ไม้เลื้อย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พลู ไม้เลื้อยชนิดหนึ่งเป็นที่รู้จักดีในประเทศไทย

ไม้เลื้อย หรือ ไม้เถา คือ พืชที่ไม่มีเนื้อไม้แข็ง ทำให้ไม่สามารถทรงตัวได้โดยลำพัง ลำต้นเลื้อยไปตามดินหรือพันสิ่งที่อยู่ใกล้เคียงเป็นที่ยึดเกาะเพื่อพยุงให้ลำต้นเจริญอยู่ได้ โดยอาจมีอวัยวะพิเศษช่วยในการเกี่ยวยึด เช่น ราก มือเกาะ ขอเกี่ยว[1] ไม้เลื้อยเป็นประเภทหนึ่งในการจำแนกพืชตามโครงสร้างและทรงของลำต้น คือ ไม้ยืนต้นหรือไม้ต้น, ไม้พุ่ม, ไม้ล้มลุกหรือพืชลำต้นอ่อนและ ไม้เถาหรือไม้เลื้อย (vines หรือ climber)

ศัพทมูลวิทยา[แก้]

ไม้เลี้อย บางครั้งอาจเรียก ไม้เถา หรือ ไม้เถาเลื้อย ในภาษาอังกฤษโดยทั่วไปไม้เลื้อยเรียก vine มาจากภาษาละติน vīnea "เถาองุ่น" (grapevine) และ "ไร่องุ่น" (vineyard) ซึ่งมาจาก vīnum แปลว่า "ไวน์" (wine) และในบางพื้นที่ไม้เลื้อยแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ vine คือพืชไม้เลื้อยเฉพาะสกุลองุ่น และ climber หรือ climbing plant สำหรับไม้เลื้อยชนิดอื่นที่เหลือ

ในภาษาจีน 藤本植物 (Téngběn zhíwù, เถิงเปิ่นจึอู้) แปลตามตัวว่า "พืชเถา" หมายถึง ไม้เถา หรือพืชตระกูลหวาย

รูปแบบการเจริญเติบโต[แก้]

มือเกาะ (tendril)
เถาองุ่นเลื้อยปกคลุมปล่องไฟ

พืชประเภทไม้เลื้อย หรือไม้เถา โดยทั่วไปเจริญเติบโตมีลำต้นเลื้อย (trailing stem) ตั้งแต่เริ่ม เช่น พวงชมพู กระเทียมเถา สร้อยอินทนิล[2] บอระเพ็ด ตำลึง อัญชัน[3] กลอย นมตำเลีย[4] เป็นต้น บางครั้งไม้เลื้อยอาจรวมพืชจำพวกไม้รอเลื้อย (scandent) หรือที่เรียก ไม้พุ่มกึ่งเลื้อย, ไม้พุ่มกึ่งไม้เถา, หรือ ไม้พุ่มรอเลื้อย ซึ่งเติบโตเป็นพุ่ม (shrub) ในช่วงแรกสามารถทรงตัวอยู่ได้เมื่อขึ้นอยู่ตามลำพัง และแตกกิ่งก้านรอบทิศโดยกิ่งก้านไม่เลื้อยทอดลงดิน ต่อเมื่อกิ่งก้านบางส่วนทอดเอนเข้าใกล้ต้นไม้อื่นหรือสิ่งอื่นที่อยู่ใกล้เคียง กิ่งก้านนั้นจะเลื้อยพันสิ่งนั้น ๆ (เป็นไม้เลื้อยในบางเวลาเมื่อทอดเอนกับสิ่งยึดเกาะได้) [2][5][6] เช่น ถอบแถบน้ำ สักขี สำมะงา[7] การเวก นมแมว โนรา เฟื่องฟ้า[2][5] เป็นต้น

วัตถุประสงค์[แก้]

