การร้องทุกข์ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตราสัญลักษณ์ศาลอาญาระหว่างประเทศ
ตราสัญลักษณ์ศาลอาญาระหว่างประเทศ

ตามความในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court) อันเป็นสนธิสัญญาจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศนั้น บุคคลหรือองค์กรจะแจ้งความดำเนินคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศต่อศาลนั้นก็ได้[1] ถ้าบุคคลเป็นผู้ยื่น เรียกว่า "ร้องทุกข์" (complain) ถ้ารัฐภาคีศาลก็ดี หรือเลขาธิการสหประชาชาติก็ดี เป็นผู้ยื่น เรียกว่า "เสนอข้อหา" (refer) และเรียกรวมกันว่า "กล่าวโทษ" (communicate)[2]

นับตั้งแต่สิ้นเดือนกันยายน 2553 สำนักงานอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศได้รับคำกล่าวโทษแล้ว 8,874 ฉบับ ในจำนวนนั้น 4,002 ฉบับถูกยกเมื่อตรวจเบื้องต้นแล้วพบว่า "อยู่นอกอำนาจศาลโดยแจ้งชัด"[1] และนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 ศาลอาญาระหว่างประเทศกำลังสืบสวนเรื่องราวในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ในประเทศยูกันดา ในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ในดาร์ฟูร์ ประเทศซูดาน ในประเทศเคนยา ในประเทศลิเบีย และในประเทศโกตดิวัวร์ รวมเจ็ดเรื่องด้วยกัน[3] กับทั้งกำลังพิเคราะห์โดยละเอียดซึ่งเรื่องราวอื่น ๆ อีกหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องราวในประเทศอัฟกานิสถาน ประเทศชาด ประเทศโคลอมเบีย ฉนวนกาซา และประเทศจอร์เจีย[4][5]

วิธีพิจารณา[แก้]

อำนาจศาล[แก้]

อำนาจชำระคดีของศาลอาญาระหว่างประเทศนั้นแบ่งเป็นสามประเภท คือ[6][7][8]

  • อำนาจตามสาระของคดี (jurisdiction ratione materiae) กล่าวคือ ศาลจะทำคดีได้ก็แต่ที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ความผิดอาญาต่อมนุษยชาติ ความผิดอาญาสงคราม และความผิดอาญาฐานรุกราน
  • อำนาจตามบุคคล (jurisdiction ratione personae) และอำนาจตามดินแดน (jurisdiction ratione tertiis) หรือที่เรียกว่า เขตศาล (territorial jurisdiction) กล่าวคือ ศาลจะทำคดีได้ก็แต่เฉพาะที่ว่าด้วยความผิดซึ่งเกิดขึ้น ณ ดินแดนของรัฐภาคีศาล หรือซึ่งผู้ถือสัญชาติรัฐภาคีเหล่านั้นกระทำขึ้น หรือความผิดซึ่งอยู่นอกเงื่อนไขดังกล่าว แต่เลขาธิการสหประชาชาติยื่นเรื่องราวขอให้ศาลพิจารณา หรือรัฐที่เกี่ยวข้องแถลงยอมรับอำนาจศาลแล้ว แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ดี ต้องเป็นกรณีที่ศาลภายในไม่สามารถหรือไม่สมัครจะดำเนินคดีแล้วด้วย
  • อำนาจตามเวลา (jurisdiction ratione temporis) กล่าวคือ ศาลจะทำคดีได้ก็แต่เฉพาะที่ว่าด้วยความผิดซึ่งเกิดขึ้นในหรือหลังจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 อันเป็นวันเริ่มใช้ธรรมนูญกรุงโรมบังคับแล้วเท่านั้น

การกล่าวโทษ[แก้]

ธรรมนูญกรุงโรมว่า บุคคลหรือองค์กรจะแจ้งความดำเนินคดีที่อยู่ในอำนาจศาลต่อศาลก็ได้ โดยให้แจ้งที่อัยการ คำกล่าวโทษเหล่านี้จะได้รับการพิเคราะห์สามชั้น คือ การตรวจเบื้องต้น (initial review), การรายงานมูลฐาน (basic reporting) และการพิเคราะห์โดยละเอียด (intensive analysis) ก่อนเริ่มสืบสวนตามคำกล่าวโทษนั้นต่อไป[1]

การตรวจเบื้องต้น[แก้]

เมื่อได้รับคำกล่าวโทษแล้วทุกครั้ง อัยการต้อง "พิเคราะห์ความร้ายแรงแห่งข้อมูลที่ได้รับ" แล้ววินิจฉัยว่า มีมูลพอจะเริ่มสืบสวนหรือไม่[9] ที่ผ่านมา มีคำกล่าวโทษจำนวนมากถูกยกในระหว่างการพิเคราะห์ชั้นนี้ เนื่องจากปรากฏว่า "อยู่นอกอำนาจศาลโดยแจ้งชัด"

