นมตำเลีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นมตำเลีย
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: พืช (Plantae)
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Gentianales
วงศ์: Apocynaceae
วงศ์ย่อย: Asclepiadaceae
สกุล: Hoya
สปีชีส์: H.  ovalifolia
ชื่อทวินาม
Hoya ovalifolia
W. & A.

นมตำเลีย (ชื่อวิทยาศาสตร์: Hoya parasitica (Roxb.) Wall. ex Wight เป็นหนึ่งในพืชสกุลนมตำเลีย (Hoya) เป็นไม้เถาเลื้อยขนาดเล็ก สามารถพบได้ในป่าทั่วทุกภาคของประเทศไทย รวมไปถึงบางเกาะกลางทะเลในเขตประเทศไทย และมีความหลากหลายของขนาดและรูปร่างใบ สีสันของดอก รูปทรงของมงกุฏ (corona) ทุกส่วนของต้นมีน้ำยางสีขาว ดอกมักออกในช่วงฤดูร้อนของปี จนถึงต้นฤดูฝน ช่อดอกทรงกลม เมื่อดอกบานกลีบดอก (corola) จะพลิกกลับไปด้านหลัง ดอกมีกลิ่นหอมรุนแรง ดอกขนาด 1 - 1.5 ซม.

โฮย่าเป็นหนึ่งในกลุ่มพืชใบเลี้ยงคู่ อยู่ในวงศ์ Asclepiadaceae ดร.โรเบิร์ต บราวน์ (Dr. Robert Brown) นายแพทย์ชาวอังกฤษ ได้ตั้งชื่อสกุลของโฮย่าขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2353 จากชื่อของเพื่อนผู้หนึ่ง คือนาย Thomas Hoy ผู้ดูแลสวนของดยุกแห่งนอร์ธัมเบอร์แลนด์ ประเทศอังกฤษในช่วงปลายคริส์ตศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริส์ตศตวรรษที่ 19 ซึ่งแต่เดิมพืชชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Asclepias carnosa L.f. โฮย่าต้นแรกที่ ดร. โรเบิร์ต บราวน์ ตั้งชื่อและยึดถือเป็นต้นแบบของพืชสกุลนี้คือ Hoya carnosa L.f. Brown มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของประเทศจีนและฮ่องกง กล่าวกันว่าสวนของแห่งนอร์ธัมเบอร์แลนด์นั้นเป็นแหล่งรวบรวมพืชแปลกและหายากจากทั่วโลก จึงเป็นไปได้ว่าโฮย่าต้นนี้ได้ปลูกไว้ที่สวนแห่งนี้ด้วย

ปัจจุบันโฮย่าชนิดนี้เป็นไม้ประดับที่ปลูกกันแพร่หลายทั่วโลก และยังมีโฮย่าอีกหลายชนิดที่ปลูกเป็นทั้งไม้ประดับดอกและใบได้อย่างสวยงาม โฮย่าหลายชนิดมาจากป่าภายในประเทศไทยของเรามีอยู่ชนิดหนึ่งที่มีบทบาทมากในการใช้เป็นไม้ประดับใบที่นิยมในปัจจุบันคือ Hoya kerrii หรือที่เรารู้จักกันในนามโฮย่าใบหัวใจนั้นเอง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]

ปัจจุบันพบว่าโฮย่ากว่า 400 ชนิดทั่วโลก (ไม่รวมต้นที่มีการกลายพันธุ์และลูกผสมซึ่งเกิดจากการปลูกเลี้ยง) กระจายพันธุ์ครอบคลุมบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตอนบนของทวีปออสเตรเลียเจริญอยู่ในสภาพธรรมชาติต่าง ๆ กัน พบมากที่สุดในแนวเส้นศูนย์สูตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกาะในบริเวณทะเลจีนใต้ ที่มีสภาพเป็นป่าฝนเขตร้อนเหมือนป่าดงดิบ มีแสงส่องถึง นอกจากนี้ยังพบในป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้งใบแถบอินโดจีน รวมทั้งบนหุบเขาสูงซึ่งเป็นป่าดิบเขาในเขตกึ่งร้อนโฮย่ามีการกระจายพันธุ์อยู่ทั่วทุกภาคในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นไม้เลื้อยอิงอาศัยเกาะกับต้นไม้ใหญ่ ได้อาหารและน้ำจากลมและฝนพัดพามา (epiphytic plant) ทุกส่วนของต้นมีน้ำยางสีขาว (ยกเว้นเพียงไม่กี่ชนิด เช่น Hoya carnosa มีน้ำยางใส) มีใบหนาคล้ายพืชอวบน้ำจึงสามารถทนแล้งได้ดี มีรากที่ทำหน้าที่คล้ายรากอากาศ