เถาของบอระเพ็ดมีเปลือกแข็งคล้ายไม้ แต่ข้างในไม่มีเนื้อไม้แบบไม้ยืนต้น

ไม้เลื้อย มีลำต้นที่มีรูปแบบการเจริญเติบโตแบบอาศัยการเลื้อย พัน เกาะ เพื่อวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ ไม้เลื้อยวิวัฒนาการโดยสร้างตามแนวยาว (ยืดยาว) แทนที่จะลงทุนใช้พลังงานจำนวนมากในการสร้างเนื้อเยื่อ (เนื้อไม้) ที่ใช้เป็นโครงสร้างในการทรงตัว อาจอาศัยหินที่เปิดโล่ง พืชอื่น หรือสิ่งพยุงอื่น ๆ ในการสนับสนุนการเจริญเติบโต และสามารถเข้าถึงแสงแดดได้ด้วยการลงทุนพลังงานน้อยที่สุด เป็นรูปแบบการเจริญเติบโตที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในพืชเช่น พวงชมพู สายน้ำผึ้ง ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์รุกรานในบางส่วนของอเมริกาเหนือ และขี้ไก่ย่าน ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์รุกรานในประเทศไทย ไม้เลื้อยเขตร้อนบางชนิดเจริญเติบโตแบบเบนออกจากแสง (skototropism ― ในทางตรงข้ามของการเบนเข้าหาแสง) พยายามงอกไปยังทิศทางที่ไม่มีแสง การเจริญเติบโตลักษณะนี้เพื่อทำให้กิ่งก้านของไม้เลื้อยงอกไปถึงโคนต้นไม้ และอาศัยปีนขึ้นไปยอดไม้ที่สว่างกว่าได้อย่างรวดเร็ว[8]

รูปแบบการเจริญเติบโตของไม้เลื้อยอาจสามารถครองพื้นที่ขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องปีนสูง เช่น แพงพวยฝรั่ง และ หูเสือเลื้อยใบด่าง (Glechoma hederacea) นอกจากนี้ไม้เลื้อยสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพพื้นที่ เช่น เถาของไม้เลื้อยสามารถหยั่งรากลงดินในพื้นที่ที่มีดินอุดมสมบูรณ์เป็นหย่อม ๆ มีดินน้อยหรือไม่มีเลย และใบส่วนใหญ่ยังเจริญเฉพาะในบริเวณที่สว่างและโล่งหรือมีแสงแดดส่องถึงเป็นช่วง ๆ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากทั้งสองสภาพแวดล้อม

วิวัฒนาการและกลไกการเลื้อย[แก้]

ยอดพันพันตามเข็มนาฬิกา (twining vine หรือ bine) ของ Fockea edulis
เถาที่มีมือเกาะ ของ Brunnichia ovata

กลไกการเลื้อย[แก้]

วิวัฒนาการของพฤติกรรมการเลื้อยของพืช แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการพัฒนาความหลากหลายของพันธุ์พืช วิวัฒนาการอย่างอิสระในพืชวงศ์และสกุลต่าง ๆ ทำให้มีวิธีการเลื้อยที่แตกต่างกัน ได้แก่

  • ลำต้นพัน ― ยอดของลำต้นงอกไต่ขึ้นที่สูงโดยปลายยอดม้วนพันสิ่งพยุง (twining stem, เรียกพืชจำพวกนี้ว่า twiner) เช่น พืชสกุลมอร์นิ่งกลอรี่และผักบุ้ง, สังวาลย์พระอินทร์, วีสเตียเรีย
  • รากเกาะ ― การงอกและยึดด้วยราก (root climbing, เรียกพืชจำพวกนี้ว่า root climber) เช่น พลู, พริกไทย, พืชสกุล Hedera ได้แก่ ไอวี่
  • ก้านใบบิด หรือพันสิ่งพยุง เช่น กล็อกซิเนียเลื้อย, สกุลพวงแก้วกุดั่น การพันเลื้อยด้วยก้านใบมักไม่ทำลายโครงสร้างอาคารที่มันยึดเกาะ[9]
  • มือเกาะ ― โดยการสร้าง 'ส่วนขยาย' ที่ไวต่อการสัมผัส (tendril) และสามารถจับได้โดยหมุนเกลียวรอบวัตถุที่เป็นสิ่งพยุงและไต่ขึ้นที่สูงอย่างมีเสถียรภาพ[10] ยังสามารถใช้เป็น "สมอ" แทรกเข้าในรู รอยแตก และรอยแยก (ลักษณะเดียวกับแองค์เคอร์ปีนผา) โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้าง[11]
  • มือเกาะจำพวกตีนกาว ที่มีแผ่นกาวที่ปลายรากอากาศหรือมือเกาะ ซึ่งยึดติดแน่นกับสิ่งพยุงและจะทิ้งรอยไว้บนตัวพยุงเมื่อลอกหรือแกะออก เช่นกำแพง (clinging aerial rootlets หรือ root tendril) เช่น เถาคันแดง (Parthenocissus quinquefolia), มะเดื่อเถา (หรือเรียก ตีนตุ๊กแกเกาะผนัง ―Ficus pumila)
  • ใช้หนามเกี่ยวเพื่อปีนขี้นสูงและขณะเดียวกันกดให้พืชอื่นลงด้านล่าง เช่น กุหลาบเลื้อย หรือโครงสร้างขอเกี่ยวอื่น ๆ เช่น พืชสกุลการเวก, กระดังงาจีน (Artabotrys hexapetalus) เรียกพืชจำพวกนี้ว่า rambler

