ไพรมหากาฬ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไพรมหากาฬ
ภาพปกเพชรพระอุมา ตอนไพรมหากาฬ เล่ม 1
รายละเอียด
ผู้ประพันธ์นายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ
จำนวนเล่ม4 เล่ม
ความยาว1,696 หน้า
ออกแบบปกสามารถ จงเจษฎากุล
ภาพประกอบปกสมชาย ปานประชา
ศิลปกรรมฝ่ายศิลปกรรม
ณ บ้านวรรณกรรม กรุ๊ป
บรรณาธิการรักษ์ชนก นามทอน
สำนักพิมพ์สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม
ปีที่พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2538
ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2541
ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2544
ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2547
เล่มถัดไปดงมรณะ

ไพรมหากาฬ เป็นตอนที่หนึ่งของเพชรพระอุมาจำนวน 4 เล่ม ได้แก่ไพรมหากาฬ เล่ม 1 - 4

เนื้อเรื่องย่อ[แก้]

ไพรมหากาฬ เล่ม 1[แก้]

ในช่วงเวลาประมาณบ่ายโมง รพินทร์ ไพรวัลย์ พรานล่าสัตว์ หัวหน้าหมู่บ้านหนองน้ำแห้งได้นำสัตว์ที่ดักได้มาส่งแก่นายอำพล ผู้อำนวยการบริษัทไทยไวล์ดไลฟ์ ที่สถานีส่งสัตว์ออกขายต่างประเทศ และได้รับการนำแนะจากนายอำพลให้รู้จักกับคณะเดินทางจากพระนคร ที่ต้องการว่าจ้างรพินทร์ ให้เป็นพรานนำทางเพื่อออกติดตามค้นหา หม่อมราชวงศ์อนุชา วราฤทธิ์ หรือพรานชด ซึ่งเป็นน้องของ พันโทหม่อมราชวงศ์เชษฐา วราฤทธิ์ พี่ชายของ หม่อมราชวงศ์ดาริน วราฤทธิ์ และเพื่อนของ พันตรีไชยยันต์ อนันตรัย ผู้ซึ่งหายสาบสูญไปในป่าลึก คณะนายจ้างมีรายละเอียดข้อมูลเพียงคร่าว ๆ ที่พรานชดประชากร ออกเดินทางเข้าป่าเพื่อค้นหา "ขุมทรัพย์เพชรพระอุมา" ที่เป็นตำนานเล่าขาน โดยที่รพินทร์ ไพรวัลย์ ได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับขุมทรัพย์เพชรพระอุมาที่เคยได้ยินจากหนานไพร ครูพรานของรพินทร์ให้คณะนายจ้างทราบ และข่าวคราวของพรานชด ที่เคยพบที่โป่งกระทิงในขณะที่พรานชดกับหนานอิน พรานคู่ใจกำลังจะออกเดินทางเพื่อค้นหาขุมทรัพย์เพชรพระอุมา

วันรุ่งขึ้นรพินทร์เสนอเงื่อนไขสัญญาจ้างในการเป็นพรานนำทางคือเงินสดจำนวนสองแสนบาท สำหรับดูแลแม่ที่แก่ชราและทรัพย์สมบัติหนึ่งในสามส่วนของขุมทรัพย์เพชรพระอุมาถ้าค้นหาพบ ก่อนออกเดินทางหนึ่งสัปดาห์คณะนายจ้างได้เตรียมสัมภาระในการเดินทาง อีกสองวันต่อมาจึงล่วงหน้ามายังหมู่บ้านหนองน้ำแห้งพร้อมกับสัมภาระ เสบียงที่ทยอยขนมาโดยรถจี๊ปของบริษัทไทยไวล์ดไลฟ์ สำหรับอาวุธปืนชนิดต่าง ๆ และกระสุนจะมาถึงในวันรุ่งขึ้น รพินทร์นำพรานพื้นเมืองสี่คนได้แก่พรานบุญคำ พรานจัน พรานเกิดและพรานเส่ย พรานคู่ใจของเขาไปด้วย แต่เมื่อทั้งหมดพร้อมออกเดินทางเพื่อติดตามค้นหาบุคคลที่สูญหาย ได้มีกะเหรี่ยงพเนจรชื่อแงซาย มาสมัครเป็นคนรับใช้ ขอติดตามร่วมคณะนายจ้างไปโดยที่ไม่ต้องการค่าตอบแทน เชษฐาซักไซ้ไล่เลียงประวัติของแงซายและรับไว้ให้ร่วมคณะเดินทาง รุ่งขึ้นทั้งหมดออกจากหมู่บ้านหนองน้ำแห้งแต่เช้า ถึงเขาโล้นในตอนบ่าย รพินทร์จัดเกมส์เบา ๆ สำหรับทดสอบฝีมือในการยิงปืนให้คณะนายจ้างในการไล่ราวเลียงผา ซึ่งก่อนหน้านั้นในระหว่างการเดินทาง เชษฐายิงกวางได้หนึ่งตัว ไชยยันต์ยิงหมูป่าได้อีกหนึ่งตัวเพื่อใช้สำหรับเป็นเสบียงในการเดินทาง[1]

