ข้ามไปเนื้อหา

คลองระบายน้ำหลากบางบาล–บางไทร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คลองระบายน้ำหลากบางบาล–บางไทร
แผนที่แสดงแนวคลองซึ่งเลี่ยงผ่านเกาะเมืองอยุธยา
ตำแหน่งอำเภอบางบาล อำเภอบางไทร และอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเทศ ไทย
พิกัด14°18′00″N 100°30′08″E / 14.300057°N 100.502149°E / 14.300057; 100.502149
ข้อมูลจำเพาะ
ความยาว22.50 km (13.98 ไมล์)
ประตูกั้นน้ำ2 แห่ง
สถานะกำลังก่อสร้าง
ประวัติ
หัวหน้าวิศวกรกรมชลประทาน
วันที่อนุมัติ8 มกราคม พ.ศ. 2562
ข้อมูลภูมิศาสตร์
ทิศทิศเหนือและทิศใต้
จุดเริ่มต้นแม่น้ำเจ้าพระยา
จุดสิ้นสุดแม่น้ำเจ้าพระยา
พิกัดต้นทาง14°23′56″N 100°30′28″E / 14.398799°N 100.507743°E / 14.398799; 100.507743
พิกัดปลายทาง14°12′13″N 100°30′45″E / 14.203688°N 100.512478°E / 14.203688; 100.512478

คลองระบายน้ำหลากบางบาล–บางไทร หรือ เจ้าพระยา 2[1] คือคลองระบายน้ำเพื่อแก้ปัญหาการเกิดน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นส่วนหนึ่งของแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มีระยะทางประมาณ 22.50 กิโลเมตร (13.98 ไมล์)

ประวัติ

[แก้]

คลองระบายน้ำหลากบางบาล–บางไทร สร้างขึ้นตามแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง สำหรับแก้ไขปัญหาน้ำท่วม การขาดแคลนน้ำ การจัดการคุณภาพน้ำ และการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมซึ่งประกอบไปด้วย 9 กลุ่มแผนงาน ได้แก่

  1. ปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง
  2. คลองระบายน้ำหลากเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก
    1. คลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก
    2. คลองระบายน้ำหลากป่าสัก-อ่าวไทย
  3. คลองระบายควบคู่กับถนนวงแหวนรอบที่ 3
  4. ปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก
  5. เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา
  6. การบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ
  7. คลองระบายน้ำหลากบางบาล–บางไทร
  8. เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน
  9. พื้นที่รับน้ำนอง

โดยโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล–บางไทร ถือเป็นโครงการที่ 7 ของแผน มีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการในปี พ.ศ. 2557 และการทบทวนความเหมาะสมโครงการในปี พ.ศ. 2559 ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการให้กรมชลประทานดำเนินการทำความเข้าใจและเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2560 และมีมติอนุมัติโครงการในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2562[2] มีระยะเวลาตามโครงการ 5 ปี (ระหว่างปี พ.ศ. 2562 - 2566) ภายใต้วงเงินประมาณ 21,000,000,000 บาท[3] คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2569[4]

การก่อสร้างแต่ละสัญญา ประกอบไปด้วย

  • สัญญาที่ 1 บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบ มูลค่าสัญญา 2,758.085300 ล้านบาท รับผิดชอบระยะทาง 3.7 กิโลเมตร ท้องคลองมีความกว้าง 76 เมตร ลึก 6.96 เมตรจากแนวพื้นดินเดิม งานสถานีสูบน้ำจำนวน 2 แห่ง สะพานสำหรับรถยนต์ 3 แห่ง และถนนลาดยางสองฝั่งขนานกับแนวคลอง[5] กิโลเมตรที่ 16+400 ถึง 20+100[6]
  • สัญญาที่ 2 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบ มูลค่า 2,795.295500 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) รับผิดชอบงานคลองระบายน้ำหลาก งานสถานีสูบน้ำจำนวน 2 แห่ง งานทางระบายปากคลองจำนวน 4 แห่ง และสะพานสำหรับรถยนต์ 1 แห่ง[7] กิโลเมตรที่ 12+500 ถึง 16+400[6]
  • สัญญาที่ 3 บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบ มูลค่าสัญญา 3,669.03 ล้านบาท รับผิดชอบงานระยะทาง 5.4 กิโลเมตร งานสถานีสูบน้ำ งานทางระบายน้ำ และสะพานสำหรับรถยนต์[8]
  • สัญญาที่ 4 บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบ มูลค่าสัญญา 3,280 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)[9]
  • สัญญาที่ 5 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบ มูลค่าสัญญา 1,129.741400 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) รับผิดชอบงานคลองระบายน้ำหลาก แนวป้องกันตลิ่งช่วงปลายแม่น้ำน้อยและคลองระบายน้ำหลากยาวประมาณ 3,000 เมตร
  • สัญญาที่ 6 บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบ มูลค่าสัญญา 1,332.525564 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) รับผิดชอบงานชุดคลองระบายน้ำหลากพร้อมกันกับอาคารประกอบ ช่วงกิโลเมตรที่ 0+600 ถึง 3+600[10]

