การรัดเท้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เท้าที่ถูกรัด (ขวา) เทียบกับเท้าของคนที่ไม่ถูกรัดเท้า (ซ้าย)

การรัดเท้า (จีน: 纏足; พินอิน: chánzú; อังกฤษ: foot binding) เป็นจารีตที่ให้รัดเท้าของหญิงสาวให้คับแน่น เพื่อมิให้นิ้วเท้างอกขึ้นได้อีก เท้าที่ถูกบีบรัดนั้นจะได้มีสัณฐานเรียวเล็กคล้ายดอกบัว เรียกว่า "บัวทองสามนิ้ว" (จีน: 三寸金蓮; พินอิน: sān cùn jīnlián; "three-inch golden lotus") การประพฤติเช่นนี้เชื่อว่าเริ่มในหมู่ชนชั้นสูงที่เป็นนางระบำรำฟ้อนในราชสำนักจีนช่วงห้าราชวงศ์สิบอาณาจักร (คริสต์ศตวรรษที่ 10 หรือ 11) แล้วจึงเป็นที่นิยมขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่ง ก่อนจะแพร่หลายทั่วไปในชาวจีนทุกชนชั้น ในฐานะที่เป็นเครื่องแสดงชั้นวรรณะ (เพราะสตรีที่ครอบครัวมีอันจะกินและไม่จำต้องใช้เท้าทำงานเท่านั้นจึงจะรัดเท้าได้) และเป็นเครื่องหมายแห่งความงามในวัฒนธรรมจีนโบราณ ทว่า ความนิยมและวิธีปฏิบัตินั้นผิดแผกกันไปในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศจีน

ในปี 1664 พระเจ้าคังซีทรงพยายามจะห้ามมีการรัดเท้าอีกต่อไป แต่ไม่เป็นผล[1] ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ชาวจีนนักปฏิรูปหลายคนท้าทายจารีตนี้แต่ก็ไร้ผล แม้ซูสีไทเฮามีพระเสาวนีย์ห้ามการรัดเท้าเป็นเด็ดขาด ก็ล้มเหลวเช่นกัน อย่างไรก็ดี กิจกรรมต่อต้านการรัดเท้าที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องสืบ ๆ มาช่วยให้การรัดเท้าสิ้นสูญไปเมื่อต้นศตวรรษที่ 20[2]

การรัดเท้าทำให้ผู้ถูกรัดต้องพิการชั่วชีวิต หญิงชราชาวจีนบางคนซึ่งเคยถูกรัดเท้าและมีชีวิตอยู่ในเวลานี้ต้องเผชิญความลำบากหลายประการเพราะความพิกลพิการอันเนื่องมาจากถูกรัดเท้า[2]

ประวัติ[แก้]

ต้นกำเนิด[แก้]

มีข้อสันนิษฐานหลายประการเกี่ยวกับที่มาของการรัดเท้า[3] เล่ากันว่า ต๋าจี่ (妲己) พระสนมของพระเจ้าโจ้ว (紂) แห่งราชวงศ์ซาง มีเท้าแป (club foot) นางจึงขอให้พระเจ้าโจ้วรับสั่งให้สตรีทุกคนในราชสำนักผูกรัดเท้าจนมีรูปเหมือนเท้าของนาง เพื่อที่ว่าเท้าอันพิการของนางจะได้กลายเป็นมาตรฐานแห่งความงดงามและภูมิฐาน อีกเรื่องหนึ่งว่า พัน ยฺวี่หนู (潘玉奴) หญิงคณิกาคนโปรดของพระเจ้าเซียว เป่าเจฺวี้ยน (蕭寶卷) แห่งอาณาจักรฉีใต้ มีเท้าที่เล็กกระจุ๋มกระจิ๋ม ครั้นนางฟ้อนรำด้วยเท้าเปล่าไปบนพื้นอันประดับประดาด้วยดอกบัวทอง พระเจ้าแผ่นดินทรงพอพระทัยนักและตรัสว่า "ก้าวไหนมีบัวนั่น" (步步生蓮) เสมือนปัทมาวดี นางในตำนานซึ่งย่างก้าวไปที่ใดก็บังเกิดดอกบัวผุดขึ้นใต้เท้านางเสมอ เชื่อกันว่า เรื่องหลังนี้เป็นที่มาของชื่อ "บัวบาท" (lotus feet) ที่ใช้เรียกเท้าที่ถูกรัดจนเล็กเรียว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานเรื่อง พัน ยฺวี่หนู เคยรัดเท้าของนางหรือไม่ประการใด[4] อย่างไรก็ดี เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่า การรัดเท้านั้นเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าหลี่ อฺวี้ (李煜) แห่งอาณาจักรถังใต้ในสมัยห้าราชวงศ์สิบอาณาจักร[1] เพราะพระเจ้าหลี่ อฺวี้ ทรงให้สร้างดอกบัวทองคำสูงหกฟุตตกแต่งด้วยเพชรนิลจินดา และให้เหย่า เหนียง (窅娘) พระสนม รัดเท้าด้วยผ้าขาวให้มีรูปดังจันทร์เสี้ยว แล้วขึ้นไประบำด้วยปลายเท้าบนดอกบัวประดิษฐ์นั้น[3][1] นางร่ายรำได้ประณีตงดงามเป็นที่ต้องตาต้องใจของผู้ได้เห็น คนทั้งหลายจึงเอาอย่างนาง[5] สตรีชั้นสูงเริ่มรัดเท้าของตนบ้าง และการประพฤติเช่นนี้ก็แพร่หลายต่อ ๆ กันไป[6]