คืนนั้นคณะนายจ้างถูกเสือโคร่งลายพาดกลอนชื่อไอ้กุด มาป้วนเปี้ยนแถวปางพัก รุ่งขึ้นรพินทร์จัดให้คณะนายจ้างขึ้นห้างยิงสัตว์ ตกดึกของคืนนั้นไอ้กุดมาลากลูกหาบไปเป็นเหยื่อหนึ่งคน ซึ่งเป็นศพลูกหาบศพแรกของการเดินทาง รพินทร์นั่งเฝ้าซากลูกหาบเพื่อล่อให้ไอ้กุดย้อนกลับมากินซาก เชษฐาเป็นคนเหนี่ยวไกปืนยิง 2 นัดซ้อนแต่กระสุนพลาดไม่โดนจุดที่สำคัญทำให้ไอ้กุดรอดไปได้ คณะนายจ้างจึงต้องออกตามล่าตัวไอ้กุดต่อ และรพินทร์เป็นคนเหนี่ยวไกปืนสังหารไอ้กุดได้สำเร็จ[2] และออกเดินทางมุ่งหน้าไปยังโป่งกระทิง ระหว่างการเดินทาง ไชยยันต์ยิงวัวแดงขนาดใหญ่ได้หนึ่งตัวพร้อมกับการที่เกือบจะเอาชีวิตไม่รอดจากฝีมือการยิงของตนเอง รพินทร์และคณะนายจ้างปะทะกับโขลงช้างก่อนถึงโป่งกระทิงจนเกิดการต่อสู้ เชษฐายิงช้างใหญ่ล้มไปหนึ่งตัวและเป็นเหตุให้พญาคชสารหรือไอ้แหว่ง ช้างใหญ่เกเรที่ใบหูแหว่งข้างหนึ่งบุกมายังปางพักแรมของคณะนายจ้าง เช้าวันรุ่งขึ้นในขณะที่รพินทร์และคณะนายจ้างตามแกะรอยกระทิงในป่าผาก รพินทร์และดารินช่วยชีวิตแงซายจากเสือที่ซ้อนรอยสะกดตามรอยเท้าของแงซาย

ไพรมหากาฬ เล่ม 2[แก้]

พรานบุญคำเดินทางกลับมาจากบริษัทไวล์ดไลฟ์ของนายอำพล ภายหลังจากที่นำหนังไอ้กุดไปมอบให้ในเวลาประมาณสี่โมงเย็น พร้อมกับเล่าเหตุการณ์ที่ถูกโขลงของไอ้แหว่งถล่มปางพักที่พุบอนเมื่อสามชั่วโมงที่ผ่านมา ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของโป่งกระทิง พรานบุญคำเอาชีวิตรอดมาได้ด้วยการหลบเข้าไปในกอไผ่ แต่อินลูกหาบที่ติดตามไปด้วยเสียชีวิตคาที่ ในวันรุ่งขึ้นรพินทร์และคณะนายจ้างย้อนกลับไปยังตำแหน่งที่พรานบุญคำและอินถูกโขลงช้างถล่ม โดยมีพรานบุญคำเป็นผู้นำทาง พบเจอกับซากของอินที่เละจนแทบจำเค้าเดิมไม่ได้ ปืนของพรานบุญคำหล่นอยู่บริเวณกอไผ่ ในระหว่างเดินทางกลับพบกับโขลงของไอ้แหว่ง รพินทร์พาเชษฐาไปดูช้างใหญ่ด้วยวิธีการคลานคืบแบบชนิดประชิดตัวกลางโขลงช้าง[3] ซึ่งสร้างความตื่นตกใจระคนทึ่งในตัวของรพินทร์เป็นอย่างมาก แต่โขลงช้างได้กลิ่นมนุษย์ที่อยู่เหนือลม ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างโขลงของไอ้แหว่ง รพินทร์และคณะนายจ้างซึ่งยิงช้างใหญ่ล้มถึง 8 ตัว

