แผนการดอวส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แผนการดอวส์ (อังกฤษ: Dawes Plan) เป็นความพยายามของฝ่ายพันธมิตรภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ที่จะเก็บหนี้ค่าปฏิกรรมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจากเยอรมนี โดยได้ชื่อมาจากคณะกรรมการดอวส์ ซึ่งนำโดย ชาร์ลส์ จี. ดอวส์ ว่า เมื่อเวลาผ่านไปห้าปี แผนการยังได้ถูกร่างขึ้นมาในปี ค.ศ. 1929 ขึ้นมาใช้ทดแทนแผนการดอวส์

เบื้องหลัง[แก้]

การหยุดชำระหนี้ของเยอรมนี[แก้]

จากผลของสนธิสัญญาแวร์ซายส์ (1919) ฝ่ายพันธมิตรได้กำหนดให้เยอรมนีต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่ฝ่ายพันธมิตร โดยที่ปริมาณเงินที่เยอรมนีต้องจ่ายตามสนธิสัญญาแวร์ซายส์ (230,000 ล้านมาร์ก) ถูกพิสูจน์แล้วว่าเป็นจำนวนเงินที่มหาศาลจนเยอรมนีไม่อาจแบกรับภาระได้ และเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำในเยอรมนี เยอรมนจึงหยุดการชำระหนี้ในปี ค.ศ. 1923 โดยที่ฝรั่งเศสและเบลเยี่ยมได้ส่งกองทัพเข้าไปยึดครองแคว้นรูร์ทันควัน การยึดครองศูนย์กลางการผลิตถ่านหินและเหล็กกล้าทำให้ชาวเยอรมันโกรธแค้น และได้ต่อต้านการยึดครองดังกล่าว ซึ่งได้บั่นทอนเศรษฐกิจของเยอรมนีลงไปอีก และได้นำไปสู่สภาวะเงินเฟ้อครั้งใหญ่ในเวลาต่อมา[1]

การจัดตั้งคณะกรรมการบาร์เคลย์[แก้]

เพื่อที่จะแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวและเพิ่มโอกาสในการที่เยอรมนีจะกลับมาชำระหนี้ค่าปฏิกรรมสงครามอีกครั้งหนึ่ง คณะกรรมการค่าปฏิกรรมสงครามฝ่ายพันธมิตรได้ทาบทาม ชาร์ลส์ จี. ดอวส์ และผู้ช่วยของเขา คลินตัน ซอร์เรล เพื่อหาหนทางในการแก้ไขปัญหาให้ลงตัวกับทุกฝ่าย ซึ่งก็ตอบตกลงที่จะให้ความร่วมมือ

คณะกรรมการดอวส์ โดยการสนับสนุนของอังกฤษและสหรัฐอเมริกา คณะผู้แทนประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญอย่างไม่เป็นทางการจำนวนสิบคน[2] โดยมาจากเบลเยี่ยม อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลีและสหรัฐอเมริกาประเทศละสองคน ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวได้รับมอบหมายให้หาหนทางในการแก้ไขปัญหาสำหรับการจัดเก็บหนี้ค่าปฏิกรรมสงครามของเยอรมนี ซึ่งกำหนดปริมาณเสียใหม่เป็น 132,000 ล้านมาร์ก ซึ่งรวมไปถึงประกาศที่ว่าสหรัฐอเมริกาตกลงที่จะให้เยอรมนีกู้เงิน เพื่อที่จะสามารถชำระหนี้ค่าปฏิกรรมสงครามให้กับอังกฤษและฝรั่งเศส

ใจความหลักของแผนการดอวส์[แก้]

ในข้อตกลง เมื่อเดือนสิงหาคม 1924 ได้มีการสรุปใจความหลักของแผนการดอวส์ดังนี้:

  1. ให้ถอนกำลังกองทัพฝ่ายพันธมิตรในแคว้นรูร์
  2. การจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามต้องจ่ายเป็นจำนวน 1,000 ล้านมาร์กต่อปีในช่วงห้าปีแรก และเพิ่มขึ้นเป็น 2,500 ล้านมาร์กต่อปีหลังจากนั้น
  3. ให้มีการจัดระเบียบธนาคารกลางเยอรมนีใหม่ภายใต้การอำนวยการของฝ่ายพันธมิตร
  4. แหล่งเงินที่ต้องจ่ายสำหรับค่าปฏิกรรมสงครามกำหนดให้รวมไปถึงภาษีขนส่ง ภาษีอากรและภาษีศุลกากรด้วย

แผนการดอวส์ได้รับการตอบรับจากเยอรมนีเมื่อเดือนกันยายน 1924 ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจเยอรมนีจะฟื้นตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และสามารถชำระหนี้ค่าปฏิกรรมสงครามได้ทันที แต่ก็ให้ได้ชัดเจนว่า เยอรมนีไม่สามารถชำระหนี้ทั้งหมดในระยะยาวได้ ซึ่งในที่สุดแล้ว นำไปสู่ความล้มเหลวของแผนการดอวส์ และเปลี่ยนไปใช้แผนการยังแทน ในปี 1929

ผลของแผนการดอวส์[แก้]

แผนการดอวส์ได้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของเยอรมนีในระยะสั้น และยังเป็นการลดภาระจากค่าปฏิกรรมสงครามที่เยอรมนีต้องชำระ ทำให้ค่าเงินมีเสถียรภาพยิ่งขึ้น และมีการลงทุนเข้ามาจากต่างชาติมากขึ้น และให้เงินกู้แก่ตลาดเยอรมนี อย่างไรก็ตาม แผนการดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจของเยอรมนีต้องผูกพันกับตลาดและเศรษฐกิจต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อตลาดสหรัฐอเมริกาได้รับกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีตกต่ำอย่างหนักเช่นเดียวกับส่วนอื่น ๆ ของโลก

ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง วงจรของการกู้ยืมเงินจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งตกเป็นหนี้ค่าปฏิกรรมสงครามกับประเทศอื่น ๆ ในทวีปยุโรป ซึ่งต้องใช้หนี้ที่ตนติดค้างไว้กับสหรัฐอเมริกาอีกทอดหนึ่ง ทำให้เศรษฐกิจของโลกในขณะนั้นรวมศูนย์อยู่ที่สหรัฐอเมริกา

ส่วน ชาร์ลส์ จี. ดอวส์เป็นผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี ค.ศ. 1925 ในฐานะเป็นผู้ริเริ่มแผนการดอวส์

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  • Anglo-American Relations in the 1920s: The Struggle for Supremacy, B. J. C. McKercher, 1991.
  • The End of the European Era: 1890 to the Present, Gilbert & Large, 2002.
  1. Noakes, Jeremy. Documents on Nazism, 1919-1945. pg 53
  2. Rostow, Eugene V. Breakfast for Bonaparte U.S. national security interests from the Heights of Abraham to the nuclear age. Washington, D.C: National Defense UP, For sale by the Supt. of Docs., U.S. G.P.O., 1993.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]