แมงสี่หูห้าตา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เตาเผาถ่านและเครื่องบูชาอื่น ๆ ถวายแมงสี่หูห้าตาที่วัดพระธาตุดอยเขาควาย จังหวัดเชียงราย

แมงสี่หูห้าตา เป็นชื่อสัตว์ประหลาดตัวหนึ่งในตำนานว่าด้วยวัดพระธาตุดอยเขาควายแก้ว อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย มีลักษณะเหมือนหมีสีดำตัวอ้วน มีหูสองคู่และตาห้าดวง รับประทานถ่านไฟร้อนเป็นอาหาร และถ่ายมูลเป็นทองคำ

ตำนานของแมงสี่หูห้าตานั้นเกี่ยวข้องกับการสร้างวัดพระธาตุดอยเขาควายแก้วของจังหวัดเชียงราย และเชื่อกันว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ชายหลงรักอนุภรรยามากกว่าเอกภรรยาด้วย

ความหมายของแมงสี่หูห้าตา[แก้]

ตามตำนานแมงสี่หูห้าตาฉบับครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนาอธิบายว่า จำนวนสี่หูและห้าตานั้นแสดงถึงหลักธรรมทางพุทธศาสนาคือ พรหมวิหาร 4 และศีล 5 ตามลำดับ เป็นการให้คติแก่พุทธศาสนิกให้พึงรักษาและปฏิบัติหลักธรรมดังกล่าว[1]

ลักษณะของแมงสี่หูห้าตา[แก้]

ตามตำนานของวัดพระธาตุดอยเขาควายแก้ว จังหวัดเชียงรายเชื่อกันว่า แมงสี่หูห้าตามีลักษณะตัวอ้วนและเตี้ย มีกายภาพอย่างหมี และมีขนยาวสีดำปกคลุมร่างกาย นอกจากนี้ยังมีหูสองคู่และมีตาห้าดวง โดยที่ดวงตาของแมงสี่หูห้าตาเป็นสีเขียว รับประทานถ่านไฟร้อนเป็นอาหาร และมูลของแมงสี่หูห้าตานี้เป็นทองคำ อย่างไรก็ดี มิได้ปรากฏว่ามีอุปนิสัยดุร้ายหรืออย่างอื่นใด มีรูปปั้นของสัตว์นี้ปรากฏที่วัดพระธาตุดอยเขาควายแก้ว อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย[2] [3]

อีกความเชื่อหนึ่ง เช่น ตามตำนานแมงสี่หูห้าตาที่ครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนาแห่งจังหวัดลำพูนเขียนขึ้น ว่าลักษณะของแมงสี่หูห้าตาไว้อีกแบบหนึ่ง โดยมีลักษณะคล้ายลิง และเรียก "พญาวานรสี่หูห้าตา" กับทั้งยังได้เชื่อมโยงสัตว์นี้เข้ากับหลักธรรมทางพุทธศาสนาด้วย โดยว่าจำนวนสี่หูและห้าตานั้นที่แสดงถึงหลักธรรมพรหมวิหาร 4 และศีล 5[4] มีรูปปั้นของพญาวานรนี้ในจังหวัดลำพูน[5] และเป็นความเชื่อที่แพร่หลายในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรูปวัตถุมงคลที่ผลิตขึ้นโดย พระโต ฐิตวิริโย[6] [7]

ตำนานแมงสี่หูห้าตา[แก้]

ตำนานของแมงสี่หูห้าตานั้น เป็นตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมา และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวัดพระธาตุดอยเขาควายแก้วของจังหวัดเชียงราย ในส่วนนี้ เป็นตำนานของแมงสี่หูห้าตาตามฉบับที่ถูกต้องที่สุด ซึ่งเป็นตำนานฉบับวัดดอยเขาควายแก้วของจังหวัดเชียงราย[8] ซึ่งเป็นเรื่องราวของ "อ้ายทุกคตะ" มีความว่า

ในอดีตกาล ประมาณ 1,000 กว่าปีมาแล้ว มีเมืองหนึ่งที่ชื่อ นครพันธุมติ มีพระเจ้าพันธุมติราชปกครองอย่างร่มเย็นเป็นสุข และพระเจ้าพันธุมติราชนั้นมีพระมเหสีเจ็ดพระองค์