ในรูปแบบอื่นได้แก่ เฟตเทอร์บุช (Pieris phillyreifolia) เป็นไม้เถาที่เลื้อยโดยไม่มีรากเกาะ มือเกาะ หรือหนาม แต่ใช้การแทรกลำต้นของมันเข้าไปในรอยแยกในเปลือกของไม้ยืนต้นที่มีเปลือกเป็นเส้นใย ลำต้นเฟตเทอร์บุชที่อยู่ในเปลือกของต้นไม้อื่นมีลักษณะแบนเป็นพิเศษ และงอกกิ่งออกมาจากซอกไม้เป็นระยะ ๆ และถี่ขึ้นในจุดที่มีแสงส่องเช่น ใกล้ยอดไม้

ไม้เลื้อยส่วนใหญ่เป็นไม้ดอก ไม้เลื้อยยังแบ่งได้เป็นพวกมีผิวไม้ (มีเปลือกลำต้นแข็ง) เช่น วีสเตียเรีย กีวี และบอระเพ็ด และไม้เลื้อยที่เป็นไม้ล้มลุก (มีลำต้นอ่อน) เช่น มอร์นิ่งกลอรี่

กลุ่มไม้เลื้อยแปลกกลุ่มหนึ่งคือเฟิร์นสกุลย่านลิเภา ซึ่งเป็นเฟิร์นเถา เลื้อยด้วยใบ โดยการคลี่ใบออกจากปลายและงอกยาวออกไปเรื่อย ๆ ไม่หยุด จนปกคลุมก่อตัวเป็นพุ่มเมื่อบนต้นไม้ หรือก้อนหิน[17]

รูปแบบการเลื้อย[แก้]

L: รูปซ้าย การพันเกลียวของเถาที่เติบโตหมุนเป็นเกลียวทวนเข็มนาฬิกา จากพื้น เรียกการพันรูปตัว S (S-twist)
R: รูปซ้าย การพันเกลียวของเถาที่เติบโตหมุนเป็นเกลียวตามเข็มนาฬิกา จากพื้น เรียกการพันรูปตัว Z (Z-twist)[18][19]
แปลงปลูกฮอปส์ ใช้ลวดสลิงขึงในแนวตั้งให้ยอดฮอปส์ไต่พันเกลียวขึ้นไป
ลวดสลิงขึงสูง 5–6 เมตร เต็มไปด้วยฮอปส์เมื่อเก็บเกี่ยว

รูปแบบการเลื้อยพันปลายยอดของลำต้น (ลำต้นพัน) หรือ เกลียวเถาวัลย์ ( twining vines) อาจเรียก การพันเกลียว หรือ ไบน์ (bine) เป็นการเจริญเติบโตของไม้เลื้อยที่ไต่ขึ้นโดยใช้ยอดของมันที่งอกออกเป็นเกลียวไปเรื่อย ๆ ตรงกันข้ามกับไม้เลื้อยที่ปีนโดยใช้มือเกาะหรือตีนกาว เกลียวเถาวัลย์ส่วนมากมีซี่ฟัน, ก้านที่หยาบ หรือมีขนแปรงชี้ลงด้านล่างเพื่อช่วยยึดเกาะ เช่น ฮอปส์ (ที่ใช้ในการปรุงเบียร์) เป็นตัวอย่างที่สำคัญในเชิงพาณิชย์ของการปลูกพืชแบบการพันเกลียว[20][21]

ทิศทางการหมุนของปลายยอดในระหว่างการปีนป่ายเป็นไปด้วยตัวมันเอง และไม่ได้มาจากการไล่ตามแสงอาทิตย์ขึ้นไปสู่ท้องฟ้า (อย่างที่บางครั้งคิดไว้) ทิศทางของการบิดพันจึงไม่ขึ้นอยู่กับว่าพืชกำลังเติบโตอยู่ด้านใดของโลกที่แบ่งตามเส้นศูนย์สูตร