การรัดเท้าเป็นที่นิยมยิ่งขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ศตวรรษที่ 10–12) และงานเขียนที่ว่าด้วยหรืออ้างถึงการรัดเท้า ฉบับเก่าแก่ที่สุดเท่าที่ปรากฏนั้น ก็ปรากฏว่า ทำขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 11[7][8] งานเขียนในศตวรรษที่ 12 ก็ยังบ่งบอกถึงความนิยมรัดเท้า เช่น จาง ปางจี (張邦基) นักเขียนในสมัยราชวงศ์ซ่ง ว่า เท้าที่ถูกรัดนั้นจะงามถ้ามีรูปโค้งและมีขนาดเล็ก[9][10] ครั้นถึงศตวรรษที่ 13 เชอ โร่วฉุ่ย (車若水) นักเขียนซึ่งยึดถือหลักเหตุผลนิยม เขียนตำหนิว่า "เด็กน้อยสี่ขวบห้าขวบไม่รู้เรื่องรู้ราว ก็จับมารัดเท้าให้เล็กจนเด็กเจ็บไม่รู้จบรู้สิ้น จะเท้าเล็กกันไปเพื่ออะไร" (婦人纒腳不知起於何時,小兒未四五歲,無罪無辜而使之受無限之苦,纒得小來不知何用。)[11][12] แม้มีผู้ไม่เห็นด้วย แต่หลักฐานทางโบราณคดีชี้ว่า ในศตวรรษที่ 13 นั้น หมู่ภริยาและธิดาของขุนนางนิยมรัดเท้ากันอย่างยิ่ง แต่วิธีรัดเท้าในสมัยราชวงศ์ซ่งเช่นที่พบตามศพต่าง ๆ นั้นแตกต่างจากที่ปฏิบัติกันในอีกหลายร้อยปีให้หลัง เพราะในช่วงราชวงศ์ซ่ง รัดเท้าโดยบิดหัวแม่เท้าขึ้น และเท้าไม่ได้เล็กเหมือนในสมัยหลัง จึงเกิดข้อสันนิษฐานอีกข้อหนึ่งว่า ความนิยมบีบรัดให้เท้าเล็กเพียงสามนิ้วจนเรียกกันว่า "บัวทองสามนิ้ว" นั้นไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่ง หากเกิดขึ้นภายหลัง[13][14]

หลายร้อยปีหลังการรัดเท้าเกิดนิยมขึ้นในราชวงศ์ซ่ง ปรากฏว่า การรัดเท้าเป็นที่ยึดถือปฏิบัติโดยทั่วกันในครอบครัวผู้ดี ก่อนจะแพร่หลายไปสู่ประชาชนทั่วไป[15] ครั้นปลายราชวงศ์ซ่ง ปรากฏว่า ชายบางคนมักบริโภคเครื่องดื่มด้วยถ้วยใบน้อยที่ติดไว้กับรองเท้าพิเศษสำหรับใส่เท้าที่ถูกรัด ต่อมาในสมัยราชวงศ์หยวน มีบางคนดื่มกินโดยใช้รองเท้าพิเศษนั้นโดยตรง จึงเกิดสำนวนว่า "ซดบัวทอง" (toast to the golden lotus) และธรรมเนียมดังว่านี้มีอยู่จนปลายราชวงศ์ชิง[3]

เมื่อถึงศตวรรษที่ 19 จำนวนสตรีจีนทั่วไปที่รัดเท้านั้นคิดได้ร้อยละ 40 ถึง 50 ส่วนสตรีชั้นสูงที่เป็นชาวฮั่นนั้นรัดเท้ากันทุกคน คิดเป็นร้อยละ 100[2] เท้าอันถูกรัดรึงจนแคบเล็กผิดธรรมชาตินั้นกลายเป็นเครื่องหมายแห่งความงาม ทั้งเป็นเงื่อนไขแรก ๆ ในการหาคู่ สตรียากจนอยากได้สามีรวยก็อาจทำได้โดยมีเท้าสวย มีตัวอย่างในมณฑลกว่างตงเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 นั้น ยึดถือกันเป็นประเพณีว่า สำหรับครอบครัวชนชั้นล่าง ลูกสาวคนโตต้องถูกรัดเท้า จะได้เป็นกุลสตรี ส่วนลูกสาวคนรองลงมา ไม่ต้องรัดเท้า เพราะมีไว้ใช้งานต่างทาสหรือทำไรไถนา ในช่วงนี้ นิยมกันว่า เท้ายิ่งเล็กยิ่งดี ยิ่งเล็กได้สามนิ้วตามมาตราวัดของจีน (4 นิ้วตามมาตราตะวันตก) ก็ยิ่งประเสริฐ เท้าอันรัดจนเล็กนี้ถือเป็นเกียรติเป็นศรีแก่ตัวหญิงผู้ถูกรัดและแก่วงศ์ตระกูลของนาง[16][17] ความภาคภูมิใจดังกล่าวยังปรากฏผ่านรองเท้าและผ้าหุ้มที่เย็บปักด้วยไหมอย่างวิจิตรอลังการสำหรับไว้ใส่เท้าที่ถูกรัด อนึ่ง เพราะเท้าเล็กผิดรูป จึงจำต้องย่อเข่าเวลาเดิน จะได้ทรงตัวและเคลื่อนไหวสะดวก ชายบางคนเห็นว่า สตรีที่เดินด้วยท่าทางอย่างนี้ชวนให้กระสันรัญจวนใจเหลือประมาณ[18]

แม้จะยังเดินไปมาและทำงานในไร่นาได้ แต่หญิงที่ถูกรัดเท้าต้องประสบข้อจำกัดมากมาย ไม่เหมือนหญิงปรกติ กระนั้น ในศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ก็ยังปรากฏว่า นักเต้นรำหญิงที่เท้าถูกรัดนั้นได้รับความนิยมสูง โดยให้เป็นนักแสดงละครสัตว์ที่ยืนบนม้าซึ่งกำลังวิ่งหรือพยศเป็นต้น เหล่าหญิงสาวชาวบ้านแห่งหนึ่งในมณฑลยูนนานซึ่งเท้าถูกรัดยังจับระบำรำฟ้อนกันเป็นวงประจำถิ่นเพื่อแสดงให้นักท่องเที่ยวชมในช่วงปลายศตวรรษที่ 20[19] ส่วนในท้องที่อื่น ๆ สตรีวัย 70 ถึง 80 ซึ่งเท้าถูกรัดนั้นจะคอยช่วยเหลือคนงานในทุ่งนาอย่างจำกัดจำเขี่ย มีปรากฏมาจนถึงช่วงเข้าศตวรรษที่ 21[2]

การยุติ[แก้]

