ความฝันในหอแดง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ความฝันในหอแดง  
ผู้ประพันธ์เฉาเสวี่ยฉิน
ชื่อเรื่องต้นฉบับ红楼梦
ประเทศจีน
วันที่พิมพ์ค.ศ. 1791
ชนิดสื่อวรรณกรรมจีน
ความฝันในหอแดง
ชื่อเรื่อง "ความฝันในหอแดง (หงโหลวเมิ่ง)" เขียนเป็นอักษรจีนตัวเต็ม (บน) และอักษรจีนตัวย่อ (ล่าง)
อักษรจีนตัวเต็ม紅樓夢
อักษรจีนตัวย่อ红楼梦
ชื่อภาษาจีนอื่น ๆ
อักษรจีนตัวเต็ม石頭記
อักษรจีนตัวย่อ石头记
ความหมายตามตัวอักษร"บันทึกแห่งศิลา"

ความฝันในหอแดง (อังกฤษ: The Dream of the Red Chamber; จีนตัวเต็ม: 紅樓夢; จีนตัวย่อ: 红楼梦; พินอิน: Hónglóumèng; หงโหลวเมิ่ง) เป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีนร่วมกับสามก๊ก, ไซอิ๋ว และซ้องกั๋ง (108 วีรบุรุษเขาเหลียงซาน)

ที่มาของการประพันธ์[แก้]

ผู้ประพันธ์ : เฉาเสวี่ยฉิน (ค.ศ.1715 - 1763)

ประพันธ์โดย เฉาเสวี่ยฉิน (曹雪芹)  เมื่อปี ค.ศ.1744 - 1755 ระหว่างรัชสมัย "ฮ่องเต้เฉียนหลง" แห่งราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1735 - 1795) นิยายเรื่องนี้ มีชื่อเดิมว่า บันทึกแห่งศิลา (石头记 : สือโถ่วจี้ )" ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1791

โดยเฉาเสวี่ยฉินประพันธ์ได้เพียง 80 ตอน ไม่ทันจบสมบูรณ์ก็เสียชีวิต แต่นิยายเรื่องนี้เป็นที่นิยม จึงมีนักประพันธ์หลายท่าน มาแต่งต่อ บางฉบับมี 20 ตอน บางฉบับมี 30 ตอน แต่ฉบับของ "เกาเอ้อ(高鹗)" 40 ตอน ได้รับความนิยมนิยม จึงได้ถูกรวมเข้ากับฉบับของเฉาเสวี่ยฉิน จนกลายเป็น "ความฝันในหอแดง ฉบับสมบูรณ์" 120 ตอน ตีพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณะในปี ค.ศ.1791 และถือเป็นฉบับแพร่หลาย แต่ก็มีผู้วิจารณ์ว่า “ภาคต่อ” ของเกาเอ้อนั้น ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของเฉาเสวี่ยฉิน

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักหอแดงวิทยา อาทิ โจวหรูชัง (周汝昌) ระบุว่า เฉาเสวี่ยฉิน แต่งนิยาย ความฝันในหอแดง จบบริบูรณ์ รวมทิ้งสิ้น 108 ตอน แต่ 28 ตอนนั้น ได้สูญหายไป

เนื้อเรื่องย่อ[แก้]

ฉากหลังคือสมัยราชวงศ์หมิง เรื่องราวเกิดในจวนหนิงกั๋ว และจวนหรงกั๋ว เมื่อคุณหนูหลินไต้อี้ (แต้จิ๋วออกเสียงว่า ไต้เง็ก) จากตระกูลหลินเดินทางมาบ้านญาติที่จวนหรงกั๋ว และได้อาศัยที่นั้น นางได้รู้จักกับคุณชายเจี่ยเป่าอี้ (แต้จิ๋วออกเสียงว่า ป๋อเง็ก) และตามมาด้วยเซี่ยเป่าไช่ (แต้จิ๋วออกเสียงว่า ป๋อโท่ย) และคนในครอบครัวที่มาขอพึ่งใบบุญญาติในจวนนี้ ด้วยวัยที่ไล่เลี่ยกันทั้ง 3 จึงสนิทสนมกัน เจี่ยเปาอี้ และหลินไต้อี้ เมื่อเจริญวัยขึ้นก็เกิดความรักระหว่างหนุ่ม-สาวขึ้น อีกด้านเซี่ยเป่าไช่ก็ชอบพอกับเจี่ยเป่าอี้เช่นกัน ด้วยเจี่ยเป่าอี้มักสนิทสนมกับเหล่าสาวใช้ ดังนั้นสาวต้นห้องตน ชื่อ ซิเหริน ก็ตกหลุมรักเป่าอี้เช่นกัน ซึ่งนางคือผู้หญิงคนแรกที่เป่าอี้มีความสัมพันธ์ด้วย

ดูเผิน ๆ จวนหรงกั๋ว ดูหรูหรา สวยงาม หากแต่ภายในล้วนเต็มไปด้วย ความเสื่อมโทรม ผิดศีลธรรม ถึงแม้ว่า เจี่ยเจิ้ง(พ่อของเจี่ยเป่าอี้) จะเป็นคนเคร่งในศีลธรรมตามหลักขงจื่อ และเหล่าไท่ไท่ (แม่ของเจี่ยเจิ้ง) จะเมตตา และรักใคร่ต่อลูกหลาน และคนในบ้าน แต่ก็ไม่อาจควบคุมผู้คนในบ้านได้อย่างทั่วถึง

ด้วยเจี่ยเป่าอี้เจริญวัยจะแต่งงาน เหล่าไท่ไท่ และหวังฮูหยิน (แม่ของเจี่ยเป่าอี้) เห็นว่า เซี่ยเป่าไช่ เป็นคู่ที่เหมาะสมกับเป่าอี้มากที่สุด เนื่องด้วยหลินไต้อี้เป็นสตรีที่ร่างกายอ่อนแอ มักป่วยอยู่บ่อย ๆ จึงยากอยู่กับเป่าอี้ได้นาน แต่เกรงเป่าอี้เมื่อรู้จะไม่ยอม นางหวังซีฟ่ง (มีศักดิ์เป็นพี่สะใภ้ลูกพี่ลูกน้องของเป่าอี้) จึงวางแผนบอกเจี่ยเป่าอี้ว่าจะจัดงานแต่งให้เขากับหลินไต้อี้ แต่อีกด้านก็บอกหลินไต้อี้ว่าจะจัดให้แต่งกับเป่าอี้

ต่อมาหลินไต้อี้กลับรู้ความจริงเข้า จึงตรอมใจ อาการป่วยยิ่งทรุดหนักลง แต่เป่าอี้ไม่รู้ถึงแผนการเลยกลับดีใจที่จะได้แต่งกับหลินไต้อี้ กว่าจะรู้ก็งานแต่งเสร็จสิ้นแล้ว เจี่ยเป่าอี้จึงรู้ว่าถูกหลอก และรู้อีกด้วยว่าหลินไต้อี้ได้เสียชีวิตในคืนวันแต่งงานของเขา กับเซี่ยเป่าไช่นั้นเอง

ด้วยความเหลวไหลในจวนหนิงกั๋ว และจวนหรงกั๋ว ทางราชสำนักได้ทำการตรวจสอบ และยึดทรัพย์สิน ตระกูลเจี่ยจึงถึงคราวเคราะห์มาเยือน แต่ยังดีที่ฮ่องเต้ทรงอภัยโทษ และให้บรรดาศักดิ์คืน แต่คนรอบข้างเจี่ยเป่าอี้ต่างเสียชีวิตไปมาก ด้วยเรื่องที่เผชิญจึงเกิดปลงตกในโลกียะ หันหาทางธรรมติดตามหลวงจีน และนักพรตที่มาโปรดหายสาบสูญไป

คุณค่า และสถานะทางประวัติศาสตร์[แก้]

ความฝันในหอแดง เป็นเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวในตระกูลมั่งคั่งในระบบสังคมศักดินา เป็นนิยายแนว “สัจจนิยม” (Realism) ที่มุ่งสะท้อนความฟอนแฟะของระบบสังคมศักดินา เปิดโปงชีวิตฟุ้งเฟ้อของชนชั้นสูง จึงเป็นหนังสือต้องห้ามในยุคนั้น ราชสำนักใช้ “คุกอักษร” (文字狱) จัดการกับผู้ประพันธ์หนังสือต้องห้าม ดังนั้นเฉาเสวี่ยฉิน จึงไม่แต่งแบบแสดงออกมาตรง ๆ แต่ได้ซ่อนความจริงไว้ในระหว่างบรรทัดของเรื่องราว เช่น การเล่นความหมายของอักษร ปริศนาคำกลอน (หากอ่านฉบับภาษาจีนจะเข้าใจความหมายที่แฝงไว้ แต่ฉบับภาษาไทยจะเข้าใจเพียงผิวเผินเท่านั้น คือ รู้เรื่องราว แต่ไม่อาจวิเคราะห์ความหมายที่แฝงได้)

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

อ้างอิง[แก้]

ผลงานที่ถูกอ้างอิงและอ่านเพิ่ม[แก้]

  • Chen Weizhao (陈维昭), Hongxue Tongshi (红学通史, "A History of Redology"). Shanghai: Shanghai People's Publishing House, 2005. ISBN 7208057885.
  • Egan, Susan Chan; Bai, Xianyong, บ.ก. (2021). A Companion to the Story of the Stone: A Chapter-by-Chapter Guide. New York: Columbia University Press. ISBN 9780231199445.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]