ในวันรุ่งขึ้นของการเดินทาง รพินทร์นำคณะนายจ้างไปนั่งห้างที่เตรียมไว้โดยแบ่งเป็นคู่ ๆ คือคู่ที่หนึ่งรพินทร์และดาริน คู่ที่สองเชษฐากับพรานบุญคำและคู่ที่สามไชยยันต์กับเกิด ขณะนั่งห้างดารินแสดงฝีมือในการยิงปืนด้วยการยิงกระทิงโทนขนาดใหญ่ในตอนดึก แต่กลับถูกอาถรรพณ์ของป่าเล่นงานทั้งคืนจนต้องทำพิธีขอขมาเจ้าป่าเจ้าเขา เชษฐาที่นั่งห้างคู่กับพรานบุญคำโชคไม่ดีที่สัตว์ไม่เข้าทางปืนทำให้ไม่ได้อะไรติดมือกับปางพัก แต่สำหรับไชยยันต์เกิดไปยิงลูกกระทิงตายแต่แม่กระทิงกลายเป็นกระทิงลำบาก ถ้าปล่อยไว้จะเป็นอันตรายทำให้ไชยยันต์ต้องออกตามล่าแม่กระทิงที่ยิงไว้เมื่อคืนกับรพินทร์ แต่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น รพินทร์ถูกกระทิงเหยียบได้รับบาดเจ็บในขณะที่ไชยยันต์ยิงกระทิงลำบากซึ่งถูกเสือสามตัวรุมล้อมเล่นงานอยู่ได้สำเร็จ

คณะนายจ้างหยุดพักแรมหนึ่งคืนก่อนออกเดินทางต่อ รพินทร์ได้รับทราบข่าวของพรานชดจากแงซาย ที่เคยติดตามพรานชดจากห้วยเสือร้องไปยังหมู่บ้านหล่มช้าง แต่แงซายคลาดกับพรานชดเป็นระยะเวลา 5 วัน และเข้าเขตแดนดงมรณะอยู่ประมาณ 2 วัน ซึ่งแงซายโชคร้ายถูกงูพิษกัด แต่ได้พระธุดงค์มาช่วยชีวิตเอาไว้พร้อมกับเล่าเรื่องราวของเมืองมรกตนคร ซึ่งเป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของแงซายให้คณะนายจ้างฟัง รุ่งขึ้นพรานพื้นเมืองของรพินทร์ นำเกวียนไปเอาเนื้อกระทิงและหนังเสือสามตัวที่ถูกไชยยันต์ยิงทิ้งไว้ตั้งแต่เช้ามืด รพินทร์แจ้งข่าวกะเหรี่ยงที่ผาเยิงโดนโขลงของไอ้แหว่งถล่มปางพักเสียราบเป็นหน้ากลอง ฝรั่งนักสำรวจชาวอเมริกัน จำนวน 3 คน นายแพทย์ที่มาสำรวจพืชพรรณเกี่ยวกับสมุนไพร นายทหารที่ร่วมเดินทางมาด้วยและกะเหรี่ยงนำทาง ไม่มีผู้ใดรอดชีวิตจากการบุกถล่มของโขลงไอ้แหว่งแม้แต่คนเดียว

ตอนบ่ายของวันเดียวกัน รพินทร์พาเชษฐาไปดักยิงเสือ ขากลับได้งาช้างกำจัดซึ่งเป็นของหายากที่เกิดจากการที่ช้างเอางามาถูกับต้นไทร[4]และหักคาลำต้นมาอันหนึ่ง รพินทร์เปิดใจเล่าเรื่องราวชีวิตของตนเองให้เชษฐาฟังเกี่ยวกับพ่อที่เป็นพรานล่าสัตว์แต่เสียชีวิตด้วยโรคไข้มาลาเรียขึ้นสมอง[5] และพาเชษฐาไปแอบดูช้างที่กำลังตกมันและเสือสองตัวต่อสู้เพื่อแย่งชิงเหยื่อที่ล่ามาได้โดยมองดูเฉย ๆ และไม่ยื่นมือเข้ามายุ่งเกี่ยวกับวงจรห่วงโซ่อาหารของสัตว์ภายในป่า แต่ในช่วงเวลาประมาณหัวค่ำ ช้างป่าที่กำลังตกมันในตอนบ่ายซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่รพินทร์พาเชษฐาไปแอบดู บุกเข้ามาถล่มปางพักของคณะนายจ้างและถูกแงซายยิงที่เนินน้ำเต้าล้มลงคาที่ คณะนายจ้างพักแรมที่โป่งกระทิงอีกเพียงคืนเดียวก็จะออกเดินทางต่อ ช่วงหัวค่ำเชษฐาเรียกให้แงซายมาพบและให้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับดงมรณะให้ทุกคนฟัง แงซายเล่าถึงสัตว์และพืชที่มีขนาดใหญ่ที่พบเจอมาให้คณะนายจ้างฟัง ซึ่งเห็นเป็นเรื่องขบขันและไม่มีใครเชื่อตามคำบอกเล่าของแงซาย