การคัดค้านการรัดเท้านั้นมีขึ้นในหมู่นักเขียนชาวจีนบางคนในช่วงศตวรรษที่ 18 ต่อมา ชาวฮากกาซึ่งสตรีไม่รัดเท้านั้นก่อกบฏเมืองแมนแดนสันติ และประกาศให้การรัดเท้าผิดกฎหมาย[20][21] เมื่อกบฏดังกล่าวถูกปราบราบคาบ เหล่านักเทศน์ศาสนาคริสต์จึงเริ่มให้การศึกษาแก่เด็กหญิง พยายามโน้มนาวให้เห็นว่า การรัดเท้าเป็นประเพณีป่าเถื่อน นักเทศน์เหล่านี้ยังใช้วิธีการหลายหลากเพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของชนชั้นสูงให้ได้ ทั้งการให้ศึกษา การแจกใบปลิวและแผ่นพับต่าง ๆ รวมถึงการกดดันรัฐบาลราชวงศ์ชิง[22][23] ในปี 1875 สตรีคริสต์ศาสนิกชนราว 60 ถึง 70 คนในเซี่ยเหมินประชุมกันโดยมีจอห์น แม็กกาววัน (John MacGowan) นักเทศน์ เป็นประธาน คนเหล่านั้นร่วมกันตั้ง "สมาคมเท้าปรกติ" (天足會) ขึ้นเพื่อรณรงค์ต่อต้านการรัดเท้า[24] กิจกรรมทั้งนี้ต่อมาได้รับความสนับสนุนจากขบวนการสตรีเพื่อความชั่งใจในพระคริสต์ (Woman's Christian Temperance Movement) ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 1883 และได้รับความอุปถัมภ์จากคณะนักเทศน์ซึ่งเห็นว่า อาจอาศัยคริสต์ศาสนาส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศต่าง ๆ ได้ หนึ่งในสมาชิกคณะนักเทศน์นี้ได้แก่ ทิโมที ริชาร์ด (Timothy Richard) ผู้มีอิทธิพลต่อการก่อตั้งจีนเป็นสาธารณรัฐในเวลาต่อมา[25]

