คดีคลองด่าน
คดีทุจริตจัดซื้อที่ดินและโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน | |
---|---|
(คดีคลองด่าน) (ค่าโง่คลองด่าน) | |
โครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านที่ปัจจุบันถูกทิ้งร้าง | |
สาระแห่งคดี | |
ข้อกล่าวหา |
|
คู่ความ | |
โจทก์ | คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ |
โจทก์ร่วม | กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม |
จำเลย | วัฒนา อัศวเหม กิจการร่วมค้า NVPSKG |
ศาล | |
ศาล | ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง |
พิพากษา | |
" จำคุกนายวัฒนาเป็นเวลา 10 ปี เนื่องจากมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 148 " | |
คดีหมายเลขดำที่ | อม. 2/2550 |
คดีหมายเลขแดงที่ | อม. 2/2551 |
ลงวันที่ | 9 กรกฎาคม 2551 |
คดีทุจริตจัดซื้อที่ดินและโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน หรือ คดีคลองด่าน เป็นคดีการทุจริตโครงการจัดซื้อที่ดินและโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย 2 ระบบ เริ่มแนวคิดขึ้นในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย และได้อนุมัติวงเงินในสมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา โครงการแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณ ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ถือเป็นโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียที่ใหญ่ที่สุดในเอเซียในขณะนั้น ด้วยศักยภาพในการบำบัดน้ำเสีย รวม 525,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน[1][2]
โครงการได้เริ่มขึ้นจากการผลักดันโดยสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ ในขณะนั้น แต่ไม่ได้พิจารณา ในปี 2538 โครงการได้ผลักดันขึ้นอีกครั้งโดย ยิ่งพันธ์ มนะสิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ จนในที่สุดมติคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลบรรหารได้อนุมัติวงเงินโครงการจำนวน 13,612 ล้านบาท ต่อมาในปี 2540 ก็ได้เพิ่มเป็น 23,000 ล้านบาท รัฐบาลได้ประกาศหาผู้รับเหมา จนได้ผู้มายื่นความจำนงจำนวน 13 ราย และได้คัดไปจนสุดท้ายเหลือเพียง 2 รายคือ กลุ่มบริษัท NVPSKG และ กลุ่มบริษัท Marubeni จนในที่สุดกลุ่มบริษัท NVPSKG ได้รับเลือกให้เป็นผู้รับเหมาแบบเหมารวม (Turnkey)[3]
โครงการได้เริ่มพบการทุจริตมากมายจนภาคประชาชนเข้าร้องเรียนถึง ป.ป.ช. พบว่าในส่วนของที่ดิน วัฒนา อัศวเหม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ทำการกว้านซื้อที่ดินชาวบ้านในท้องที่ด้วยวิธีการข่มขู่ รวมถึงออกเอกสารสิทธิพื้นที่สาธารณะโดยมิชอบ และบางพื้นที่ยังเป็นป่าชายเลนซึ่งเป็นที่สงวนอีกด้วย จำนวน 17 แปลง รวมพื้นที่กว่า 1,900 ไร่ ด้วยราคาถูกคือจากไร่ละประมาณ 4 หมื่น[1] แล้วนำไปขายให้กรมควบคุมมลพิษในราคาไร่ละ 1 ล้านบาท คิดเป็นเงินทั้งหมด 1,900 ล้านบาท[4] ป.ป.ช. จึงได้ส่งเรื่องไปที่ศาล แต่ในวันฟังคำพิพากษา ใน พ.ศ. 2550 นายวัฒนากลับเดินทางหนีไปต่างประเทศ ศาลจึงมีคำสั่งจำคุก 10 ปี นอกจากนี้ศาลยังมีคำสั่งให้นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ รมต.กระทรวงวิทยาศาสตร์ รับผิดด้วยแต่เสียชีวิตไปแล้ว ส่วนสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ได้ถูกกล่าวหา แต่ศาลได้ยกฟ้อง[5]
ในปี 2546 กรมควบคุมมลพิษ (ค.พ.) ได้มีคำสั่งให้กิจการร่วมค้า NVPSKG ยุติการดำเนินโครงการ และระงับการจ่ายเงิน หลังดำเนินก่อสร้างไปแล้วกว่า 95% คิดเป็นมูลค่าถึง 2 หมื่นล้านบาท จนต่อมากลุ่มบริษัท NVPSKG ได้ทำการเรียกร้องให้จ่ายเงินที่เหลืออยู่ อนุญาตโตตุลาการจึงได้ตัดสินให้ ค.พ.แพ้ ทำให้ ค.พ.ได้ไปฟ้องต่อยังศาลชั้นต้นและศาลปกครอง แต่ผลสุดท้ายคือยืนตามคำตัดสินอนุญาตโตตุลาการ ต้องจ่ายส่วนที่เหลือกว่า 9.6 พันล้านบาท ซึ่งการจ่ายเงินล่าสุดคือในปี 2558 สมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา
การทุจริตโครงการนี้นับเป็นการทุจริตที่สลับซับซ้อนที่มีเครือข่ายในวงการนักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ คนในครอบครัว อย่างกว้างขวาง ซึ่งในสมัยนั้นไม่มีกฎหมายห้ามกิจการของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ[2] จึงเป็นช่องโหว่ในการแสวงหาผลประโยชน์ ปัจจุบันโครงการแห่งนี้ได้ถูกทิ้งร้าง ชาวบ้านในพื้นที่ต้องย้ายที่อยู่ และรัฐบาลยังคงต้องจ่ายค่าชดเชยโครงการกับกลุ่มบริษัท NVPSKG ที่เหลืออีก 2 งวด[6] รวมเป็นเงินที่ประเทศไทยสูญเสียไปกว่า 3 หมื่นล้านบาท เป็นคดีทุจริตที่สร้างความเสียหายมากที่สุดคดีหนึ่งในประเทศไทย สื่อไทยทุกแขนงจึงต่างตั้งชื่อคดีนี้ว่า "ค่าโง่คลองด่าน"[7][8][9]
ในปี 2561 ศาลฎีกาพิพากษากลับคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินและฉ้อโกงสัญญาก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ รวมมูลค่า 2.49 หมื่นล้านบาท ลงโทษจำเลย 18 ราย มีทั้งนิติบุคคลและบุคคล “สังวรณ์ ลิปตพัลลภ” กรรมการ บริษัท ประยูรวิศว์การช่าง ถูกคุมเข้าเรือนจำพร้อมพวกอีก 4 คน ส่วน “ชยณัฐ โอสถานุเคราะห์-วัฒนา อัศวเหม” พร้อมพวกหลบหนีไม่มาศาลรวม 6 คน มีหมายจับติดตัว[10]
กลุ่มบริษัท NVPSKG
[แก้]เป็นชื่อเรียกกลุ่มบริษัท จำนวน 6 บริษัท ภายหลังบริษัทนอร์ทเวสท์ วอเทอร์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างจากประเทศอังกฤษได้ถอนตัวไป ส่วนที่เหลือ 5 บริษัท เป็นบริษัทของไทย ที่ส่วนใหญ่มีนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง ได้แก่
- N - บริษัทนอร์ทเวสท์ วอเทอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นรัฐวิสาหกิจของอังกฤษ (ภายหลังได้ถอนตัวออกไป)
- V - บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด เป็นของตระกูลชวนะนันท์
- P - บริษัท ประยูรวิศการช่าง จำกัด ผู้ก่อตั้งคือนายวิศว์ ลิปตพัลลภ บิดาของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯในเวลานั้น
- S - บริษัท สี่แสงการโยธา จำกัด ผู้ก่อตั้งคือ บรรหาร ศิลปอาชา ปัจจุบันเป็นของตระกูลวงศ์จิโรจน์กุล
- K - บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัดเป็นบริษัทในเครือของวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง
- G - บริษัท เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับบริษัท ปาล์มบีช ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด ของนายวัฒนา อัศวเหม ผ่านทางผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 ข่าวดังข้ามเวลา : คลองด่านโครงการซ่อนโกง, สำนักข่าวไทย .วันที่ 4 เม.ย. 2559
- ↑ 2.0 2.1 2.2 ย้อนรอย “ค่าโง่คลองด่าน” บทเรียน 3 หมื่นล้าน ราคาที่คนไทยต้องจ่าย, thaipublica.org .วันที่ 22 พฤศจิกายน 2015
- ↑ ‘คลองด่าน’ กับบทเรียนคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร .วันที่ 18/06/2559
- ↑ ย้อนรอย “วัฒนา อัศวเหม” หนีคดีทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน เก็บถาวร 2016-09-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ผู้จัดการ .วันที่ 4 สิงหาคม 2558
- ↑ คดีคลองด่าน เก็บถาวร 2016-06-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, พิพิธภัณฑ์กลโกงชาติ .สืบค้นเมื่อ 18/06/2559
- ↑ บริษัทร่วมค้าฯ ยื่น ปปง.ขอถอนอายัดค่าโง่คลองด่าน อ้างไม่มีเอี่ยวโกง เก็บถาวร 2016-06-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ผู้จัดการออนไลน์ .วันที่ 13 มิ.ย. 2559
- ↑ มองทางออกยุติค่าโง่'คลองด่าน', คมชัดลึก .วันที่ 13 พ.ค. 2559
- ↑ 'คลองด่าน' ค่าโง่ราคาแพง โจทย์ใหญ่-ใครจะรับผิดชอบ เก็บถาวร 2016-05-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, โพสต์ทูเดย์ .วันที่ 13 พ.ค. 2559
- ↑ ย้อนรอย!! คดีค่าโง่คลองด่าน จุดเริ่มต้นมาจากการทุจริตในกรมที่ดิน?? เก็บถาวร 2015-07-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, .tnews.co.th .วันที่ 13 พ.ค. 2558
- ↑ ฎีกาพลิก-คุก11คน ปิดคดีฉาวคลองด่าน, ไทยรัฐฉบับพิมพ์. 14 ก.ค. 2561 05:15 น.