ไพรมหากาฬ เล่ม 3[แก้]

รพินทร์เล่าถึงเนวิน ผู้ที่มอบลายแทงขุมทรัพย์เพชรพระอุมาของมังมหานรธาให้แก่ตัวเอง ซึ่งออกเดินทางจากห้วยเสือร้องจำนวน 4 คน พร้อมด้วยอาวุธครบมือขาดแต่เครื่องเวชภัณฑ์และหายสาบสูญไป คืนนั้นในตอนดึก รพินทร์เป็นไข้จากบาดแผลที่ถูกวัวกระทิงเหยียบ ดารินช่วยปฐมพยาบาลและให้ยานอนหลับทำให้รพินทร์หลับสนิทจนไม่รับรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปางพัก กลิ่นดอกลำเจียกตลบอบอวลทั่วทั่งปางพักพร้อมกับชีวิตของเลินลูกหาบ ที่เสียชีวิตปริศนาด้วยสภาพที่ถูกสูบเลือดออกจากตัวจนเกือบหมด เช้าวันรุ่งขึ้นรพินทร์และคณะนายจ้างจึงได้รู้ว่ามีลูกหาบภายในขณะเดินทางเสียชีวิต เมื่อทำการฝังศพเลินเสร็จเรียบร้อยก็ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่เขตป่าหวาย แต่กลับเผชิญหน้ากับฝูงกองทัพลิงกังที่ดุร้ายจำนวนมาก รพินทร์ พรานพื้นเมืองคู่ใจทั้งสี่และคณะนายจ้างเปิดฉากต่อสู้กับกองทัพลิง ยิงลิงกังตายร่วมร้อยและสอยจากยอดไม้อีก 27ตัว[6] ระหว่างออกเดินทางต่อพบรอยของไอ้แหว่งซึ่งล่วงหน้ามาก่อนประมาณ 2 วัน รพินทร์กับบุญคำแยกทางจากคณะนายจ้างเพื่อไปสำรวจร่องรอยของไอ้แหว่ง และนัดพบกันที่โป่งน้ำร้อนในตอนค่ำ และกลับมาพร้อมข่าวไอ้แหว่ง มีมหิงสาขนาดใหญ่ตัวหนึ่งเดินตามรอยของมัน

ในขณะพักแรมที่ปางพัก เกิดฝนตกหนักทำให้มีหมอกลงหนาทึบไปทั่วบริเวณ รพินทร์และคณะนายจ้างรอให้หมอกบางก่อนจึงจะออกเดินทางในเวลาเก้าโมงเช้า บ่ายหน้าไปยังหุบชมดโดยตั้งใจจะไปถึงในเวลาประมาณเที่ยง ระหว่างทางในการเดินทาง มีเสือดำซุ่มอยู่บนต้นไม้แต่ดารินส่องมองด้วยกล้องส่องทางไกลไม่เห็น รพินทร์เข้าช่วยเหลือด้วยการยิงจากปืน.270 ของดารินที่ติดกล้องขยายสี่เท่า[7] เมื่อถึงหุบชมดขบวนเกวียนทั้งหมดก็แยกทางกันโดยให้ขบวนเกวียนไปรอที่ห้วยยายทอง มีบุญคำเป็นผู้ควบคุมขบวนเกวียนไปยังป่าหวาย รพินทร์นำคณะนายจ้าง เกิดและแงซายที่ติดตามไปด้วยมุ่งหน้าออกเดินทางต่อไป ในช่วงหัวค่ำคณะนายจ้างได้มีโอกาสเห็นภาพงูเหลือมวิดน้ำหาปลา ในช่วงเวลาตอนใกล้รุ่งโขมดดงเข้ามายังปางพัก แงซายรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาพบและเกิดการยิงปะทะกันขึ้น โขมดดงถูกยิงได้รับบาดเจ็บหลบหนีไป รุ่งเช้ารพินทร์นำคณะนายจ้างและออกตามล่าโขมดดง แต่กลับพบแหล่งอัญมณีน้ำงามและบ่อพลอย[8] และปราบโขมดดงได้สำเร็จและได้ทับทิมเม็ดงามจากท้องของโขมดดง รพินทร์มอบทับทิมให้เชษฐาเป็นผู้เก็บไว้แทน[9]