ดอก[แก้]

เป็นเอกลักษณ์ของโฮย่าที่แตกต่างจากต้นไม้อื่นและสามารถใช้จำแนกสายพันธุ์ต่างๆ ได้ดีดอกออกเป็นช่อแบบซี่ร่ม เกิดที่ข้อใบและมักห้อยลง ก้านช่อดอกมีอายุนานหลายปีและเกิดดอกซ้ำได้หลายครั้ง ดอกออกเป็นดอกสมบูรณ์เพศมีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 5 อัน ลักษณะเด่นของดอกคือมีกลีบดอกเป็นมันคล้ายทำด้วยขี้ผึ้ง สีสันสดใส จึงมีชื่อเรียกว่า Wax Plant หรือบางชนิดกลีบดอกมีขนฟูคล้ายกำมะหยี่ปกคลุม ส่วนมากมักจะมันแววบาง มีแทบทุกสี สีขาว นวล เหลือง ชมพู แดง ม่วงเข้ม โฮย่าบางพันธุ์ มีพันธุ์ย่อย ใบเหมือนกันทรงดอกเหมือนกัน แต่สีดอกผิดแผกกัน เช่น มงกุฎขาวเปลี่ยนเป็นมงกุฎแดง นอกจากนี้ยังมีส่วนที่คล้ายมงกุฎ 5 แฉก (corona) ครอบอยู่ตรงกลางเหนือกลีบดอก เกสรเพศผู้ 5 อัน มีลักษณะคล้ายก้อนขี้ผึ้ง (polonium) อยู่ระหว่างแฉกของมงกุฎ ส่วนเกสรเพศเมีย 1 อัน อยู่กึ่งกลางมงกุฎ ดอกโฮย่าหลายพันธุ์ มีน้ำหวานข้นติดอยู่กลางดอกทำให้เพิ่มความสวยงามและความแวววาวมากยิ่งขึ้น

ช่อดอก[แก้]

ลักษณะเด่นของโฮย่า คือ ออกดอกเป็นช่อคล้ายดอกเข็มกระจายออกจากก้านช่อดอก ส่วนมากจะคว่ำหน้าลง จำนวนดอกต่อช่อมีตั้งแต่ 7 - 70 ดอกต่อช่อ แล้วแต่สายพันธุ์ลักษณะมาตรฐานคือทรงกลมเป็นลูกบอลแต่มีทรงอื่นๆ อีก เช่น ทรงกลม ทรงฝักบัวโค้งออก ทรงฝักบัวโค้งเข้า ทรงฝักบัวแหงนขึ้น

ก้านช่อดอก[แก้]

ก้านช่อดอกเป็นเอกลักษณ์อันหนึ่งของโฮย่า เพราะเป็นดอกไม้ชนิดเดียวที่ก้านช่อดอกมีอายุยืนยาวหลายปีและออกดอกซ้ำที่ก้านช่อดอกได้เรื่อยๆ ทำให้ก้านช่อดอกงอกยาวไปได้จน ถึง 7-8 ซม. ไม่สมควรตัดก้านช่อดอกออกเพราะจะทำให้การออกดอกหยุดชะงัก ก้านช่อดอกบางพันธุ์อยู่ที่ยอดอ่อนบางพันธุ์เกิดที่ปลายยอด บางพันธุ์เกิดที่ข้อใต้ใบ และบางพันธุ์ยังแตกก้านช่อดอกเป็นแขนงออกได้ เช่น Hoya latifolia

กลิ่น[แก้]

น้อยชนิดที่ไม่มีกลิ่น กลิ่นมีแตกต่างกันออกไปมากมายสุดเกินที่จะบรรยาย บางพันธุ์หอมมาก บางพันธุ์กลิ่นหอมคล้ายผิวเปลือกของผลไม้ บางพันธุ์ก็มีกลิ่นเหม็นคล้ายกับกลิ่นคาวปลา ส่วน มากให้กลิ่นตอนเย็น ค่ำ และกลางคืน มีบางชนิดที่มีกลิ่นในช่วงกลางวัน ยิ่งอากาศร้อยกลิ่นก็จะยิ่งรุนแรง