โครงการก่อนหน้า

[แก้]
เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 ณ วัดไชยวัฒนารามโดยคลองระบายน้ำหลากบางบาล–บางไทรจะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในอนาคต

นายปลอดประสพ สุรัสวดี ได้ระบุบนเว็บไซต์ของพรรคเพื่อไทยที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ว่าโครงการดังกล่าวเคยอยู่ในแนวคิดของโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบในสมัยรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในส่วนของโมดูลที่ 5 มูลค่าการก่อสร้างจากการศึกษาในเวลานั้น 3.5 แสนล้านบาท ได้ศึกษาไว้หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งเวลานั้นได้มีการสำรวจและออกแบบแนวคลองความยาว 30 กิโลเมตร ต่างจากที่รัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ก่อสร้างในระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร[11]

ธนาคารโลก

[แก้]

คลองระบายน้ำหลากบางบาล–บางไทร เป็นหนึ่งในโครงการที่ธนาคารโลกร่วมดำเนินงานผ่านคณะทำงานร่วมกันกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติและกรมชลประทาน[12] ในการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำระยะยาว 20 ปี ซึ่งหากจัดการน้ำไม่ดีพอจะทำให้เกิดน้ำท่วม และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปจนถึงระดับของพื้นที่การเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวอย่างมาก เช่นในกรณีน้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 สร้างความเสียหายเป็นจำนวนเงินที่ธนาคารโลกประเมินไว้สูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท[13]

โครงสร้าง

[แก้]

คลองส่งน้ำ

[แก้]

คลองระบายน้ำหลากบางบาล–บางไทร ประกอบด้วยคลองระบายน้ำความยาวประมาณ 22.50 กิโลเมตร (13.98 ไมล์) มีความกว้างตลอดแนว 200 เมตร และมีความกว้าง 110 เมตรในเขตชุมชน สามารถระบายน้ำสูงสุด 1,200 ลูกบากษ์เมตร/วินาที คันคลองก่อสร้างเป็นถนนขนาดความกว้าง 8 เมตรทั้งสองฝั่ง[1]

อาคารบังคับน้ำ

[แก้]

มีการก่อสร้างประตูระบายน้ำจำนวน 2 แห่งคือบริเวณปากคลองและปลายคลองบางบาล–บางไทร

  • ประตูระบายน้ำปากคลองระบายน้ำหลาก เป็นประตูระบายน้ำแบบบานระบายน้ำโค้ง 4 บาน ขนาดบานละ 12.50 x 9.50 เมตร มีอัตราการระบายน้ำสูงสุด 1,200 ลบ.ม./วินาที พร้อมกับประตูสำหรับเรือใช้สัญจรจำนวน 1 บาน ขนาดความกว้าง 20 เมตร ความยาว 300 เมตร จำนวน 1 ช่อง และบันไดปลา
  • ประตูระบายน้ำปลายคลองระบายน้ำหลาก เป็นประตูระบายน้ำแบบบานระบายน้ำโค้ง 4 บาน ขนาดบานละ 12.50 x 9.50 เมตร มีอัตราการระบายน้ำสูงสุด 1,200 ลบ.ม./วินาที พร้อมกับประตูสำหรับเรือใช้สัญจรจำนวน 1 บาน ขนาดความกว้าง 20 เมตร ความยาว 300 เมตร จำนวน 1 ช่อง และบันไดปลา

อาคารประกอบคลองระบายน้ำ

[แก้]

อาคารประกอบคลองระบายน้ำ ประกอบไปด้วย สถานีสูบน้ำ ท่อระบายน้ำ ในพื้นที่จุดตัดของคลองระบายน้ำหลากและคลองส่งน้ำเดิม จำนวน 36 แห่ง[2]

ผลกระทบ

[แก้]

แนวโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล–บางไทร มีการตัดผ่านทั้งที่ดินโฉนดของเอกชน และเขตปฏิรูปที่ดิน ทำให้กรมชลประทานต้องเยียวยาเกษตรกรที่ทำกินอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินบนแนวโครงการจำนวน 17 ราย[14] และจัดซื้อที่ดินโฉนดตามแนวโครงการประมาณ 740 แปลง คิดเป็นเนื้องที่ 2,710 ไร่ ใช้งบประมาณมูลค่า 3,500 ล้านบาทก่อนจะออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืน[15] ซึ่งในปี พ.ศ. 2565 กรมชลประทานได้มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวน 3 ครั้ง 10 เวทีในพื้นที่ของอำเภอบางบาล อำเภอบางไทร และอำเภอพระนครศรีอยุธยา ผลจากการประชุม ประชาชนเห็นว่าให้มีการปรับรูปแบบความกว้างของคลองบางส่วนเพื่อลดผลกระทบต่อบ้านเรือนประชาชน[16] และแหล่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ตามแนวโครงการ โดยไม่มีการคัดค้านแต่อย่างใด[17]

