การเดินป่า ล่าสัตว์ แกะรอยในเพชรพระอุมา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การเดินป่า ล่าสัตว์ แกะรอยในเพชรพระอุมา เป็นการรวบรวมรายละเอียดและทักษะในการล่าสัตว์และการแกะรอยในเพชรพระอุมา นำมาจากทักษะและประสบการณ์ในการเดินป่าของพนมเทียน เช่นศิลปะในการดำรงชีพ ศิลปะในการล่าสัตว์ รวมทั้งศิลปะในการแกะรอยสัตว์ในเชิงพราน นำมาผูกเสริมเติมแต่งให้แก่ตัวละครในเพชรพระอุมา ให้มีทักษะความสามารถและประสบการณ์ในการเดินป่า รวมทั้งการล่าสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหาร ซึ่งการล่าสัตว์แกะรอยนั้นเป็นศิลปะเก่าแก่สืบทอดกันมาในหมู่พรานป่าและพรานพื้นเมือง เช่นเคล็ดลับในการสะกดรอยสัตว์ การตามสัตว์ที่ได้รับบาดเจ็บ การดูทางด่านของสัตว์ การนั่งห้างและการส่องสัตว์ การสังเกตทิศทางในการเดินป่าโดยใช้ต้นไม้และกิ่งไม้เป็นตำหนิป้องกันการหลงทาง การสังเกตท้องฟ้าและดวงดาว ฯลฯ โดยการล่าสัตว์แกะรอยในเพชรพระอุมา มีดังนี้

การเดินป่า[แก้]

ดูรายละเอียดการเดินป่าเพิ่มเติมได้ที่ การเดินป่าในเพชรพระอุมา

พนมเทียนได้สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถ ทักษะและความรู้ในการเดินป่าของพรานป่าและพรานพื้นเมืองในเพชรพระอุมา ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงชีพภายในป่าของผู้ที่ประกอบอาชีพเป็นพรานนำทางหรือพรานล่าสัตว์ รวมทั้งนักเดินป่าหรือนักท่องเที่ยวที่นิยมการเดินป่าและผจญภัยในปัจจุบัน การเดินทางเข้าป่าในแต่ละครั้งใช้ระยะเวลายาวนาน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ถึงทักษะในการล่าสัตว์ เพื่อใช้เป็นอาหารสำหรับการดำรงชีพในป่า การสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัวรวมถึงทิศทางในการกำหนดจุดพักแรม

ในเพชรพระอุมา พนมเทียนกำหนดให้รพินทร์ ไพรวัลย์ แงซาย พรานบุญคำ พรานจัน พรานเกิดและพรานเส่ย มีทักษะและประสบการณ์ในการเป็นพรานนำทางและพรานล่าสัตว์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงลักษณะของความสำคัญในการดำรงชีพในป่า

การล่าสัตว์[แก้]

ดูรายละเอียดการล่าสัตว์เพิ่มเติมได้ที่ การล่าสัตว์ในเพชรพระอุมา

ผู้ที่ประกอบอาชีพพรานนำทางหรือพรานป่า ที่อาศัยการจับสัตว์ ดักสัตว์หรือยิงสัตว์ป่าในการดำรงชีพ ย่อมมีฝีมือในด้านการยิงปืน ล่าสัตว์รวมทั้งศิลปะในการล่าสัตว์ ตั้งแต่สัตว์ขนาดเล็กเช่นไก่ป่า กระรอก กระแต สัตว์ขนาดกลางเช่น หมูป่า ค่าง บ่าง จนกระทั่งถึงสัตว์ขนาดใหญ่เช่น เสือ หมี ช้าง เป็นต้นที่มีความแตกต่างกันออกไป ตามแต่ละท้องถิ่นที่อยู่อาศัยและการตกทอดศิลปะในการล่าสัตว์จากบรรพบุรุษ รวมทั้งความรู้และวิชาในเชิงพรานที่ได้รับสืบทอดกันต่อ ๆ มา

การล่าสัตว์ป่า มีศิลปะในการล่าที่แตกต่างกันออกไปหลากหลายวิธี สัตว์บางชนิดออกล่าได้เพียงลำพัง แต่บางชนิดต้องใช้วิธีการล่าหลายคนจึงจะสามารถออกล่าได้สำเร็จ สัตว์ป่าที่พรานป่าหรือพรานนำทางนิยมล่ามาเป็นอาหารประทังชีวิตและล่าเพื่อการค้า ส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น กวาง หมูป่า กระทิง เก้ง แรด สมเสร็จ ฯลฯ แต่สำหรับสัตว์ขนาดเล็ก เช่น ไก่ป่า นก กระรอก กระแต พรานป่าจะไม่นับว่าเป็นการล่า แต่เป็นการออกหาอาหารป่าเพื่อยังชีพ