ช่วงบ่ายรพินทร์นำคณะนายจ้างออกเดินทางต่อ ระหว่างทางได้เห็นภาพเสือดาวถูกงูเหลือมรัดจนตาย[10] ช่วงเวลาก่อนพลบค่ำ รพินทร์พบรอยมหิงสาพร้อมรอยเลือดในปลักโคลน ซึ่งเกิดจากการที่เชษฐายิงโดนขาหลังซ้ายและบาดเจ็บหนีไป และหยุดพักในตอนค่ำที่ลำธารในเขตห้วยยายทอง สถานที่ที่ขึ้นชื่อว่าเสือชุมที่สุดแห่งหนึ่ง เช้าวันรุ่งขึ้นรพินทร์และคณะนายจ้างได้ออกติดตามมหิงสาที่ลำบากด้วยฝีมือของเชษฐาที่ต้องมาจบชีวิตลงด้วยฝีมือการยิงของดาริน ด้วยปืน .470 แต่ในคืนนั้นในระหว่างพักแรมที่ปางพักซึ่งรพินทร์ตั้งใจจะนำคณะนายจ้างไปสมทบกับบุญคำที่ป่าหวาย แต่เกิดเหตุน้ำป่าไหลเข้าพังปางพัก พัดทุกคนกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง

ไพรมหากาฬ เล่ม 4[แก้]

รพินทร์และดารินถูกน้ำป่าพัดมาสลบอยู่ในบริเวณใกล้ ๆ กัน ซึ่งเป็นระยะทางห่างจากปางพักประมาณ 30 กิโลเมตร[11] แต่ถ้าเดินเลาะตามธารตัดป่าจะเป็นระยะทางเพียง 20 กิโลเมตร รพินทร์ยิงไก่เป็นอาหารเช้าให้ดารินและพยายามหาทางกลับยังปางพัก ดารินได้รพินทร์ช่วยชีวิตจากเสือดาวที่แอบซุ่มอยู่และกระโจนเข้าใส่ ตลอดระยะทางที่ระหกระเหินอยู่ภายในป่า รพินทร์พยายามปลอบขวัญดารินให้กลับคืนสู่ปกติด้วยการร้องเพลงนิ้งหน่องและแสดงอาการปกติตลอดระยะเวลาในการเดินทาง[12] ทำให้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความรู้สึกดี ๆ ที่ดารินมีต่อรพินทร์

แต่รพินทร์และดารินกลับพบกับกองทัพหมาไนจำนวนมาก และต้องหลบหนีขึ้นต้นไทรใหญ่เพื่อหลบคมเขี้ยวแหลมคม รพินทร์และดารินอยู่บนต้นไทรใหญ่จนกองทัพหมาไนยอมล่าถอยจึงออกเดินทางต่อ จนพบถ้ำของเสือแม่ลูกอ่อนที่ทิ้งลูกเสือจำนวนสามตัวไว้หน้าถ้ำเพื่อหาอาหาร ดารินเห็นความน่ารักของลูกเสือจึงตรงไปจับและลูบคลำด้วยความเอ็นดู แต่ปัญหาใหญ่กลับตามมาเมื่อรพินทร์ให้รีบหนีจากลูกเสือเพราะกลิ่นตัวของดารินไปติดตามขนและลำตัว ถ้าเสือแม่ลูกอ่อนกลับมาและได้กลิ่นแปลกปลอมจากตัวลูกจะออกตามไล่ล่าผู้ที่มีกลิ่นเดียวกับลูกของมัน จึงตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการฆ่าลูกเสือทั้งสามทิ้ง เมื่อเสือแม่ลูกอ่อนกลับมาพบลูกตายเกลื่อน ด้วยความโกรธจึงย้อนกลับไปกัดคนตัดไม้ริมชายป่าเสียชีวิต 3 คน และลากมายังต้นตะเคียนที่รพินทร์และดารินหลบซ่อนอยู่