ตามข้อมูลทางสถิติตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ร้อยละแปดสิบของคำกล่าวโทษที่ได้รับนั้นถูกยก เนื่องจาก

  • ร้อยละ 5 อยู่นอกอำนาจตามเวลา เพราะเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2545
  • ร้อยละ 24 อยู่นอกอำนาจตามสาระของคดี จำพวกนี้มักว่าด้วยคนเข้าเมือง ความประมาทเลินเล่อทางแพทย์ ความมั่นคงทางสังคม บำเหน็จบำนาญ และแรงงาน
  • ร้อยละ 13 อยู่นอกอำนาจตามบุคคลหรือตามดินแดน
  • ร้อยละ 38 ปรากฏ "แจ้งชัดว่าไม่มีมูลเพียงพอ" (manifestly ill-founded) จำพวกนี้มักขาดเหตุผลในการใช้สิทธิทางศาลหลายประการ หรือไม่ระบุเหตุผลดังกล่าว เช่น กล่าวหาว่ามีการสมคบคิดกัน แต่ไม่ระบุรายละเอียด หรือเป็นเรื่องการเมืองภายในประเทศหรือท้องถิ่น

การรายงานมูลฐาน และการพิเคราะห์โดยละเอียด[แก้]

เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าเรื่องที่กล่าวโทษนั้นอยู่ในอำนาจศาล คำกล่าวโทษก็จะเข้าสู่ "การรายงานมูลฐาน" เพื่อ "พิเคราะห์ทั่วไปในทางข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย" และประมวลข้อหาตลอดจนข้อมูลต่าง ๆ ที่มีพร้อมอยู่แล้ว มีสถิติว่าระหว่างเดือนกรกฎาคม 2546 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2549 มีคำกล่าวโทษอยู่ในชั้นรายงานมูลฐานนี้ยี่สิบสามฉบับ

เมื่อผ่านชั้นรายงานมูลฐานั้นแล้ว คำกล่าวโทษจะได้รับการพิเคราะห์โดยละเอียด เพื่อประมวลข้อมูลพิสดารจากแหล่งข้อมูลเปิด พิเคราะห์การกระทำความผิดอย่างเป็นระบบ ตรวจปัจจัยสี่ แสวงหาข้อมูลเพิ่มเติม และถ้าคดีซับซ้อน ก็จะวางแผนการสืบสวนอย่างมีศักยภาพ มีสถิติว่า ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552 เป็นต้นมา มีคดีสิบรายอยู่ในชั้นพิเคราะห์โดยละเอียด รวมถึง เรื่องราวในประเทศอัฟกานิสถาน ประเทศชาด ประเทศโคลอมเบีย ประเทศโกตดิวัวร์ ประเทศจอร์เจีย และประเทศเคนยา[4]

การสืบสวน[แก้]

ครั้นแล้ว อัยการจะพิเคราะห์ "ปัจจัยสี่" (four factors) ดังต่อไปนี้ เพื่อเริ่มสืบสวนอย่างเป็นทางการ คือ

  • มีเหตุควรเชื่อหรือไม่ว่ามีการกระทำความผิดอาญาซึ่งอยู่ในอำนาจศาล
  • ความผิดอาญานั้นร้ายแรงหรือไม่
  • ความผิดอาญานั้นไม่อยู่ในอำนาจองค์กรตุลาการภายในแล้วใช่หรือไม่ (ศาลระดับประเทศไม่สามารถหรือไม่เต็มใจทำคดีแล้วใช่หรือไม่) และ
  • คดีเป็นประโยชน์แก่ความยุติธรรมหรือไม่

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 International Criminal Court, September 2010, Communications, Referrals and Preliminary Examinations, Accessed 27 February 2011
  2. International Criminal Court. "Referrals and Communications"PDF. Accessed 20 March 2008.
  3. International Criminal Court, 2010. Situations and cases Accessed 1 January 2010.
  4. 4.0 4.1 International Criminal Court 20 August 2008. "ICC Prosecutor confirms situation in Georgia under analysis". Accessed on 20 August 2008.
  5. "ICC prosecutor eyes possible Afghanistan war crimes", Reuters, 2009-09-09
  6. ดู ข้อ 12 และ 13 แห่ง ธรรมนูญกรุงโรมฯ
  7. ดู ข้อ 17 แห่ง ธรรมนูญกรุงโรมฯ.
  8. ดู ข้อ 20 แห่ง ธรรมนูญกรุงโรมฯ.
  9. Article 15 of the Rome Statute. Accessed 20 March 2008.