ในเพชรพระอุมา พนมเทียนได้สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการ ทักษะรวมทั้งศิลปะในการล่าสัตว์ของพรานพื้นเมือง ได้แก่พรานจัน พรานบุญคำ พรานเกิด พรานเส่ย รวมทั้งรพินทร์ ไพรวัลย์ ที่เต็มไปด้วยการหลอกล่อและชั้นเชิงระหว่างมนุษย์และสัตว์ วิธีการล่าสัตว์ที่ปรากฏในเพชรพระอุมาเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการล่าสัตว์ ที่ประกอบไปด้วยวิธีการปฏิบัติ ขนบประเพณีต่าง ๆ ในการเข้าป่า วิธีการล่าสัตว์ในนวนิยายเพชรพระอุมา

การแกะรอย[แก้]

ดูรายละเอียดการแกะรอยเพิ่มเติมได้ที่ การแกะรอยในเพชรพระอุมา

การแกะรอย คือการสะกดรอย ติดตามร่องรอยเช่นเครื่องหมายต่าง ๆ ตามพื้นดิน กิ่งไม้หรือร่องรอยการขูดขีดตามต้นไม้ใหญ่ หรือร่องรอยของสัตว์หรือมนุษย์ ที่ได้ทิ้งไว้ตามจุดต่าง ๆ รองรอยของสัตว์ป่าส่วนใหญ่ที่พรานป่านิยมใช้ในการแกะรอยคือรอยเท้า ร่องรอยการถูไถของร่างกายกับกิ่งไม้หรือบริเวณโคนต้นไม้ กลิ่นปัสสาวะและร่องรอยของเลือดในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บ[1] การตามรอยสัตว์ในชั้นเชิงของพรานป่า จะสำรวจสภาพของป่าและสภาพแวดล้อมบริเวณป่า เนื่องจากสภาพของป่ามีความแตกต่างกันตามสภาพของภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศ

ต้นไม้น้อยใหญ่ในป่า จึงมีความแตกต่างกันตามแต่ชนิดของป่า ป่าดงดิบส่วนใหญ่ต้นไม้ที่เจริญเติบโตในป่าได้แก่ ยางโอน ยาแดง สัก มะหวด ล้านช้าง มะเดื่อปล้อง นอกจากไม้ใหญ่ที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าแล้ว แหล่งไม้เถาไม้เลื้อยในป่า ก็ยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอีกหลายชนิด เช่น ค่างแว่น ลิง ชะนีหน้าขาว กระรอกดำ หมี กระแต เป็นต้น[2]

การแกะรอยสัตว์ส่วนใหญ่ พรานป่าจะมีวิธีการแกะรอยอยู่ 2 วิธีคือ การแกะรอยสัตว์เมื่อยังมองไม่เห็นตัวสัตว์ และ การแกะรอยสัตว์ภายหลังจากสัตว์ได้รับบาดเจ็บ การแกะรอยสัตว์โดยที่พรานป่าหรือพรานนำทางยังมองไม่เห็นตัวสัตว์นั้น เป็นการแกะรอยสัตว์ที่ไม่ค่อยเสี่ยงอันตรายเท่าที่ควร ความระมัดระวังในการแกะรอยไม่ค่อยสูงมานัก แตกต่างจากการแกะรอยสัตว์ภายหลังจากสัตว์ได้รับบาดเจ็บ ที่ต้องอาศัยการระมัดระวังในการจู่โจมของสัตว์ที่ได้รับอันตราย เพราะสัตว์ที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิง มักจะหลบซ่อนอำพรางตัว และจู่โจมเข้าทำร้ายพรานโดยไม่รู้ตัว แต่การแกะรอยสามารถทำได้สะดวก โดยการสังเกตร่องรอยของเลือดจากบาดแผลที่ตกติดตามใบไม้และพื้นดิน[3]

การแกะรอยสัตว์ในช่วงฤดูฝน พรานป่าจะสามารถแกะรอยสัตว์ได้อย่างง่ายดายโดยสังเกตจากรอยเท้าของสัตว์ที่ปรากฏบนพื้นดิน หรือบริเวณใบไม้ที่ร่วงหล่นลงพื้นดินและสัตว์ได้เหยียบย่ำผ่านไป ถ้าในช่วงฤดูร้อน พรานป่าจะสังเกตร่องรอยของสัตว์และแกะรอยจากเปลือกไม้ บริเวณโคนต้นไม้และยางไม้ที่สัตว์เหยีบย่ำและเดินผ่านไป ในเพชรพระอุมา พนมเทียนกำหนดให้รพินทร์ ไพรวัลย์ เหล่าพรานพื้นเมืองของรพินทร์ ได้แก่พรานบุญคำ พรานจัน พรานเกิดและพรานเส่ย รวมทั้งแงซาย คะหยิ่น มีความสามารถในด้านแกะรอยติดตามของสัตว์และบุคคลอีกด้วย

อ้างอิง[แก้]

  1. ลักษณะของป่า, พันโทบุญสืบ ลือศิริ, เอกสารประกอบวิชาการรบพิเศษหลักสูตรนายสิบชั้นอาวุโส, 2534, หน้า 3
  2. สังคมพืชในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง, บุญชู ธงนำชัยมา, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง, 2540, หน้า 11
  3. พรานอาชีพ, สุภาคย์ อินคงทอง, สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ เล่ม 11, 2544, หน้า 5242-5242