ดารินเห็นชายตัดไม้ที่เสียชีวิตเป็นศพที่สาม ขี่คร่อมอยู่บนหลังเสือพร้อมกับชี้บอกตำแหน่งของดารินบนต้นตะเคียนด้วยอาถรรพณ์ของป่าและความโกรธแค้นของเสือ รพินทร์ปลอบขวัญดารินและยิงเสือแม่ลูกอ่อนในขณะที่กำลังกระโจนเข้าใส่ แล้วมุ่งหน้าไปยังหมู่บ้านคนตัดไม้เพื่อขอความช่วยเหลือ ระหว่างทางดารินถูกงูเหลือมรัด และได้รพินทร์ช่วยเหลือจึงถูกงูเหลือมกัดแทน[13] จนหาทางออกจากป่าได้สำเร็จและพบกับโต๊ะถะ กะเหรี่ยงหัวหน้าหมู่บ้านผาเยิง ซึ่งช่วยออกตามหาเชษฐาและคนอื่นที่หลงเหลืออยู่ แงซายที่ถูกน้ำพัดไปพบกับบุญคำและเกิด จึงพากันเดินเลาะชายป่ามาสบทบกับรพินทร์ที่ผาเยิง ซึ่งเกิดปัญหาใหญ่ในการถูกเสือรบกวน บุกเข้ามาทำร้ายและคาบเอาพวกกะเหรี่ยงผาเยิงที่ออกไปตัดไม้ไปเป็นเหยื่อ รพินทร์รับปากจะช่วยเหลือในการปราบเสือ

คืนนั้นรพินทร์นำคณะนายจ้างออกไปปราบเสือตามสัญญากับกะเหรี่ยงผาเยิง ดารินยิงเสือได้มากกว่าใครและเป็นการยิงในระยะกระชั้นชิดในขณะที่กำลังกระโจนเข้าใส่ รวมจำนวนเสือทั้งหมดที่คณะนายจ้างยิงได้คือ 16 ตัว วันรุ่งขึ้นรพินทร์และคณะนายจ้างออกเดินทางจากห้วยแม่เลิง โดยยึดเอาตำแหน่งสันเขาในการมุ่งหน้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตลอดระยะการเดินทาง ซึ่งเต็มไปด้วยความลำบาก แงซายเข้าช่วยเหลือการเดินทางด้วยการตอกทอยเพื่อตัดหน้าผาสูงชันและช่วยร่นระยะเวลาในการเดินทางได้ 30 กิโลเมตร[14] พักค้างแรกที่บนภูเขาที่มีทะเลสาบหนึ่งคืนก่อนจะลัดเลาะลงขอบหุบหมาหอน ถึงป่าพรุซึ่งมีดงทากจำนวนมาก แต่ดารินยืนกรานกระต่ายขาเดียวด้วยความกลัวจนรพินทร์ต้องช่วยเหลือด้วยการให้น้ำมันกันทากทาจึงยอมผ่านดงทากถึงบึงใหญ่ที่มีจระเข้จำนวนมาก นอนผึ่งแดดและลอยคออยู่ในน้ำ

อ้างอิง[แก้]

  1. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนไพรมหากาฬ เล่ม 1 หน้า 221, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 221
  2. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนไพรมหากาฬ เล่ม 1 หน้า 355, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 335
  3. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนไพรมหากาฬ เล่ม 2 หน้า 593, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 593
  4. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนไพรมหากาฬ เล่ม 2 หน้า 783, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 783
  5. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนไพรมหากาฬ เล่ม 2 หน้า 794 - 796, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 794 - 796
  6. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนไพรมหากาฬ เล่ม 3 หน้า 937, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 937
  7. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนไพรมหากาฬ เล่ม 3 หน้า 1059, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1059
  8. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนไพรมหากาฬ เล่ม 3 หน้า 1161 - 1163, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1161 - 1163
  9. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนไพรมหากาฬ เล่ม 3 หน้า 1173 - 1180, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1173 - 1180
  10. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนไพรมหากาฬ เล่ม 3 หน้า 1210 - 1212, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1210 - 1212
  11. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนไพรมหากาฬ เล่ม 4 หน้า 1360, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1360
  12. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนไพรมหากาฬ เล่ม 4 หน้า 1387, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1387
  13. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนไพรมหากาฬ เล่ม 4 หน้า 1459 - 1460, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1459 - 1460
  14. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนไพรมหากาฬ เล่ม 4 หน้า 1565 - 1566, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1565 - 1566