เฝิง กั๋วจาง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เฝิง กั๋วจาง
馮國璋
ประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีน
(รักษาการ)
ดำรงตำแหน่ง
6 สิงหาคม ค.ศ. 1917 – 10 ตุลาคม ค.ศ. 1918
ก่อนหน้าหลี่ ยฺเหวียนหง
ถัดไปสฺวี่ ชื่อชาง
รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีน
ดำรงตำแหน่ง
7 มิถุนายน ค.ศ. 1916 – 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1917
ประธานาธิบดีหลี่ ยฺเหวียนหง
ก่อนหน้าหลี่ ยฺเหวียนหง
ถัดไปยกเลิกตำแหน่ง (หลี่ จงเหริน ใน ค.ศ. 1948)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด7 มกราคม ค.ศ. 1859(1859-01-07)
เหอเจียน มณฑลเหอเป่ย์ จักวรรดิชิง
เสียชีวิต12 ธันวาคม ค.ศ. 1919(1919-12-12) (60 ปี)
ปักกิ่ง สาธารณรัฐจีน
เชื้อชาติจีนฮั่น
พรรคการเมืองก๊กจื๋อลี่
การเข้าร่วม
พรรคการเมืองอื่น
พรรคก้าวหน้า
ศิษย์เก่าโรงเรียนนายร้อยทหารเป่าติ้ง
อาชีพนายทหาร
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ ราชวงศ์ชิง
สาธารณรัฐจีน (ค.ศ. 1912–1949) สาธารณรัฐจีน
ก๊กจื๋อลี่
ยศพลเอก
ผ่านศึกการปฏิวัติซินไฮ่
การปฏิวัติครั้งที่สอง
สงครามคุ้มชาติ
การฟื้นฟูราชวงศ์แมนจู
สมัยขุนศึก

เฝิง กั๋วจาง (จีนตัวย่อ: 冯国璋; จีนตัวเต็ม: 馮國璋; พินอิน: Féng Guózhāng; เวด-ไจลส์: Feng Kuo-chang; ชื่อรอง: ฮฺว่าฝู่ 華甫 หรือ 華符; 7 มกราคม ค.ศ. 1859 – 12 ธันวาคม ค.ศ. 1919) เป็นนายทหารและนายพลชาวจีนในกองทัพเป่ย์หยาง ผู้รักษาการตำแหน่งประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีนในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เขามีบทบาทสำคัญในการเมืองช่วงแรกของสมัยสาธารณรัฐ ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งก๊กจื๋อลี่ ซึ่งคือกลุ่มการเมืองที่มีความสำคัญยิ่งในสมัยขุนศึกตั้งแต่ ค.ศ. 1916-1928 และเป็นคู่แข่งทางการเมืองหลักของก๊กอานฮุยที่นำโดยตฺวั้น ฉีรุ่ย[1]

เฝิงเป็นผู้ว่าการมณฑลทหารจี๋อลี่ (มณฑลเหอเป่ย์ในปัจจุบัน) ในระหว่าง ค.ศ. 1912–1913 และมณฑลทหารเจียงซูในระหว่าง ค.ศ. 1913–1917 ภายหลังการปฏิวัติซินไฮ่และอสัญกรรมของยฺเหวียน ชื่อไข่ เขาดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีเป็นระยะเวลาตั้งแต่ ค.ศ. 1916–1917

ปฐมวัย[แก้]

เฝิง กั๋วจาง เป็นบุตรคนสุดท้องในครอบครัวชาวนาที่มีพี่น้องสี่คน แม้ว่าบุตรทุกคนจะได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี แต่ครอบครัวก็ไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระค่าการศึกษาของเฝิงได้ เนื่องจากได้ขายทรัพย์สินทั้งหมดสำหรับชำระค่าเล่าเรียนของพี่ชาย[1] เฝิงจึงเริ่มไปทํางานต่าง ๆ และถูกเชิญออกจากโรงเรียนเพราะครอบครัวไม่มีเงินเพียงพอสำหรับค่าเช่าเรียนของเขา[1] เมื่อเขาอายุได้ 27 ปี เขาได้เดินทางไปที่ป้อมต้ากู ที่ซึ่งลุงทวดของเขาประจำการอยู่ในสังกัดกองพันของกองทัพอานฮุย ซึ่งเฝิงได้เข้าทำงานในหน่วยนั้นตามคำสั่งของผู้บัญชาการกองพัน[1] ต่อมาเขาเป็นนักเรียนนายร้อยของโรงเรียนเตรียมทหารกองทัพเป่ย์หยางในจื๋อลี่ที่พึ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ใน ค.ศ. 1885 โดยได้รับการสนับสนุนจากหลี่ หงจาง[1] โดยเขาเป็นนักเรียนที่ยอดเยี่ยมคนหนึ่ง จากนั้นเขายื่นขอลาหยุดเรียนชั่วคราวเพื่อยื่นสมัครสอบเข้าราชการในราชสำนัก จากนั้นใน ค.ศ. 1888 เขากลับมาศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหารเช่นเดิม และสําเร็จการศึกษาใน ค.ศ. 1890[1] เขาทำงานเป็นอาจารย์ในโรงเรียนเตรียมทหารเป็นเวลา 1 ปี ก่อนที่เขาจะเดินทางไปยังพอร์ตอาเธอร์ใน ค.ศ. 1891 และเดินทางไปยับแมนจูเรียอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งถือเป็นประโยชน์อย่างมากต่อกองทัพบกสำหรับการรบในสงครามกับญี่ปุ่น[1]

ใน ค.ศ. 1895 เขาได้ตำแหน่งผู้ช่วยทูตทหารของเอกอัครราชทูตในญี่ปุ่น ซึ่งช่วงเวลานี้ เขาได้พบกับทหารญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงจำนวนมากและคุ้นเคยกับมาตรการที่ทันสมัยของกองทัพญี่ปุ่น[1] ด้วยเหตุนี้เขาจึงเริ่มกลายเป็นที่ประทับใจของยฺเหวียน ชื่อไข่ ผู้บัญชาการกองทัพเป่ย์หยาง[1] เมื่อยฺเหวียนได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการมณฑลชานตงใน ค.ศ. 1899 เฝิงจึงได้ติดตามยฺเหวียนไปด้วยและเข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์กบฏนักมวย[2] ซึ่งในเวลาไม่นาน เขาจึงกลายเป็นผู้ร่วมงานหลักของยฺเหวียน เขาได้รับมอบหมายให้ดูแลฝ่ายการสอนและการฝึกอบรมในโรงเรียนนายร้อยทหารเป่าติ้ง ซึ่งหยวนก่อตั้งขึ้นหลังจากได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าหลวงมณฑลจี๋อลี่ใน ค.ศ. 1901[2] ในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 เฝิงมีบทบาทสําคัญในความพยายามปฏิรูปกองทัพของจักรวรรดิ[2] ต่อมาใน ค.ศ. 1905 เขาไปเยือนญี่ปุ่นอีกครั้งเพื่อสังเกตการณ์กลยุทธ์ทางทหารสำหรับการนำมาเป็นแบบอย่างให้กับกองทัพเป่ย์หยาง[2] จากนั้นใน ค.ศ. 1907 เขาเข้าร่วมองค์กรทหารที่ต่อมาจะกลายเป็นคณะเสนาธิการทหารจีนในอีกสองปี[2] แม้ว่าในข่วง ค.ศ. 1909 ยฺเหวียน ขื่อไข่ จะถูกปลดจากอำนาจชั่วคราว แต่เฝิงก็ยังคงภักดีต่ออดีตผู้บังคับบัญชาของเขาและได้ต่อต้านนโยบายต่าง ๆ ของราชสำนัก[2]

บทบาททางการเมือง[แก้]

ยฺเหวียน ชื่อไข่ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสาธารณรัฐเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 1912

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1911 หลังจากการปะทุขึ้นของการก่อการกำเริบอู่ชาง เขาได้รับคำสั่งจากราชสำนักชิงให้ไประงับการปฏิวัติในอู่ฮั่น เขาชะลอกองทัพเป่ย์หยางไว้จนกระทั่งยฺเหวียน ชื่อไข่ กลับคืนสู่อํานาจ จากนั้นจึงเข้าพิชิตฮั่นกั่วและฮั่นหยางจากนักปฏิวัติในยุทธการที่หยางเซี่ย เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ราชสำนักได้แต่งตั้งเขาเป็นผู้บัญชาการกองทัพที่ 2 (ประกอบด้วย 2 กองพล) ในการรบนั้น เขาได้บัญชาการให้กองทัพเข้าถล่มฮั่นกั่ว แต่หลังจากนั้นเขาได้หยุดการเดินทัพเข้าสู่อู่ชาง เนื่องจากได้รับคําสั่งจากยฺเหวียน ยฺเหวียนเข้าเจรจาให้จักรพรรดิองค์สุดท้ายสละราชสมบัติและขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราวของสาธารณรัฐจีนเมื่อ ค.ศ. 1912 เฝิงจึงได้รับเชิญเข้าร่วมรัฐบาลใหม่ของยฺเหวียนด้วยและได้รับเกียรติยศสำหรับการมีส่วนร่วมในการปฏิวัติซินไฮ่ แม้ว่าบทบาทของเขาคือการบดขยี้การปฏิวัติก็ตาม

ต่อมาเฝิงเริ่มแตกหักกับยฺเหวียน เมื่อยฺเหวียนพยายามปราบดาภิเษกเป็นจักรพรรดิ ยฺเหวียนได้แต่งตั้งเฝิงเป็นอีเติ่งกง (一等公) แต่เขาปฏิเสธ ยฺเหวียนจึงส่งคนให้ไปลอบสังหารเฝิง เฝิงจึงย้ายไปยังหนานจิงและเข้าร่วมสงครามคุ้มชาติ

ต่อมาเฝิงเข้ารับตำแหน่งรองประธานาธิบดีในรัฐบาลหลี่ ยฺเหวียนหง โดยนช่วงการเข้ายึดปักกิ่งของจาง ซวิน เฝิงจึงรักษาการตําแหน่งประธานาธิบดีหลังจากที่หลี่ ยฺเหวียนหง ลาออกอย่างเป็นทางการ

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม จีนเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในฝ่ายสัมพันธมิตร หลังจากค้นพบหลักฐานถึงการสนับสนุนของจักรวรรดิเยอรมันต่อรัฐประหารของจาง ซวิน เฝิงส่งกำลังทหารประมาณ 135,000 นาย ไปยังแนวรบด้านตะวันตก เมโสโปเตเมีย และแอฟริกาตะวันออกของเยอรมนี ทั้งยังส่งไปยังรัสเซียเพื่อช่วยเหลือการแทรกแซงของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามกลางเมืองรัสเซียอีกด้วย ซุน ยัตเซ็น ได้ก่อตั้งรัฐบาลเชิงปฏิปักษ์กับรัฐบาลปักกิ่งในกว่างโจวในช่วงเดือนกันยายน ค.ศ. 1917 และยังประกาศสงครามกับเขาในเวลาต่อมา เฝิงต้องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเหนือ-ใต้อย่างสันติ ซึ่งนั่นทำให้ตฺวั้น ฉีรุ่ย นายกรัฐมนตรีประกาศลาออกเพื่อประท้วง แต่ด้วยแรงกดดันที่มากขึ้นจากก๊กอานฮุย ทำให้เฝิงนำตฺวั้นกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง เฝิงเกษียณเส้นทางการเมืองของตนเองตลอดระยะเวลา 5 ปี เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1918 และถึงแก่อสัญกรรมที่กรุงปักกิ่งด้วยอาการเจ็บป่วย

ร่างของเขาได้รับการจัดรัฐพิธีศพและฝังอยู่ที่บ้านเกิดของเขาในมณฑลเหอเป่ย์ และในครึ่งศตวรรษต่อมา หลุมฝังศพของเขาถูกทําลายในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม

อ้างอิง[แก้]

บรรณานุกรม[แก้]

  • Boorman, Howard Lyon; Howard, Richard C. (1970). Biographical Dictionary of Republican China: Mao-Wu (ภาษาอังกฤษ). Columbia University Press. p. 471. ISBN 9780231089579.
  • Fairbank, John King; Twitchett, Denis (1983). The Cambridge History of China: Republican China 1912-1949, Part 1 (ภาษาอังกฤษ). Cambridge University Press. ISBN 9780521235419.
  • Nathan, Andrew (1998). Peking Politics 1918-1923: Factionalism and the Failure of Constitutionalism (ภาษาอังกฤษ). Center for Chinese Studies. p. 320. ISBN 9780892641314.
  • Putnam Weale, Bertram Lenox (1917). The fight for the republic in China (ภาษาอังกฤษ). Dodd, Mead and Company. p. 490. OCLC 1541271.
  • Wou, Odorik Y. K. (1978). Militarism in modern China. The career of Wu P’ei-Fu, 1916-1939 (ภาษาอังกฤษ). Australian National University Press. p. 349. ISBN 0708108326.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ เฝิง กั๋วจาง