พื้นที่ได้รับประโยชน์

[แก้]

คลองระบายน้ำหลากบางบาล–บางไทร คาดว่าจะช่วยบรรเทาน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยาและในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้เฉลี่ย 1.9–2.5 ล้านไร่/ปี ช่วยลดระดับความลึกของปริมาณน้ำท่วมได้ และยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับใช้งานทางการเกษตรรวมประมาณ 229,138 ไร่ มีปริมาณน้ำสำหรับการอุปโภคและบริโภคประมาณ 15 ล้านลูกบากษ์เมตร ครอบคลุมพื้นที่จำนวน 48 ตำบล 3 เทศบาล และ 362 หมู่บ้าน รวมถึงใช้เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำเพื่อเลี่ยงเมืองพระนครศรีอยุธยา[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 k, adisorn. "อยุธยาเดินหน้าขุดเจ้าพระยา 2 ระบายน้ำหลากพื้นที่ลุ่มตอนล่าง". เดลินิวส์.
  2. 2.0 2.1 "กรมชลฯ เดินหน้าโครงการคลองระบายน้ำหลาก 'บางบาล-บางไทร' ป้องภัยแล้ง-น้ำท่วม". bangkokbiznews. 2020-09-21.
  3. 3.0 3.1 "โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล - บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา - สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน". largescale.rid.go.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)[ลิงก์เสีย]
  4. พรรคเพื่อไทย (2022-10-06). "เพื่อไทยเตรียมฟื้นโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน พร้อมตามความคืบหน้าสร้างคลองลัดน้ำบางบาล-บางไทร เสร็จปี 69 'ปลอดประสพ' ชี้ ปชช.ต้องทรมานสังขารไปเรื่อยๆ ฝากถึงรัฐบาล 'ประยุทธ์' ไม่ต้องทำอะไร เพื่อไทยเขาจะทำเอง". พรรคเพื่อไทย (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  5. "แจ้งข่าวการลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างขุดคลองระบายน้ำหลากพร้อมอาคารประกอบ สัญญาที่ 1 โครงการ คลองระบายน้ำหลากบางบาล - บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา - ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย". www.set.or.th.
  6. 6.0 6.1 "กรมชลฯ เร่งโครงการ คลองระบายน้ำหลาก "บางบาล-บางไทร" แก้ภัยแล้ง-น้ำท่วม". www.thairath.co.th. 2020-09-21.
  7. ""อิตาเลียนไทย" คว้างานโครงการคลองระบายน้ำหลาก กรมชลฯ มูลค่า 2.7 พันล้าน". www.prachachat.net.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. Eve (2021-04-29). "STEC เซ็นสัญญาก่อสร้างงานขุดคลองระบายน้ำหลาก "บางบาล-บางไทร" มูลค่า 3.67 พันลบ". ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์.
  9. อวยพร, โดย เสาวลักษณ์. "CK คว้างานสัญญาที่ 4 โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร มูลค่า 3,280". ryt9.com.
  10. "แจ้งข่าวการลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างขุดคลองระบายน้ำหลากพร้อมอาคารประกอบ สัญญาที่ 6 โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล - บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา - ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย". www.set.or.th.
  11. พรรคเพื่อไทย (2022-10-06). "เพื่อไทยเตรียมฟื้นโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน พร้อมตามความคืบหน้าสร้างคลองลัดน้ำบางบาล-บางไทร เสร็จปี 69 'ปลอดประสพ' ชี้ ปชช.ต้องทรมานสังขารไปเรื่อยๆ ฝากถึงรัฐบาล 'ประยุทธ์' ไม่ต้องทำอะไร เพื่อไทยเขาจะทำเอง". พรรคเพื่อไทย (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  12. ฐานเศรษฐกิจ (2024-03-22). "กรมชลฯ จับมือ World Bank เดินหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง". thansettakij.
  13. "การจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยา: สทนช. เปิด 9 โครงการใหญ่แก้ปัญหาน้ำท่วม - ThaiPublica". thaipublica.org. 2023-11-08.
  14. ""ดร.วิชิต" ประธานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เกษตร ลงพื้นที่ติดตามงานคลองระบายน้ำ ต.มารวิชัย". mgronline.com. 2024-07-17.
  15. "จัดงบ 3,500 ล้านเร่งซื้อที่ดิน สร้างคลองระบายน้ำ "บางบาล-บางไทร"". www.prachachat.net.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  16. k, adisorn. "อยุธยาเดินหน้าขุดเจ้าพระยา 2 ระบายน้ำหลากพื้นที่ลุ่มตอนล่าง". เดลินิวส์.
  17. "คลองบางบาล-บางไทร". www.thairath.co.th. 2022-02-24.