ฤดูดอก บางพันธุ์มีดอกตลอดปี แต่ส่วนมากจะมีดอกเป็นช่วงๆ ฤดู บางพันธุ์ออกดอกช่วงต้นฤดูร้อนบางพันธุ์ออกดอกช่วงปลายฤดูฝน ส่วนชนิดที่มีถิ่นกำเนิดในเขตหนาวจะออกดอกในฤดูหนาว

ใบ[แก้]

ใบของ Hoya ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงข้าง ยกเว้น Hoya imbricata ที่มีใบซ้อนเหลื่อมกัน (imbricate) ส่วนมากค่อนข้างหนา บางพันธุ์สะสมน้ำในใบเหมือนกุหลาบหิน ใบมีรูปทรงแตกต่างกันมาก ตั้งแต่รูปเป็นแท่งคล้ายดินสอ ไปจนถึงรูปกลม รูปไข่ รูปใบโพธิ์ รูปขนาน รูปหัวใจ รูปสี่เหลี่ยมแถบกว้าง แถบแคบ บางชนิดมีผิวใบหยาบเหมือนแผ่นหนัง หรือมีขนคล้ายกำมะหยี่ปกคลุม แม้ใบจะมีรูปทรงมากมายแต่การใช้ใบจำแนกสายพันธุ์ เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก โดยเฉพาะ Hoya ในกลุ่มของ Hoya parasitaca เพราะลักษณะใบจะผิดแปลกไปตามสิ่งแวดล้อม เช่น ปริมาณน้ำ ปริมาณแสงที่ได้รับ ความสมบูรณ์ของต้น ของใบที่อายุแตกต่างกัน นอกจากนั้นสีใบก็ใช้บอกสายพันธุ์ได้ยาก เช่น โฮย่าในป่าหน้าแล้งใบตึงเล็กอวบน้ำจนแทบไม่มีเส้นใบ มีสีน้ำตาลแดง พอเข้าหน้าฝนใบใหม่สายพันธุ์นั้นจะบางใหญ่เห็นเส้นใบชัดเจน มีสีเขียวอ่อน ดังนั้น ใบในเถาเดียวกันก็มีโอกาสผิดแปลกกันได้ และที่ยากยิ่งคือใบของสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน บางกลุ่มมีลักษณะคล้ายคลึงกันมากการแยกสายพันธุ์โดยสังเกตใบต้องใช้ความชำนาญมาก และก็ไม่สามารถแยกได้ทุกชนิด

ลำต้น[แก้]

ส่วนใหญ่เป็นไม้เลื้อยพัน แต่มีลักษณะอื่นๆ อีกซึ่งพอจะจำแนกได้เป็นกลุ่ม ไม้พุ่มเล็กตั้งต้นไม้รอเลื้อย ไม้เลื้อย ทุกพันธุ์มีลักษณะเป็นปล้อง มักมี 2 ใบที่ ข้อ แต่บางพันธุ์ออกใบเป็นกลุ่ม รอบข้อส่วนมากมียางสีขาวในลำต้น

ผล[แก้]

เป็นฝักรูปร่างทรงกระสวยยาวเมื่อแก่จะแห้งและแตกออกเพียงด้านเดียว ภายในมีเมล็ดเล็ก ๆ จำนวนมาก เมล็ดมีขนพิเศษ (coma) ช่วยในการกระจายพันธุ์ไปตามลม เมล็ดที่ตกในที่เหมาะสมก็จะเจริญเติบโตต่อไป

ราก[แก้]

โฮย่าเป็นพืชเกาะอาศัย ตามลำต้น ตามกิ่ง มีทั้งห้อยลง ตั้งขึ้นและเลื้อยพันจนแน่น เติบโตช้าถึงปานกลาง ชนิดที่ไม่เป็นไม้พุ่มมีรากที่โคนต้นและขึ้นบนพื้นดินได้โฮย่าส่วนมากมีรากพิเศษระหว่างปล้องข้อมากมาย

นมตำเลียในวรรณกรรม[แก้]

กล้วยไม้ห้อยต่ำเตี้ย
นมตำเลียเรี่ยทางไป
หอมหวังวังเวงใจ
ว่ากลิ่นแก้วแล้วเรียมเหลียว
นิราศธารทองแดง - พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร