค้างอยู่ในปี ค.ศ. 1980 ในปี ค.ศ. 1995 หลังจากได้มีการรวมประเทศเยอรมนีแล้ว รัฐบาลใหม่ของเยอรมนีประกาศประกาศว่าตนจะชำระดอกเบี้ยทั้งหมด โดยเยอรมนีจะสามารถชำระหนี้ที่ติดค้างกับสหรัฐอเมริกาจนหมดในปี ค.ศ. 2010[11] และส่วนที่เหลือทั้งหมดจะหมดในปี ค.ศ. 2020[12]
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ The Inflation Calculator
- ↑ 2.0 2.1 2.2 Lang, Olivia (October 2, 2010). "Why has Germany taken so long to pay off its WWI debt?". BBC News. สืบค้นเมื่อ October 3, 2010.
- ↑ Markwell, Donald, John Maynard Keynes and International Relations: Economic Paths to War and Peace, Oxford University Press, 2006.
- ↑ Sherwood Eddy to Secretary Stimson: Berlin, September 1, 1931., GK 862.00/2616, MS, Department of State.)
- ↑ 5.0 5.1 Kitchen 2006, p. 67
- ↑ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์. The Economic Consequences of the Peace ที่ โครงการกูเทนแบร์ก
- ↑ MacMillan, Margaret. (2001) Peacemakers: The Paris Peace Conference of 1919 and Its Attempt to End War. ISBN 0-7195-5939-1 (UK), 2001; ISBN 0-375-50826-0, 9 (US), 2002.
- ↑ Kagan 1996, p. 418
- ↑ Keylor 1998, p. 502
- ↑ Max Winkler (Author): Foreign Bonds, An Autopsy, (Philadelphia, 1933), pp. 86-87)
- ↑ Findley, Carter Vaughn and J.A. Rothney. Twentieth Century World: 6th ed. Boston: Houghton Mifflin Company: 2006. Page 77.
- ↑ Jörg Friedrich, Von deutschen Schulden, Berliner Zeitung, 09. October 1999 [1]
อ้างอิง
[แก้]- Markwell, Donald (2006). John Maynard Keynes and International Relations: Economic Paths to War and Peace (2006 ed.). Oxford University Press. ISBN 9780198292364. - Total pages: 294
อ่านเพิ่มเติม
[แก้]- Gomes, Leonard. German Reparations, 1919-1932: A Historical Survey (Springer, 2010). online
- Lloyd George, David (1932). The Truth About Reparations and War-Debts. London: William Heinemann Ltd.