ฝ่ายปราชญ์ชาวจีนที่มีใจรักการปฏิรูปก็ชวนกันเห็นว่า การรัดเท้าเป็นด้านมืดในวัฒนธรรมของตน ควรกำจัดทิ้งโดยเร็ว[26] ในปี 1883 คัง โหย่วเหวย์ (康有為) บัณฑิต จึงตั้งสมาคมต่อต้านการรัดเท้า (Anti-Footbinding Society) ขึ้นใกล้เมืองกว่างโจว จากนั้น กลุ่มคัดค้านการรัดเท้าก็ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดทั่วไปในประเทศ มีคำอ้างว่า ผู้ร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านการรัดเท้าในครั้งนั้นรวมกันได้ถึง 300,000 คน[27] ทว่า ขบวนการเหล่านั้นกลับชูเหตุผลด้านชาตินิยม แทนที่จะเป็นด้านสุขภาพอนามัย หรือด้านความมีประสิทธิภาพของชนชั้นแรงงาน[22] นักปฏิรูปหลายรายที่ได้อิทธิพลของทฤษฎีดาร์วินทางสังคม เช่น เหลียง ฉี่เชา (梁啟超) โฆษณาว่า การรัดเท้าทำให้บ้านเมืองอ่อนด้อย เพราะสตรีขี้โรคย่อมมีบุตรอ่อนแอ[28] จนเมื่อลุศตวรรษที่ 20 นักสตรีนิยม เช่น ชิว จิ่น (秋瑾) จึงเริ่มมีบทบาทในการต่อต้านการรัดเท้าบ้าง[29][30] ครั้นปี 1902 ซูสีไทเฮาออกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการรัดเท้า แต่กฎหมายนั้นยกเลิกไปภายหลัง[31]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "Chinese Foot Binding". BBC.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Lim, Louisa (19 March 2007). "Painful Memories for China's Footbinding Survivors". Morning Edition. National Public Radio.
  3. 3.0 3.1 3.2 Marie-Josèphe Bossan (2004). The Art of the Shoe. Parkstone Press Ltd. p. 164. ISBN 978-1-85995-803-2.
  4. Dorothy Ko (2002). Every Step a Lotus: Shoes for Bound Feet. University of California Press. pp. 32–34. ISBN 978-0-520-23284-6.
  5. Dorothy Ko (2002). Every Step a Lotus: Shoes for Bound Feet. University of California Press. p. 42. ISBN 978-0-520-23284-6.
  6. Victoria Pitts-Taylor, บ.ก. (2008). Cultural Encyclopedia of the Body. Greenwood. p. 203. ISBN 978-0-313-34145-8.
  7. "Han Chinese Footbinding". Textile Research Centre.
  8. Xu Ji 徐積 《詠蔡家婦》: 「但知勒四支,不知裹两足。」; Su Shi 蘇軾 《菩薩蠻》:「塗香莫惜蓮承步,長愁羅襪凌波去;只見舞回風,都無行處踪。偷穿宮樣穩,並立雙趺困,纖妙說應難,須從掌上看。」
  9. Dorothy Ko (2008). Cinderella's Sisters: A Revisionist History of Footbinding. University of California Press. pp. 111–115. ISBN 978-0-520-25390-2.
  10. "墨庄漫录-宋-张邦基 8-卷八". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-21. สืบค้นเมื่อ 2015-10-30.
  11. Valerie Steele, John S. Major (2000). China Chic: East Meets West. Yale University Press. p. 38-40. ISBN 978-0-300-07931-9.
  12. 车若水. "脚气集".
  13. Dorothy Ko (2008). Cinderella's Sisters: A Revisionist History of Footbinding. University of California Press. p. 187-191. ISBN 978-0-520-25390-2.
  14. Dorothy Ko (2002). Every Step a Lotus: Shoes for Bound Feet. University of California Press. pp. 21–24. ISBN 978-0-520-25390-2.
  15. Valerie Steele, John S. Major (2000). China Chic: East Meets West. Yale University Press. p. 37. ISBN 978-0-300-07931-9.
  16. Hill Gates (2014). Footbinding and Women's Labor in Sichuan. Routledge. p. 8. ISBN 978-0-415-52592-3.
  17. Manning, Mary Ellen (10 May 2007). "China's "Golden Lotus Feet" - Foot-binding Practice". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-28. สืบค้นเมื่อ 29 January 2012.
  18. Janell L. Carroll (2009). Sexuality Now: Embracing Diversity. Cengage Learning. p. 8. ISBN 978-0-495-60499-0.
  19. Simon Montlake (November 13, 2009). "Bound by History: The Last of China's 'Lotus-Feet' Ladies". Wall Street Journal.
  20. Vincent Yu-Chung Shih, Yu-chung Shi (1968). The Taiping Ideology: Its Sources, Interpretations, and Influences. University of Washington Press. p. 27-29. ISBN 978-0-295-73957-1.
  21. Olivia Cox-Fill (1996). For Our Daughters: How Outstanding Women Worldwide Have Balanced Home and Career. Praeger Publishers. p. 57. ISBN 978-0-275-95199-3.
  22. 22.0 22.1 Mary I. Edwards (1986). The Cross-cultural Study of Women: A Comprehensive Guide. Feminist Press at The City University of New York. pp. 255–256. ISBN 978-0-935312-02-7.
  23. C. Fred Blake (1994). "Foot-Binding in Neo-Confucian China and the Appropriation of Female Labor" (PDF). Signs. 19 (3): 676–712. doi:10.1086/494917. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-10-25. สืบค้นเมื่อ 2018-11-29.
  24. Dorothy Ko (2008). Cinderella's Sisters: A Revisionist History of Footbinding. University of California Press. p. 14-16. ISBN 978-0-520-25390-2.
  25. Vincent Goossaert; David A. Palmer (15 April 2011). The Religious Question in Modern China. University of Chicago Press. pp. 70–. ISBN 978-0-226-30416-8. สืบค้นเมื่อ 31 July 2012.
  26. Levy, Howard S. (1991). The Lotus Lovers: The Complete History of the Curious Erotic Tradition of Foot Binding in China. New York: Prometheus Books. p. 322.
  27. Guangqiu Xu (2011). American Doctors in Canton: Modernization in China, 1835–1935. Transaction Publishers. p. 257. ISBN 978-1-4128-1829-2.
  28. Connie A. Shemo (2011). The Chinese Medical Ministries of Kang Cheng and Shi Meiyu, 1872–1937. Lehigh University Press. p. 51. ISBN 978-1-61146-086-5.
  29. Mary Keng Mun Chung (1 May 2005). Chinese Women in Christian Ministry. Peter Lang Publishing Inc. ISBN 978-0-8204-5198-5.
  30. "1907: Qiu Jin, Chinese feminist and revolutionary". ExecutedToday.com. July 15, 2011.
  31. "Cixi Outlaws Foot Binding เก็บถาวร 2016-03-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน", History Channel