ในเมืองนี้ มีครอบครัวคนจนอยู่ มี 3 พ่อแม่ลูก ออกขอทานหาช้าวกินค่ำ ลูกคนนี้มีชื่อว่า "อ้ายทุกคตะ" เมื่อเขามีอายุ แค่เพียง 4 ขวบ แม่ก็มาด่วนจากเสียชีวิตไป การออกขอทานของอ้ายทุกคตะนั้น ก็มีทั้งชาวบ้านที่ใจดีที่ยอมให้ทานและชาวบ้านที่ไม่ชอบหน้าได้ขับไล่ไปก็มี เมื่ออ้ายทุกคตะมีอายุได้ 12 ปี พ่อก็ให้ลูกไปรับจ้างเลี้ยงวัวเลี้ยงควายของผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของเมืองนี้ แต่ไม่กี่ปี พ่อก็มาป่วยหนัก คิดว่าจะไม่รอด จึงอบรมและสั่งเสียให้อ้ายทุกคตะเป็นคนดีมีศิลธรรม เชื่อฟังคำสั่งสอนของผู้ใหญ่ เมื่อพ่อเสียชีวิต ให้ฝังศพไว้ที่ป่า จนกว่าหัวกะโหลกของพ่อจะหลุด แล้วนำมาไหว้สัการะบูชาที่บ้าน เมื่ออายุ 17 ปี ก็ให้ลากหัวขึ้นดอย ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ถ้าหัวติดตรงไหน ก็ให้ฝัง แล้วทำบ่วงแร้วดักจับสัตว์ตรงนั้น ถ้าสัตว์ตัวใดมาติดบ่วงแร้ว ให้จับมาเลี้ยงไว้

หลังจากนั้นพ่อก็เสียชีวิตลง อ้ายทุกคตะทำตามคำสั่งเสียของพ่อทุกอย่าง จนกระทั่ง เมื่อมาดูศพของพอแล้ว หัวหลุด จึงทำตามคำสั่งเสียของพ่อ และเมื่อถึงเวลา อ้ายทุกคตะลากหัวพ่อจนไปติดที่หน้าถ้ำแห่งหนึ่ง จึงได้ทำบ่วงแร้วดักจับสัตว์ที่นั่น และหลังจากนั้น 2-3 วัน เมื่ออ้ายทุกคตะมาดู ปรากฏว่า มีสัตว์ประหลาดมาติดบ่วงแร้ว ลักษณะตัวดำ ต่ำอ้วนเหมือนหมี ขนยาวสีดำ มีหู 4 หู และ มีตา 5 ตา จึงเป็นชื่อเรียกของ แมงสี่หูห้าตานั่นเอง

อ้ายทุกคตะได้เห็นแมงสี่หูห้าตามาติดบ่วงแร้วนั้น ก็ไหว้ถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า สัตว์ประหลาดตัวนี้ ทำให้ตนเข้าใจว่า เป็นพ่อได้กลับมาเกิดเป็นแมงตัวประหลาดตัวนี้ หลังจากนั้น เขาก็นำแมงสี่หูห้าตาไปเลี้ยงที่บ้าน และล้อมคอกไว้โดยไม่ให้ใครเห็น เอาข้าวเอาน้ำให้มันกิน แต่มันก็ไม่ยอมกินอะไรที่เขาให้เลย และเขาก็ไม่มีเวลามาดูแลหรือให้ความสนใจกับแมงสี่หูห้าตามากนัก เพราะต้องเลี้ยงวัวเลี้ยงควายตามปกติ

ในช่วงนั้นเป็นฤดูหนาว เมื่ออ้ายทุกคตะกลับมา ก็เอาไม้มาจุดไฟเพื่อก่อกองไฟ จนเป็นถ่าน และมีถ่านหนึ่งกระเด็นออกไปหาแมงสี่หูห้าตา ด้วยความหิวกระหาย มันจึงกินถ่านไฟแดงตรงนั้น อ้ายทุกคตะเกิดความแปลกใจ จึงก่อกองไฟและเขี่ยถ่านให้แมงสี่หุห้าตากินอย่างไม่ขาด วันต่อมา แมงสี่หูห้าตาได้ถ่ายมูลออกมาเป็นทองคำจำนวนมาก เมื่อคิดได้เช่นนั้น ในแต่ละวัน อ้ายทุกคตะจึงก่อกองไฟแล้วนำถ่านไฟแดงร้อน ๆ มาให้แมงสีหูห้าตากินอย่างไม่ขาด และมันก็ถ่ายมูลออกมาเป็นทองคำ ทุก ๆ วัน อ้ายทุกคะก็ขุดดินฝังทองคำจนเต็มไร่เต็มสวน[9]