  • ไม้เลื้อยที่มีเถาหมุนตามเข็มนาฬิกาเสมอ (การหมุนตามเข็มนาฬิกาต้องมองจากจุดเดิมของเถาไปสู่ปลายที่งอกใหม่ หรือมองจากล่างขึ้นบน) ได้แก่ ถั่วรันเนอร์ (Phaseolus coccineus) และมอร์นิงกลอรี (bindweed; สกุล Convolvulus)
  • ไม้เลื้อยที่มีเถาหมุนทวนเข็มนาฬิกาเสมอ ได้แก่ ถั่วแขก (Phaseolus vulgaris) และสายน้ำผึ้ง (สกุล Lonicera)

การหมุนที่ตรงข้ามกันของ มอร์นิงกลอรี และสายน้ำผึ้ง เป็นแนวคิดของเนื้อเพลงเชิงเสียดสี "Misalliance"[22] เขียนและร้องโดยไมเคิล ฟรานเดอร์ (Michael Flanders) และโดนัลด์ สวอนน์ (Donald Swann)

อ้างอิง[แก้]

  1. "ไม้เลื้อย". www.nectec.or.th.
  2. 2.0 2.1 2.2 "plant". il.mahidol.ac.th.
  3. "สมุนไพรประเภท ไม้เถา,ไม้เลื้อย". Herbs In Thailand.
  4. "ไม้เลื้อย - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ". www.saranukromthai.or.th.
  5. 5.0 5.1 "เกร็ดพรรณไม้ เรื่อง ไม้ยืนต้น...ไม้พุ่ม...ไม้ล้มลุก...ไม้เถา...ไม้เลื้อย..." ๑๐๘ พรรณไม้ไทย. 2019-07-10.
  6. "Creepers". mannuthynursery. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-19. สืบค้นเมื่อ 17 July 2013.
  7. "ข่าวประชาสัมพันธ์ - ป่าชายเลน25, สถานี25, st25, สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 25 (อ่าวลึก), ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนที่ 16 (อ่าวลึก กระบี่)". dmcrth.dmcr.go.th.
  8. Glimn-Lacy, Janice; Kaufman, Peter B. (2006). Botany Illustrated. Springer. doi:10.1007/0-387-28875-9. ISBN 978-0-387-28870-3.
  9. "Climbing Plants with Petiole Tendril (Leaf Stalk Tendrils)". www.fassadengruen.de.
  10. "Tendril | plant anatomy". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  11. "Stem Tendril Climbers". www.fassadengruen.de.
  12. 12.0 12.1 Cooper, W.E.; de Boer, H.J. (2011). "A taxonomic revision of Trichosanthes L. (Cucurbitaceae) in Australia, including one new species from the Northern Territory". Austrobaileya. 8 (3): 364–386. ISSN 0155-4131.
  13. "Figure 1. Sample of climbing organs found in Bignonieae. —A..." ResearchGate (ภาษาอังกฤษ).
  14. 14.0 14.1 Sousa-Baena, Mariane S.; Sinha, Neelima R.; Hernandes-Lopes, José; Lohmann, Lúcia G. (2018-04-03). "Convergent Evolution and the Diverse Ontogenetic Origins of Tendrils in Angiosperms". Frontiers in Plant Science. 9: 403. doi:10.3389/fpls.2018.00403. ISSN 1664-462X. PMC 5891604. PMID 29666627.{{cite journal}}: CS1 maint: PMC format (ลิงก์)
  15. www.studiestoday.com https://www.studiestoday.com/useful-resources-science-cbse-class-6-science-getting-know-plants-exam-notes-241372.html. {{cite web}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  16. Koch, Ana Kelly; Ilkiu-Borges, Anna Luiza (2016). "Flora das cangas da Serra dos Carajás, Pará, Brasil: Passifloraceae". Rodriguésia. 67 (5spe): 1431–1436. doi:10.1590/2175-7860201667543. ISSN 2175-7860.
  17. "ลิเภา - ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ ม.อุบล : phargarden.com". www.phargarden.com.
  18. Haldeman, Jan. "As the vine twines". Native and Naturalized Plants of the Carolinas and Georgia. สืบค้นเมื่อ 16 January 2018.
  19. Weakley, Alan S. (May 2015). Flora of the Southern and Mid-Atlantic States. UNC Herbarium, North Carolina Botanical Garden, University of North Carolina at Chapel Hill. สืบค้นเมื่อ 16 January 2018.
  20. bine at Merriam-Webster
  21. Cone Heads at Willamette Week
  22. Misalliance