ต่อมา ก็มีข่าวการเผยโฉมของ "พระนางสีมา" พระราชธิดาของพระเจ้าพันธุมติราช ซึ่งเป็นพระราชธิดาที่มีรูปโฉมสวยงาม จนเหล่าบรรดาเจ้าเมืองต่าง ๆ หลายร้อยเมือง มาขอเป็นมเหสี (ขอแต่งงาน) พระเจ้าพันธุมติราชจึงตัดสินใจว่า ถ้าต้องการพระนางสีมาเป็นมเหสี ให้สร้างรางรับน้ำฝนทองคำจากบ้านมายังปราสาท ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ หรือเป็นไปได้ยาก แทบจะเป็นไปไม่ได้ จึงทำให้เรื่องนี้เงียบหายไป แต่อ้ายทุกคตะก็ได้ทราบถึงเรื่องนี้ด้วย จึงไปจ้างช่างทำรางรับน้ำฝนไปสร้างด้วยทองคำ และสร้างจากบ้านมายังปราสาท

หลังจากนั้น ทำให้ชาวบ้านในเมืองได้เห็นสิ่งที่หน้าประหลาด นั้นคือ รางรินน้ำทองคำ ก่ายพาดตามทาง ยาวสุดลูกหูลูกตา เมื่อพระเจ้าพันธุมติราชทรงทราบ จึงให้เสนาอำมาตย์ ไปติดตาม พบว่า รางน้ำนั้นมาจากบ้านของอ้ายทุกคตะ พระเจ้าพันธุมติราชจึงสั่งการให้ทำถนนเป็นอย่างดีไปจนถึงบ้านของอ้ายทุกคตะ เมื่อได้ฤกษ์ยามที่ดี อ้ายทุกคตะจึงได้อภิเษกสมรสกับพระนางสีมา และจัดแต่งองค์ให้กับอ้ายทุกคตะ

หลังจากที่อ้ายทุกคตะได้อภิเษกสมรสมาเป็นบุตรเขยแล้ว พระเจ้าพันธุมติราชจึงถามเรื่องทองคำว่าได้มาจากไหน เขาก็ตอบว่าได้มาจากแมงสี่หูห้าตา พระราชาจึง สั่งให้ไปขุดทองที่บ้านในสวนจนหมด ใช้เวลา 7 วัน 7 คืนกว่าจะขุดได้หมด เพื่อเอาทองคำมาเป็นทรัพย์สมบัติ เมื่อถามถึงเรื่องตัวของแมงสี่หูห้าตาแล้ว จึงขอให้อ้ายทุกคตะไปเอาตัวมันมา แต่มันกลัวพระเจ้าพันธุมติราช จึงหลุดหนีออกไป พระราชาจึงสั่งให้เสนาอำมาตย์ไปตามจับมา ซึ่งหนีได้ 2 ครั้ง และครั้งที่ 3 จับได้จึงใส่กรง

วันหนึ่ง เมื่อพระเจ้าพันธุมติราชต้องการจะสัมผัสตัวแมงสี่หูห้าตา เมื่อเปิดกรงออก มันจึงหนีออกจากกรง พระราชาจึงวิ่งตาม จนมาถึงหน้าถ้ำอีกที่หนึ่ง พระราชาคิดว่าแมงสี่หูห้าตาวิ่งหนีเข้าไปในถ้ำ จึงตามเข้าไป ทำให้ถ้ำเกิดดินถล่มปิดปากถ้ำ พระเจ้าพันธุมติราชจึงถูกขังอยุ่ในถ้ำ พวกเสนาอำมาตย์จึงหาไม่เจอ[10]

พระเจ้าพันธุมติราชที่ถูกขังอยู่ในถ้ำนั้น ก็ได้แต่โทษตัวเองว่า ด้วยความโลภเพราะอยากได้แมงสี่หุห้าตา จึงถูกกักขังไว้ในถ้ำแห่งนี้ และคาดว่าจะสวรรคต เมื่อถ้ำแตกออกเป็นรูเล็ก ๆ จึงเรียกพวกเสนาอำมาตย์ให้ไปตามพระมเหสีทั้ง 7 มา และสั่งให้ ทั้ง 7 คนพากันสละความอายด้วยการเปิดผ้าถุงให้เห็นสรีระและอวัยวะภายในของมเหสีทั้ง 7 ให้เห็นเป็นครั้งสุดท้ายก่อนสวรรคต พระมเหสีของพระเจ้าพันธุมติราชต่างเกี่ยงกันไปเกี่ยงกันมาด้วยความอาย ไม่กล้าเปิดผ้าถุง แต่แล้ว พระมเหสีเมียน้อยคนที่ 7 จึงตัดสละความอาย เปิดผ้าถุงให้ดู ทำให้เห็นอวัยวะเพศหญิง จึงเกิดสิ่งมหัศจรรย์ มีเสียงหัวเราะจากถ้ำทำให้ปากถ้ำเปิด พระเจ้าพันธุมติราชหนีรอดออกมาได้ และสวมกอดพระมเหสีคนที่ 7 ว่าต่อไปนี้พี่จะรักเมียน้อยมากกว่าเมียหลวงต่อไป ด้วยเหตุการณ์นี้ ทำให้ผู้ชายหลงรักเมียน้อยมากกว่าเมียหลวงนั่นเอง

เมื่อทั้งหมดกลับเมือง ก็มีความสงบสุขเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา จนกระทั่งพระเจ้าพันธุมติราชได้สละราชสมบัติให้กับอ้ายทุกคตะซึ่งเป็นบุตรเขยได้สืบราชวงค์ต่อไป และได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า "พระยาธรรมมิกะราช" และมีการเฉลิมฉลองนับ 7 วัน 7 คืน มีพระสงฆ์มาเผยแพร่พระพุทธศาสนา แล้วนำพระบรมพุทธสารีริกธาตุนิ้วก้อยข้างซ้ายของพระพุทธเจ้ามาถวาย ในฐานะที่เป็นเจ้าเมือง พระยาธรรมมิกะราชจึง โปรดให้สร้างวัดวาอารามต่าง ๆ เพิ่มขึ้น และได้สร้างวัดดอยเขาควายแก้วโดยนำเอาพระบรมพุทธสารีริกธาตุนิ้วก้อยข้างซ้ายของพระพุทธเจ้าบรรจุใส่ไว้ในเจดีย์ของวัดดอยเขาควายแก้วอีกด้วย วัดนั้น สร้างตรงยอดดอยที่มีถ้ำที่แมงสี่หูห้าตามาติดบ่วงแร้วได้ที่นั่น และเป็นวัดพระธาตุดอยเขาควายเก้วของจังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน [11]

การละเล่นแมงสี่หูห้าตา[แก้]

การละเล่นแบบนี้ ซึ่งเป็นการละเล่นแบบโบราณ ตามตำนานของวัดพระธาตุดอยเขาควายแก้วจังหวัดเชียงราย ซึ่งสืบทอดการเล่นแบบง่าย โดยมีวิธีดังนี้ [12][13]

การเตรียมอุปกรณ์[แก้]

  1. ธูปหัวใหญ่ (ที่มีลักษณะคล้ายธูปงานศพ) 13 ดอก
  2. ก้อนหินจำนวนหนึ่งที่สามารถใช้ปากกาหมึกซึมเขียนได้
  3. สีทาบ้าน ที่มีโทนสีทอง หรือใกล้เคียง (ถ้ามี)
  4. ปากกาหมึกซึม หรือปากกาเขียนกระดานขาวสีใดก็ได้
  5. ถ่านกองไฟ พร้อมกับไฟแช็กสำหรับจุดไฟ

การเตรียมการเล่น[แก้]

  1. ใช้สีทาบ้านสีทอง สีเหลือง หรือใกล้เคียง ทาก้อนหินที่เตรียมมาให้เคลือบทั้งก้อน เมื่อแห้งแล้ว สามารถเขียนตัวเลขสองหลักหรือสามหลักลงบนก้อนหินได้
  2. ให้ผู้เล่นสวมเสื้อกันหนาว แล้ว นำก้อนหินที่ทาสีใส่เข้าไปในเสื้อ
  3. จากนั้น ให้ถือธูป 13 ดอกที่เตรียมมา โดยถือธูปดังนี้
    1. เหน็บไว้ที่เท้าข้างละ 1 ดอก (เป็นสองขาหลัง)
    2. เหน็บไว้ที่หูข้างละ 2 ดอก (เป็นสี่หู)
    3. ใช้ปากคาบธูปให้ห่างพอประมาณ 5 ดอก (เป็นห้าตา)
    4. ใช้มือทั้งสองข้างถือไว้ข้างละ 1 ดอก (เป็นสองขาหน้า)

การเล่นแมงสี่หูห้าตา[แก้]

การเล่นแมงสี่หูห้าตา ควรเล่นในเวลากลางคืนซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสม โดยเชิญชวนผู้คนมาชมการแสดงด้วย เมื่อถึงเวลาแสดงและเตรียมพร้อม ให้จุดไฟ และให้ผู้ที่เล่นเป็นแมงสี่หูห้าตาเดินวิ่งเต้นรอบกองไฟ ซึ่งเป็นลักษณะที่แมงสี่หูห้าตากำลังจะกินถ่านไฟแดง แล้วเดินไปหลอกล่อผู้ชมให้ตกใจด้วยความสนุกสนาน หลังจากนั้น ให้เปิดเสื้อกันหนาว ซึ่งเป็นลักษณะที่แมงสี่หูห้าตาถ่ายมูลออกมาเป็นทองคำ ซึ่งเป็นวิธีเล่นง่าย ๆ สำหรับการละเล่นแมงสี่หูห้าตา

การที่เขียนตัวเลขลงไปในก้อนหินนั้น ซึ่งหมายถึงเลขหวย โดยก้อนที่เขียนเลขนั้นให้ผู้ชมหยิบกลับไปเพื่อนำไปแทงหวยได้ ในขณะที่เล่นนั้นอาจร้องว่า "หวย หวย หวย ไม่รวยก็เจ๊ง" และนิยามของคำว่าหวยมากจาก 3 คำดังนี้

  • ห - หายนะ
  • ว - วอดวาย
  • ย - ยับเยิน

การละเล่นแบบนี้ สามารถเตือนในความเชื่อเรื่องหวยได้เป็นอย่างดีว่า อย่าไปเล่นหวยมากเกินไปนั่นเอง การที่เล่นแมงสี่หูห้าตาในเวลากลางคืนนั้น ซึ่งบ่งบอกถึงสีขนของแมงสี่หูห้าตา ในตอนกลางคืนจะมองไม่เห็น เห็นแต่หัวควันธูปนั่นเอง

อ้างอิง[แก้]

  1. ตำนานแมงสี่หูห้าตาฉบับหลวงปู่ครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา[ลิงก์เสีย]
  2. พระครูบาสนอง สุมะโน เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยเขาควายแก้ว (สัมภาษณ์)
  3. เอกสารประวัติเรื่องแมงสี่หูห้าตาฉบับวัดดอยเขาควายแก้ว จังหวัดเชียงราย
  4. ตำนานแมงสี่หูห้าตาฉบับหลวงปู่ครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา[ลิงก์เสีย]
  5. "ภาพแมงสี่หูห้าตาฉนับหลวงปู่ครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2008-10-19.
  6. เวปบอร์ด "ขอแนะนำพระดีอีกองค์ในจังหวัดศรีสะเกษ หลวงพ่อเส็ง วัดปราสาทเยอใต้ - หน้า 3"[ลิงก์เสีย]
  7. ภาพแมงสี่หูห้าตาฉบับพระอาจารย์โต ฐิตวิริโย จังหวัดเชียงใหม่[ลิงก์เสีย]
  8. เอกสารประวัติเรื่องแมงสี่หูห้าตาฉบับวัดดอยเขาควายแก้ว จังหวัดเชียงราย (หน้า 1)
  9. เอกสารประวัติเรื่องแมงสี่หูห้าตาฉบับวัดดอยเขาควายแก้ว จังหวัดเชียงราย (หน้า 2)
  10. เอกสารประวัติเรื่องแมงสี่หูห้าตาฉบับวัดดอยเขาควายแก้ว จังหวัดเชียงราย (หน้า 3)
  11. เอกสารประวัติเรื่องแมงสี่หูห้าตาฉบับวัดดอยเขาควายแก้ว จังหวัดเชียงราย (หน้า 4)
  12. เอกสารประวัติเรื่องแมงสี่หูห้าตาฉบับวัดดอยเขาควายแก้ว จังหวัดเชียงราย (หน้า 5)
  13. เอกสารประวัติเรื่องแมงสี่หูห้าตาฉบับวัดดอยเขาควายแก้ว จังหวัดเชียงราย (หน้า 6)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]